สารส่องใจ Enlightenment

ฝึกสติเพื่อสมาธิ (ตอนที่ ๒)



พระธรรมเทศนา โดย พระราชสังวรญาณ (หลวงพ่อพุธ ฐานิโย)
วัดป่าสาลวัน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา
เทศน์อบรมนักเรียน โรงเรียนสุรนารีวิทยา ณ วัดวะภูแก้ว
เมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๓๕



ฝึกสติเพื่อสมาธิ (ตอนที่ ๑)



ทีนี้ผู้ที่มาปฏิญาณตน เป็นอุบาสก อุบาสิกา
ในเมื่อใครมาปฏิญาณตนว่า พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ
ข้าพเจ้าขอถึงซึ่งพระพุทธเจ้า ว่าเป็นสรณะที่พึ่ง ที่ระลึก
ก็หมายความว่าเราจะมารับเอาธรรมะคำสอนไปปฏิบัติ
การปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้านั้น เราจะต้องมีกฎมีระเบียบ
ศาสนาพุทธ พระพุทธเจ้าสอนให้เรามีความรักความเมตตาปรานีในกันและกัน
เพราะขั้นต้นท่านก็บอกเราว่าอย่าฆ่ากันนะ
คำว่าอย่าฆ่ากันนะนี่คือ ปาณาติปาตา เวรมณี ที่เราได้สมาทานไปแล้ว
ข้อที่ ๒ อย่าเบียดเบียนกัน หมายถึง อทินนาทานา เวรมณี
งดเว้นการลักขโมยจี้ปล้นฉ้อโกง
ข้อที่ ๓ กาเมสุมิจฉาจาร ก็อย่าข่มเหงกัน
หมายถึงการประพฤติผิดประเวณีของกันและกัน
ข้อที่ ๔ อย่ารังแกกัน ก็อย่าโกหกพกลม อย่าพูดคำหยาบ
อย่าพูดส่อเสียดยุยงให้เขาแตกร้าวกัน
ข้อที่ ๕ อย่ามัวเมาในสิ่งที่จะทำให้เราเสียผู้เสียคน
เช่น สุราเมรัย ยาฝิ่นเฮโรอีนกัญชา รวมทั้งการดมกาวดมทินเนอร์ อะไรด้วย
อันนี้เป็นหลักและวิธีการในการสร้างความเมตตาปรานีในกันและกัน
เป็นข้อกติกาเบื้องต้น เป็นหลักที่เราจะต้องยึดปฏิบัติให้มั่นคง
การทำอะไรในสถาบันใดต้องมีกติกา เล่นกีฬาก็ต้องมีกติกา
ถ้าไม่มีกติกาการเอาชนะก็เป็นไปยาก
ดังนั้นการปฏิบัติธรรมถ้าไม่มีกติกาก็เอาดีได้ยาก


ทีนี้ประโยชน์ของศีล ๕ ที่เราสมาทานมาแล้วนั้น
นอกจากจะเป็นอุบายวิธีในการอบรมจิต
ให้มนุษย์สร้างความเมตตาปรานีในกันและกันแล้ว
ยังกลายเป็นคุณธรรม เป็นเครื่องป้องกันความปลอดภัยในสังคม
ป้องกันไม่ให้มนุษย์เกิดมีการฆ่ากัน
เพราะว่า ปาณาติบาต แปลว่าการฆ่า
เป็นเหตุ เป็นชนวนให้มีการฆ่ากันต่อไปเรื่อยไป
อทินนาทาน ไปทำให้ท่านหมดสิทธิในการครอบครองทรัพย์สมบัติ ท่านโกรธท่านก็ฆ่าเอา
กาเมสุมิจฉาจาร ไปล่วงเกินละเมิดลูกสาวลูกชายท่าน ท่านโกรธท่านก็ฆ่าเอา
มุสาวาท ไปหลอกให้ท่านเสียเกียรติยศชื่อเสียงและทรัพย์สมบัติ ท่านโกรธ ท่านก็ฆ่าเอา
สุรา กินแล้วเมา ควบคุมสติไม่อยู่ พาลพาโลทะเลาะกัน เดี๋ยวก็ได้ฆ่ากัน
นี่เรามองเห็นประโยชน์มันได้ชัด
อันนี้เป็นหลักป้องกันความปลอดภัยของสังคมไม่ให้มนุษย์มีการฆ่ากัน


