จากใจ บ.ก.ใกล้ตัว Lite Talk
ฉบับที่ ๓๙๓ อาการ “ยอมไม่ได้”
คำว่า ‘ยอมไม่ได้’ คำเดียว
ตั้งเป็นโจทย์ได้ทั้งชีวิตครับ
เพราะคำคำนี้เกิดจากจิตที่ยึดมั่นถือมั่นแรง
และเป็นอาการยึดซึ่งประกอบอยู่ด้วยโทสะกล้า
ก่อนอื่นใดทั้งสิ้น
ขอให้ทำความเข้าใจไว้แต่แรกว่า
ความยึดมั่นแรงอันประกอบด้วยโทสะกล้านั้น
ไม่ใช่สิ่งที่จะเอาชนะด้วยอุบายง่ายๆ ตื้นๆ
แต่ต้องอาศัยหลักการคลายอาการยึดที่ถูก
โดยใช้เวลา ‘ไม่ต่ำกว่าหนึ่งชาติ’
พอทำใจว่า
เราจะใช้ทั้งชาตินี้เป็นห้องเรียนและห้องสอบ
ผลที่เกิดขึ้นทันที คือเราจะใจเย็นลง
แล้วก็ไม่คิดแย่ๆกับตัวเองที่ทำไม่ได้เสียที
ไม่เร่งรัดตัวเองว่าจะต้องทำให้ได้เมื่อนั่นเมื่อนี่
รวมทั้งไม่เปรียบเทียบตัวเองกับคนที่ทำได้
ระลึกอยู่ว่า
ตราบใดยังไม่ใช่พระอนาคามี
ตราบนั้นยังมีเรื่องกระทบจิตให้ขัดเคืองได้
จิตไม่เป็นอิสระจากไฟร้อนได้
เรื่องการทำใจให้ถูกทิศถูกทางตั้งแต่ต้นนี้สำคัญมาก
เพราะผมเห็นนักเจริญสติส่วนใหญ่ตั้งเป้ากันผิดๆ
พอตั้งเป้าผิด
คิดว่าจะเอาดีทางภาวนาให้ได้
ก็เริ่มสร้างภาพลักษณ์นักเจริญสติขึ้นมาในใจว่า
ต้องไม่โกรธ หรือโกรธได้แต่ไม่อาฆาต
หรืออาฆาตได้แต่ต้องไม่ตะเบ็งเสียง
ไม่รำงิ้ว ไม่ออกท่าอาละวาดเหมือนแต่ก่อน
พอยังไปไม่ถึงภาพลักษณ์นั้น
ก็เสียอกเสียใจ โกรธคนอื่นไม่พอ
รู้สึกแย่กับตัวเอง กระทืบตัวเองซ้ำเข้าไปอีก
มันเลยไปไม่ถึงไหน
เพิ่มความยึดมั่นถือมั่นซับซ้อนเข้าไปอีก
พอทำใจไว้ถูกทิศถูกทาง ใจเย็นลง ไม่เร่งร้อน
จากนั้นค่อยรู้สึกให้ได้ว่า
อาการยอมไม่ได้ หน้าตามันเป็นอย่างไร
เหมือนเรากลายร่างเป็นสัตว์ร้ายอยู่ข้างใน
เหมือนไฟลุกท่วมจนสติมอดไหม้หมดสิ้น
เหมือนมีอะไรขมวดอยู่ในอก
หรือเหมือนเรามีอีกภาคที่เป็นสัตว์ตัวน้อย
ถูกบีบให้ดิ้นเร่าๆทรมาน
นิยามให้ถูก
จะได้สังเกตถูกว่าอาการอย่างนั้นๆ
มันปรากฏอยู่ได้นานกี่ลมหายใจ
ส่วนใหญ่ ณ จุดเกิดเหตุ
จุดที่ยังมีอาการ ‘ยอมไม่ได้’ ท่วมท้น
คนเราจะหน้ามืด ไม่มีกะจิตกะใจสังเกตอะไร
แต่ความที่เราตั้งใจจะเป็นคนเจริญสติ
ตรงนี้จะมีส่วนช่วยเข้ามาช้อนความรู้สึกให้อยากเอาดี
ขอเพียงมีแก่ใจเริ่มก้าวแรก
สังเกตอย่างที่ผมว่ามาได้เพียงครั้งเดียว
ครั้งต่อไปจะทำได้อีก และอีก และอีก
อาจเหมือนไม่มีอะไรดีขึ้นเท่าไร
รู้ว่าจางลง เดี๋ยวก็กลับกำเริบขึ้นมาอีกตามประสาปุถุชน
แต่เชื่อเถอะว่าพอเวลาผ่านไป
สติที่เกิดขึ้นทีละนิด ทีละครั้ง
จะรวมผนึกกำลังขึ้นถึงระดับหนึ่ง
ซึ่งตอนนี้ ก้าวนี้ คุณจะยังมองไม่เห็น และนึกไม่ถึง
เอาเป็นว่าพอถึงจุดนั้น
คุณจะขอบคุณนิสัยทางจิตชนิดยอมไม่ได้
เพราะมันเป็นแบบฝึกหัดชั้นดีทางพุทธ
ฝึกผ่าน สอบผ่านเมื่อใด
คุณจะรู้สึกว่าไม่มีด่านหินไหนๆที่ผ่านไม่ได้อีก!
ดังตฤณ
กันยายน ๒๕๖๗
เมื่อชาวพุทธได้ปฏิบัติตามหลักศีลธรรมที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนไว้
ย่อมมีชีวิตอยู่ด้วยความสุขและความร่มเย็น
ดังความตามพระธรรมเทศนา โดย พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน)
เรื่อง "สารธรรมของพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ (ตอนที่ ๓)" ในคอลัมน์ "สารส่องใจ" (-/\-)
หากเคยสาบานสิ่งใดไว้แล้วไม่สามารถทำได้ จะส่งผลเสียอย่างไรต่อตนเอง
และถ้าอยากถอนคำสาบานจะต้องทำอย่างไร
หาคำตอบได้ในคอลัมน์ "ดังตฤณวิสัชนา"
ตอน "ถ้าสาบานไปแล้วสามารถถอนคำสาบานได้ไหม"
เมื่องานที่ทำอยู่ทั้งเครียดและกดดันจนอยากลาออก
แต่ก็อดถามตัวเองไม่ได้ว่าเรายังพยายามไม่มากพอหรือเปล่า
ทางออกของเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร ติดตามจากกรณีศึกษา
ในคอลัมน์ "โหรา (ไม่) คาใจ" ตอน "งานขมข่มทุกข์"
< Prev | Next > |
---|