สารส่องใจ Enlightenment
สมถกรรมฐาน (ตอนที่ ๒)
พระธรรมเทศนา โดย พระราชสังวรญาณ (หลวงพ่อพุธ ฐานิโย)
วัดป่าสาลวัน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา
แสดงธรรมเมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๒๑
สมถกรรมฐาน (ตอนที่ ๑) (คลิก)
กรรมฐานทั้งพุทโธ และกรรมฐานหนอก็ดี
ถ้าหากว่าสภาวะจิตมันสงบวูบลงแล้ว ก็ไปสว่างโร่นิ่งอยู่อย่างนั้น
ไม่ไปหน้ามาหลัง มันติดอยู่แต่ความสงบอย่างเดียว
มันก็เป็นเพียงแต่สมถกรรมฐานเท่านั้นเอง
ทีนี้ บางทีเราอาจจะพิจารณาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
โดยยกเอารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
มาพิจารณาน้อมเข้าไปสู่พระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ความไม่เที่ยง
ทุกขัง ความเป็นทุกข์ อนัตตา ความไม่มีตัวไม่มีตน
ในขณะที่เรานึกพิจารณาอยู่นั้น
บางทีจิตของเราก็อาจจะสงบวูบลงไป นิ่งเป็นอัปปนาสมาธิ
แต่โดยอารมณ์แล้ว เรากำลังเจริญวิปัสสนากรรมฐาน
แต่บางครั้งมันอาจจะกลายเป็นสมถกรรมฐานก็ได้
ไม่ใช่ว่าเราพิจารณาพระไตรลักษณ์แล้ว จิตมันจะเป็นวิปัสสนากรรมฐานอยู่เสมอไป
บางทีมันได้จังหวะของมันแล้ว มันก็จะสงบนิ่งลงไปเป็นสมถะเหมือนกัน
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพิจารณาอะไรๆ ก็ตาม
เมื่อเกี่ยวกับธรรมะ ซึ่งเราจะพิจารณาน้อมไปสู่พระไตรลักษณ์นั้น
ในขณะที่เราใช้ความน้อมนึกคิดพิจารณาโดยเจตนา
หรือจงใจที่จะคิดให้สิ่งนั้นว่าเป็นอนัตตา
ในขณะที่เราคิด เราพิจารณา ด้วยความนึกคิดธรรมดาๆ นี้
อันนี้มันยังเป็นภาคปฏิบัติ
แต่ถ้าสมมติว่าเราพิจารณาสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ว่าอันนี้มันเป็นอนิจจัง
เป็นอนิจจังเพราะอะไร เป็นอนิจจัง เพราะอย่างนั้นๆ
นี่ในขณะที่เรากำลังดำเนินการปฏิบัติอยู่ที่นี้
ในเมื่อเราดำเนินการปฏิบัติคือพิจารณาอยู่อย่างนี้
พอได้จังหวะ จิตมันจะเกิดสงบนิ่งลงไป
มีอาการสลดสังเวชในเรื่องที่เราพิจารณานั้น ทำให้เกิดปีติ สุข ขึ้นมาชั่วขณะหนึ่ง
แล้วจิตก็เข้าไปสู่ความสงบ ไปนิ่งอยู่ชั่วระยะหนึ่ง
แล้วจิตก็จะถอนออกจากความสงบนิ่งนี้
พร้อมๆ กันนั้น จิตก็จะตัดสินในสิ่งที่เราพิจารณาอยู่นั้นว่าเป็นอะไร
หรือบางทีถ้าหากว่าจิตมีความสงบนิ่งนาน
บางทีความรู้เกี่ยวกับเรื่องพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ก็จะปรากฏขึ้นมาให้เรารู้เห็น ในขณะนั้น โดยที่จิตก็เป็นจิต รู้อยู่เห็นอยู่
สิ่งที่ให้รู้ว่าเป็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็ปรากฏอยู่ มีอยู่
แต่ไม่มีภาษา สมมติบัญญัติใดๆ เกิดขึ้น
ถ้าหากเรามีความนึกคิดว่า อันนี้คือเรา ยังไม่เป็นวิปัสสนากรรมฐาน
เป็นแต่เพียงวิปัสสนานึก ไม่ใช่ความรู้แจ้งเห็นจริง
ความรู้แจ้งเห็นจริงโดยสัจภาวะนั้น จะต้องเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ
แม้แต่จิตจะสงบก็ยังเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ จิตจะรู้ก็ยังเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ
อัตโนมัติของจิตอันนี้เกิดจากอะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัย
สิ่งนั้นคือ ศีล สมาธิ ปัญญา ที่ท่านฝึกฝนอบรมให้ดีแล้วนั้นแหละ
มันเป็นปัจจัยให้เกิดความรู้ความเห็นแจ่มแจ้งขึ้นมา
และอีกนัยหนึ่ง อันนี้ในฐานะที่ท่านทั้งหลาย
ต่อไปก็อาจจะเป็นครูบาอาจารย์ให้การอบรมพระกรรมฐาน
ผมจึงใคร่ที่จะนำเอาประสบการณ์ที่เคยได้ยินได้ฟังมา
ครั้งหนึ่งมีอุบาสิกาท่านหนึ่งเคยมาเล่าให้ฟังว่า
ดิฉันไปปฏิบัติกรรมฐานอยู่ในสำนักอาจารย์องค์หนึ่ง
ท่านสอนให้บริกรรมภาวนาว่า พุทโธ ๆ เพื่อทำจิตให้สะอาด
สอนให้ภาวนาพุทโธๆ เพื่อทำจิตให้ดับ
ทีนี้อุบาสิกานั้นก็ปฏิบัติตามคำแนะนำของท่านอาจารย์
นั่งกำหนดจิตบริกรรมภาวนาพุทโธๆ ผลสุดท้ายจิตก็สงบเป็นอัปปนาสมาธิ
แล้วอุบาสิกานั้นก็ตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติอยู่บ่อยๆ
จนกระทั่งมีความชำนิชำนาญในการปฏิบัติสมาธิภาวนาพอสมควร
หนักๆ เข้า เมื่อจิตมันมีความสงบบ่อยๆ
ตามธรรมดาสมถกรรมฐานมันทำให้เกิดอภิญญา
คือความรู้ยิ่งเห็นจริง ขึ้นมาเป็นบางครั้งบางคราว
แต่แล้วเมื่อจิตเกิดเป็นสมาธิบ่อยๆ เข้า อุบาสิกานั้นก็รู้อย่างโน้นเห็นอย่างนี้เข้า
ซึ่งมันเป็นอุบายเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรม
ภายหลังได้เข้าไปกราบเรียนท่านอาจารย์ว่า ทำไมจิตของดิฉันมันไม่ดับสักที
ทีนี้อาจารย์ก็ตอบว่าก็คุณมัวแต่ไปปรุงอยู่นั้นแหละ เมื่อไรมันจะดับสักที
นี่อาจารย์ว่าอย่างนี้
ท่านทั้งหลายในฐานะที่เป็นผู้ศึกษามาในระดับชั้นสูง คือผ่านขั้นมหาวิทยาลัยมาแล้ว
ท่านลองคิดดูซิว่า จิตคนเรานี้ มันมีโอกาสที่จะดับได้ไหม
ถ้าหากว่าจิตมันดับแล้ว เราปฏิบัติกันนี้ จะเอาอะไรไปบรรลุคุณธรรม
ในเมื่อจิตดับแล้ว เราก็ตายเท่านั้นเอง แต่ต้องเข้าใจว่ามันไม่ใช่เป็นอย่างนั้น
อาการที่จิตดับนี้ ขอเสนอมติความเห็นเพื่อเป็นแนวพิจารณาสำหรับท่านทั้งหลายดังนี้
โดยปกติคนเรานั้น เรามีกายกับใจ หรือในที่นี้ขอสมมติว่าจิต
พระอาจารย์องค์นั้นสอนว่าให้จิตดับ ทำจิตให้ดับ
เรามีกายกับจิต โดยปกติมันอาศัยกันติดต่อกับโลกภายนอก
โดยทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ
ทีนี้เมื่อเรามาบริกรรมภาวนา มีวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา
บริกรรมภาวนาไปจนกระทั่งจิตสงบ
เป็น ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ และ อัปปนาสมาธิ โดยลำดับ
เมื่อจิตเข้าถึงอัปปนาสมาธิแล้ว
ตามหลักปริยัติท่านก็ว่าจิตเข้าสู่ความเป็นหนึ่ง คือเอกัคคตา
เมื่อจิตประกอบด้วยเอกัคคตากับอุเบกขา อันนี้ท่านเรียกว่าจิตเป็นอัปปนาสมาธิ
จิตในตอนนี้ละเว้นจากการรู้สึกทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ
มันยังเหลืออยู่แต่ใจที่สงบนิ่งอยู่ในจุดเดียว จุดนั้นอยู่ที่ไหน ใจอยู่ที่ไหน
จุดนั้นก็อยู่ที่นั่น คือจิตก็อยู่ที่จิตนั้นเอง
ไม่ส่งกระแสออกมารับรู้อารมณ์อื่นๆ ในภายนอก
มีแต่จิตตัวเดียวนิ่งอยู่ ตั้งเด่นอยู่ แล้วมีความสว่างไสวอยู่
ไม่ได้รู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ
แม้แต่ใครจะมาทำเสียงให้ดังขึ้นสักปานใดในขณะนั้น
ผู้ภาวนานั้นจะไม่มีความรู้สึกเกิดขึ้น
นี่ตามความเข้าใจของผมเข้าใจว่าดังนี้
คำว่าจิตดับมันหมายถึงว่าดับอย่างนี้ อันนี้เรียกว่าจิตดับในขั้นสมถกรรมฐาน
ทีนี้ จิตดับในขั้นวิปัสสนากรรมฐาน
หมายถึงจิตที่รับรู้อารมณ์อยู่ แต่หากไม่มีปฏิกิริยาใดๆ เกิดขึ้น
ตาเห็นรู้สักแต่ว่าเห็น หูฟังเสียงสักแต่ว่าได้ยิน
จมูกได้กลิ่นสักแต่ว่าได้กลิ่น ลิ้นลิ้มรสก็สักแต่ว่ารู้รส
กายถูกต้องสัมผัสสักแต่ว่าถูกต้องสัมผัส ใจนึกคิดสักแต่ว่านึกคิด
แต่มันปราศจากความยินดียินร้าย คืออิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์
จิตดำรงตนเป็นกลางโดยเที่ยงธรรม เรียกว่า มัชฌิมา คือมันไม่มีความยินดียินร้าย
อันนี้จิตดับกิเลส แต่ตัวจิตเองไม่ได้ดับ มันยังมีอยู่ สภาวะที่ตั้งจิตผู้รู้ยังมีอยู่
ขอเสนอแนะความคิดเห็นตามที่ได้มีประสบการณ์มา
เพื่อเป็นแนวทางพิจารณาของบรรดาท่านทั้งหลาย
(โปรดติดตามเนื้อหาต่อในฉบับหน้า)
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
จาก ฐานิยปูชา ธรรมเทศนา โดย พระราชสังวรญาณ (พุธ ฐานิโย)
พิมพ์ครั้งที่ ๒ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๓๗.
< Prev | Next > |
---|