สารส่องใจ Enlightenment

สมถกรรมฐาน (ตอนที่ ๑)



พระธรรมเทศนา โดย พระราชสังวรญาณ (หลวงพ่อพุธ ฐานิโย)
วัดป่าสาลวัน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา
แสดงธรรมเมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๒๑



ท่านพระนักศึกษาและนักเรียนฝึกหัดครูทุกท่าน


ผมรู้สึกมีความยินดีที่ได้มาร่วมเป็นสหธรรมิกกับท่านทั้งหลายในสถานที่นี้
ความจริงเราก็เป็นสหธรรมิกกันมานานแล้ว
และบางท่านก็ได้เคยพบหน้าค่าตากัน บางท่านก็ยังไม่ได้พบกัน
ในเมื่อได้มาพบกันเข้าเช่นนี้ก็รู้สึกว่ามีความปลาบปลื้มยินดี
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การมาของบรรดาท่านทั้งหลาย
มีความมุ่งหวังที่จะฝึกฝนอบรมพระกรรมฐาน หาวิธีเจริญภาวนา
เพราะเห็นว่าเป็นประโยชน์มาก
ความจริงผมตั้งใจจะมาตั้งแต่วันที่ ๑๔ (เมษายน) แต่บังเอิญไปธุระที่อุบลราชธานี
ขากลับมา ก่อนจะถึงนครราชสีมา ยังเหลืออยู่เพียง ๑๓ กิโลเมตรเท่านั้น
มันบังเอิญเกิดอุปัทวเหตุรถคว่ำลงไป ๓ พลิก
แต่เดชะบุญบารมีของท่านทั้งหลายตามไปคุ้มครอง จึงไม่มีใครเป็นอะไร
ตัวเองก็เพียงแต่ว่าช้ำบวมไปนิดหน่อย แต่ว่ารถยนต์พังเสียหายยับเยิน
ก็นับว่าเป็นบุญที่ได้มีชีวิตรอดมา
ได้มีโอกาสมาร่วมสุขร่วมทุกข์กับบรรดาท่านทั้งหลายอีกวาระหนึ่ง



ผมจะไม่ขอกล่าวอะไรให้ยืดเยื้อ
เพราะเป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่าท่านมาศึกษาอบรมพระกรรมฐาน
แต่ความจริงท่านทั้งหลายก็ได้ศึกษาอบรมมามากต่อมากแล้ว
หลักการและวิธีการเกี่ยวกับการอบรมพระกรรมฐานนั้น
เข้าใจว่าท่านทั้งหลายคงทราบดีอยู่แล้ว จึงไม่ขอนำมากล่าว
จะกล่าวเฉพาะหลักการอบรมพระกรรมฐาน หรือขั้นแห่งการอบรมพระกรรมฐาน
ตามลำดับที่โบราณาจารย์ ท่านแบ่งไว้ เป็น ๒ ขั้น คือ :-
๑) สมถกรรมฐานกรรมฐานเป็นอุบายสงบใจ
๒) วิปัสสนากรรมฐานกรรมฐานเป็นอุบายเรืองปัญญา



อันนี้ ท่านทั้งหลายก็ทราบอยู่แล้ว
วันนี้จะกล่าวเฉพาะแต่เรื่องสมถกรรมฐานอย่างเดียว
เราอบรมกรรมฐาน เพื่อมุ่งให้จิตสงบ ตั้งมั่นเป็นสมาธิ
ประโยชน์ก็เพื่อกำจัด นิวรณธรรม ๕ ประการ
อันเป็นอุปสรรคของการบำเพ็ญกรรมฐาน
นิวรณ์ ๕ ประการมีอะไรบ้าง ท่านทั้งหลายก็ทราบกันอยู่แล้ว ผมจะไม่ขอกล่าว
จะกล่าวแต่เพียงว่านิวรณ์ ๕ ประการนั้นเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติพระกรรมฐาน
เพราะนิวรณ์ทั้งห้านั้น มันเป็นกิเลสชนิดหนึ่งซึ่งคอยตัดทอน
หรือกางกั้นคุณงามความดี ไม่ให้เกิดขึ้นแก่ผู้ที่อบรมพระกรรมฐาน
เช่น กามฉันทะ ความกำหนัดยินดีในกาม
ในเมื่อมันเกิดขึ้นกลุ้มรุมจิตใจของนักปฏิบัติแล้ว
จะทำให้รู้สึกดิ้นรนกระวนกระวาย ทำให้จิตฟุ้งซ่าน ไม่เป็นอันที่จะบริกรรมภาวนา
และนิวรณ์ข้ออื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน
ล้วนแต่เป็นอุปสรรคของการบำเพ็ญเพียรภาวนาทั้งนั้น
เพราะฉะนั้นเราจึงจำเป็นที่จะต้องบำเพ็ญสมถกรรมฐาน
เพื่อทำให้จิตสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิ
เพราะอำนาจของสมาธิขั้นสมถกรรมฐานนั้น
มีแรงผลักดันนิวรณ์ทั้ง ๕ ประการนี้ให้หลุดพ้นไปจากจิตชั่วขณะหนึ่ง
อันจะเป็นโอกาสให้เราได้ตั้งหน้าตั้งตากำหนดจิตบริกรรมภาวนา
เพื่อความสงบตั้งมั่นของจิต
จนกระทั่งบรรลุถึงสมาธิขั้นต้น ขั้นกลาง และขั้นปลาย คืออัปปนาสมาธิ



ทีนี้ อุบายของสมถกรรมฐานนั้น
ตามตำรับตำราท่านก็กล่าวไว้มากมายถึง ๔๐ ประการ
กรรมฐานทั้ง ๔๐ ประการนั้น เป็นอุบายหรือเป็นเหยื่อล่อใจให้อยู่ในสิ่งๆ หนึ่ง
จะเป็นอะไรก็ตามซึ่งเป็นคำพูดเกี่ยวกับธรรมะ เช่น พุทโธ เป็นต้น
โดยปกตินั้น เราทุกคนนับตั้งแต่เกิดมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน
เราอาจจะไม่ได้ควบคุมความนึกคิดหรืออารมณ์ของเรา
เรามักจะปล่อยจิต ให้เป็นไปตามอำเภอใจ คือปราศจากความควบคุม
ถึงจะมีการควบคุมเป็นบางครั้งบางขณะ
แต่เราก็ปล่อยจิตของเราให้เป็นไปในอารมณ์หลายเรื่องหลายอย่าง ซึ่งเหลือที่จะประมาณ
อุบายการบำเพ็ญสมถกรรมฐาน
จึงเป็นอุบายที่จะตะล่อมจิตซึ่งส่ายแส่อยู่กับเรื่องราวต่างๆ
ให้ไปรวมจุดในสิ่งๆ เดียวซึ่งเป็นคำบริกรรมภาวนา
และกรรมฐานที่เนื่องด้วยบริกรรมภาวนานั้น ท่านเรียกว่าสมถกรรมฐาน



ทีนี้ ในสมัยปัจจุบัน สำนักปฏิบัติพระกรรมฐานมีมากหลาย
และท่านอาจารย์ผู้ให้การอบรมกรรมฐาน
ต่างก็ให้การอบรม ไปตามความรู้ความเข้าใจของตน
บางทีลัทธิการปฏิบัติพระกรรมฐานก็เกิดขัดกันขึ้นในตัว
ผมต้องขออภัยท่านทั้งหลายที่จะนำเรื่องราวนี้มากล่าว
เท่าที่ได้สังเกตกันมา ตั้งแต่ต้นจนกระทั่งปัจจุบันนี้
เนื่องจากลัทธิปฏิบัติอบรมพระกรรมฐานมีหลายอย่าง
และต่างองค์ก็ต่างได้รับการอบรมมาต่างสำนัก ต่างครู ต่างอาจารย์
มติและความเข้าใจในเรื่องกรรมฐานจึงมีความแตกต่างกัน
อันนั้นเราอาจจะไปยึดหลักในคัมภีร์หรือตำรับตำรามากเกินไป
แต่ถ้าหากเราจะเอาปรากฏการณ์หรือผลซึ่งเกิดขึ้นจากการอบรมนั้น
มาเปรียบเทียบกัน ย่อมจะลงสู่จุดเดียวกัน
ที่ว่าลงสู่จุดเดียวกันนั้น เรามีวิถีทางทางดำเนินจิตตั้งแต่เบื้องต้น
จนกระทั่งถึงวาระสุดท้ายที่จิตสงบเป็นสมาธิ



เราเริ่มต้นด้วย วิตก คือ นึกถึงอารมณ์ที่จะบริกรรมภาวนา
วิจาร ความที่จิตจดจ่อต่ออารมณ์บริกรรมภาวนานั้น
จนกระทั่งจิตมีความซาบซึ้งถึงสิ่งที่บริกรรมภาวนา แล้วก็เกิด ปีติ
ในเมื่อเกิดปีติ ความสุข อันเป็นผลพลอยได้ก็ย่อมตามหลังมา
เมื่อปีติกับสุขอันเป็นอาหารของใจเกิด ใจก็มีความสุข ความสงบ เบากาย เบาใจ
และความฟุ้งซ่านวุ่นวายภายในจิตในใจก็หายไป จิตก็มุ่งต่อความสงบเป็นระยะไปตามขั้น
จนกระทั่งปีติและสุขรวมลงสู่ความเป็นหนึ่งเรียกว่า เอกัคคตา



สภาวะจิตของผู้บำเพ็ญสมถะนั้น
ในเมื่อเราเอาผลที่เกิดขึ้นภายในจิตมาเปรียบเทียบกันแล้ว เราจะไม่มีอะไรที่จะขัดแย้งกัน
บางทีอาจารย์บางท่านอาจจะยังไม่เข้าใจ
ในความเป็นของจิตโดยธรรมชาติซึ่งเกิดขึ้นจากการภาวนา
แต่อาศัยเพียงแต่ตำรับตำราเท่านั้น แล้วก็อบรมสั่งสอนกันไป
ซึ่งตัวเองอาจจะยังไม่เคยผ่าน เคยพบความที่จิตเป็นสมาธิไปจนกระทั่งถึงขั้นอัปปนา



ขอยกตัวอย่างซึ่งเคยได้พบสนทนากันกับพระครูพิบูลย์สมาธิวัตร
ซึ่งท่านอยู่ที่อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี
ท่านเคยเล่าให้ฟังว่าเมื่อท่านออกปฏิบัติกรรมฐานในคราวแรกนั้น
ไปศึกษาอยู่ในสำนักของท่านอาจารย์เสาร์ (กันตสีโล)
ท่านอาจารย์เสาร์ก็สอน ให้ภาวนาบริกรรมว่า พุทโธ
ภายหลังจากได้ทำความพยายามอย่างเต็มที่แล้ว จิตก็สงบวูบลง แล้วก็เกิดสว่างโร่ขึ้น
ทีนี้ภายหลังท่านไปฝึกหัด ในสายกรรมฐานหนอ คือ ยุบหนอ พองหนอ
ท่านก็บอกว่าในเมื่อไปกำหนดจิตนึก ยุบหนอ พองหนอๆ
จิตก็สงบลงวูบ แล้วก็เกิดสว่างโร่ขึ้น ท่านว่าอย่างนี้
ในเมื่อผมได้ฟังแล้ว ผมก็พิจารณาว่ากรรมฐานพุทโธก็ดี กรรมฐานหนอก็ดี
มันก็บริกรรมภาวนาด้วยกันนั้นแหละ ที่ว่าบริกรรมภาวนาก็เพราะเหตุว่า
ความเป็นของจิตโดยความเป็นจริงมันมีลักษณะอย่างเดียวกัน



มิใช่แต่เท่านั้น ใครจะบริกรรมภาวนากรรมฐานบทไหนอย่างไร
จะเป็น
พุทโธ ธัมโม สังโฆ หรือ มรณัง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็แล้วแต่
เมื่อสภาวะจิตสงบลงสู่ความเป็นสมาธิ หรือเป็นสมาธิแล้วนั้น
ย่อมมีลักษณะอย่างเดียวกันหมด
คือไม่หนีจากหลักที่ว่า วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา
ซึ่งเป็นองค์ตำรับตำราที่ท่านทั้งหลายได้เคยศึกษามาแล้ว
เพราะฉะนั้นเราอย่าเอาตำรามาคัดค้านกัน
เอาสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติ
ตามความเป็นจริงมาเปรียบเทียบกัน เราจึงจะลงเอยกันได้

และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เราเป็นนักเผยแพร่พระศาสนา
ถ้าหากนักเผยแพร่พระศาสนามีมติขัดแย้งกัน มันก็จะเป็นการทำลายซึ่งกันและกันไปในตัว



(โปรดติดตามเนื้อหาต่อในฉบับหน้า)


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


จาก ฐานิยปูชา ธรรมเทศนา โดย พระราชสังวรญาณ (พุธ ฐานิโย)
พิมพ์ครั้งที่ ๒ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๓๗.


แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP