ดังตฤณวิสัชนา Dungtrin's Answer
ทำอย่างไรจึงจะเห็นได้ว่ากายใจเป็นขันธ์ ๕
ถาม - ดิฉันได้อ่านหนังสือของคุณดังตฤณ เรื่อง “๗ เดือนบรรลุธรรม” เกี่ยวกับ “ขันธ์ ๕”
แล้วอยากทำใจให้คิดว่ากายใจเป็นขันธ์ ๕ ได้จริงๆ แต่ก็ยังทำไม่ได้
จะมีวิธีการปฏิบัติอย่างไรจึงจะเกิดปัญญาเห็นตามได้คะ
อันนี้เป็นคำถามนะ ที่อ่านแล้วเข้าใจ คือมันเข้าใจชั่วขณะที่อ่านแล้วเข้าใจ
แต่ยังเป็นระดับความคิด
อยากทราบว่ามีขั้นตอนอย่างไรที่จะให้เกิดปัญญาเห็นตามได้
ตรงที่มาถึงขั้นของขันธ์ ดูขันธ์แล้ว มันแอดวานซ์ (advance) แล้วนะ
ไม่ใช่ขั้นของความคิดแล้ว
จำไว้นะว่าพระพุทธเจ้าสอนเรื่องขันธ์ ๕
สำหรับผู้มีสมาธิมากพอที่จะเห็นกายใจโดยความเป็นสภาวธรรมได้แล้ว
ไม่ใช่ผู้ที่ยังคิดๆ อยู่ หรืออยากจะหายเจ็บใจแล้วแกล้งมองว่ากายใจเป็นขันธ์ ๕
อย่างนี้มันไม่ได้ผลอะไรขึ้นมา
ได้ผลนิดหน่อยตอนที่รู้สึกตามได้แวบๆ ว่า เออ จริงด้วย ลมหายใจก็ไม่เที่ยง
สุขทุกข์ก็ไม่เที่ยง ความหมายจำ ความรู้ ความสำคัญ
ที่ใจมันสำคัญมั่นหมายว่าอะไรเป็นอะไร
ล้วนแล้วแต่เป็นสภาวะที่เกิดขึ้นเดี๋ยวหนึ่ง แล้วเดี๋ยวมันก็ดับไป
ช่วงที่เรา สายตาของเรายังจดจ่ออยู่กับตัวหนังสือที่เป็นธรรมะ
แล้วใจของเรารับข้อความ รับเนื้อสารที่ปรากฏเป็นตัวหนังสือ
เกิดความเข้าใจขึ้นมาว่า เออ จริงๆนะ ไม่มีอะไรในตัวเราสักอย่างเดียวที่มันเที่ยง
ต่างฝ่ายต่างกำลังแสดงความไม่เที่ยงด้วยกันทั้งนั้น
ใจมันก็คลาย ใจมันก็เบิกบาน ใจมันก็เลิกยึดมั่นถือมั่นขึ้นมาชั่วขณะ
แต่ถ้าหากว่าคุณมีความเจ็บใจ มีความยึดมั่นถือมั่นอยู่จริงๆ
ความยึดมั่นถือมั่น ความเจ็บใจนั้นมันจะกลับมาเล่นงาน
ทันทีที่สายตาคุณละจากหนังสือธรรมะ
มันเหมือนเมื่อกี้เราแกล้งคิดไป มันเหมือนเราแกล้งปลอบใจตัวเอง
ว่ามันไม่เที่ยง มันไม่ใช่ตัวตน มันไม่ใช่เรามันไม่ใช่เขา
แต่พอสายตาละจากหนังสือธรรมะปุ๊บ ใจยึดเลย ใจมันเจ็บเลย
มันเหมือนมีอะไรมาบีบคั้นหัวใจทันที
นี่อันนี้รู้สึกว่าของจริงมันเป็นตัวนั้นมากกว่า
ฉะนั้นเราทำใจไม่ได้ด้วยการอ่านหนังสือ
เราไม่สามารถทำความเข้าใจธรรมะขั้นสูง
แล้วจะสามารถคลายจากอาการยึดมั่นถือมั่นได้
ยกเว้นแต่ว่าใจเรามีความโน้มเอียง
ที่จะปล่อยวางความเป็นขันธ์ ๕ ออกจากใจได้จริงๆ อยู่แล้ว
มีความสามารถที่จะบรรลุมรรคผลนั่นเองน่ะ พูดง่ายๆ
ถ้าหากเป็นบุคคลประเภทนั้นก็ถือว่ามีวาสนา มีโชคดีไป
ที่ถ้าอ่านหรือว่าถ้าฟังธรรมะในแง่ของความไม่เที่ยง หรือว่าความเป็นอนัตตา
แล้วสามารถหลุดพ้นได้ มีจิตหลุดพ้นได้
แต่เมื่อเรายังมีความผูกยึดอยู่
เราต้องยอมรับตามจริงว่า อะไรๆ มันต้องค่อยเป็นค่อยไป
อย่าถามว่าทำอย่างไร ถึงจะทำใจได้ง่ายๆ
