สารส่องใจ Enlightenment
ปฏิบัติให้ถึงความจริง (ตอนที่ ๒)
พระธรรมเทศนา โดย พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน)
เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานี
เมื่อวันที่ ๑๔ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๓๐
ปฏิบัติให้ถึงความจริง (ตอนที่ ๑) (คลิก)
พระโอวาทของพระพุทธเจ้าทุกบททุกบาทนั้น
พึงถือว่าเป็นสิ่งสำคัญมากที่เราจะปฏิบัติตาม เช่น รุกขมูล
พระพุทธเจ้าก็เคยบำเพ็ญมาได้ผลเป็นที่พอพระทัย เพราะสถานที่เหล่านี้มาแล้ว
จึงต้องแสดงสถานที่เหล่านี้อย่างเปิดเผยประจำพระโอวาทหรือศาสนาของพระองค์
ไม่ทรงละเว้นเลย พอบวชเข้ามาก็บอกเลยทันที
บอกสถานที่เหมาะสมกับการทำงานของเราคือกรรมฐานเหล่านี้
ใจเมื่อได้อบรมอยู่เสมอ บำรุงด้วยสติปัญญาศรัทธาความเพียรอยู่เสมอ
ไม่มีสิ่งเข้ามาก่อกวนรบกวนบีบบังคับอยู่เรื่อยๆ
มีแต่ฝ่ายดีส่งเสริมอยู่โดยสม่ำเสมอ ย่อมจะค่อยเจริญรุ่งเรืองขึ้นโดยลำดับลำดา
ธรรมที่เหมือนกับว่าอยู่ฟากฟ้าแดนดิน เช่น สมาธิธรรม ปัญญาธรรม
ก็จะปรากฏขึ้นที่ใจ อ๋อ ธรรมประเภทนี้ปรากฏขึ้นที่ใจความสงบเย็น
จนกระทั่งจิตเป็นสมาธินี้ปรากฏขึ้นที่ใจ
ไม่ใช่ปรากฏขึ้นที่ฟากฟ้าแดนดินที่ไหนมันก็ทราบเอง
ปัญญาก็เหมือนกัน เมื่อได้รับการอบรมอยู่โดยสม่ำเสมอแล้ว
จะค่อยแตกแขนงออกไปในกาลอันควรที่เราพาพิจารณา
และปัญญานี้เป็นสิ่งสำคัญมากทีเดียวในวงพระศาสนา
ปัญญาเป็นสำคัญที่จะฟาดฟันหั่นแหลกกิเลสทุกประเภท
ไม่มีกิเลสประเภทใดจะเหนือปัญญาไปได้เลย
พระพุทธเจ้าก็ตรัสรู้ด้วยปัญญาเป็นสำคัญ เป็นดาบอันคมกล้าที่สุดเลย ปัญญา
เราจะเห็นได้เวลาปัญญาที่คล่องตัว
กำหนดไปถึงจุดไหนจะพังไปเลย กิเลสพังไปๆ เลย ไม่มีที่จะอยู่ได้
นี่คือความแก่กล้าสามารถหรือคล่องตัวของปัญญา
จึงเป็นเหมือนกับว่าดาบอันคมกล้าที่สุด
ปัญญาก็มีหลายประเภท ตรุณวิปัสสนา นั่น ท่านบอก
ปัญญาเพื่อความเห็นแจ้งอย่างอ่อนๆ ไปโดยลำดับ จนกระทั่งมหาสติมหาปัญญา
เมื่อถึงขั้นนั้นแล้วอย่างไรก็ไม่มีอะไรคัดค้านต้านทานได้
ขึ้นชื่อว่าข้าศึกคือกิเลสแล้วจะต้องพังไปหมดไม่มีอะไรเหลือ
นับวันพังไปๆ หมดไปๆ สิ้นไปโดยลำดับลำดา
จนกระทั่งไม่มีอะไรเหลืออยู่ภายในใจด้วยปัญญาประเภทเหล่านี้
นี่เป็นธรรมะเป็นพระโอวาทที่ทรงแสดงไว้อย่างสดๆ ร้อนๆ
ประหนึ่งว่าพระองค์ประทับอยู่ต่อหน้าเรา
ประทานพระโอวาทด้วยบทธรรมเหล่านี้อย่างแจ่มแจ้งชัดเจน
กังวานอยู่ภายในจิตใจของผู้ฟังโดยสม่ำเสมอด้วยความมีสติของตน
ไม่ใช่ธรรมเหล่านี้อยู่ห่างอยู่ไกลจากพระพุทธเจ้า
เช่นพระพุทธเจ้าไปปรินิพพานอยู่ทางอินเดีย
ธรรมเหล่านี้อยู่ตามคัมภีร์ อยู่ตามความจดจำเพียงเท่านั้น
แล้วก็สุดเอื้อมหมดหวังไม่สามารถจะปฏิบัติได้แล้ว
เพราะพระพุทธเจ้าผู้ประทานพระโอวาทก็ปรินิพพานไปแล้วและอยู่ไกลด้วย
ปรินิพพานอยู่เมืองอินเดียโน่นด้วย
นี้ล้วนแล้วแต่เป็นความสำคัญผิดทั้งนั้น ลูบคลำลม ๆ แล้ง ๆ ไปหาความจริงไม่ได้
ความจริงอย่างแท้จริงคืออะไร ท่านสอนว่าอย่างไร
นั่น พระโอวาทท่านสอนว่าอย่างไร
เหมือนพระพุทธเจ้าประทับนั่งประทานพระโอวาทบทนั้นๆ
อยู่ต่อหน้าต่อตาของเรานั่นแล จึงเข้ากันได้กับที่ว่า
พระธรรมและพระวินัยนั้นแลจะเป็นศาสดาแทนเราตถาคตเมื่อเราผ่านไปแล้ว
คือเรานิพพานไปแล้ว ให้พึงพากันเคารพหลักธรรมหลักวินัยซึ่งเท่ากับเคารพศาสดา
และให้พยายามเดินตามพระโอวาททั้งสองประเภทนี้ คือพระธรรมพระวินัย
อย่าให้คลาดเคลื่อน สิ่งใดที่พระพุทธเจ้าเห็นว่าเป็นโทษให้พยายามระมัดระวัง
เช่นกับเสือร้ายตัวหนึ่ง หรือไฟ มันจะเผาไหม้ได้จริงๆ
ไม่สงสัยถ้าประมาท เสือร้ายก็เหมือนกัน
นี่กิเลสแต่ละประเภทๆ เท่ากับเสือร้ายด้วย
เสือร้ายยังเป็นกาลเป็นเวลาที่บีบบี้สีไฟหรือทำอันตรายแก่คน
แต่กิเลสนี้มีอยู่เป็นประจำตลอดเวลา และกล่อมสัตว์โลกได้อย่างสนิทปิดหูปิดตา
ไม่สามารถที่จะทราบว่ามันเป็นภัยได้เลย
ก็เพราะกิเลสนี้เองเป็นตัวที่แหลมคมมากจึงแก้กันได้ยากที่สุด
ด้วยเหตุนี้จึงต้องได้ใช้ความพินิจพิจารณาให้มากในการแก้หรือการถอดถอนกิเลส
อย่าทำสักแต่ว่าทำ อย่าสุ่มอย่าเดา ให้ตั้งอกตั้งใจทำ
การประพฤติปฏิบัติธรรม คำว่าประพฤติปฏิบัติธรรมนี้
มันมีกิเลสกีดขวางอยู่ในการดำเนิน จึงต้องได้ชำระซักฟอกกิเลสเข้าไปโดยลำดับ
นี่แหละท่านเรียกว่าปฏิบัติธรรม คือปฏิบัติเพื่อรู้เพื่อเห็นธรรม
ด้วยการชำระสิ่งสกปรกโสมมทั้งหลายที่หุ้มห่ออยู่ภายในจิตใจ
ไม่ให้มองเห็นธรรมได้ไปโดยลำดับลำดา
จนกระทั่งจิตที่ไม่เคยสงบก็สงบได้ สงบได้มากได้น้อยเป็นลำดับลำดา
และเป็นต้นทุนหนุนศรัทธาความเชื่อของเราให้ขยับตัวขึ้นไปเรื่อยๆ
ความพากเพียรก็จะหมุนตามๆ กันมาเป็นเหมือนกับแม่เหล็ก
ผลอันนั้นเป็นเหมือนแม่เหล็ก
เครื่องดึงดูดความพากเพียรความอุตส่าห์พยายามทั้งหลายให้เดินตาม
หรือรวมกันเป็นพลังขึ้นมาภายในจิตใจของเรา
ที่นี่คำว่าสมาธิ คำว่าสมาธินั้นหมายถึงจิตที่มีฐานเป็นของตัวเอง
ถ้าจะแปลตามหลักนักปฏิบัติจริงๆ ที่รู้ที่เห็นเรื่องของความสงบและเรื่องของสมาธิแล้ว
ต้องเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างอื่นไปไม่ได้
