สารส่องใจ Enlightenment
คุณค่าแห่งธรรม (ตอนที่ ๑)
พระธรรมเทศนา โดย พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน)
วัดป่าบ้านตาด อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี
เทศน์ในงานพระราชทานเพลิงศพขุนศรีราชสุรากร
ณ วัดมหาชัย อ.เมือง จ.มหาสารคาม
เมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๓๓
นโม ตสฺส.....(๓ หน)
ทุกฺขา ชาติ ปุนปฺปุนนฺติ.
วันนี้มีโอกาสวาสนาอำนวยได้มาเยี่ยมพี่น้องชาวจังหวัดมหาสารคามของเรา
ซึ่งแต่ก่อนก็เคยไปมาอยู่เสมอ แต่ไม่ได้มาพักมาแสดงอรรถธรรมเช่นวันนี้
เหตุที่ได้มาครั้งนี้ก็เกี่ยวกับท่านอธิบดี ขออภัยพูดตามความถนัด
ท่านเป็นผู้อำนวยการอะไรเราจำไม่ค่อยได้ถนัด
เฉพาะที่ว่าท่านเคยเป็นอธิบดีกรมประชาสงเคราะห์มาก่อนแล้ว
ในฐานะที่เป็นลูกศิษย์กับอาจารย์และมีบุญมีคุณต่อกันมามากมาย
เฉพาะอย่างยิ่งทางเข้าวัดป่าบ้านตาด
ซึ่งพี่น้องทั้งหลายได้ไปมาหาสู่ด้วยความสะดวกสบายอยู่จนกระทั่งปัจจุบันนี้
ก็อาศัยท่านอธิบดีนี้แลเป็นผู้ขวนขวายสร้างให้ขึ้นมา
และวันนี้ท่านจะพระราชทานเพลิงศพของคุณพ่อ
นามบรรดาศักดิ์ของท่านว่า ท่านขุนศรีราชสุรากร
ท่านมรณะผ่านไปแล้ว วันนี้เป็นวันที่จะพระราชทานเพลิงศพท่าน
เพื่อเป็นเครื่องประกาศเรื่องสัจธรรมคือความจริงทั้งหลาย
ซึ่งมีอยู่ในสัตว์ในบุคคลทั่วไปในแดนโลกธาตุนี้
ให้เราทั้งหลายที่มาในงานนี้ได้ทราบทั่วถึงกันอย่างถึงใจ
และก่อนที่จะพระราชทานเพลิงศพนี้ยังได้แสดงธรรม
คือมีการแสดงธรรม เพื่อแจกจ่ายอรรถธรรมให้พี่น้องทั้งหลายที่มีในงานนี้
ไม่ให้เสียท่าเสียทีที่ได้มาเปล่าๆ ทั้งได้มาปลงธรรมสังเวชคือความเกิดแก่เจ็บตาย
นี้เป็นเรื่องของกองทุกข์ที่จอมปราชญ์ทั้งหลายท่านขยะแขยงท่านกลัวกันมาก
นี่ก็ได้มาปรากฏให้พวกเราทั้งหลายทราบเป็นสักขีพยานแล้วในวันนี้
คือท่านขุนศรีราชสุรากรก็มรณะผ่านไปนี้
อันเป็นพยานแก่เราทั้งหลายซึ่งยังมีชีวิตอยู่
ไม่ให้นอนใจว่า ความตายนี้ก้าวเดินตามร่องรอยของเรา
คือความเป็นมาแห่งชีวิตจิตใจเรื่อยมา ตั้งแต่ปฏิสนธิวิญญาณจนกระทั่งถึงบัดนี้
แล้วยังจะสืบต่อติดตามไปเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงอวสานคือความสิ้นชีพวายชนม์ไป
เช่นเดียวกับท่านที่ผ่านไปและจะได้พระราชทานเพลิงศพท่านในวันนี้
จึงขอให้พี่น้องทั้งหลายได้ยึดธรรมเหล่านี้เป็นเครื่องเตือนใจของเราอยู่เสมอ
โลกเฉพาะอย่างยิ่งคือชาวพุทธของเรา
ถ้าได้ระลึกถึงความตายอยู่โดยสม่ำเสมอ ในวันหนึ่งอย่างน้อยไม่ให้ต่ำกว่า ๕ ครั้ง
สิ่งที่เป็นข้าศึกต่อจิตใจของเราที่ปราชญ์ทั้งหลายให้นามว่ากิเลสๆ ความลืมตัวนั้น
