ธรรมะจากพระสูตร Dhamma from Sutta
กัณฏกสูตร ว่าด้วยธรรมอันเป็นเสี้ยนหนาม ๑๐ ประการ
กลุ่มไตรปิฎกสิกขา
[๗๒] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา
ป่ามหาวัน ใกล้พระนครเวสาลี พร้อมด้วยพระเถระผู้เป็นสาวก ซึ่งมีชื่อเสียงหลายรูป
คือท่านพระปาละ ท่านพระอุปปาละ ท่านพระกักกฏะ
ท่านพระกฬิมภะ ท่านพระนิกฏะ ท่านพระกฏิสสหะ
และพร้อมด้วยพระเถระผู้เป็นสาวกซึ่งมีชื่อเสียงเหล่าอื่น.
ก็สมัยนั้นแล พวกเจ้าลิจฉวีมีชื่อเสียงเป็นอันมาก
ขึ้นยานชั้นดีมีเสียงอื้ออึงต่อกันเข้าไปยังป่ามหาวัน เพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า.
ครั้งนั้นแล ท่านผู้มีอายุเหล่านั้นได้มีความปริวิตกว่า
เจ้าลิจฉวีผู้มีชื่อเสียงเป็นจำนวนมากเหล่านี้แล
ขึ้นยานชั้นดีมีเสียงอื้ออึงต่อกันเข้ามายังป่ามหาวัน เพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า
ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสฌานว่ามีเสียงเป็นเสี้ยนหนาม
ไฉนหนอ เราทั้งหลายพึงเข้าไปยังโคสิงคสาลทายวัน
ณ ที่นั้น เราทั้งหลายพึงเป็นผู้มีเสียงน้อย ไม่เกลื่อนกล่น อยู่ให้ผาสุก
ครั้งนั้นแล ท่านผู้มีอายุเหล่านั้น เข้าไปยังโคสิงคสาลทายวัน
ณ ที่นั้น ท่านผู้มีอายุเหล่านั้นเป็นผู้มีเสียงน้อย ไม่เกลื่อนกล่น อยู่เป็นผาสุก.
ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า
“ภิกษุทั้งหลาย ปาลภิกษุไปไหน อุปปาลภิกษุ กักกฏภิกษุ กฬิมภภิกษุ
นิกฏภิกษุ กฏิสสหภิกษุไปไหน พระเถระผู้เป็นสาวกเหล่านั้นไปไหน.”
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส
ท่านผู้มีอายุเหล่านั้นคิดว่า เจ้าลิจฉวีผู้มีชื่อเสียงเป็นจำนวนมากเหล่านี้แล
ขึ้นยานชั้นดีมีเสียงอื้ออึงต่อกันเข้ามายังป่ามหาวัน เพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า
ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสฌานว่ามีเสียงเป็นเสี้ยนหนาม
ไฉนหนอ เราทั้งหลายพึงเข้าไปยังโคสิงคสาลทายวัน
ในที่นั้น พวกเราพึงเป็นผู้มีเสียงน้อย ไม่เกลื่อนกล่น อยู่เป็นผาสุก ดังนี้
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านผู้มีอายุเหล่านั้นเข้าไปยังโคสิงคสาลทายวัน
ในที่นั้น ท่านเหล่านั้นเป็นเป็นผู้มีเสียงน้อย ไม่เกลื่อนกล่น อยู่เป็นผาสุก พระพุทธเจ้าข้า.”
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ดีละ ดีละ
จริงดังที่มหาสาวกเหล่านั้น เมื่อพยากรณ์โดยชอบ พึงพยากรณ์ดังนั้น
ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวฌานว่ามีเสียงเป็นเสี้ยนหนาม
ภิกษุทั้งหลาย เสี้ยนหนาม ๑๐ ประการนี้ ๑๐ ประการเป็นไฉน
คือ ความเป็นผู้ยินดีในการคลุกคลีด้วยหมู่คณะ
เป็นเสี้ยนหนามต่อความเป็นผู้ยินดีในที่สงัด ๑
การประกอบสุภนิมิต เป็นเสี้ยนหนามต่อผู้ประกอบอสุภนิมิต ๑
การดูมหรสพที่เป็นข้าศึก เป็นเสี้ยนหนามต่อทวารที่คุ้มครองในอินทรีย์ทั้งหลาย ๑
การติดต่อกับมาตุคาม เป็นเสี้ยนหนามต่อพรหมจรรย์ ๑
เสียงเป็นเสี้ยนหนามต่อปฐมฌาน ๑
วิตกวิจารเป็นเสี้ยนหนามต่อทุติยฌาน ๑
ปีติเป็นเสี้ยนหนามต่อตติยฌาน ๑
ลมอัสสาสปัสสาสะเป็นเสี้ยนหนามต่อจตุตถฌาน ๑
สัญญาและเวทนาเป็นเสี้ยนหนามต่อสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ ๑
ราคะเป็นเสี้ยนหนาม โทสะเป็นเสี้ยนหนาม ๑
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเป็นผู้ไม่มีเสี้ยนหนามอยู่เถิด
ภิกษุทั้งหลาย พระอรหันต์ทั้งหลาย เป็นผู้ไม่มีเสี้ยนหนาม
พระอรหันต์ทั้งหลายไม่มีเสี้ยนหนาม เป็นผู้หมดเสี้ยนหนาม.”
กัณฏกสูตร จบ
(กัณฏกสูตร พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต
พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ ๓๘)
< Prev | Next > |
---|