จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma
โอนที่ดินถวายวัด
งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it
เมื่อไม่นานมานี้ ผมได้สนทนากับญาติธรรมท่านหนึ่งในเรื่องของการโอนที่ดินถวายวัด
ซึ่งญาติธรรมท่านดังกล่าวประสงค์จะถวายที่ดินตนเองให้แก่วัดแห่งหนึ่ง
ผมจึงได้แนะนำว่าในเรื่องของการถวายที่ดินให้แก่วัดนี้
ควรจะพิจารณาให้ดี เพราะว่าอาจจะไม่ได้เป็นประโยชน์แก่วัดเสมอไป
แต่อาจจะกลายเป็นภาระแก่วัด เจ้าอาวาส หรือไวยาวัจกรของวัดก็ได้
(หมายเหตุ “ไวยาวัจกร” หมายถึง ฆราวาสผู้มีหน้าที่ดูแลปัจจัยและทรัพย์สิน
ของพระภิกษุหรือของวัดตามที่ได้รับมอบหมาย)
เหตุผลเนื่องจากในเรื่องที่ดินของวัดนี้
มาตรา ๓๓ ของพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ได้กำหนด
แบ่งที่ดินวัด และที่ดินซึ่งขึ้นต่อวัดออกเป็น ๓ ประเภทได้แก่
๑. ที่วัด คือที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งวัดตลอดจนอาณาเขตของวัดนั้น
๒. ที่ธรณีสงฆ์ คือที่ดิน ซึ่งเป็นสมบัติของวัด (แต่ไม่ใช่ที่วัด) เช่น
ที่ดินซึ่งญาติโยมได้ถวายให้แก่วัด โดยที่ดินดังกล่าวไม่ใช่ที่ดินที่ตั้งวัด
และไม่ได้อยู่ในอาณาเขตของวัดนั้น เป็นต้น
๓. ที่กัลปนา คือที่ดินซึ่งมีผู้อุทิศแต่ผลประโยชน์ให้แก่วัดหรือพระพุทธศาสนา
ในที่ดินทั้ง ๓ ประเภทข้างต้นนั้น มาตรา ๓๔ ของพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕
กำหนดว่าการโอนกรรมสิทธิ์ใน “ที่วัด” หรือ “ที่ธรณีสงฆ์”
ให้กระทำได้โดยกระทำเป็นพระราชบัญญัติเท่านั้น
เว้นแต่กรณีการโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐ
โดยได้รับความยินยอมจากมหาเถรสมาคม และได้มีการชำระค่าตอบแทน
จากส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐดังกล่าว
ทีนี้ สมมุติว่าญาติธรรมได้ถวายที่ดินพร้อมอาคารให้แก่วัด เช่น
ถวายห้องแถวอยู่ใกล้ตลาดให้แก่วัด
ที่ดินที่ตั้งห้องแถวดังกล่าวย่อมถือเป็น “ที่ธรณีสงฆ์”
ตามมาตรา ๓๓ ของพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕
ซึ่งการโอนขายจะกระทำได้ต่อเมื่อออกเป็นพระราชบัญญัติ
(กล่าวคือจะต้องมีการนำเสนอกฎหมายผ่านรัฐสภา ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย)
