ดังตฤณวิสัชนา Dungtrin's Answer
ทำอย่างไรจึงจะลดความยึดมั่นถือมั่นในเรื่องหน้าตาทางสังคมได้
ถาม – ดิฉันรู้สึกว่าตัวเองมีความยึดมั่นถือมั่น
ในเรื่องหน้าที่การงานและหน้าตาทางสังคมเป็นอย่างมาก
กลัวจะถูกมองว่าไม่เก่งไม่ดีหรือมีข้อบกพร่องต่างๆ
ความทุกข์ในชีวิตส่วนใหญ่ก็มีสาเหตุจากเรื่องพวกนี้
แต่ดิฉันกลับสละทรัพย์เป็นทานได้ง่ายมากและให้อภัยได้ง่ายด้วย
แบบนี้ควรจะแก้ไขและพัฒนาตัวเองอย่างไรดีคะ
ก็ดีแล้วนะ ขอให้มองอย่างนี้ก่อนว่าชีวิตเราอยู่ฝ่ายสว่าง
อยู่ฝ่ายที่เป็นกุศลมากกว่าที่จะอยู่ฝ่ายอกุศล
อย่างเรื่องของการให้ทาน มีน้ำใจสามารถที่จะให้ทาน
จะเป็นทรัพย์สินหรือจะเป็นความโกรธแค้น
สามารถสละคืนให้กับความว่างในธรรมชาติได้
อันนี้ถ้ามองเป็นจิต ก็จะเห็นว่าจิตมีความเป็นอิสระจากกิเลสพอสมควร
เราจะรู้สึกว่าจิตของตัวเอง ถ้าเทียบกับคนอื่นแล้ว มันมีความแห้งกว่า
มันมีความรู้สึกสะอาดกว่า ของคนอื่นมันจะแฉะ มันจะเปียก
แล้วก็มันจะค่อนข้างออกแนวสะสมขยะทางอารมณ์ไว้เยอะ
ถ้าหากว่าเรามองว่าคนจะสะสมขยะทางอารมณ์กันมากที่สุด
ก็จากความโกรธแค้น แล้วก็ความรู้สึกชิงชังกัน
ก็ถือว่าของเราไม่สกปรกเท่านั้นแน่นอนนะครับ
เพราะเหตุผลคือสามารถให้อภัยคนอื่นได้ง่าย
ส่วนใหญ่พวกให้อภัยง่ายจะถูกมองเป็นพวกใจอ่อน ขี้สงสาร
หรือว่าเป็นประเภทที่ อย่างไรล่ะ คือเหมือนกับมาขออะไรได้ง่ายๆ อะไรแบบนั้นนะ
คือทำอย่างไรกับเราก็ได้ แล้วเดี๋ยวค่อยไปขอโทษเอา
ซึ่งถ้ามองแบบคนทางโลก เขาจะมองว่านั่นเป็นคนที่ยอมเสียเปรียบ
แต่ถ้าหากว่าเรามองอย่างคนทางธรรม
ก็จะมองว่านี่เป็นคนที่มีโอกาสได้เปรียบกว่าคนอื่น
ทางความสว่าง ทางความสูงส่งของจิตวิญญาณ
แล้วก็ที่สำคัญที่สุด เราสามารถข้ามพ้นความสูงส่งของจิตวิญญาณไปได้
ด้วยการที่จะไม่ยึดติดถือมั่นในตัวในตน
เพราะอะไร เพราะว่าที่จะยึดติดถือมั่นในตัวในตน
สำคัญเป็นอันดับแรกๆ เลยก็คือการผูกใจเจ็บ การผูกใจโกรธ การอาฆาตแค้นกัน
ถ้าหากว่ายังละกับเรื่องหยาบๆ ร้อนๆ แบบนั้นไม่ได้
ไม่มีทางหรอกที่ตัวตนมันจะไปไหน เพราะตัวตนมันผูกยึดอยู่กับตัวนี้
มีตัวฉันที่เป็นผู้ถูกกระทำ แล้วตัวฉันนี้จะต้องไปแก้แค้นเอาคืนให้ได้
ไม่อย่างนั้นไม่สมศักดิ์ศรี เหมือนเสียศักดิ์ศรีไป
ถ้ายังยึดติดกันเรื่องของได้เปรียบเสียเปรียบ หรือว่าเรื่องศักดิ์ศรีใครโตมากโตน้อย
อันนี้ก็เรียกว่ามีอัตตาที่เหนียวแน่นนะครับ
แต่ถ้าหากว่าสละได้ง่าย อภัยคนอื่นได้ง่าย นี่ก็มีอัตตาที่น้อยลงแล้วชัดเจน
แล้วก็เรื่องทรัพย์สินเงินทองก็เหมือนกัน
ถ้าหากว่าเราสละได้ง่าย ก็เหมือนกับสละความตระหนี่
สละความยึดติดอะไรที่มันพะรุงพะรังออกไป
