ดังตฤณวิสัชนา Dungtrin's Answer

ถ้าสงสัยว่ามีวิปัสสนูปกิเลสเกิดขึ้น ควรทำอย่างไร



ถาม - เวลาจิตสงบในขณะที่ลืมตานั้น ดิฉันจะเห็นแต่สังขารขันธ์
มีผู้แนะนำว่าน่าจะเป็นวิปัสสนูปกิเลสเพราะจิตไม่ถึงฐาน
สิ่งนี้เกิดขึ้นจากอะไร และควรฝึกต่ออย่างไรดีคะ


คือการปรุงแต่งของจิตมันไม่ได้มีแต่สังขารขันธ์
แม้แต่สัญญาก็เป็นตัวปรุงแต่งจิตนะ มันเป็นเจตสิกทั้งหมดนั่นแหละ
ผมพูดคำว่า "วิปัสสนูปกิเลส" พูดถึงคำนี้มาหลายครั้ง
แล้วก็อยากให้เข้าใจกันจริงๆ กันใหม่นะ
วิปัสสนูปกิเลสไม่ใช่ของเสีย ไม่ใช่ของที่แย่ ไม่ใช่ของไม่ดี
ถ้าเกิดวิปัสสนูปกิเลสได้ แปลว่าเราต้องทำถูกมาบ้างแล้ว
เราต้องทำอะไรได้ดีมาบ้างแล้วไม่ทางสมถะก็ทางวิปัสสนา



โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเอาตามบัญญัติชั้นเดิมเลย
ที่คือเป็นครูบาอาจารย์ชั้นหลังพุทธกาล
ท่านเป็นคนบัญญัติคำว่า "วิปัสสนูปกิเลส" ขึ้นมา
โดยความมุ่งหมายของท่าน ท่านหมายเอาคนที่ได้วิปัสสนาญาณจริงๆ แล้ว
ไม่ใช่คนที่ยังคิดๆ นึกๆ หรือว่าได้สมถะแบบตื้นๆ
อย่างยกตัวอย่างเช่นบางคนเกิดสมาธิ แล้วก็มีสัมมาทิฐิ
มองเข้ามาเห็นว่ากายนี้ไม่ใช่ตัวเราจริงๆ ด้วย
แล้วก็จิตนี้ที่เกิดการรับรู้เกิดการปรุงแต่งไม่ใช่ตัวเราจริงๆ ด้วย
มันแค่เป็นรูปเป็นนามแยกต่างหากจากกัน
อันนี้เพิ่งได้วิปัสสนาญาณขั้นแรกขั้นต้นๆ
แต่หลายคนเกิดมาไม่เคยได้สมาธิ เกิดมาฟุ้งซ่านมาตลอด
แต่พอมาพบภาวะนี้ขึ้นมา สรุปแล้วว่าตัวเองได้มรรคผล
ตรงนี้ที่เรียกว่าวิปัสสนูปกิเลส คือเกิดกิเลสขึ้นมา นึกว่าตัวเองได้มรรคผล
นี่คือความมุ่งหมายของครูบาอาจารย์ที่ท่านบัญญัติคำนี้ขึ้นมา
สมัยพุทธกาลไม่มีคำว่าวิปัสสนูปกิเลสนะ


เอาละทีนี้ มาพูดตอบคำถามนะ เดี๋ยวอ่านคำถามให้ฟังอีกทีหนึ่ง
บอกว่า "ถ้าหากว่าเห็นสังขารขันธ์ในขณะที่จิตสงบ น่าจะเป็นวิปัสสนูปกิเลส
มีคนบอกมานะ
เพราะว่าถ้าจิตไม่ถึงฐานไม่มีสิทธิ์ที่จะเห็นสังขารขันธ์ได้"
อันนี้ตัวคำถามผมไม่เข้าใจทั้งหมดนะ คือว่าจะหมายตามนี้หรือเปล่า
แต่ผมจะอธิบายที่มันเป็นกลางๆ คร่าวๆ ง่ายๆ นะ
ว่าการที่เราสงบลงหรือว่าลืมตาตื่นอยู่ก็ตาม
ที่จะนับว่าเราเห็นโดยความเป็นสภาพขันธ์จริงๆ
ขอให้สังเกตง่ายๆ ตอบคำถามหรือว่าสำรวจตัวเองง่ายๆ
ว่าสิ่งที่เรากำลังเห็นอยู่เป็นขอบเขตของกายใจที่กำลังปรากฏอยู่จริงๆ หรือเปล่า

ถ้าเราตอบได้ว่าเรากำลังเห็นอะไร เรากำลังเห็นว่าลมหายใจแสดงความไม่เที่ยง
เห็นว่าความอึดอัดความสบายไม่เที่ยง
เห็นว่าความคิดๆ นึกๆ ฟุ้งๆ หรือว่าจำอะไรได้ขึ้นมา
มันปรากฏแป๊บหนึ่งแล้วมันก็หายไป
อย่างนี้เรียกว่าเห็นขันธ์ ๕ จะเป็นเห็นแบบอ่อนๆ ด้วยจิตที่ครึ่งนึกครึ่งนิ่ง
หรือว่าจะเห็นแบบเป็นขั้นแอดวานซ์ (
advance) ด้วยจิตที่มันตั้งมั่นเป็นสมาธิก็ตาม
อย่างไรๆ มันก็เป็นการเห็นขันธ์ทั้งหมด ขอให้อยู่ในขอบเขตกายใจนี้เถอะ


อย่าไปพยายามสงสัยหรือว่าตั้งข้อสังเกตว่านี่ผิดหรือถูก
เพราะว่าการตั้งข้อสังเกตว่านี่เป็นไปตามหลักการ นี่ผิด นี่ถูก อะไรต่างๆ
มันรังแต่จะก่อให้เกิดความรู้สึกว่าไม่แน่ใจ ความไม่แน่ใจหรือว่าวิจิกิจฉา
พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ชัดเจนนะ มีชื่อเรียกว่า “วิจิกิจฉา”
คือเป็นเครื่องขวางสติ เป็นเครื่องถ่วงความเจริญของสติ ไม่ใช่เครื่องส่งเสริม
ถ้าหากเกิดความสงสัยพระพุทธเจ้าให้ดู
อันดับแรกเลยให้ดูว่าความสงสัยนั้น เราเห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยงได้หรือเปล่า
ถ้ารู้สึกว่าสงสัยผ่านมาแผ่วๆ แล้วหายไป เหลือแต่ใจ
อย่างนี้เรียกว่าจิตมีความพร้อมที่จะเห็น
ว่าความสงสัยมันไม่เที่ยง ผ่านมาแล้วผ่านไป
แต่ถ้าความสงสัยยังคงอยู่ พระพุทธเจ้าให้แก้ด้วยการพิจารณาโดยแยบคาย
ยกตัวอย่างเช่นกรณีนี้ ถ้ามีใครมาทักหรือเราเกิดความสงสัย
"ตอนที่หลับตาเนี่ยมันเห็นสังขารขันธ์จริงหรือเปล่า"
ให้ถามตัวเองว่า ตั้งแต่แรกเลยนะ
เป้าหมายของการเห็นขันธ์ ๕ เป็นไปเพื่ออะไร
พระพุทธเจ้าตรัสไว้ชัดเจน เป็นไปเพื่อให้เกิดอนิจจสัญญา

พูดง่ายๆ ว่าถ้าเราเห็นขอบเขตกายใจนี้ สิ่งใดสิ่งหนึ่ง
แล้วรู้สึกว่ามันไม่เที่ยงได้ รู้สึกบ่อยๆ รู้สึกซ้ำๆ
จนกระทั่งมันติดอยู่ในใจว่าอะไรๆ ก็ไม่เที่ยง
อันนี้ถือว่าโอเค เราเห็นขันธ์ ๕ จริงๆ


ไม่ต้องไปสนใจว่ามันเป็นระดับบีกินเนอร์ (beginner) หรือว่าระดับแอดวานซ์
ไม่ต้องสนใจว่าจิตเราจะมีคุณภาพหรือว่าจิตมันยังย่ำแย่อยู่
ขออย่างเดียวขอให้เห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยงได้เถอะ
มันตรงตามเป้าหมายที่พระพุทธเจ้าจะให้เห็นขันธ์ ๕ แล้ว

แล้วนอกจากนั้นขอให้พิจารณาด้วย
ว่าขณะที่เกิดความเห็นสภาพขันธ์ว่าไม่เที่ยง มันมีความสงสัยเจืออยู่
หรือว่าจิตใจปลอดโปร่งปราศจากความสงสัย
ถ้าจิตใจปลอดโปร่งปราศจากความสงสัย นั่นแสดงว่าไม่มีเครื่องขวาง
แต่ถ้าเมื่อไหร่เสียงทัก เสียงคนโน้นคนนี้ทักว่าใช่ ไม่ใช่ อะไรต่างๆ
มาทำให้จิตเกิดความปั่นป่วน ทำให้เกิดความวกวนไม่แน่ใจ
นี่ให้สรุปว่าเราไม่ได้กำลังเห็นขันธ์อยู่แน่ๆ
มันเกิดนิวรณ์ธรรม หรือว่าเครื่องขวาง เครื่องถ่วงความเจริญของสติต่างหาก
ถ้าเราแยกแยะถูกอย่างนี้นะ มันจะเป็นโยนิโสมนสิการขึ้นมา
คือเกิดความพิจารณาโดยแยบคายว่าอะไรเป็นอะไร มีเป้าหมายชัดเจน
แล้วก็รู้หลักว่าจะคืบหน้าไปหาเป้าหมายนั้นได้อย่างไร
ไม่ใช่ก้าวแล้วก็หยุด ก้าวแล้วก็หยุดด้วยความลังเลสงสัยอยู่


แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP