จากใจ บ.ก.ใกล้ตัว Lite Talk
ฉบับที่ ๓๙๔ ความอิ่มเต็มที่แท้จริง
หายงงกับชีวิต
แค่สำรวจมาที่จิตที่เดียว
ดูว่า ‘ยึดหรือไม่ยึด’
ปริศนาทั้งหลายจะคลี่คลาย
กลายเป็นคำตอบตื้นๆได้
เหตุที่พยายามแทบตาย
แต่พอได้มาจริงๆ กลับรู้สึกว่างเปล่า
ก็เพราะ ‘จิตไม่ยึด’
ระหว่างที่คนเราพยายามแบบออกแรงเกินๆ
จิตจะตะกาย พุ่งทะยานจนเหนื่อย
พอได้มาเลยกลายเป็นหมดแรงตะกาย
พ้นช่วงนั้น เข้าสู่ช่วงเลิกตะกาย
เลยกลายเป็น ‘ขี้เกียจยึด’
อาการที่จิตไม่ยึดนั่นแหละ
คือความรู้สึกว่างเปล่า
บางทีไม่ได้พยายามเท่าไร
แต่ตื่นเต้นเป็นเจ้าเข้าเมื่อได้มา
ทว่าแค่ไม่กี่วันก็เบื่อแล้ว
มันเพราะอะไรกัน?
คำตอบคือ ‘จิตถอนจากสภาพยึด’
เมื่อยึดสิ่งใดจนสุดแรง
พอหมดแรงยึดก็ ‘อยากถอย’
หรือกระทั่ง ‘อยากผลักไสไปห่างๆ’
ถ้าได้อะไรสมใจมากๆ
แล้วไม่เจริญสติเพื่อสังเกตความจริง
โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับอาการยึดและไม่ยึดของจิต
ในที่สุดคนคนหนึ่งจะงงงัน
หรือกระทั่งเกิดความรู้สึกเคว้งคว้าง
ถามตัวเองบ่อยๆว่า
ตกลงจะเอาอะไรจากชีวิตดี?
นี่ฉันต้องการอะไรกันแน่?
ที่นึกว่าผ่านมาหมดแล้ว
ได้มาหมดแล้ว
แท้ที่จริงเป็นแค่จุดเริ่มต้น
ของคำถามสำคัญต่างหาก
คำถามว่า จริงๆแล้วเรายังไม่ได้อะไร
พลาดสิ่งไหนที่เป็นแก่นชีวิตไปหรือเปล่า?
ให้เริ่มสังเกตง่ายๆ
หายใจเข้าออกอยู่นี้ เราไม่ยึด ไม่สน
ไม่ให้ความสำคัญอะไรกับมัน
เพราะเห็นเป็นสมบัติติดตัว
เป็นของไม่ต้องซื้อหา
ไม่ต้องแก่งแย่งชิงดีเอากับใคร
ใจไม่เคยต้องตะกาย ไม่เคยต้องทะยาน
แต่ขณะเดียวกัน ใจก็รู้อยู่ลึกๆว่า
ลมหายใจเป็นของขาดไม่ได้
ลมหายใจนี้แหละสอนเราได้ว่า
จิตที่ ‘ไม่ยึด’ แต่ขณะเดียวกันก็ ‘ไม่ทิ้ง’
หน้าตาเป็นอย่างไร
ให้เอาหน้าตาของจิตแบบนี้เป็นตัวตั้ง
เพื่อเปรียบเทียบกับจิตอีกหลายๆแบบ
จิตที่อยู่ในระหว่างตะกายเพื่อให้ได้มา
จิตที่จับยึดคนไหนหรือสิ่งใดเหนียวแน่น
จิตที่เลิกยึด อยากถอย อยากถอนตัวหนี
พอคุณเห็นจิตหลายๆแบบ กระทั่งรู้ซึ้งว่า
‘จิตยึด’ กับ ‘จิตปล่อย’ ต่างกันอย่างไร
สติ ณ จุดนั้นจะให้คำอธิบายต่างๆมากมาย
รู้ว่า เพราะเหตุปัจจัยใด จึงยึด
รู้ว่า เพราะเหตุปัจจัยใด จึงปล่อย
ไม่มีอาการยึดแบบงงๆ ปล่อยแบบงงๆ
เกิดปัญญารู้ทันว่า อารมณ์อยากเป็น ‘ของเหวี่ยง’
อะไรที่อยากได้มาก บทจะเบื่อก็เบื่อมาก
อะไรที่อยากได้น้อย บทจะเบื่อก็เบื่อน้อย
สำคัญคือจิตไม่ได้มีแรงยึดสิ่งใดไว้ตลอดไป
คล้ายมือที่จับราวเหล็กเพื่อห้อยโหนตัว
มีแรงจับเหนียวแน่นเนิ่นนานแค่ไหน
ในที่สุดก็หมดแรง ต้องปล่อยมือจนได้
เมื่อเห็นอย่างนี้ เฝ้ารู้อยู่อย่างนี้
จะรู้สึกได้ว่าจิตเกิดความสว่าง
หิวน้อยลง กระวนกระวายน้อยลง
เพราะเข้ามาเห็นความจริงในจิตว่า
ความสงบระงับนั่นแหละ ความอิ่มเต็มที่แท้จริง!
ดังตฤณ
กันยายน ๒๕๖๗
เมื่อเกิดเป็นมนุษย์ก็ต้องรู้จักมีศีลธรรม มีหิริโอตตัปปะ
ประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในขอบเขต จึงจะมีชีวิตที่สงบร่มเย็น
ดังความตามพระธรรมเทศนา โดย พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน)
เรื่อง "สารธรรมของพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ (ตอนที่ ๔)" ในคอลัมน์ "สารส่องใจ" (-/\-)
"วิปัสสนูปกิเลส" คืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร
และสิ่งใดที่เป็นเป้าหมายของการเห็นขันธ์ ๕
หาคำตอบได้ในคอลัมน์ "ดังตฤณวิสัชนา"
ตอน "ถ้าสงสัยว่ามีวิปัสสนูปกิเลสเกิดขึ้น ควรทำอย่างไร"
เมื่อชีวิตที่เคยมั่งคั่งกลับต้องมาฝืดเคืองเพราะปัญหาเศรษฐกิจ
จะทำใจยอมรับกับความไม่เที่ยงของชีวิตได้อย่างไร
ติดตามได้จากกรณีศึกษา
ในคอลัมน์ "โหรา (ไม่) คาใจ" ตอน "มีลงย่อมมีขึ้น"
< Prev | Next > |
---|