เพราะว่าเรากำลังพูดถึงเรื่องคอขาดบาดตายของชีวิตนะ
เรื่องการปล่อยวางนี่ไม่ใช่เรื่องง่ายนะ
เป็นเรื่องของการเปลี่ยนชีวิตทั้งชีวิตทีเดียว มันไม่ใช่แค่อุบายอะไรตื้นๆ
แล้วจะทำให้จิตใจของเราแตกต่างไปจากเดิมเป็นคนละคน
ส่วนใหญ่จะเข้าใจกันผิดและก็มักจะมี
คืออย่าง “๗ เดือนบรรลุธรรม” ผมเอาชื่อ ๗ เดือนเป็นตัวตั้ง
เพราะว่าพระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ในมหาสติปัฏฐานสูตร
ว่าใครก็ตาม จะหญิงจะชาย จะอายุแค่ไหนก็ตาม
ถ้าหากว่าได้เจริญสติปัฏฐาน ๔ อย่างเต็มที่
ตามที่พระองค์ตรัส อย่างเป็นขั้นเป็นตอน
๗ ปีอย่างช้าเลย ช้าที่สุดเลย ได้เป็นพระอนาคามี
ไม่ใช่ได้เป็นพระโสดาบันหรือพระสกคาทามี
อย่างช้าที่สุดเลยได้เป็นพระอนาคามี
และท่านไม่ได้บอกด้วยนะว่าจะบวชอยู่หรือเป็นฆราวาสอยู่
ผมก็เอาตัวนี้มาเป็นตัวตั้ง อย่างช้าสุด ๗ ปี อย่างกลาง ๗ เดือน
แล้วก็อย่างต่ำ อย่างน้อยที่สุด ๗ วัน
ถ้าเจริญสติตามหลักของสติปัฏฐาน ๔ อย่างเต็มที่แล้ว บรรลุธรรมแน่นอน
และในเรื่องผมก็พยายามจาระไนว่าตัวละครของเรื่อง
เรื่องนี้เป็นเรื่องแต่ง ตัวละครของเรื่องตื่นขึ้นมาตี ๔ ทุกวัน
เพื่อที่จะมานั่งสมาธิ มาสวดมนต์ มาเดินจงกรม
มาทำตอนเช้าให้เป็นช่วงเวลาของพลังแห่งสติ เป็นขุมพลังแห่งสติ
เสร็จแล้วก็มีคนอ่านชอบมาอ้างกัน โอ้นี่ ๗ เดือนเข้าไปแล้ว ๗ ปีเข้าไปแล้วก็มี
บอกว่ายังไม่ได้แบบตัวละครสักที ทำไมเป็นอย่างนั้นล่ะ
นี่ถามตัวเองนะว่าทำมาตามลำดับหรือเปล่า
ตื่นขึ้นมาตี ๔ เพื่อที่จะเจริญอานาปานสติไหม
ระหว่างวันจิตใจมีความผูกพันอยู่กับการเห็นกายเห็นใจ โดยความเป็นของไม่เที่ยงไหม
ทำเป็นขั้นเป็นตอน ทำตามลำดับ
ทำให้มันกลมกลืนอยู่กับชีวิตจริงๆ ของจริงๆ ในระหว่างวันหรือเปล่า
ถ้าหากว่าเรามีความเข้าใจมากพอ
ความอดทน ความมีมานะ ความมีขันติ มันจะเป็นไปเอง
มันจะไม่มีอาการเร่งร้อน มันจะไม่มีอาการเร่งรีบ
แต่จะมีอาการว่าประมาทไม่ได้
ใจนี่จะต้องเอาตามสูตรเลย คือกายใจเกิดอะไรขอให้ได้รู้
ไม่ใช่ขอให้ได้คาดหวังว่าใจเราจะหายเจ็บได้
หรือว่าตัวเราจะได้บรรลุมรรคผล เมื่อนั่นเมื่อนี่
การที่เราสามารถเห็นอย่างชัดเจน
ตามรายละเอียดในตัวละครที่บรรยายไว้แล้วนะ
บอกว่าถึงจุดๆ หนึ่ง มันมีแต่ความสุข
ที่จะมองเห็นความไม่เที่ยง ความไม่ใช่ตัวตนของกายใจ
ในส่วนต่างๆ ในรายละเอียดปลีกย่อย และในภาพรวม
มันไม่มีความคาดหวังเหลืออยู่เลยว่าเราจงหายเจ็บใจ เราจงได้บรรลุมรรคผล
ถึงตรงนั้นแหละ ถึงตรงที่มีสติเต็มขั้นอย่างนั้นแหละ
เรียกว่าเป็นผู้พร้อมที่จะบรรลุมรรคผล
เป็นผู้พร้อมที่จะถอนความเจ็บใจออกไปจากชีวิตได้นะครับ
< Prev | Next > |
---|