ก็จะลดน้อยถอยลงและไม่ทวีรุนแรงภายในจิตใจ
ถึงกับให้เจ้าของวุ่นวายไปยิ่งกว่ากังหันต้องลม จะได้สงบตัวลงไป
เพราะคนเราเมื่อไม่มีสิ่งหักห้ามกันบ้าง จิตใจย่อมมีความทวีรุนแรงไปในทางไม่ดี
ความโลภก็มาก ความโกรธก็มาก ความลุ่มหลงลืมตัวก็มาก
ราคะตัณหาซึ่งเป็นไฟเผาโลกก็มาก
ทุกสิ่งทุกอย่างที่มากขึ้นนี้ มีแต่เรื่องฟืนเรื่องไฟเผาไหม้จิตใจของเราผู้ประมาททั้งนั้น
เมื่อระลึกถึงความตายบ้าง ย่อมจะยับยั้งชั่งตัวได้ว่าเราจะตายในวันหนึ่งแน่นอน
สิ่งใดที่เป็นสารคุณแก่ตัวจะได้สั่งสมให้เกิดให้มีขึ้น
คำว่าสารคุณนั้นหมายถึงคุณธรรม ได้แก่คุณงามความดี
มีการให้ทาน การรักษาศีล การเจริญเมตตาภาวนา ไหว้พระสวดมนต์
เหล่านี้ล้วนแล้วแต่การสร้างคุณงามความดีแล้วเป็นผลเข้าสู่ใจของเรา
เรียกว่าใจมีคุณธรรมคือคุณงามความดี
มีที่เกาะมีที่ยึด ไม่เร่ร่อนไปในสถานที่ที่เป็นฟืนเป็นไฟ
ใครก็ตามที่ไม่มีอรรถธรรมเหล่านี้เป็นเครื่องพึ่งพิงอิงอาศัย ใจย่อมเดือดร้อน
ผิดกับคนที่มีคุณธรรมในใจอยู่มาก
เมื่อมีธรรมเหล่านี้ก็เรียกว่าเรามีคุณธรรม มีสาระภายในจิตใจ
เพราะเรื่องความตายนี้เป็นเรื่องของร่างกาย
ไม่ว่าร่างกายใดเมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว ย่อมแปรสภาพเรื่อยมาและให้ทุกข์เรื่อยมา
ตามลำดับแห่งความแปรสภาพนั้นๆ จนกระทั่งถึงความสิ้นชีพวายชนม์ลงไป
เมื่อตายลงไปแล้วร่างกายทั้งหลายเหล่านี้ก็หมดคุณค่าหมดราคาที่จะทำการงานอะไรได้แล้ว
สมบัติเงินทองข้าวของมีมากมีน้อย ญาติมิตรสหายที่รักใคร่ชอบใจ ฝากเป็นฝากตายกันได้
ก็หมดความหมายลงไปขณะที่จิตได้ออกจากร่างนี้แล้วนั้นแล
ทีนี้จิตเวลาออกจากร่างนี้แล้วที่เรียกว่าตายๆ นั้นไปอยู่ที่ไหน
นี่ชาวพุทธของเราเสียเองรู้สึกว่าจะมีความสงสัยกันมากมาย
ว่าตายแล้วไปที่ไหน ตายแล้วจะได้เกิดอีกหรือไม่
นี่เป็นความสำคัญของคนเราส่วนมาก
เพราะไม่ได้รู้ได้เห็นตามหลักความจริงจึงหาความแน่ใจไม่ได้
หลักแห่งความแน่ใจก็คือ
ศาสนธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่ทรงดำเนินมาก่อนแล้ว
ได้เห็นเหตุเห็นผลรู้แจ้งแทงทะลุหมดแล้ว จึงได้มาสอนพวกเรา
แต่เพราะเรายังไม่เข้าใจในอรรถธรรมทั้งหลายที่ท่านทรงพร่ำสอนไว้นั้น
และไม่ได้ปฏิบัติตาม จึงไม่รู้ไม่เห็นความจริงดังที่กล่าวมานี้
สิ่งที่ฝังใจอยู่อย่างลึกลับก็คือสงสัยเรื่องนรก
อย่างน้อยก็ว่านรกมีหรือไม่มี บาปมีหรือไม่มี บุญมีหรือไม่มี
สวรรค์นิพพานมีหรือไม่มี มากกว่านั้นก็ปฏิเสธไปเลย
ด้วยอำนาจแห่งความมืดดำกำตาของตนที่กิเลสครอบงำนั้นแล
ให้เกิดความรู้ความเห็นอย่างฝังลึกและพูดออกมาว่า
บาปไม่มี บุญไม่มี นรกไม่มี สวรรค์ไม่มี พรหมโลกไม่มี นิพพานไม่มี
ทั้งๆ ที่ธรรมเหล่านี้เป็นธรรมของจอมปราชญ์ที่ทรงฉลาดแหลมคมครอบไตรโลกธาตุ
นำมาสั่งสอนโลกให้รู้ตามสิ่งที่มีที่เป็นจริงทุกสัดทุกส่วน
แต่เมื่อไม่เคยปฏิบัติและไม่เคยรู้ธรรมทั้งหลายที่ท่านสอนไว้เหล่านี้
ใจก็ไม่สามารถจะเชื่อได้
นี่แลเป็นสาเหตุ จึงทำให้จิตเราลุ่มๆ ดอนๆ เร่ร่อน
เวลายังมีชีวิตอยู่ก็ไม่ทราบว่าจะเกาะอะไรพึ่งอะไร
พอระลึกถึงความตายเท่านั้น
จิตใจก็เดือดร้อนวุ่นวายขึ้นมาทันที เพราะไม่มีที่เกาะไม่มีที่ยึด
เรื่องนี้เป็นสิ่งที่จะเป็นภัยแก่ตัวเราเองในเวลาจวนตัวไม่อาจสงสัย
ถ้าไม่รีบแก้ไขและบำเพ็ญตนในทางที่ถูกที่ดีเสียแต่บัดนี้ที่ยังมีชีวิตอยู่
เพราะฉะนั้นท่านผู้ประพฤติปฏิบัติจนได้รู้แจ้งเห็นจริง ก็คือพระพุทธเจ้าของเรา
และนำมาประกาศธรรมสอนโลกที่เรียกว่าศาสนาพุทธ
แปลว่าคำสั่งสอนของท่านผู้รู้ผู้ฉลาด คำสั่งสอนของท่านผู้สิ้นกิเลส
ไม่มีกิเลสแม้นิดหนึ่งปรากฏภายในพระทัยคือใจนั้นเลย
ท่านทรงไว้ซึ่งมรรคผลนิพพาน
ท่านทรงไว้ซึ่งโลกวิทู คือรู้แจ้งเห็นจริงในโลกทั้งหลาย
คำว่าโลกทั้งหลายนี้คือ กามโลก รูปโลก อรูปโลก ก็ทรงรู้แจ้งแทงทะลุไปหมด
โลกภายในคือกิเลสอาสวะทั้งหลายซึ่งมีอยู่ภายในจิตใจ
ท่านก็ทรงรู้ทรงเห็นและถอดถอนได้โดยสิ้นเชิง
จึงชื่อว่าท่านเป็นผู้สิ้นกิเลสด้วยการตรัสรู้ธรรม คือรู้แจ้งเห็นจริงในธรรมทั้งหลาย
นี้แลคือธรรมที่เป็นเครื่องส่องสว่างกระจ่างแจ้ง ไปยังสภาพแห่งความจริงทั้งหลาย
เช่น บาปมีจริง นี่ก็คือพระพุทธเจ้าองค์เอกเป็นผู้สอนไว้
บุญมีจริง นรกมีจริง สวรรค์มีจริง นิพพานมีจริง
นี้คือท่านผู้ทรงไว้แล้วซึ่งมรรคผลนิพพาน
และรู้แจ้งแทงตลอดในสิ่งทั้งหลายกล่าวไว้ทั้งสิ้น
มิใช่ตาสีตาสากล่าวไว้
สถานที่เหล่านี้เป็นสิ่งที่มีมาดั้งเดิมตั้งแต่พระพุทธเจ้าองค์ไหนๆ ยังไม่ได้ตรัสรู้ขึ้นมาโน้น
บาปเป็นของมีอยู่ประจำโลกสมมุตินี้ บุญเป็นของมีอยู่ประจำโลกสมมุตินี้
นรกสวรรค์พรหมโลกมีอยู่ประจำโลกสมมุตินี้
นิพพานมีอยู่ประจำท่านผู้บริสุทธิ์หลุดพ้น ไม่เคยสูญหายไปที่ไหนตั้งแต่ไหนแต่ไรมา
นี้แลพระพุทธเจ้าที่ว่าตรัสรู้ ท่านตรัสรู้ธรรมเหล่านี้
แล้วนำธรรมเหล่านี้มาสอนโลกด้วยความประจักษ์พระทัยไม่สงสัย
เพราะท่านรู้จริงเห็นจริงแล้วจึงนำมาสอน
แต่ลูกศิษย์ตถาคตคือบรรดาชาวพุทธของเราทั้งหลาย
เมื่อนานมาๆ ความเชื่อความนับถือก็ค่อยสึกค่อยหรอลงไป
ความสนใจในเรื่องพุทธเรื่องธรรมเรื่องสงฆ์เรื่องศาสนาก็มีน้อยเข้าๆ น้อยเข้าโดยลำดับ
แต่ในระยะเดียวกันสิ่งที่ปิดบังหุ้มห่อจิตใจให้เกิดความโลภ
ให้เกิดความโกรธ ให้เกิดความหลง ให้เกิดราคะตัณหาครอบงำหัวใจ
ถึงกับแสดงออกให้เกิดความเสียหายแก่สังคมทั่วๆ ไปตลอดโลกดินแดนนี้
มีมากขึ้นทุกวันๆ เพราะสิ่งเหล่านี้มีอยู่กับหัวใจของเรา
โดยไม่ต้องอาศัยใครมาสั่งสอนธรรมชาตินี้ก็คล่องตัวอยู่แล้ว
สามารถที่จะผลิตตัวขึ้นไปให้เป็นกิเลสตัณหา แล้วนำไฟมาเผาตัวเราได้ทุกเวล่ำเวลา
ถ้าไม่มีธรรมะเป็นน้ำดับไฟกันไว้พอประมาณ
เพราะฉะนั้นธรรมะของพระพุทธเจ้าที่ทรงรู้แจ้งเห็นจริงนั้น
จึงสอนลงในหัวใจมนุษย์เรา เฉพาะอย่างยิ่งคือหัวใจชาวพุทธเรา
วันหนึ่งคืนหนึ่งชาวพุทธเราจึงควรได้สร้างคุณงามความดี
มีสังวรธรรมประจำตัวตามหลักธรรมที่ท่านทรงสั่งสอนไว้
เช่น การให้ทาน พี่น้องทั้งหลายก็เคยให้มาโดยลำดับลำดาประจำนิสัยอยู่แล้ว
นี้ก็เรียกว่าเป็นพื้นฐานแห่งความดีอันหนึ่ง
การรักษาศีลจะเป็นศีลข้อใดก็ตาม
ถ้าได้หมดทั้งศีล ๕ ในฆราวาสนี้จะเป็นผู้สมบูรณ์พูนผลเต็มที่หาความเดือดร้อนไม่มี
คนมีศีล ๕ ประจำตนย่อมมีความสงบร่มเย็น
และการภาวนาอย่างน้อยก็ขอให้ได้สวดมนต์ไหว้พระวันหนึ่งๆ
อย่าละอย่าปล่อยอย่าวาง
จิตใจของเราจะได้ยึดธรรมนี้เป็นหลักเป็นเกณฑ์
ธรรมเหล่านี้เป็นที่พึ่งของใจเรา ท่านว่า พุทฺธํ ธมฺมํ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ
เมื่อเราระลึกถึงท่านจะปรากฏขึ้นที่ใจของเราทันทีๆ แม้ขณะนี้ก็ตาม
เราไม่เคยเห็นพระพุทธเจ้ามาก่อนเลยตั้งแต่วันเกิดมา
เมื่อเราระลึกถึงพุทโธเท่านั้น พุทโธจะปรากฏขึ้นที่ใจของเรานี้ทันที
พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เมื่อเราเรียกร้องหาท่าน ท่านก็จะปรากฏขึ้นที่ใจของเรา
นี้แลคือสารคุณที่จะเป็นที่เกาะที่ยึดทางด้านจิตใจเราเป็นอย่างดี
ทั้งปัจจุบันแลอนาคตในภพชาติต่อไป
เพราะใจนี้เมื่อออกจากร่างนี้แล้ว จะไปสู่ร่างต่อไปโดยลำดับลำดาจนพรรณนาไม่ได้เลย
แต่การไปเกิดของใจนั้นหมายถึงการไปสู่ภพกำเนิดต่างๆ
ไม่ใช่ใจนี้ตายแล้วสูญไปเลยดังที่ส่วนมากเข้าใจกัน
ใจนี้แลเป็นธรรมชาติที่ไม่ตายและไม่สูญ
คำว่าเกิดนั้นหมายถึง ใจไปถือกำเนิดเกิดในสถานที่นั่นที่นี่
ตามอำนาจแห่งบุญกรรมของตนที่สร้างไว้มากน้อย
แล้วก็ไปเกิดตามสถานที่ที่เหมาะสมกับวิบากกรรมของตนนั่นแล
(โปรดติดตามเนื้อหาต่อในฉบับหน้า)
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
จาก พระธรรมเทศนา "คุณค่าแห่งธรรม" ใน ที่สุดแห่งทุกข์
โดย ท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน วัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานี
< Prev | Next > |
---|