จากใจ บ.ก.ใกล้ตัว Lite Talk
ฉบับที่ ๓๘๒ ผิดต้องว่าตามผิด
ถ้าไม่มีบทลงโทษเลย
ไม่มีไก่ถูกเชือดให้ลิงดู
ลิงก็อาจได้ใจ
เกเรกันใหญ่จนไม่มีใครคุมอยู่
แม้แต่พระพุทธเจ้า
ท่านก็ไม่นิ่งเฉยกับภิกษุที่ทำผิด
ท่านลงโทษ ท่านเอาผิด
พระพุทธศาสนาไม่ได้บอกว่า
การให้อภัยหมายถึงการไม่ทำอะไรเลยกับคนที่ทำผิด
คำว่าอภัย
หมายถึง ‘ใจ’ เราไม่ผูกโกรธ
แต่โดยพฤติกรรม ‘ทางกาย’
ถ้าผิดต้องว่าตามผิด
.. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. ..
เราสามารถที่จะโต้ตอบได้
แต่ขั้นต้น
ให้ความโกรธน้อยที่สุด
เท่าที่จะเป็นไปได้
วิธีที่จะทำให้เราโต้ตอบ
ด้วยความโกรธน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
สำหรับมือใหม่ฝึกหัดละความโกรธ คือ
‘อย่าเพิ่งโต้ตอบ’
ในขณะที่กำลังรู้ตัวว่ากำลังอารมณ์แรง
ให้เฉยๆเย็นๆไว้ก่อน
น้อยครั้งที่เราต้องโต้ตอบเดี๋ยวนั้น
ไม่งั้นจะเกิดความเสียหาย
ส่วนใหญ่แล้วเรารอสัก ๕ นาที ๑๐ นาทีก่อนก็ได้
แล้วค่อยเข้าไปพูด
ขอให้ ‘รู้’ ก็แล้วกันว่าโกรธ
เห็นไปว่าลักษณะความโกรธเป็นอย่างนี้นะ
มีความร้อน มีแรงดัน มีความอยากด่า
มีความอยากแสดงท่าฮึดฮัด
หรือไม่ก็มีความอยากลงมือลงไม้สักตุ้บสองตุ้บ
ขอให้ ‘รู้’ ต่อไปด้วยว่า
ความโกรธหายไปตอนไหน
วินาทีที่เห็นความโกรธจางลงจากใจ
นั่นแหละสำคัญที่สุด
เพราะนั่นจะเป็นวินาทีที่เรา
เห็นความไม่เที่ยงของโทสะ
หากเห็นบ่อย
ก็จะเป็นโอกาสให้รู้แจ้งด้วยปัญญาว่า
ความโกรธไม่ใช่ตัวเรา
ไม่มีเราอยู่ในความโกรธ
.. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. ..
มีวิธีพูดมากมายหลายร้อยวิธี
ที่จะทำให้คนเกิดความสำนึกได้
เราต้องถามตัวเองว่า
เราจะพูดอย่างไรเพื่อให้ได้สิ่งนั้น
ถ้ารู้จักถามตัวเองรู้จักฝึกตัวเอง
ใจจะเริ่มเย็นลงมา
แล้วก็มีความคิดความอ่านในการแก้ปัญหา
ในการตอบโต้มากขึ้น
.. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. ..
ถ้าสมมุติว่า เขายังไม่สำนึกผิด อันนี้
จำเป็นต้องว่า
จำเป็นต้องติ
จำเป็นต้องเตือนกัน
ถ้าหากว่าว่าซ้ำแล้วซ้ำอีกยังไม่สะเทือน
อันนี้ก็ต้องถึงขั้นลงโทษ
ซึ่งจะลงโทษตามกฎของบริษัทหรือบ้านเมือง
ก็ว่ากันเป็นกรณีไป
ไม่ใช่ว่าปล่อยให้คนที่ทำผิดทำเลวได้ใจ
.. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. ..
แต่ถ้าหากคุณรู้สึกว่าเขาสำนึกผิดอยู่แล้ว
แค่พูดคำเดียวพอว่า
คราวหน้าอย่าให้เป็นแบบนั้นอีกนะ
แค่นั้นก็เกิดความรู้สึกที่ดีต่อกันได้แล้ว
ตรงข้ามหากเขาสำนึกผิดอยู่แล้ว
หรือคุณเตือนแล้วเขารู้สึกผิดอยู่แล้ว
คุณยิ่งไปตอกย้ำหรือไปว่าใส่หนักเข้าไปใหญ่นี่
ความสำนึกผิดของคนอาจกลับเปลี่ยน
กลายเป็นความรู้สึกอยากเข้าข้างตัวเองขึ้นมาแทน
ตรงนี้เป็นหลักธรรมชาติของจิต!
ดังตฤณ
เมษายน ๒๕๖๗
ร่างกายนี้เต็มไปด้วยของไม่สะอาดไหลเข้าไหลออกอยู่ตลอดเวลา
แต่การที่จะพิจารณาจนเห็นว่ากายเป็นของไม่งาม
ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายและต้องอาศัยความพากเพียรอดทน
ดังความตามพระธรรมเทศนา โดย หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ
เรื่อง "ตา หู จมูก เป็นเหตุ" ในคอลัมน์ "สารส่องใจ" (-/\-)
หากมีผู้จองเวรกับเราแต่เราไม่จองเวรตอบ
เส้นทางกรรมระหว่างเราและเขาจะเป็นอย่างไร
จะต้องมาพบเจอและผูกเวรกันต่ออีกหรือไม่
หาคำตอบได้ในคอลัมน์ "ดังตฤณวิสัชนา"
ตอน "ทำอย่างไรจึงจะตัดเวรจากคนที่จองเวรกับเราได้"
คอลัมน์ "วรรณกรรมนำใจ" ในฉบับนี้
มาติดตามเรื่องราวความเร้นลับและเงื่อนงำที่กำลังขมวดปมขึ้นเรื่อยๆ
พร้อมกับความรักที่ค่อยๆ เบ่งบานของมีนาและธันวา
ได้จากนวนิยาย "เร้น" ผลงานโดยคุณชลนิล (^__^)
< Prev | Next > |
---|