ใครรู้ก็จะรู้เหมือนกันนี้ เห็นก็เห็นเหมือนกันนี้
ถ้าได้ปฏิบัติควรจะรู้จะเห็นจะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ นี่หลักใหญ่อยู่ตรงนี้
คำว่าจิตเป็นสมาธินั้นหมายถึง จิตที่มีความสงบเข้าหลายครั้งหลายหน
จนตั้งเป็นฐานของตนขึ้นมาได้แน่นหนามั่นคงอยู่ภายในจิตใจ
แม้จิตจะคิดจะปรุงเรื่องอะไรๆ อยู่ก็ตาม
ในขณะนั้นเรากำหนดลงดูจุดแห่งความรู้นั้น
จะเห็นความแน่นหนามั่นคงเป็นของตัวอยู่โดยลำพังเป็นปกติ
นี่เรียกว่าจิตเป็นสมาธิ จิตสงบ สงบตัวหลายครั้งหลายหนนั่นละเข้าเป็นสมาธิ
แต่เวลาพูดเราก็พูดว่า ทำสมาธิหรือจิตรวมเข้าเป็นสมาธิ
ให้พึงทำความเข้าใจเอาไว้ว่าเป็นอย่างที่กล่าวมานี้
ที่นี่คำว่าจิตออกก้าวทางด้านปัญญานั้น เวลาที่จิตสงบแน่วอยู่นั้นไม่ควรรบกวน
นอกจากว่าจิตให้สงบอยู่เฉยๆ ก็ได้และมีการคิดอ่านไตร่ตรองได้อยู่
จะคิดอ่านไตร่ตรองก็ได้ ด้วยความสงบของจิตนั้นๆ
อย่างนี้เราจะพิจารณาทางด้านปัญญาเป็นกาลเป็นเวลา
คือเปลี่ยนระยะกันไปกับสมาธิก็ได้
การพิจารณาทางด้านปัญญาต้องได้ใช้ความพินิจพิจารณาพาคิดพาอ่านนะ
เราอย่าปล่อยให้ว่าปัญญานี้จะเกิดเองเมื่อมีสมาธิแล้ว เราอย่าเข้าใจอย่างนั้น
ถ้าหากท่านผู้เป็นขิปปาภิญญาที่รู้ได้เร็วนั้นมีทางเป็นไปได้
แต่พวกถูพวกไถถลอกปอกเปิกอย่างพวกเรานี้
จะต้องได้ใช้ความพินิจพิจารณาด้วยการฉุดการลากการพาทำงาน
บังคับให้ทำงานโดยทางปัญญา
คือถ้าจิตสงบก็สงบอยู่อย่างนั้น เราจะเห็นแต่ความสบายในความสงบ
เห็นความแปลกประหลาดอัศจรรย์อยู่เพียงความสงบ
เพราะไม่เห็นสิ่งที่ประเสริฐเลิศเลอยิ่งกว่านั้นจึงไม่สนใจ
ความจริงเรื่องของปัญญานี่เป็นทางก้าวเดินที่จะให้เข้าสู่ธรรมอันละเอียด จิตอันละเอียด
และเห็นกิเลสประเภทละเอียด
ฆ่ากิเลสทุกประเภทไปโดยลำดับลำดาจากปัญญานี้ ไม่ใช่จากสมาธิ
สมาธิเป็นความสงบตัว เป็นต้นทุน จิตไม่ฟุ้งซ่าน
จิตอิ่มตัวไม่คิดโน้นคิดนี้ยุ่งเหยิงวุ่นวาย ด้วยความหิวโหยในอารมณ์ทั้งหลาย
มีความอิ่มตัวอยู่ด้วยความสงบเย็น นี่เป็นผลอันหนึ่ง
เมื่อมีผลอันนี้แล้วก็เท่ากับเรามีต้นทุน เอ้า ทีนี้พาคิดอ่านไตร่ตรองทางด้านปัญญา
เมื่อจิตค่อยพิจารณาทางด้านปัญญาคลี่คลายกันออกไปโดยลำดับลำดา
จนจิตเห็นคุณค่าของปัญญาว่าได้เข้าใจกิเลสประเภทนั้น เข้าใจประเภทนี้
และได้เข้าใจอาการแห่งร่างกายทั้งหลายส่วนนั้นส่วนนี้ เข้าใจเรื่องเวทนาสุขทุกข์เฉยๆ
ทั้งทางร่างกายและจิตใจส่วนนั้นส่วนนี้เข้าไปโดยลำดับแล้ว ย่อมจะลุกลามไปเรื่อยๆ ที่นี่
ทั้งส่วนร่างกายคือรูปขันธ์ ทั้งเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
อันเป็นนามขันธ์เรื่องของปัญญาจะค่อยกระจายตัวไปเรื่อยๆ รู้ไปเรื่อยเห็นไปเรื่อย
และจะปลุกสติปัญญาให้มีความตื่นตัวขึ้นไปเรื่อยๆ ขยับขึ้นไปเรื่อยๆ
ด้วยอำนาจแห่งความเพียร เพราะเห็นผลเป็นพยานอยู่ภายในจิตใจอยู่แล้ว
นี้ละที่นี่จิตจะค่อยก้าวขยายตัวออกจากสมาธิเป็นปัญญา
ในการปฏิบัติระหว่างสมาธิกับปัญญานี้ ที่ให้ถูกต้องดีงามเหมาะสมราบรื่นนะ
ในขณะที่จิตสงบเราอย่าไปกังวลกับการพิจารณาทางด้านปัญญาใดๆ ทั้งสิ้น
ให้พยายามทำความสงบจิตให้ได้ มีหน้าที่ที่จะทำสมถธรรมให้ปรากฏ
สมถธรรมก็คือความสงบของใจนั่นเอง
เมื่อปรากฏแล้วก็อยู่นั้น พักตัวให้สบาย เย็นอยู่นั้น
พอถอยออกมาจากนั้นจิตย่อมมีความอิ่มตัวในการอยู่สงบของตน
แล้วออกเที่ยวเหมือนกัน นั่นละขณะที่จิตจะออกเที่ยว
อยากคิดอยากปรุงเรื่องนั้นเรื่องนี้
นั้นแหละนำปัญญาเข้าไปหรือว่าไสจิตนี้เข้าไปสู่ทางด้านปัญญา
ให้พิจารณา พาทำงาน
เอ้า จะทำงานอะไร เพราะในโลกธาตุนี้มีแต่เรื่องเป็นทางเดินของปัญญาทั้งนั้น
เป็นหินลับปัญญาทั้งนั้น ไม่ว่าภายนอกไม่ว่าภายใน
ทั้งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทั้งหมดในร่างกายนี้เป็นหินลับปัญญาทั้งนั้น
เป็นทางก้าวเดินเพื่อปัญญาอันคมกล้า
เอ้า จะออกไปสัมผัสสัมพันธ์กับสิ่งภายนอก ไม่ว่ารูปใด ชนิดใด เสียงใด
ตลอดถึงสัตว์ถึงบุคคลใดที่เข้ามาสัมผัสสัมพันธ์กับสติปัญญา
ที่เตรียมพร้อมเพื่อรู้ เพื่อเห็น เพื่อเข้าใจ เพื่อละเพื่อถอนอยู่แล้ว
ย่อมจะรู้จะเข้าใจ จะละจะถอดถอนไปโดยลำดับลำดา นี่ละปัญญา
ปัญญาเริ่มก้าว ก้าวอย่างนี้ละ มองไปไหนมีแต่เรื่องของปัญญาที่จะทำงาน
ที่จะก้าวเดินเพื่อความรู้แจ้งแทงทะลุ เพราะเวลาติดมันติดหมด
จิตใจเราอย่าเข้าใจว่าติดเฉพาะกายเฉพาะจิตของตัวเองเท่านั้น
แย็บออกไปทางไหนมันติดๆ ติดไปหมด
เพราะฉะนั้นเวลาพิจารณามันจึงกระเทือนไปหมดเลย
อยู่ไม่ได้ถึงขั้นปัญญาที่จะกระเทือนโลกแล้ว
ต้องเหมือนกับไฟได้เชื้อลุกลามไปเรื่อยๆ เมื่อมีอะไรสัมผัสสัมพันธ์
แม้แต่ไม่มีก็เสาะแสวงหาเหตุหาผลเรื่อยไป
จนกระทั่งได้เรื่องได้ราวได้เหตุได้ผล แล้วก็ก้าวไปเรื่อยๆๆ นั่นเรื่องของปัญญา
(โปรดติดตามเนื้อหาต่อในฉบับหน้า)
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
จาก พระธรรมเทศนา "ปฏิบัติให้ถึงความจริง" ใน ก้าวเดินตามหลักศาสนธรรม
โดย ท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน วัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานี
< Prev | Next > |
---|