จากใจ บ.ก.ใกล้ตัว Lite Talk
ฉบับที่ ๓๗๘ ต่างนาที ต่างภพ
ฤกษ์เกิด
คือโอกาสให้ผลของกรรมเก่า
ที่เข้ารหัสดาวสร้างชีวิตใหม่ขึ้นมา
ให้มีวิถีทางเหมาะกับตัวตนเดิม
ที่เคยทำดีทำร้ายมาอย่างไร
แม้ผ่าคลอดเอาฤกษ์ดีได้
ถ้าบุญเก่าไม่ถึง
หรือฤกษ์ดีไม่ถึงบุญเก่า
ก็ต้องมีอันไม่สำเร็จ
หรือไม่ก็คลอดก่อนฤกษ์ที่กำหนดไว้
ไม่ใช่นึกอยากเอาฤกษ์ไหน
ก็ได้ตามใจชอบกันทุกคน
ฤกษ์เกิดจึงนับเป็นสิ่งลี้ลับ
มีเบื้องหลังที่เห็นไม่ได้ อธิบายไม่ถูก
ต้องอาศัยความเชื่อตำราสืบๆกันมาเป็นหลัก
ฤกษ์ตาย
คือโอกาสสรุปผลของกรรมใหม่
ใช้ชีวิตมาถึงไหน
คิดถึงอะไรเป็นปกติ
มีสติหรือไร้สติอยู่กับที่พึ่งอันใด
ก็ต้องตายไปกับสิ่งนั้น
ฤกษ์ตายจึงเป็นสิ่งที่พอจับต้องได้
อธิบายได้อย่างเป็นเหตุเป็นผล
สำหรับคนที่ไม่มีญาณหยั่งรู้ทั่วไป
ยกตัวอย่างเช่น
ถ้าขับรถคุยกันอยู่สองคน
นาทีนี้คุยกันเรื่องดีๆ
เรื่องที่ทำให้นึกชื่นใจ
แล้วจู่ๆโดนรถสิบล้อเบียดตกถนน
หรือชนตอม่อตายคาที่ทั้งคู่
แบบนี้ทางโลกอาจเรียกว่าตายร้าย
เพราะร่างกายแหลกเหลวน่าอนาถ
แต่ทางธรรมเรียกว่าตายดี
เพราะกรรมใกล้ตาย หรืออาสันนกรรม
เป็นไปในทางกุศล ยังความสว่างให้เกิดแก่จิต
นิมิตที่จะทยอยมาจึงเป็นกุศลกรรมที่เคยทำ
นึกถึงอกุศลกรรมไม่ออก
หรือแม้นึกออกบ้าง
ก็สู้น้ำหนักกุศลไม่ไหว
ความสว่างท่วมทับ กรรมขาวเข้าถึงตัวก่อน
แต่หากยังไม่มีรถสิบล้อเข้ามามีบทบาท
อีกสิบนาทีต่อมา
คุยกันเรื่องชาวบ้านแล้วอยากตีไข่ใส่สี
ค่าที่ทำตัวเลอะเทอะฉาวโฉ่
คุยกันเรื่องพ่อแม่แล้วแค้น
ค่าที่ทำตัวไม่สมกับเป็นพ่อแม่
คุยกันเรื่องพระแล้วคันปาก
อยากด่าผ้าเหลืองไปทุกผืน
อกุศลกรรมครอบจิตเต็มๆ
หน้ามืดด้วยโทสะและโมหะสุดๆ
แบบนี้แหละ ถ้าสิบล้อเข้ามาร่วมวงนาทีนั้น
ก็ต้องเรียกว่าตายร้าย
เพราะมีอาสันนกรรมสีดำ ยังจิตให้มืด
จิตที่มืดย่อมระลึกได้แต่กรรมดำ
อันจะนำไปสู่ภพภูมิที่มืดในไม่กี่วินาทีต่อมา
(ลองนึกถึงตอนคุณโกรธ
หรือตอนเจ็บช้ำน้ำใจสุดๆ
มีความจำดีๆอะไรผุดขึ้นมาในหัวได้บ้าง?)
ในการเจริญมรณสติ
ท่านจึงให้หมั่นระลึกว่า
ขณะนี้ เราพร้อมตายดีหรือมีสิทธิ์ตายร้าย
เมื่อสังวรระวังอยู่
ก็ย่อมเข้าใจแนวคิดแบบพุทธที่ว่า
อกุศลแม้เพียงน้อยอย่าประมาท
กุศลแม้เพียงน้อยอย่าดูถูก!
ดังตฤณ
กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗
สมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐานแตกต่างกันอย่างไร
และลักษณะของจิตที่มีความเป็นกลางเป็นเช่นใด
ติดตามได้จากพระธรรมเทศนา โดย พระราชสังวรญาณ (หลวงพ่อพุธ ฐานิโย)
เรื่อง "สมถกรรมฐาน (ตอนที่ ๒)" ในคอลัมน์ "สารส่องใจ" (-/\-)
ถ้าในการปฏิบัติธรรมมีช่วงที่จิตไม่ดีดังที่เคยเป็น
ทำอย่างไรถึงจะกู้จิตให้กลับสู่สภาพที่ดีดังเดิมได้
หาคำตอบได้ในคอลัมน์ "ดังตฤณวิสัชนา"
ตอน "วิหารธรรมในช่วงขาลงของการปฏิบัติธรรม"
หลังจากเปิดเรื่องอย่างชวนระทึกใจไปในตอนแรก
มาติดตามเรื่องราวที่เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ใน ตอนที่ ๒ ของ "เร้น"
นวนิยายเรื่องเยี่ยม ผลงานของคุณชลนิล
ในคอลัมน์ "วรรณกรรมนำใจ" ค่ะ (^__^)
< Prev | Next > |
---|