ดังตฤณวิสัชนา Dungtrin's Answer
ทำอย่างไรจึงจะตัดเวรจากคนที่จองเวรกับเราได้
ถาม - หากมีผู้ที่จองเวรกับเราแต่เราไม่จองเวรกับเขา
เส้นทางกรรมระหว่างเราและเขาจะเป็นอย่างไรคะ
อันนี้ก็เป็นอีกข่าวร้ายหนึ่งในสังสารวัฏ
ต่อให้ใครคิดจองเวร คิดอาฆาตแค้นกับเราฝ่ายเดียว
มันก็ต้องผูกเวรกันไปอีก แล้วมาเจอกันในฐานะคู่เวรอีก
นี่คือข่าวร้ายในสังสารวัฏ
แล้วอันนี้ไม่ได้คิดเอง ไม่ได้มั่วนะ พระพุทธเจ้าตรัสเองนะครับ
อันนี้เป็นตัวอย่างที่ผมยกบ่อยที่สุดเลย
อย่างพระเทวทัตที่จองเวรพระพุทธเจ้า
ชาติที่พระเทวทัตจองเวร พระพุทธเจ้าไม่ได้รู้เรื่องเลย เป็นพ่อค้าด้วยกัน
แต่ว่าพระพุทธเจ้าให้ราคาถูกต้องกว่า ก็ให้ราคาเป็นธรรมอะไรแบบนี้ก็เลยได้ลูกค้าไป
พระเทวทัตก็ผูกใจเจ็บบอกว่าจะขอจองเวร
ไปเป็นจำนวนชาติเท่าเม็ดทรายในกำมือที่โปรยลงพื้น อย่างนี้นะ
นับแต่นั้นมาก็กลายเป็นว่าพระเทวทัตคือได้สมใจนะ เป็นคู่เวรมาจนกระทั่งชาติสุดท้าย
คือเรื่องตรงนี้จะจริงหรือไม่จริงเราไม่สามารถรู้ได้
แต่สิ่งที่เรารู้ได้นะ อย่างหนึ่งก็คือว่าในชีวิตของเราคงเคยมีประสบการณ์
ประเภทที่ว่าเราไม่ได้รู้สึกอะไรเลย ไม่ได้เจ็บแค้น ไม่ได้อยากจะมีเรื่องมีราวอะไรกับใคร
แต่เขาขยันหาเรื่องเรา หรือว่าพยายามที่จะมาเบียดเบียนเรา
พยายามที่จะมาจงใจทำให้เราเป็นทุกข์
ทุกคนจะต้องเคยเจอมาอย่างน้อยรายสองราย
อยู่กันหลายสิบปีนี่นะ อย่างน้อยต้องมีสักคนสองคน
ประสบการณ์ทำนองนี้ มันทำให้เราเกิดความรู้ขึ้นมา
ว่าบางทีเราไม่ได้เบียดเบียนเขา แต่เขาก็สามารถที่จะเบียดเบียนเราได้
ทีนี้ถ้าเราสังเกตใจเราเอง คือแทนที่จะพยายามไปทำความเข้าใจเขา
ว่า เอ๊! ไม่เข้าใจ คนเราจิตใจมันทำด้วยอะไร ทำไมมันเป็นแบบนี้
เราไม่ได้ไปทำอะไรให้สักหน่อย มาเบียดเบียนเราอยู่ได้
เราลองนึกถึงใจเราเอง บางทีเราอาจจะเจอใครแล้วนึกเขม่น
ตอนเด็กๆ เคยไหมนึกอยากแกล้ง อยู่ๆ ก็อยากไปแกล้งเขา
อยู่ๆ ก็อยากทำให้เขาแบบประมาณว่าเปลี่ยนสีหน้าจากยิ้มๆ
ให้กลายเป็นเศร้าหมองเสียบ้าง
หรือตอนโตๆ นี่ นึกไม่ชอบ ไม่อยากเห็นมันมีความสุขเลย
โอ้โห! แต่มันมีความสุขได้ มีความสุขดี
บางคนนี่เหมือนกับเป็นที่ไม่สบอารมณ์ของสังคมเลยก็มีนะ
บอกว่าทำตัวไม่ดี แต่ทำไมได้ดิบได้ดี
เกิดความรู้สึกไม่ยินดี เกิดความรู้สึกอยากจะหาทางทำอะไรสักอย่าง
ให้เขาไม่เป็นสุขอย่างที่เขาเป็น หรือว่าไม่ได้ดิบได้ดีอย่างที่เขาเข้าใจอะไรแบบนั้น
คนเรามันมีประเภทที่ว่าเขาไม่ได้ทำอะไรให้เราเดือดร้อน
แต่เราอยากจะให้เขาเป็นทุกข์เสียบ้าง
อะไรแบบนี้แหละที่มันทำให้เราเข้าใจได้ว่าการเบียดเบียนกัน
บางทีไม่ใช่มาจากการที่ทั้งสองฝ่ายตั้งหน้าตั้งตาห้ำหั่นกัน
แต่มันเกิดจากอีกขั้วหนึ่งมันมีความรู้สึกไม่สบอารมณ์ ไม่อยากให้เราเป็นสุขก็ได้
แล้วโดยธรรมชาติของกรรมวิบาก ที่เรียกว่าเป็นกรรมสัมพันธ์ร่วมกัน
เป็นบาปสัมพันธ์ หรือเป็นบุญสัมพันธ์
ถ้าหากว่าเราเคยไปร่วมบาปร่วมกรรมหรือว่าร่วมบุญกับใครไว้แล้ว
แล้วจะมาบอกว่าไม่เอาแล้ว ไม่ขอเจออีกแล้ว มันไม่ใช่วิสัย
คือกรรมที่เคยมีต่อกัน ความสัมพันธ์ที่มีต่อกัน
มันเป็นอะไรที่เหมือนเงาตามตัวทั้งคู่ไป
เหมือนแรงดึงดูดเหวี่ยงให้ต้องมาเจอกันอีก
ถ้าต้องเกิดมาแล้วอยู่ในภพภูมิเดียวกัน
อยู่ในช่วงจังหวะเวลาที่จะต้องมาชดใช้สิ่งที่เคยทำร่วมกันมา
หรือว่าจะต้องมาเสวยผล มาเสวยรางวัลร่วมกัน
อย่างไรก็ต้องเจอในจังหวะที่เลี่ยงไม่ได้ ไปปฏิเสธไม่ได้
แล้วเราจำหน้าเขาไม่ได้ด้วย เหมือนกับที่ชาตินี้แหละ ชีวิตนี้แหละ
คนที่ร่วมเวรร่วมกรรมกันมาคุณก็จำเขาไม่ได้หรอก
ว่าเคยไปทำอะไรกันมา ทำไมมันตามจองล้างจองผลาญนัก
ทำไมตามด่าตามล้างตามเช็ด ทั้งๆ ที่เราก็ไม่ได้โต้ตอบ
วิธีที่ดีที่สุดคือไม่คาดหวังอะไรที่มันเป็นไปไม่ได้นะครับ
ไม่ใช่ว่าบอกว่าอย่าได้พบอย่าได้เจอกันอีกเลย
มันไม่มีวิธีจริงๆ นะ พระพุทธเจ้าท่านยืนยัน
แต่มันมีหนทางหนึ่งที่เราจะไม่ต้องเป็นทุกข์มาก
ก็คือทำไว้ก่อนในใจว่าเขาต้องการที่จะต่อเวร แต่เราต้องการที่จะตัดเวร
คือตั้งความรู้สึกนี้ไว้ดีๆ ในใจ
วิธีตัดเวรก็คือไม่ไปโต้ตอบ ไม่ไปเบียดเบียนตอบ
ยกเว้นแต่จะต้องเป็นเรื่องเป็นราวมันบังคับนะ มันไม่สามารถเลี่ยงได้
อย่างเป็นคดีความทางกฎหมาย
เพื่อที่จะเอาส่วนที่มันสำคัญของเรากลับคืนมา อะไรต่างๆ
อันนั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องภายนอก
แต่เรื่องภายในนี่เราจะไม่ตั้งใจ ไม่จงใจทำให้เขาเจ็บปวด
ไม่จงใจทำให้เขาต้องเดือดเนื้อร้อนใจ
ไม่จงใจทำให้เขาต้องมีภาวะย่อยยับอับปาง
ถ้าตั้งความรู้สึกนี้ไว้ในใจ นี่ถือว่าเป็นการตัดเวรแล้ว นี่เป็นการไม่ต่อเวรแล้ว
คือข้างนอกจะต้องพูดต้องจาต้องตกลงหรือว่าต้องถกเถียง
หรือว่าต้องทำอะไรอย่างไรก็แล้วแต่ แต่ใจของเรามันจบ
พิสูจน์ได้ง่ายๆ คือว่าถ้าเรื่องข้างนอกมันเสร็จสิ้น
ใจของเราไม่เอาต่อ ไม่ไปต่อในทางที่จะทำร้ายความรู้สึกกัน
ตัวนี้ตัวที่ตั้งไว้อย่างนี้ มันคือการตัดเวร
มันอยู่ที่ข้างในนี้ มันอยู่ที่ใจเรา เรารู้ว่ามันอยู่ในทิศทางนี้
ถ้าหากว่าใจอยู่ในทิศทางที่จะตัดเวรไม่ต่อเวร
ถึงแม้ว่าจะต้องพบกันอีก มันก็จะรู้สึกคล้ายๆ กับที่เคยเกิดขึ้นในชาตินี้นี่แหละ
ว่าคนบางคนมาเบียดเบียนเรานักหนา
แต่เราไม่อยากเอาเรื่องเอาราวไม่อยากถือสา
ตรงข้ามบางคนนะ แทบจะไม่ได้มาอะไรกับเรามาก
อาจจะเป็นคนขายของหรือว่าจะเป็นใครที่เจอตามถนน
ทำให้ไม่ถูกใจ ขัดใจ หรือว่าทำหน้าทำตาไม่ดี ดูไม่มีมารยาท
บางทีเราเป็นฟืนเป็นไฟ
นั่นก็เพราะว่ากับคนคนนั้น เรายังไม่ได้ติดตั้งขั้วแห่งการอภัยไว้
เพราะฉะนั้นคือถ้าชาติก่อนยังไม่เคยตั้งขั้วแห่งการอภัยไว้
ก็เอาชาตินี้แหละมาเป็นจุดเริ่มต้น
มันจะอย่างนี้จริงๆ นะ คือถ้าหากว่าใครทำให้เราขัดเคือง
ใครทำให้เราเกิดความรู้สึกเป็นฟืนเป็นไฟขึ้นมา
ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าคงเคยมีเวรมีภัยอะไรกับเรามา
เราคงเคยที่จะไปต่อเวรต่อภัยกับเขาไว้
ในชาตินี้ที่เราพบพระพุทธศาสนา มันเป็นโอกาส มันเป็นโอกาสแห่งความรู้
มันเป็นโอกาสแห่งการตั้งใจใหม่ ตั้งทิศทางของกรรมใหม่
คือเขาจะทำให้เราเดือดเนื้อร้อนใจแค่ไหนก็ตาม
ถ้าหากว่ามันสามารถอภัยได้ ไม่ต้องต่อความยาวสาวความยืดได้
เราทำได้ไหม ทำด้วยใจ คือเอามันออกไปจากใจ
บอกว่า โอเค เราจะไม่ต่อเวรแล้วนะ
เพื่อที่จะไม่ต้องมาเจอกันแบบคู่อาฆาต ทำความระคายให้แก่กันและกันอีก
ถ้าขั้วแห่งการอภัยมันเกิดขึ้น คุณจะรู้สึกโล่ง
เหมือนกับปลดหนี้ปลดภาระออกจากใจได้ ปลดของหนักออกจากใจได้
มันจะเบา มันจะโล่ง มันจะสบาย
แล้วมันมีความรู้สึกแบบใหม่ขึ้นมาว่ามองเขาด้วยความรู้สึกที่เมตตาขึ้น
มีแก่ใจรู้สึกว่าถ้าช่วยอะไรได้ ทำให้เขารู้สึกดีได้เราจะช่วยนะ
ไม่อย่างนั้นมันจะมีความรู้สึกอยากห้ำหั่น
อยากจะ "เดี๋ยวจะแกล้งให้มันต้องออกจากงาน ไม่ยอมทำตามหน้าที่
ไม่ยอมรู้จักสิ่งที่ควรจะทำกับลูกค้า" อะไรแบบนี้
ความรู้สึกนึกคิดแบบนี้มันจะหายไป
มันกลายเป็นว่าก็ขอให้เขาเป็นอย่างที่เขาเป็น ไปอย่างที่เขาตั้งทิศทางที่จะไปไว้
เราไม่ไปร่วมกับเขาอีกแล้ว
มันจะรู้สึกว่าสบายใจ โล่งอก ปลดหนี้ได้ ปลดเวรไปได้อีกขั้วหนึ่ง
แล้วถ้าทำบ่อยๆ นะคุณจะมีความรู้สึกเลยว่า
โอ้โห เจ้ากรรมนายเวรนี่มันหายไปแบบ หายไปทั้งกระบิ หายไปเป็นกระบิๆ
มันจะมีความรู้สึกว่าชะตาชีวิตของเราห่างจากเรื่องรบกวน
เรื่องเบียดเบียนออกมามากขึ้นเรื่อยๆ
แต่ถ้าทุกครั้งเรายังมีอาการจิ๊กจั๊กเหมือนกับโดนจิกกัดหัวใจได้
แล้วก็เก็บมาคิดเก็บมาแค้น มันก็จะยังมีเจ้ากรรมนายเวรเข้ามาระรานต่อได้ไม่เลิก
มาฝึกมาเทรน (train) หัวใจของเราว่าทำอย่างไรจะมีขั้ว
ทำตัวเป็นขั้วแห่งการอภัย ทำตัวเป็นขั้วแห่งการละภัยละเวร
ถ้าหัวใจของใครเป็นขั้วแห่งการละภัยละเวร ไม่ถือสา
จะเรื่องใหญ่ เราก็ไม่ถือ เรื่องเล็กก็ไม่ประมาท
คือบางคนจะเอาแต่เรื่องใหญ่ อภัยแต่เรื่องใหญ่ๆ เรื่องเล็กๆ นี่ยังจุ๊กจิ๊กๆ อยู่
ตัวนี้หัวใจก็ยังไม่ทำตัวเป็นขั้วแห่งการอภัย
แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่เราฝึกไปทีละครั้งทีละหน ทุกครั้งที่มันมีอาการจิ๊กจั๊กขึ้นมา
ว่าเราจะให้หัวใจของเราเป็นขั้วแห่งการอภัย ให้มันปลอดภัยปลอดเวร
ฝึกไปเรื่อยๆ ผ่านไปหลายๆ เดือน ผ่านไปหลายๆ ปี มันจะค่อยๆ มีผลขึ้นมา
จะเห็นเลยว่าหัวใจของเรา อกของเรามันโล่งมันสบาย มันปลอดจากการรบกวน
มันไม่อยากไปรบกวนคนอื่นเขา แล้วคนอื่นก็จะไม่อยากเข้ามารบกวนเราด้วย
อันนี้หลายคนอาจจะบอกว่าใช้ทุกวิธีแล้ว อภัยไม่รู้จะอภัยอย่างไร มันก็โดนระรานอยู่
แต่ถามดูนะว่าที่อภัยนี่ข้างในมันยังอยู่หรือเปล่า มันยังจิ๊กจั๊กๆ อยู่หรือเปล่า
ถ้ามันไม่จิ๊กจั๊ก มันมีอาการปลอดโปร่ง มันมีอาการโล่งจริงๆ
แล้วมันไม่มีข้ออ้างบอกว่า โอ๊ย! ทำไม่ได้หรอกมันยาก
ในที่สุดจะทำได้ แล้วในที่สุดมันก็จะเห็นผล
ว่าชีวิตนี่พอเราไม่ทำตัวเป็นขั้วเวรขั้วภัยให้กับคนอื่น
ขั้วภัยขั้วเวรที่มันจะถูกดูดเข้ามามันก็จะน้อยลงจริงๆ นะครับ
สรุปง่ายๆ นะ คือไม่ใช่ว่าเราจะละแค่คนใดคนหนึ่ง
แล้วชีวิตของเรามันจะปลอดเวร มันไม่ใช่แบบนั้นนะ
ต้องทำให้หัวใจขอเงราเป็นขั้วแห่งการปลอดเวรเลย มันถึงจะได้ผลจริง
เป็นการอภัยไม่เลือกหน้า ปลอดเวรปลอดภัยไม่เลือกหน้า
ไม่ใช่เฉพาะเจาะจง แล้วมันถึงจะได้ผลนะครับ
< Prev | Next > |
---|