จากใจ บ.ก.ใกล้ตัว Lite Talk
ฉบับที่ ๓๙๖ อาการป่วยทางใจ
คนเราเหมือนป่วยกันทางจิตทุกคน
ป่วยมากหรือป่วยน้อยเท่านั้นเอง
รู้ตัวหรือไม่รู้ตัวเท่านั้นเอง
ถ้าป่วยน้อยเนี่ย คนจะไม่รู้ตัวว่าป่วย
แล้วก็ไปมองกันว่านั่นเป็นอาการปกติ
คืออยู่ร่วมกับสังคมได้
ใช้ชีวิตอย่างเอาตัวรอดได้
บางคนช่วยเหลือสังคมได้ด้วยซ้ำ
ในสายตาพระอรหันต์แล้ว
เราทุกคนเปรียบเหมือน ‘คนป่วยทางจิต’
เราไปเศร้าโศกเสียใจ
อยากให้ของที่ไม่เที่ยงนั้นเที่ยง
อยากให้ทุกข์เป็นสุข
และอยากให้ของที่ไม่ใช่ของเราเป็นของเรา
เปรียบเสมือนอยู่ในโลกของความฝันนั่นเอง
พุทธศาสนาถือว่าทั้งหมดนี่ บ้าหมดเลย
คือ บ้าเพราะสำคัญผิด
บ้าเพราะ อุปาทาน
บ้าเพราะ เกิดความไม่เข้าใจ
บ้าเพราะ ยอมรับไม่ได้ ว่า
ทั้งหลายทั้งปวงนี้มันไม่เที่ยง
ไม่สามารถทนอยู่ในสภาพเดิมได้
ไม่มีอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นตัวเป็นตน
ที่เราจะไปบังคับบัญชา
ไม่ให้มันเปลี่ยนแปลง ไม่ให้มันแปรปรวนไป
.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..
อะไรจะมีค่าไปกว่าการ ‘มีจิตที่ดีขึ้น’
ในเมื่อจิต คือสิ่งที่คุณต้องทนรำคาญ
หรือชื่นชมยินดี อยู่ตลอดวันตลอดคืน
และจิตนี่เองเป็นต้นเค้าของกรรมทั้งปวง
เมื่อจิตสว่างย่อมปรารถนาที่จะทำกรรมขาว
สุคติย่อมเป็นที่หวัง
เมื่อจิตมืดยิ่งใคร่ที่จะทำกรรมดำ
ทุคติย่อมเป็นที่หวัง
สรุปคือ ขอเพียงจิตคุณดีอย่างเดียว
อะไรอย่างอื่นที่จะตามมาก็ดีหมด
หากการเปลี่ยนแปลงของคุณ
เข้าลึกมาได้ถึงจิต
ก็แปลว่าทั้งปัจจุบันและอนาคต
ไม่มีอะไรน่าห่วงอีกแล้ว
.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..
ถ้าสวดมนต์นั่งสมาธิจนเคยชิน
จิตก็เหมือนได้อาบน้ำ
ทำความชุ่มชื่นให้ตัวเองบ้างครับ
อย่างน้อยเป็นกำลังใจลึกๆ
ไม่ให้ต้องหงุดหงิดหรือเศร้ายาว
แบบไม่มีเว้นวรรค
ธรรมะมีคุณสมบัติอยู่อย่างหนึ่ง
ใครเสพทุกวัน ในที่สุดจะมีหนทาง
คลี่คลายปมทุกข์ปมร้อนทีละเปลาะ
อาจจะต้องผ่านเดือนผ่านปี
อย่างเช่น วันหนึ่งอาจจะคลิกขึ้นมาเองว่า
เออ! หงุดหงิดมันผ่านมาที่ลมหายใจหนึ่ง
อีกลมหายใจหนึ่งมันก็ผ่านไปแล้ว
ไม่ใช่ตัวตนที่เราต้องยึดไว้นี่นา
อะไรแบบนี้
ถึงอ่าน ถึงฟังเป็นร้อยเป็นพันครั้ง ก็ไม่เก็ต
แต่จะเก็ตเองเมื่อถึงจุดที่เสพธรรมไปจน ‘จิตเปิด’
แค่คลิกเดียว ชีวิตต่างไปจนตายเลยครับ
อย่าถอยเท้าไปจากธรรมะก็แล้วกัน
.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..