แล้วประการต่อไป เป็นอุบายตัดผลเพิ่มของบาปกรรม
หรือจะเรียกว่าตัดกรรมตัดเวรก็ได้
เราเชื่อในหลักเหตุหลักผลว่าทำอะไรแล้ว มันมีผล
กรรมคือการกระทำ เมื่อทำแล้วต้องมีผล
ทีนี้เราจะตัดกรรมตัดเวรเหล่านั้น
เราต้องมารักษาศีล ๕ กันเสียก่อนให้บริสุทธิ์สะอาด
เมื่อเรารักษาศีล ๕ เช่นอย่างนักเรียนสมาทานแล้ว รักษาต่อไปจนชั่วชีวิต
แล้วไม่ทำบาปทำกรรมตามกฎของศีล ๕
เราก็ได้ชื่อว่าตัดกรรมตัดเวรตลอดไป


อีกประการหนึ่ง เป็นการใช้กิเลสให้เกิดประโยชน์โดยความเป็นธรรม
โลภดีไหม โกรธดีไหม หลงดีไหม
โลภ โกรธ หลง พระท่านว่ามันเป็นกิเลส มันไม่ดี พระท่านสอนให้เราละ
ใครละกิเลสโลภ โกรธ หลงได้หรือเปล่า
ทีนี้เมื่อเราละไม่ได้ เราจะทำอย่างไร
เราเอากิเลส โลภ โกรธ หลง เอาไว้เป็นพลังกระตุ้นเตือนใจเรา
ให้เกิดความอยากได้ อยากดี อยากมี อยากเป็น
วิธีใช้กิเลสให้เกิดประโยชน์
นักเรียนอยากเรียนเก่ง เอาความโลภมากระตุ้น
ให้เกิดความขยันหัดเขียนหัดอ่าน เขียนหนังสืออ่านหนังสือให้มากๆ
ใช้ความโลภเป็นพลังงาน แต่ที่เราใช้ความโลภเป็นพลังงานสร้างความดี
การกระทำอันใดที่เป็นไปด้วยอำนาจของกิเลสคือความโลภ
แต่มันไม่ผิดศีล ๕ ข้อใดข้อหนึ่ง มันก็ไม่ผิดศีลผิดธรรม ไม่เป็นบาป
เราพยายามเอากิเลสให้มาหนุนใจ
ให้มีแนวโน้มประพฤติในการสร้างความดี
กระตุ้นให้เกิดความหมั่นความขยันในการศึกษาเล่าเรียน
ในการแสวงหาทรัพย์สมบัติ
แต่การกระทำอย่าให้ผิดศีล ๕ ข้อใดข้อหนึ่ง เป็นการใช้ได้


แหละที่สำคัญที่สุด หลวงตาจะขอฝากเอาไว้อันหนึ่ง
เอาไว้ให้ลูกหลานนำไปคิดเป็นการบ้าน
ศีล ๕ ข้อนี้แหละ เป็นยอดแห่งประชาธิปไตย
นักเรียนรู้ไหมว่าหัวใจของประชาธิปไตยมันอยู่ที่ตรงไหน
ใครลองตอบสักคนซิว่าหัวใจของประชาธิปไตยอยู่ที่ไหน
หัวใจของประชาธิปไตยอยู่ที่การเคารพสิทธิมนุษยชน
นี่คือยอดหัวใจของประชาธิปไตยอยู่ที่นี่
ทีนี้ผู้มีศีล ๕ แล้วเป็นประชาธิปไตยได้อย่างไร
ก็เพราะว่าผู้มีศีล ๕ แล้วมีความเคารพในสิทธิมนุษยชน
เคารพสิทธิในการดำรงชีวิตอยู่
เคารพสิทธิในการครอบครองทรัพย์สมบัติ
เคารพสิทธิในคู่ครองและผู้ต้องห้าม
นี่ถ้ามีศีล ๕ แล้วเคารพในทุกสิทธิ
เพราะฉะนั้น ศีล ๕ ประการนี้จึงเป็นยอดแห่งประชาธิปไตย
ถ้าใครมีพ่อแม่เป็นนักการเมือง ให้จำเอาคำพูดหลวงตาไปเตือนเขาด้วย
ว่าถ้าท่านต้องการมีประชาธิปไตย ท่านต้องรักษาศีล ๕
ถ้าตราบใดที่ท่านไม่มีศีล ๕ บ้านเมืองจะไม่เป็นประชาธิปไตย
นี่ขอให้เตือนเขาอย่างนี้
อันนี้เป็นผลของการรักษาศีล ๕ มีนัยดังกล่าวมาโดยย่อ


เมื่อใครก็ตามได้มาปฏิญาณว่าจะรักษาศีล ๕ ตามคำกล่าวนี้
ได้ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า
เป็นแผนการของการละบาป
สิ่งที่พ่อแม่เราบอกว่าบาป บาป
อย่าทำอย่างนั้นมันบาป อย่าทำอย่างนี้มันบาป
นั่นเป็นผลจากการละเมิดศีล ๕ ข้อใดข้อหนึ่ง ถ้าใครละเมิดบาปทันที
แล้วก็เป็นบาปโดยกฎของธรรมชาติด้วย
บาปไม่มีใครเป็นผู้สร้างขึ้น บาปนี่มันมีตัวมีตนหรือเปล่า บาปไม่มีตัวตน
แต่ว่ามันแสดงความทุกข์ที่ใจของเรา
เอ้า อย่างสมมติว่าวันนี้ครูให้การบ้านมา นักเรียนไม่ทำการบ้านไปส่งครู
พอถึงกำหนดส่ง มันเกิดบาปขึ้นมาทันที มันบาปอย่างไร กลัวครูทำโทษ
บางทีอาจจะไม่กล้าไปเผชิญหน้ากับคุณครู
เลยถือโอกาส กระโดดร่ม หลบโรงเรียนไปก็มี อันนี้คือบาป
ทีนี้อย่างเราไปทำผิดสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ผิดศีลธรรมและผิดกฎหมาย
ซึ่งสังคมหรือพ่อแม่ผู้ปกครองตำหนิ
ในเมื่อเราไปฝ่าฝืนไปปฏิบัติผิด
ในเมื่อผิดแล้วมันก็เกิดบาปขึ้นมาทันทีทำให้เราทุกข์ใจนั้นเอง
กลัวว่าจะถูกลงโทษ อันนี้คือบาปที่เราจะสังเกตเห็นได้ง่าย


เพราะฉะนั้น ศีล ๕ ประการมีประโยชน์แก่ชีวิตมนุษย์ผู้ดำรงอยู่ในสังคม
เป็นคุณธรรมป้องกันความปลอดภัยของสังคม ไม่ให้มนุษย์มีการฆ่ากัน
หนูน้อยบางคนอาจจะคิดว่า หลวงตาสอนให้รักษาศีล ๕
แหม ไม่ไหวแล้วต่อไปนี้
เวลาอ่านหนังสือยุงมันมาจับ มาเกาะมากัด หลวงตาไม่ให้ฆ่า
ตายแล้วเรา เวลายุงมันเข้าห้องนอนเยอะๆ
จะเอา ดี.ดี.ที. มาฉีดหลวงตาก็ว่าเป็นบาป
บางทีอยากจะทอดไข่ รับประทานอร่อยๆ ก็ทำไม่ได้ อดตายแล้วเรา
บางทีเราอาจจะคิดอย่างนั้น อย่าไปหนักใจ
ใครทนไม่ไหว ยุงมันมากัดจะตบมันก็ได้
ถ้ามันมีมากนักเอา ดี.ดี.ที. มาฉีดไล่มันก็ได้
เอ้า ถ้าไปฆ่าสัตว์แล้วมันจะมีศีล ๕ ได้อย่างไร
ไม่มีก็ไม่เป็นไร สำหรับศีล ๕ ในระดับสัตว์เดรัจฉาน
แต่ขอให้ทุกคนตั้งปณิธานให้แน่วแน่ว่า
ขึ้นชื่อว่ามนุษย์ฉันจะไม่ฆ่า ไม่เบียดเบียน ไม่ข่มเหง ไม่รังแก ไม่อิจฉาตาร้อน
สร้างความรักความเมตตาในเพื่อนมนุษย์ให้มันสมบูรณ์ก่อน
ใครมีความจำเป็นจะฆ่าเป็ดฆ่าไก่แกงกิน เชิญตามสบาย
แกงสุกแล้วเอามาจังหันหลวงตาด้วยก็ได้
แต่ว่ามนุษย์อย่าไปแตะต้อง
ให้ตั้งใจให้แน่วแน่ว่า มนุษย์ฉันจะไม่ฆ่า
ไม่เบียดเบียน ไม่ข่มเหง ไม่รังแก ไม่อิจฉาตาร้อน
แล้วฉันจะนึกเสมอว่า ขอมนุษย์จงมีสุขกายสุขใจ
อย่าได้เบียดเบียนซึ่งกันและกัน จงมีสุข รักษาตนให้พ้นภัยทั้งปวงเถิด
เอากันอย่างนี้ ก็ได้ชื่อว่าปฏิบัติศีล ๕ ในระดับของมนุษย์
เราได้ยึดเอาหลักธรรมเป็นเครื่องประกันความปลอดภัยของสังคม
ป้องกันไม่ให้เกิดมีการฆ่ากัน เอากันเพียงแค่นี้ก่อน
เมื่อเรามาสร้างความรักความเมตตาปรานีในเพื่อนมนุษย์ให้มันสมบูรณ์แล้ว
ตามธรรมชาติของการสร้างความดีนี่ ความดีมันจะเพิ่มพลังงานขึ้นทุกทีๆ
ในเมื่อความดีมันมีพลังงานพร้อม
คือความรัก ความเมตตามันพร้อมมันแผ่คลุมไปถึงสัตว์เดรัจฉานเอง
แล้วในที่สุดสัตว์เดรัจฉานเราก็จะฆ่าไม่ได้
นี่ให้มันค่อยเป็นค่อยไปกันอย่างนี้


เวลานี้นักเรียนทำสมาธิหรือเปล่า
เวลานี้นักเรียนกำลังทำสมาธิ เรามีใจ มีจิตใจจดจ่ออยู่ที่การฟังธรรม
ก่อนที่จะจบ ขอฝากวิธีการทำสมาธิในห้องเรียน
บางทีเราอาจจะใช้เวลา เอาเวลาเรียนไปนั่งสมาธิ
ซึ่งทำให้เสียเวลาเรียน การทำสมาธิในห้องเรียนให้ทำอย่างนี้
พออาจารย์มายืนหน้าห้อง ให้เราจ้องมองที่ตัวอาจารย์ มองที่ตัวอาจารย์
เช่นอย่างนักเรียนมองจ้องที่ตัวหลวงตาในขณะนี้
อย่าส่งกายใจไปที่อื่น ให้จ้องอยู่ที่ตัวครูนั่นแหละ
เวลานี้พวกเธอจ้องอยู่ที่ตัวหลวงตา ส่งใจมารวมอยู่ที่ตัวหลวงตา
เวลาพวกเธอเข้าห้องเรียน พอครูมายืนหน้าห้องปั๊บ
มองที่ตัวครู ส่งใจไปรวมไว้ที่ตัวครูอย่างเดียว เอากันเพียงแค่นี้
ปฏิบัติต่อเนื่องกันทุกวันๆ เราจะได้สมาธิกับการเรียนในห้องเรียน
ถ้าหากว่าครูบาอาจารย์ไม่คิดว่าจะแหวกแนวจนเกินไป
ทีนี้จะพูดถึงหลักของการทำสมาธิโดยทั่วไปไม่ต้องนั่งสมาธิ
ให้มีสติรู้ตัวอยู่ตลอดทุกอิริยาบถ แล้วจะเกิดสมาธิขึ้นมาเอง
เอาล่ะ พอแค่นี้


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


จาก ฐานิยปูชา ธรรมเทศนา โดย พระราชสังวรญาณ (พุธ ฐานิโย)
พิมพ์ครั้งที่ ๒ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๓๗.


แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP