จากใจ บ.ก.ใกล้ตัว Lite Talk
ฉบับที่ ๓๗๙ ขออโหสิกรรม...ล้างเวรได้?
คำว่าเวร เราต้องมองว่ามันเป็น ‘สายใย’
ระหว่างที่ผูกคนหนึ่งกับอีกคนหนึ่ง
ยกตัวอย่างในทางสว่าง
ไปทำบุญด้วยกัน พูดดีต่อกัน
หรือว่าคิดอยากช่วยเหลือกันเล็กๆน้อยๆ
แค่นี้เรารู้สึกดีแล้ว
เราจะรู้สึกถึงสายใยแห่งความเชื่อมโยง
เป็นสายใยแห่งมิตรภาพ
ในทางกลับกันตรงกันข้าม คำว่าเวร
หมายความว่าเราทำอะไรไม่ดีกับใคร
เอาแค่เดินตามถนนแล้วไปเหยียบเท้ากัน
แล้วหันมามองหน้าด้วยความรู้สึกขุ่นเคือง
แค่นี้มันเกิดความสัมพันธ์แบบลบได้แล้ว
หรือข่าวที่ขับรถปาดหน้า แล้วลงมายิงกัน
เหล่านี้เกิดจากการที่คนเรามีเวรต่อกัน
.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..
เมื่อคนเราเป็นฝ่ายถูกกระทำ
มัก ‘หวังผล’ ให้ผู้กระทำ
ได้รับผลเป็นร้อยเท่าพันทวี
ถ้าไม่ใช่ด้วยการเอาคืนกับมือ
ก็ด้วยการสาปแช่งด้วยปาก
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเชื่อเรื่องผลแห่งกรรม
จะมีใจจดจ่อ เฝ้ารอว่าเมื่อใดผลร้าย
จะเกิดขึ้นกับคนที่ทำร้ายร่างกายหรือจิตใจตน
ความจริงที่คนส่วนใหญ่นึกไม่ถึงก็คือ
ถ้าเกลียดแล้วถอนความเกลียดไม่เป็น
ปล่อยให้เลยเถิดไปถึงการแอบคิดสาปแช่งอยู่ทุกวันแล้ว
เท่ากับก่ออาจิณณกรรม
อาการทางใจออกแนวอยากแก้แค้น เอาคืน
โดยอาศัยความเชื่อทางศาสนาของตนเป็นตัวจัดการให้
อาจยืมมือเทพยดา วิบากกรรม หรือพญามัจจุราช
มาเป็นตัวช่วยลับๆ
น่าสังเกตว่า ยิ่งศีลของคุณบกพร่องมากเท่าไร
คุณจะยิ่งหวังให้คนที่ทำร้ายคุณวิบัติมากเท่านั้น
เพราะศีลที่พร่องย่อมเป็นช่องให้อาฆาตมาก
แต่ยิ่งศีลของคุณบริบูรณ์ขึ้นเท่าไร
คุณจะยิ่งหวังให้เวรที่มีกับใครเลิกแล้วต่อกันเท่านั้น
เพราะศีลที่บริบูรณ์ย่อมปิดช่องความอยากเบียดเบียน
.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..
แค่พูดจองเวร
มันจะรู้สึกว่ามีสายใยที่มันมืดๆ ที่มันโยงใยอยู่
คิดในแง่ของกรรมก็คือว่า ลั่นวาจาไว้
ทำวจีกรรมอันเป็นอกุศลไว้ เป็นบาป เป็นของมืดไว้
มันไม่ใช่เรื่องเล็ก
หากเกิดชาติหน้าแล้วเวรตรงนี้ให้ผล!
ใจเป็นใหญ่ ใจเป็นประธาน
แม้แอบคิดในใจก็เป็นมโนกรรม
และถ้าปล่อยให้เกิดขึ้นเต็มเหนี่ยว
ก็โยงจิตผูกเวรได้แน่นเหนียว
ถ้ามองในแง่ลึกลับ
อาจจะมีแรงกระตุ้นกลับ ‘ให้ต้องมาเจอกัน!’
เวรดึงมา เวรเก่ามันผูกกันมา
สาปแช่งคนที่คุณเกลียดไว้อย่างไร
แนวโน้มคือคุณจะได้ร่วมทางกรรมกับเขาอย่างนั้น
แต่เกลียดใคร แล้วถอนความเกลียดเสียได้
แนวโน้มคือคุณจะแยกทางกรรมกับเขาไปเลย
.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..
>> ขออโหสิกรรม..ล้างเวรได้หรือไม่?
การขออโหสิอยู่ฝ่ายเดียวไม่มีผลเลย
เหมือนคนจับมือกันไว้
ฝ่ายหนึ่งปล่อยแล้ว แต่อีกฝ่ายหนึ่งไม่ยอมปล่อย
ก็ยึดอยู่อย่างนั้น ไม่ไปไหน มันก็ไม่มีประโยชน์
มันมีผลแค่ในแง่ที่ว่า ‘บรรเทา’ เหตุการณ์ความรุนแรง
ที่จะมาจองล้างจองผลาญกัน
สมมุติเคยอธิฐานผูกกันมาทั้งคู่ จองเวรกันมาทั้งคู่
สมมุติความเข้มข้นเต็มร้อย
หากเราถอนตัวออกไป ความเข้มข้นก็เจือจางลงมา
อย่างน้อยสักยี่สิบสามสิบเปอร์เซ็นต์
บางคนที่จิตอยู่ในศีล ไม่คิดเบียดเบียนใคร
มันก็มีพลังของความปล่อยวาง
พลังของความคลาย พลังของความสว่าง
ที่จะทำให้ด้านมืดของความสัมพันธ์เจือจางลง
อันนี้ก็เป็นเหตุที่ว่าเวลาเจอกับสถานการณ์แย่ๆ
มันไม่แย่เต็มร้อย ลดระดับลงมา มีผลด้วย
แต่ว่าใจที่คิดให้อภัย
แล้วมาบอกกันให้อีกฝ่ายหนึ่งรู้สึกอภัยตาม
เหมือนกับเจ๊ากัน ไม่จองเวรกัน อันนี้ของจริง
ถ้าจะล้างเวรกับใครพยายาม ‘ทำทั้งสองฝ่าย’
ไม่ใช่แค่ทำให้ใจตัวเองมีความสุขพอที่จะอภัย
แต่ต้องทำให้อีกฝ่ายมีความสุขพอ
ที่จะร่วมมือกันกับเราด้วย!
ดังตฤณ
กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗
พระพุทธองค์ทรงวิสัชนาธรรมแก่เจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะ
ซึ่งได้ทูลถามเกี่ยวกับธรรมเครื่องอยู่ต่างๆ
รายละเอียดติดตามได้ในคอลัมน์ "ธรรมะจากพระสูตร"
ตอน "ทุติยมหานามสูตร ว่าด้วยเจ้าศากยะมหานามะทูลถามถึงธรรมเป็นเครื่องอยู่"
การเจริญกรรมฐานตามแบบพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล และพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต
มีวิธีการและขั้นตอนต่างๆ อย่างไร
ติดตามได้จากพระธรรมเทศนา โดย พระราชสังวรญาณ (หลวงพ่อพุธ ฐานิโย)
เรื่อง "สมถกรรมฐาน (ตอนที่ ๓)" ในคอลัมน์ "สารส่องใจ" (-/\-)"
เมื่อจะคิดทำกรรมไม่ดีแม้เพียงเล็กน้อย ก็ควรยับยั้งชั่งใจไม่ทำบาปนั้น
เพราะการสั่งสมบาปแม้ทีละน้อยๆ ก็ย่อมนำทุกข์มาให้ในที่สุด
ดังเรื่องราวที่คุณงดงามเรียบเรียงไว้
ในคอลัมน์ "จุดหมายปลายธรรม" ตอน "อย่าดูหมิ่นกรรมชั่วว่าเล็กน้อย"
< Prev | Next > |
---|