ความจริงการปฏิบัติที่ได้ผล
ลดละกิเลสลงได้นั้นมีอยู่หลายระดับ
แค่เข้าใจธรรมะอย่างถูกต้อง
เข้าใจเรื่องสังสารวัฏ และนิพพานอย่างถูกต้อง
หรืออีกนัยหนึ่งโดยย่นย่อคือ
เรื่องทุกข์และการดับทุกข์ได้ถูกต้อง
ก็นับว่ากระแทกกิเลสให้บุบลงได้หน่อยหนึ่งแล้ว
แต่ที่จะทำให้กิเลสบอบช้ำ หรือถึงขั้นแหว่งวิ่น
กะเทาะให้ร้าว กระทั่งแตกหักได้
จะต้องเป็นผู้มีความตั้งมั่นจริง
ที่จะ ‘เปิดจิตเปิดใจ’ เป็นทาน
คุมจิตให้อยู่ในกรอบของศีล
แล้วไต่ระดับขึ้นไปกระทำจิต
ให้อยู่ในสภาพสงบสงัดจากกิเลส ยิ่งยืนนานยิ่งดี
แล้วจึงใช้ความสงัดจากกิเลสนั้น แยกดูให้ออก
ว่ารูปกับนามเป็นคนละอัน
อันนั้นจึงนับว่าเรียกวิปัสสนา
เมื่อแยกออกว่า
นี่เป็นผู้ดู ผู้นิ่งอยู่ตรงกลาง
จึงจะเห็นสิ่งที่ถูกดูต่างๆ
ไม่ว่าจะเป็นรูป เวทนา สัญญา หรือสังขาร
เป็นสิ่งเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป
ที่ตรงนั้นกิเลสจึงถูกกะเทาะออกอย่างจริงจัง
เพราะ ‘อุปาทาน’ อันเกิดจากการรวมรูปรวมนาม
ขาดหายไปชั่วขณะ
.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..
พุทธศาสนาเกิดขึ้นมาเพื่อที่จะ
แก้ทุกข์ทางใจอย่างเด็ดขาด
แบบชนิดไม่กลับไม่เปลี่ยนอีก
เพราะว่ารากของปัญหามันจบไปแล้ว
ความเข้าใจผิด ที่ทำให้เกิดการอยากประการต่างๆ
การอยาก ที่ทำให้เกิดความกระวนกระวายไปต่างๆ
มันหมดไปจากใจ
เพราะฉะนั้นทุกข์ทางใจก็หายไป
‘อาการป่วยทางใจ’ มันหายไปอย่างเด็ดขาด!
ดังตฤณ
ตุลาคม ๒๕๖๗
การปฏิบัติสมาธิสามารถทำได้ทุกเวลา
โดยฝึกให้จิตมีสติรู้อยู่ในการกระทำ การพูด การคิด ทุกขณะจิต ทุกลมหายใจ
ดังความตามพระธรรมเทศนา โดย พระราชสังวรญาณ (หลวงพ่อพุธ ฐานิโย)
เรื่อง "เดินตามรอยพระพุทธองค์" ในคอลัมน์ "สารส่องใจ" (-/\-)
การพิจารณาให้เห็นกายใจโดยความเป็นสภาวธรรม
จนกระทั่งจิตคลายจากอาการยึดมั่นถือมั่นได้ จะต้องมีวิธีปฏิบัติอย่างไร
หาคำตอบได้ในคอลัมน์ "ดังตฤณวิสัชนา"
ตอน "ทำอย่างไรจึงจะเห็นได้ว่ากายใจเป็นขันธ์ ๕"
เมื่อต้องพบเจอลูกน้องหลายคนที่ทำงานด้วยยากมาก
เจ้านายคนใหม่จะมีวิธีรับมือกับสถานการณ์นี้ได้อย่างไร
ติดตามได้จากกรณีศึกษา
ในคอลัมน์ "โหรา (ไม่) คาใจ" ตอน "ทำงานไปด้วยใจที่เป็นบุญ"
< Prev | Next > |
---|