เท่ากับว่าวัดไม่สามารถนำที่ดินพร้อมอาคารดังกล่าวไปขายได้
สิ่งที่วัดทำได้ จึงมีเพียงการนำที่ดินพร้อมอาคารดังกล่าวออกให้เช่า
การที่วัดจะนำที่ดินพร้อมอาคารออกให้เช่านี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนะครับ
เพราะอย่าลืมว่าผู้ให้เช่าคือวัด ไม่ใช่บริษัทจำกัดที่มุ่งค้าหากำไร
หากวัดให้เช่า โดยคิดค่าเช่าแพง ก็โดนติเตียนได้ว่า ค้ากำไรเกินควร
ในทางกลับกัน หากวัดให้เช่า โดยคิดราคาถูก ก็โดนติเตียนได้ว่า
ใช้ทรัพย์สินที่ได้รับมาไม่เกิดประโยชน์ หรือจะมีผลประโยชน์แอบแฝงหรือไม่
จึงจะเห็นได้ว่าไม่ว่าจะทำอย่างไร ก็มีช่องให้ติเตียนได้
หลังจากนั้น ยังจะมีปัญหาในการต้องคอยเรียกเก็บค่าเช่า
และเมื่อผู้เช่าไม่จ่ายค่าเช่า ก็จะต้องทำการขับไล่ออกจากที่เช่า
ทางผู้เช่าเองก็อาจจะมีข้อโต้แย้ง และไม่ยอมย้ายออกจากที่เช่า
กรณีจึงอาจจะต้องถึงขั้นฟ้องร้องเป็นคดีความขึ้นสู่ศาลอีกด้วย
เราจึงจะเห็นได้ว่า การที่วัดจะนำที่ธรณีสงฆ์ไปหาประโยชน์นี้ไม่ใช่ง่ายนะครับ
การถวายที่ดินให้แก่วัด จึงไม่ได้เป็นประโยชน์แก่วัดเสมอไป
แต่อาจกลายเป็นภาระของเจ้าอาวาส หรือไวยาวัจกรของวัดที่ต้องมาปวดหัวเรื่องนี้ก็ได้
และญาติโยมที่ไม่รู้เรื่องราว แต่ไปร่วมติเตียนวัด ก็ย่อมก่ออกุศลกรรมอีกด้วย
ในขณะที่ญาติธรรมผู้ถวายที่ดินนั้น ลอยตัว มีความสุข อิ่มบุญไปแล้ว
ไม่ได้ต้องมารับรู้ รับทราบ และปวดหัวในเรื่องเหล่านี้ด้วย
หรือหากภายหลังจะรับรู้รับทราบ ก็แก้ไขอะไรไม่ได้
เพราะวัดไม่สามารถโอนที่ดินคืนกลับให้ผู้ถวายได้
เพราะจะขัดกับมาตรา ๓๔ ของพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ที่กล่าวแล้วข้างต้น
ในเรื่องถวายที่ดินให้แก่วัดนี้ ยังมีอีกกรณีหนึ่ง คือยังไม่ถวายทันที
แต่ญาติธรรมจะทำพินัยกรรมยกให้วัดเมื่อตนเองถึงแก่มรณกรรม
ขอเรียนว่าการทำพินัยกรรมไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาที่ได้เล่ามาในตอนต้นเลยครับ
เพียงแค่เลื่อนระยะเวลา (delay) ของปัญหาไปไว้ในอนาคตเท่านั้น
กล่าวคือแทนที่จะเกิดภาระให้แก่เจ้าอาวาส หรือไวยาวัจกรของวัดในวันนี้
แต่เลื่อนระยะเวลาไปเกิดภาระให้แก่เจ้าอาวาส หรือไวยาวัจกรของวัดในอนาคตเท่านั้น
ในขณะเดียวกัน หากผู้ถวายไม่ได้เป็นบุคคลที่มีทรัพย์สินมากมายแล้ว
การทำพินัยกรรมเพื่อถวายที่ดินแก่วัดนั้น
ก็ย่อมจะเป็นการขัดขวางการภาวนาของตนเองได้
กล่าวคือ ในอนาคตผู้ถวายอาจจะมีความจำเป็นเดือดร้อนที่ต้องขายที่ดินนั้น
เพื่อนำเงินมาใช้ช่วยเหลือคนในครอบครัว รักษาการเจ็บป่วยตนเอง
หรือใช้ในการดำรงชีพยามเดือดร้อนก็ได้
แต่ในเมื่อตนเองได้ทำพินัยกรรมถวายวัดไปแล้ว
หากตนเองนำที่ดินดังกล่าวออกขาย ก็ย่อมจะรู้สึกผิด
ทำให้จิตใจเศร้าหมอง และภาวนายาก
ในทางกลับกัน หากไม่นำที่ดินดังกล่าวออกขาย
ตนเองก็จะแก้ไขปัญหาเดือดร้อนดังกล่าวในชีวิตไม่ได้ ก็ภาวนายากอีก
ดังนั้นแล้ว หากผู้ถวายไม่ได้เป็นบุคคลที่มีทรัพย์สินมากมายแล้ว
การที่จะนำที่ดินไปถวายในทันที หรือจะทำพินัยกรรมเพื่อยกให้เมื่อถึงมรณกรรมนั้น
จึงย่อมไม่เป็นประโยชน์แก่การภาวนาของตนเองครับ
ดังนี้ ในเวลาที่ญาติโยมจะนำที่ดินไปถวายแก่วัดนั้น จึงควรพิจารณาให้ดีครับว่า
การถวายของเรานั้นจะไปก่อภาระให้แก่เจ้าอาวาส หรือไวยาวัจกรของวัดหรือไม่
ญาติโยมบางท่านอาจจะบอกว่า ที่ดินที่ถวายนี้อยู่ติดกับวัด
วัดสามารถทุบรั้วและขยายพื้นที่ออกไปได้เลย
แม้จะเป็นเช่นนั้นก็ตาม เราก็พึงเข้าใจว่าเป็นการเพิ่มภาระเช่นกัน
อย่างสมมุติว่าวัดมีเนื้อที่ ๑๐ ไร่ แต่ขยายเป็น ๑๕ ไร่แล้ว
ก็ย่อมต้องมีภาระหน้าที่และค่าใช้จ่ายในการดูแลพื้นที่ ๕ ไร่เพิ่มนะครับ
ดังนั้น ไม่ใช่ว่าพื้นที่ที่เพิ่มนั้นจะมาโดยไม่มีค่าใช้จ่าย
ญาติโยมบางท่านอาจจะบอกว่า ที่ดินที่ถวายนี้เอาไว้สร้างสาขาของวัดในอนาคตได้
คำถามคือ ใครจะมาสร้าง และใครจะหาทุนมาสร้าง
(จะก่อภาระให้เจ้าอาวาส หรือไวยาวัจกรของวัดไปหาทุนมาสร้างหรือ)
แล้วระหว่างที่ยังไม่ได้สร้าง ใครจะมาดูแลที่ดินตรงนั้น
เราจึงจะเห็นได้ว่าในทุกกรณีล้วนแล้ว แต่มีภาระเกิดขึ้นทั้งนั้นครับ
ทีนี้ เวลาที่เราไปเรียนเจ้าอาวาส หรือครูบาอาจารย์ว่าอยากจะถวายที่ดินให้วัด
ท่านก็อาจจะปฏิเสธยาก เพราะกลายเป็นว่าญาติโยมจะทำบุญแล้วมาขัดขวาง
ไม่ยอมเป็นเนื้อนาบุญให้ญาติโยมได้ทำบุญตามประสงค์
ดังนั้นแล้ว กรณีจึงเป็นหน้าที่ของญาติโยมผู้ถวายที่จะต้องพิจารณาด้วยตนเองว่า
สิ่งที่เราจะถวายให้แก่วัดนั้น เป็นประโยชน์แก่วัดไหม
เป็นสิ่งที่วัดต้องการไหม หรือว่าจะก่อภาระให้แก่วัดกันแน่?
ยกตัวอย่างเช่น ญาติโยมบอกว่าจะขอถวายแผงโซลาร์เซลล์จำนวน ๑ ล้านแผงให้แก่วัด
ในกรณีแบบนี้ ย่อมเห็นได้นะครับว่าวัดไม่ได้ต้องการแผงโซลาร์เซลล์จำนวน ๑ ล้านแผงนั้น
และกลับกลายเป็นภาระแก่วัดที่จะต้องหาทางนำแผงโซลาร์เซลล์นั้นไปให้แก่องค์กรอื่น ๆ
ซึ่งก็จะมีทั้งค่าใช้จ่ายในการดูแล และขนย้าย ต้องมีพื้นที่ในการจัดวาง
ต้องมีภาระงานในการเลือกองค์กรที่เหมาะสมที่จะมารับ
ดังนั้น การถวายดังกล่าว จึงไม่ได้ช่วยเหลือวัด แต่เป็นการสร้างภาระให้แก่วัดครับ
โดยสรุปแล้ว หากเราไม่ได้มีทรัพย์สินร่ำรวยมากเหลือเฟือแล้ว
แนะนำว่าควรจะเก็บที่ดินหรือทรัพย์สินไว้เพื่อดำรงชีพ
และเพื่อความสะดวกในการภาวนา จะเป็นประโยชน์กว่าครับ
เพราะในอนาคต เราอาจจำเป็นต้องขายที่ดินหรือทรัพย์สินนั้น
เพื่อนำเงินมาใช้จ่ายและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของเราก็ได้
ในส่วนของการทำบุญนั้น เราก็พึงทำบุญตามที่เหมาะสมแก่ฐานานุรูป
และหมั่นทำบุญตามกาลครับ โดยยึดหลัก “สัปปุริสทาน” หมายถึง
ทานของสัตบุรุษ คือเป็นการให้ของคนดี คนมีปัญญา มีลักษณะสำคัญ ๘ ประการ
ใน “สัปปุริสทานสูตร” (อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต)
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงสอนว่า ภิกษุทั้งหลาย สัปปุริสทาน ๘ ประการนี้
สัปปุริสทาน ๘ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. สัตบุรุษย่อมให้ของที่สะอาด
๒. สัตบุรุษย่อมให้ของที่ประณีต
๓. สัตบุรุษย่อมให้ตามกาล
๔. สัตบุรุษย่อมให้ของที่สมควร
๕. สัตบุรุษย่อมเลือกให้
๖. สัตบุรุษย่อมให้เป็นนิตย์
๗. สัตบุรุษกำลังให้ก็ทำจิตให้ผ่องใส
๘. สัตบุรุษครั้นให้แล้วก็ดีใจ
ภิกษุทั้งหลาย สัปปุริสทาน ๘ ประการนี้แล
สัตบุรุษย่อมให้ทาน คือ ให้น้ำและโภชนะที่สะอาด ให้ของที่ประณีต
ให้ตามกาล ให้ของที่สมควร ให้เป็นนิตย์
ในท่านผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ผู้เป็นเขตดี
บริจาคอามิสมากมายก็ไม่เดือดร้อน
ท่านผู้เห็นแจ้งย่อมสรรเสริญทานที่สัตบุรุษให้แล้วอย่างนี้
บัณฑิตผู้มีปัญญา มีศรัทธา มีใจเสียสละ บูชาอย่างนี้
ย่อมเข้าถึงโลกที่ไม่มีความเบียดเบียน เป็นสุข
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=23&A=5047&Z=5058&pagebreak=0
ดังนี้แล้ว เมื่อญาติโยมถวายทานนั้น ควรที่จะถวายของที่สมควรด้วย
ไม่ใช่ว่าถวายไปแล้ว เจ้าอาวาส หรือไวยาวัจกรของวัดเดือดร้อน
แบบนั้นไม่ใช่ “สัปปุริสทาน” หรือหากถวายไปแล้ว ชีวิตตนเองเดือดร้อน
ไม่มีเงินพอดำรงชีพ หรือจิตใจเศร้าหมอง กระทบการภาวนา
แบบนั้นก็ไม่ใช่ “สัปปุริสทาน” เช่นกันครับ
ในส่วนของการที่จะได้บุญมากหรือได้บุญน้อยนั้น
มูลค่าของสิ่งของที่ถวายไม่ได้เป็นสาระสำคัญครับ
ใน “ทานสูตร” (อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต)
พระผู้มีพระภาคได้ทรงสอนถึงเหตุปัจจัยที่ทำให้ทานชนิดเดียวกัน
มีอานิสงส์มาก หรือไม่มีอานิสงส์มาก ได้แก่เจตนาในการถวายทาน กล่าวคือ
๑. เจตนาถวายเพื่อมุ่งสั่งสมบุญ อยากได้ผลบุญ
๒. เจตนาถวายด้วยคิดว่าการให้ทานเป็นการดี
๓. เจตนาถวายด้วยคิดว่า บิดามารดา ปู่ย่า ตายาย เคยให้ทาน เคยทำทาน
เราไม่ควรให้วงศ์ตระกูลเก่าแก่เสื่อมเสียไป
๔. เจตนาถวายด้วยคิดว่า เราที่เป็นฆราวาสหุงหากินเองได้
แต่สมณะเหล่านี้ หุงหากินเองไม่ได้ จึงควรให้ทาน
๕. เจตนาถวายด้วยคิดว่า เราจักให้ทานและจำแนกทานนี้
เหมือนเหล่าฤาษีในปางก่อน คือ อัฏฐกฤาษี วามกฤาษี วามเทวฤาษี
เวสสามิตตฤาษี ยมทัคคิฤาษี อังคีรสฤาษี ภารทวาชฤาษี วาเสฏฐฤาษี
กัสสปฤาษีและภคุฤาษี ได้บูชามหายัญแล้ว (กล่าวคือถวายทานโดยจำแนก
โดยเลือกถวายแก่พระทักขิเณยยบุคคล)
๖. เจตนาถวายด้วยคิดว่า เมื่อเราให้ทานนี้ จิตย่อมผ่องใส จะเกิดความชื่นชมโสมนัส
๗. เจตนาถวายด้วยคิดว่า ให้ทานเป็นเครื่องประดับจิต ปรุงแต่งจิต เขาจึงให้ทานนั้น
ทั้งนี้ ในทานทั้ง ๗ ข้างต้นนั้น ทานที่ ๗ จะมีอานิสงส์มากที่สุด
และลดน้อยถอยลงไปตามลำดับจนถึงทานที่ ๑
https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=23&A=1340&Z=1436&pagebreak=0
ในอรรถกถาของทานสูตร (อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต)
ได้อธิบายทานทั้ง ๗ ดังกล่าวนั้นว่าแต่ละทาน มีชื่อเรียกดังต่อไปนี้
ทานที่ ๑ ชื่อว่า “ตณฺหุตฺตริยทานํ” การให้อันยิ่งด้วยความอยาก
ทานที่ ๒ ชื่อว่า “วิตฺตีการทานํ” ให้ด้วยความยำเกรง
ทานที่ ๓ ชื่อว่า “หิโรตฺตปฺปทานํ” ให้ด้วยความละอายและเกรงกลัว
ทานที่ ๔ ชื่อว่า “นิรวเสสทานํ” ให้ด้วยไม่ให้เหลือเศษ
ทานที่ ๕ ชื่อว่า “ทกฺขิเณยฺยทานํ” ให้แก่พระทักขิเณยยบุคคล
ทานที่ ๖ ชื่อว่า “โสมนสฺสูปวิจารทานํ” ให้ด้วยอิงอาศัยโสมนัส
ทานที่ ๗ ชื่อว่า “อลงฺการปริวารทานํ” ให้เป็นเครื่องประดับและเป็นบริวาร (แห่งจิต)
https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=23&i=49
ดังนี้แล้ว แม้ว่าญาติโยมจะต้องการถวายที่ดิน โดยเข้าใจว่าจะได้บุญมากก็ตาม
แต่จริง ๆ แล้วอาจจะได้บุญน้อยมากก็ได้ เพราะว่าถวายทานเพราะต้องการสั่งสมบุญ
ในทางกลับกัน หากถวายพอเหมาะแก่ฐานานุรูป และถวายด้วยเจตนาที่เหมาะสม
ก็จะได้อานิสงส์มากกว่า และถือเป็น “สัปปุริสทาน” อีกด้วยครับ
< Prev |
---|