จากใจ บ.ก.ใกล้ตัว Lite Talk

ฉบับที่ ๓๘๗ ความรู้จริง



387 talk


ตรงหน้าคุณมีสิ่งที่น่าสงสัยมากมาย

ทั้งคนที่พยายามตีตัวออกห่าง
ทั้งคนที่พยายามเข้ามาใกล้ชิด
ทั้งข้อเท็จจริงทางการเมือง
ทั้งความจริงขั้นสูงสุดทางศาสนา


ยุคเราเป็นยุคข้อมูลท่วม
เพราะเรามีช่องทางรับข้อมูลอยู่ในมือ
พกติดตัวตามไปให้คำตอบได้
ทุกเวลา ทุกหนแห่ง ที่อาจเกิดความสงสัย


มีผู้คนพร้อมจะเสนอความเห็นมากมาย
มีแหล่งข้อมูลน่าเชื่อถือมหาศาล
มีหลักฐานให้เห็นจะจะเป็นวิดีโอ


สงสัยอะไร
แล้วได้คำตอบหลากหลายเกินไป
ย่อมทำให้ใจสับสนลังเล
รู้สึกงงๆ กลืนไม่เข้า คายไม่ออก มากขึ้นเท่านั้น
ยุคเราจึงเต็มไปด้วยคนเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง
ในหัวเหมือนอัดแน่นไปด้วยความรู้ที่ต้องกรอง
และความเชื่อที่ต้องหาร


ฉากหน้าของความเป็นพุทธ
ก็เหมือนกับศาสนาอื่น
ที่ต้องผ่านด่านความสงสัยกันมากมาย
กว่าจะประดิษฐานความศรัทธาไว้
ที่รากฐานแห่งจิตใจได้มั่นคง
ต่อให้ได้ชื่อว่านับถือศาสนาเดียวกัน
ก็ไม่แน่ว่าจะเชื่อเหมือนกัน
ถ้าต่างครูบาอาจารย์ ต่างสำนักกัน


แต่แก่นสารความเป็นพุทธ
ไม่เหมือนศาสนาไหนๆ
และอาจจะไม่นับเป็นศาสนาได้ด้วยซ้ำ
เพราะยอดสุดของความรู้
ไม่ได้เกิดจากการฟังใคร หรือต้องศรัทธาอะไร
แต่เกิดจากการสังเกตตัวเอง
เพื่อรู้จักตัวเอง
และไปให้ถึงความรู้สึกไม่มีตัวเอง


การสังเกตตัวเอง
นับเริ่มจากการเห็นง่ายๆเดี๋ยวนี้ว่า
หายใจเข้าออกอยู่กับความเที่ยงหรือไม่เที่ยง
เป็นสุขเป็นทุกข์อยู่กับความคิดที่ต่างหรือไม่ต่าง
การสังเกตเห็น
สาเหตุต่างๆของความไม่แน่นอนในตน
จะช่วยให้รู้จักตัวเองในระยะยาว


เมื่อรู้สึกถึงความไม่แน่นอนจนชิน
จิตสำนึกจะแตกต่าง
คือรู้สึกออกมาจากกายใจอันเป็นปกตินี้ว่า
แม้กายใจก็ไม่เที่ยง เป็นเปลือกหลอก
จิตของคุณจะใสนิ่งไปอีกแบบ
แตกต่างจากสมาธิธรรมดา
คือ นิ่งอยู่กับการไม่ถูกล่อหลอกให้ไขว้เขว
นิ่งอยู่กับการไม่วิ่งตามแรงดึงดูดให้ยึดติด


เมื่อเริ่มสังเกตเข้ามาที่ความไม่เที่ยงในตน
ท่ามกลางภาวะข้อมูลท่วมยุคไอที
จิตใจคุณจะยังสงบนิ่งเป็นหนึ่งได้
ไม่ต่างจากผู้คนในสมัยพุทธกาลเลย
เพราะสิ่งสุดท้ายอันจะเป็นที่พึ่งทางใจ
ไม่ใช่ความเชื่อภายนอก
แต่เป็นความรู้จริงออกมาจากภายใน!


ดังตฤณ
มิถุนายน ๒๕๖๗
 



review


ในขณะที่พยายามฝึกสมาธิ เหตุใดจึงไม่สามารถทำจิตให้นิ่งได้
และควรปฏิบัติอย่างไรจึงจะเกิดความสงบ
ติดตามคำตอบได้จากวิสัชนาธรรม โดย หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต
เรื่อง "เมื่อฝึกสมาธิแล้วแต่จิตไม่นิ่ง ควรทำอย่างไร"
ในคอลัมน์ "สารส่องใจ" ค่ะ (-/
\-)


หากเราจะฝึกเจริญสติปัฏฐาน แต่ยังรักษาศีลห้าได้ไม่ครบทุกข้อ
แบบนี้ควรหยุดภาวนาเพื่อรักษาศีลห้าให้บริบูรณ์ก่อนหรือไม่
หาคำตอบได้ในคอลัมน์ "ดังตฤณวิสัชนา"
ตอน "ถ้ายังรักษาศีลห้าได้ไม่ครบทุกข้อ จะฝึกเจริญสติได้ไหม"


การติเตียนเป็นหนึ่งในโลกธรรม ๘ ประการ ซึ่งไม่มีใครจะหลีกเลี่ยงไปได้
และหากถูกว่ากล่าวในทางร้ายแล้ว เราควรรับมืออย่างไร
ติดตามได้จากเรื่องราวที่คุณงดงามบอกเล่าไว้
ในคอลัมน์ "จุดหมายปลายธรรม" ตอน "รับมือการติเตียน"



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP