จากใจ บ.ก.ใกล้ตัว Lite Talk
ฉบับที่ ๓๘๑ เส้นทางนักทำทาน
หากถามว่าทำกรรมอะไรมาถึงรวยเป็นพิเศษ
คำตอบตรงตัว คือ
ทำกรรมด้วยอาการเผื่อแผ่ มีใจที่กว้าง
เป็นไปในทางช่วยเหลือผู้อื่นเป็นพิเศษ
และบ่อยครั้งกว่าคนทั่วไป
แต่อย่างไร ก็อย่าไปคาดหวังว่า
จะรวยขึ้นกว่าเดิมเป็นสิบเป็นร้อยเท่า
เพราะกรรมเก่า ขีดเส้นมาแล้วว่า
ชาตินี้คุณมีสิทธิ์รวยได้ประมาณไหน
ไม่เกินพิกัดเท่าใด
.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..
การให้ทานที่หวังผลได้ในปัจจุบัน
คือ ยิ่งให้เท่าไร
ยิ่งเห็นชัดว่า ชาตินี้รวยน้ำใจขึ้นเท่านั้น
และถ้าน้ำใจมาก
น้ำหนักความสุขก็จะเพิ่มขึ้น
อย่างเป็นสัดเป็นส่วนตามกัน
ถ้าจะตั้งความหวังเกี่ยวกับความมั่งคั่ง
อันงอกเงยจากผลของทาน
ก็ขอให้คิดอย่างนี้ว่า
น้ำใจเป็นสิ่งที่เพิ่มได้ไม่จำกัด
และนั่นก็จะเป็นเหตุให้ชาติถัดไป
รวยได้ไม่จำกัดเช่นกัน
.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..
เราควรมาดูว่า
พระพุทธเจ้าตรัสแนะวิธีทำทาน
ให้ได้ผลใหญ่ไว้อย่างไร
แต่ละข้อต่อไปนี้ พระพุทธเจ้าตรัสว่า
ล้วนส่งเสริมให้ได้ใช้ชีวิต
บนกองเงินกองทองทั้งสิ้น
๑. ให้ทานด้วยความศรัทธา
คือ รู้สึกดี
ให้เพราะอยากให้ และให้สำเร็จ
กับทั้งเชื่อมั่นว่าเมื่อให้แล้ว
มีความสุขในปัจจุบัน
ผลที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ถ้าจะมี ก็ต้องเป็นสุขเช่นกัน
๒. ให้ด้วยความเคารพ
คือ มีความรู้สึกอยู่ว่า
การทำทานเป็นของสูง ไม่ใช่ของต่ำ
จึงไม่ควรโยนให้ หรือเสือกไสให้
เหมือนเป็นของเหลือเดน
การถวายทานแด่สงฆ์ จัดเป็นการฝึกใจ
ให้ทำทานด้วยความเคารพได้อย่างดี
เพราะรู้สึกอยู่ว่าท่านใช้ชีวิตที่สะอาดสูงส่งกว่าเรา
๓. ให้โดยกาลอันควร
คือ ให้อย่างรู้จักความเหมาะสม
กับสถานการณ์ในเวลาหนึ่งๆ
เช่น เมื่อเห็นพระตาแดง
ก็ขวนขวายเป็นธุระหายาหยอดตามาให้ท่าน
เห็นวัดมีทางโคจรของพระที่เฉอะแฉะ
ก็ร่วมแรงร่วมใจกันทำทางให้แห้ง
หรือเทปูนให้พวกท่าน เป็นต้น
๔. ให้ด้วยจิตอนุเคราะห์
คือ ให้ด้วยความปรารถนาจะช่วยให้ผู้รับเกิดประโยชน์
หรือผ่อนหนักเป็นเบาให้กับเขาอย่างแท้จริง
จิตที่คิดให้ด้วยความอนุเคราะห์
จะช่วยให้เราเกิดใหม่เป็นคนรวยอย่างมีรสนิยม
รู้จักเลือกหา รู้จักแต่งเติมชีวิตให้เลิศสุขยิ่งๆขึ้นไป
ไม่ใช่เงินเก็บเยอะ แต่บ้านช่องดูแย่มาก
๕. ให้โดยไม่กระทบตนและคนอื่น
คือ ให้โดยไม่ประชด ให้โดยไม่แข่งขันชิงดี
ให้โดยไม่คิดเอาหน้าเกินใคร
บางคนทำบุญแบบเกทับกัน
เห็นเขาออกก่อนห้าร้อย เลยรีบหยิบแบงก์พันขึ้นมาสู้
จิตมีอาการคิดเบ่ง คิดทำให้เขาเสียหน้าหรือน้อยหน้า
นี่เรียกว่า ให้แบบกระทบผู้อื่น
แต่ถ้าให้ในแบบที่ช่วยให้ทุกคนสบายใจ
ถึงเวลาที่ บุญเผล็ดผล ก็จะรวยอย่างสบายใจ
ไม่ถูกความรวยรบกวนจิตใจมาก
.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..
พุทธพจน์ :
เรากล่าวว่าแม้ผู้ใดสาดน้ำล้างภาชนะ
หรือน้ำล้างขันไปที่บ่อน้ำครำ
หรือในบ่อโสโครกข้างประตูบ้านซึ่งมีสัตว์อาศัยอยู่
ด้วยความตั้งใจว่าสัตว์ที่อาศัยแหล่งน้ำนั้น
จะดำรงชีพอยู่ได้ด้วยเศษอาหารในภาชนะ
ก็เป็นเหตุเป็นที่มาแห่งบุญแล้ว
(ชัปปสูตร)
๑) ให้ทานแก่สัตว์เดรัจฉาน พึงหวังผลร้อยเท่า
๒) ให้ทานในปุถุชนผู้ทุศีล พึงหวังผลพันเท่า
๓) ให้ทานในปุถุชนผู้มีศีล พึงหวังผลแสนเท่า
๔) ให้ทานในบุคคลนอกศาสนาพุทธ
ผู้ปราศจากความกำหนัดในกาม พึงหวังผลหลายล้านเท่า
๕) ให้ทานในผู้เพียรเจริญสติเพื่อบรรลุมรรคผลขั้นแรก
พึงหวังผลอันนับประมาณไม่ได้
(ทักขิณาวิภังคสูตร)
.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..
ผู้รับมีส่วนขยายผล
ไม่ใช่ไม่มี อย่านึกว่าเท่ากัน
เปรียบเหมือนตีฆ้องเล็กด้วยกำลังแรงขนาดหนึ่ง
ถ้าเอากำลังแรงขนาดนั้นไปตีฆ้องที่ใหญ่กว่าหลายเท่า
เสียงออกมาก็ต้องดังขึ้นหลายเท่าเป็นธรรมดา!
การให้ทานกับสัตว์เป็นของดี
เป็นการให้ทานขั้นพื้นฐานที่ควรฝึก
เพราะโดยมาก เราจะไม่หวังการตอบแทน
ในทางใดๆจากสัตว์
โดยเฉพาะถ้าเป็นสัตว์ข้างถนน
หรือสัตว์ในน้ำที่ไม่มีใครสนใจ
หากฝึกให้ด้วยใจคิดอนุเคราะห์ ให้ด้วยความอ่อนโยน
คุณจะรู้จักรสสุขของการให้ที่แท้
ให้เขาไป เหมือนได้เข้าตัวเราเอง
ความรู้สึกทำนองนั้นชี้ว่า
สัญชาตญาณรู้ผลกรรมเริ่มเกิด
ดังเช่นที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า
ให้ข้าวเขาก็เหมือนให้ข้าวตัวเอง
ในการให้ทานด้วยใจบริสุทธิ์ แบบไม่เลือกหน้า
ไม่แบ่งชั้นวรรณะนั้น นับว่าดีที่สุด
คือ ไม่เกี่ยงว่า
จะเป็นสัตว์ข้างถนน ขอทาน ผู้มีศีล
ตลอดจนผู้เพียรเพื่อเข้าถึงมรรคผลนิพพาน
เส้นทางนักทำทาน
จะพาคุณไปพบพวกท่านแบบไต่ลำดับไปเอง
เพราะใจที่เปิดกว้าง เป็น ‘ทานจิต’ เต็มดวง
ย่อมคู่ควรกับผู้รับ แม้ระดับอรหันต์!
ดังตฤณ
มีนาคม ๒๕๖๗
เมื่อบุคคลได้พิจารณาขันธ์ ๕ จนเห็นถึงสภาพตามความเป็นจริง
ว่าเป็นทุกข์ ไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตน ย่อมสามารถปล่อยวางได้ในที่สุด
ดังความตามพระธรรมเทศนา โดย หลวงปู่ขาว อนาลโย
เรื่อง "นิโรธะ" ในคอลัมน์ "สารส่องใจ" (-/\-)
ปุถุชนผู้ปรารถนาที่จะละสักกายทิฐิให้ได้ในชาตินี้
นอกจากการทำทานและรักษาศีลแล้ว จะต้องปฏิบัติสิ่งใดอีกบ้าง
หาคำตอบได้ในคอลัมน์ "ดังตฤณวิสัชนา"
ตอน "ต้องทำอย่างไรจึงจะบรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน"
เมื่อเกิดปัญหาใดๆ ขึ้นในชีวิต
เราควรพิจารณาความบกพร่องตนเองก่อนเป็นอันดับแรก
เพื่อให้สามารถแก้ปัญหานั้นได้อย่างถูกต้องเหมาะสม
ดังเรื่องราวที่คุณงดงามเรียบเรียงไว้
ในคอลัมน์ "จุดหมายปลายธรรม" ตอน "พิจารณาตนเอง"
< Prev | Next > |
---|