แล้วก็พร้อมจะไปสละในขั้นประณีตกว่านั้น คือความรู้สึกในตัวตน
เอาละทีนี้มาถึงคำถาม คือคำถามของคุณจะมุ่งเน้นไปเรื่องของความยึดมั่นถือมั่น
ในตำแหน่งหน้าที่การงานแล้วก็หน้าตา
เอาละเรามีทุน คือสามารถที่จะสละเรื่องความโกรธ ความเกลียด ความแค้น ความชิงชังได้
แล้วก็เรื่องของทรัพย์ทาน เราสามารถทำได้ง่ายๆ
แต่ว่ามาติดในเรื่องของตัวตนที่อยู่ในเรื่องของหน้าตา
เรื่องของส่วนสูงทางตำแหน่ง แล้วก็เรื่องของความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน
ซึ่งนั่นเป็นเรื่องปกติของฆราวาส
ถ้าหากว่าฆราวาสไม่มีความทะเยอทะยาน ไม่มีความมุ่งหวัง
อยากจะก้าวหน้าขึ้นไปเป็นลำดับในสายการงาน
โอกาสที่จะเฉื่อยชามีอยู่สูงมาก
อันนี้เราต้องแยกดีๆ นะ คือในทางธรรม เราก็อาจจะเจริญสติ
หรืออาจจะมีการพิจารณาธรรมในแง่มุมต่างๆ ไป
แต่ในทางโลก ถ้าหากว่ามันยังมีความยึดมั่นถือมั่นตำแหน่ง หรือว่ามีเรื่องของเกียรติยศ
เรื่องของความอยากจะโปรโมต (promote) ไปเรื่อยๆ อะไรแบบนี้
ก็ให้ถือว่าเป็นธรรมดา เป็นปกติก่อน
นี่มองในแง่ของชาวโลกนะครับ มองในแง่ที่ว่าเรายังเป็นฆราวาสอยู่
เรายังอยู่ในฐานะที่ต้องเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง
ถ้าหากว่าไปพิจารณาเป็นธรรมะไปหมด
หรือว่าไม่อยากมีหน้ามีตา ไม่อยากได้ตำแหน่ง ไม่อยากได้ความก้าวหน้าเลย
ส่วนใหญ่ก็จะลงล็อกเดียวกันคือ เกิดความรู้สึกเบื่อหน่ายก้ำๆ กึ่งๆ
คือทั้งเบื่อทั้งอยาก อยากจะอยู่ก็อยากจะอยู่ อยากจะไปก็อยากจะไป
แล้วมันก็เลยไม่ได้ ยักแย่ยักยันน่ะ ไม่ได้เอาอะไรสักอย่างหนึ่ง
ทีนี้ถามว่ามันจะลงตัวกันได้อย่างไร ระหว่างโลกกับธรรม
ระหว่างความรู้สึกที่มันยังยึดมั่นถือมั่นในตำแหน่งหน้าที่การงาน
กับความรู้สึกอยากจะสละอุปาทานในตัวตนเพื่อให้ถึงมรรคถึงผล
เพื่อให้ได้มีโอกาสกับท่านบ้าง ได้ลิ้มรสความสุขอันเป็นวิเวก
ความสุขอันเป็นวิมุตติ ความสุขอันเป็นสิ่งไร้มลทิน
ถ้าหากว่าเราอยากจะได้ทั้งสองอย่างจะทำอย่างไร
ก็คือก่อนอื่นเลยนะ ให้เซต (set) ลำดับความสำคัญให้ถูกต้อง
ใจของเราต้องผูกอยู่กับงานก่อน ต้องท่องไว้ดีๆ นะว่าเราเป็นฆราวาส
ถ้าหากว่าใจผูกอยู่กับงานแล้วก็หลงใหลไปกับหน้าที่การงาน
อันนั้นขอให้มองว่าเป็นเรื่องปกติก่อนนะครับ
จากนั้นถ้าทำงานเต็มที่แล้ว โอกาสที่จะเกิดความรู้สึกเบื่อหน่าย
หรือเกิดความรู้สึกว่านี่เป็นแค่สิ่งที่มันมาแล้วมันก็ไป
ตำแหน่งเก่าๆ ผ่านมาเพื่อให้เหยียบเป็นบันไดขั้นต่อไป เดี๋ยวมันก็ต้องผ่านไป
ขึ้นไปเรื่อยๆ ตามจังหวะของชีวิต ตามจังหวะของการทำงาน
เราก็มองจากตรงนั้นก็ได้ว่าอะไรๆ ที่กำลังจำเจอยู่ กำลังน่าเบื่ออยู่ กำลังรู้สึกอึดอัดอยู่
ในที่สุดมันก็จะต้องเปลี่ยนไป
คือมองเป็นภาพรวม ไม่ว่าจะทำงานอะไรอยู่ในปัจจุบัน
แล้วเกิดความรู้สึกเบื่อหน่าย เกิดความรู้สึกว่ามันเหนื่อยนะ
นี่ตรงนี้เราก็มองว่า เดี๋ยวมันก็จะต้องต่างไป
พอเราเลื่อนขั้นขึ้นไปหรือว่ามีหน้าที่ที่จะถูกโยกย้าย หรือว่าจะสลับสับเปลี่ยนอะไรก็แล้วแต่
มันอาจจะหนักขึ้นก็ได้ มีอะไรที่หนักขึ้นรออยู่ หรือไม่ก็อาจจะเบาลง
ไม่ว่ามันจะจะเบาลงหรือว่าจะหนักขึ้น นั่นก็คือจังหวะชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป
เราสามารถเห็นเป็นขั้นบันไดชีวิตได้แบบนี้ แล้วก็คือมารวมลงที่ความรู้สึก
ไม่ใช่ว่าจะมองกันเป็นความเปลี่ยนแปลงแบบว่าปีหน้าจะได้โปรโมตเป็นอะไร
หรือว่าจะมีใครขึ้นมาแซงหน้าหรือเปล่า อะไรทำนองนั้นนะ
แต่มองที่ความรู้สึก มองที่ความรู้สึกที่มันเกิดขึ้นเป็นปกติ
ในปีนี้รู้สึกอย่างไร รู้สึกเบื่อหน่าย รู้สึกว่าอึดอัดกับการงาน
หรือมีความรู้สึกกระตือรือร้นเป็นพิเศษ
ส่วนใหญ่คนที่จะมีความยึดติดถือมั่นกับตำแหน่งหน้าที่การงาน
โดยหลักจะมีความรู้สึกกระตือรือร้น
ถ้าหากว่าเรารู้สึกกระตือรือร้น
ให้มองว่าความรู้สึกนี้เป็นความรู้สึกฝ่ายดี ฝ่ายที่เกื้อกูลในหน้าที่การงาน
เรามองไปว่าความกระตือรือร้น มันอยู่ได้นานกี่ปี หรืออยู่ได้นานกี่เดือน
พอมองเป็น คือพอมีความเคยชินที่จะสังเกตเข้ามา
ว่าความกระตือรือร้นของเรามันอยู่ได้นานแค่ไหน
จากสเกล (scale) แรกที่เป็นเดือนเป็นปี มันจะค่อยมองมาเป็นวันๆ
วันนี้กระตือรือร้นมาก วันต่อมากระตือรือร้นน้อยลง
หรือว่าอาทิตย์หน้า มันกระตือรือร้นมากขึ้นกว่านั้นอีก
ราวกับว่ามีไฟลุกท่วมตัวเลย มีเหตุต่างๆ จูงใจให้โฟกัส (focus)
ให้อยู่กับปัจจุบันและอนาคตอันน่าตื่นเต้น
แต่บางช่วงนี่ติดขัดไปหมด
แม้แต่ความรู้สึกที่เราอยากจะผลักดันสิ่งต่างๆ ให้มันลุล่วงไป มันก็คล้ายๆ กับมอดตัวลง
คล้ายๆ กับมีความรู้สึกเหมือนคนที่ปีนเขาอยู่
แล้วมีอะไรรบกวนเยอะเหลือเกิน ไม่อยากปีนต่อ ทำไปแบบซังกะตาย
แต่ก็เหมือนกับจะต้อง ไหนๆ ขึ้นเขามาแล้ว ก็ต้องขึ้นต่อไปจนกว่าจะถึงยอดเขา
ความรู้สึกต่างๆ ที่มันเกิดขึ้นระหว่างการทำงานอย่างกระตือรือร้น
สามารถถูกสังเกตได้ สามารถถูกรู้ ถูกมอง ถูกเห็น ทั้งสเกลใหญ่แล้วก็สเกลเล็ก
จนกว่าจะเกิดความรู้สึกว่าความกระตือรือร้นมันไม่เที่ยง
ตามการปรุงแต่งของการงานในหน้าที่หลักๆ แต่ละวันนั่นแหละ
คือดูแค่นี้ก่อน ดูเอาแบบหยาบๆ ดูเอาแบบง่ายๆ
ดูเอาแบบที่เราจะรู้สึกว่าทั้งโลกกับทั้งธรรม มันมาผสมอยู่ด้วยกันตรงนี้แหละ
ตรงที่เรายังตั้งหน้าตั้งตาตั้งใจทำงาน
แต่ในขณะเดียวกันเราก็เห็นความไม่เที่ยงที่เกิดขึ้นในภาวะภายใน
ถ้าใครรู้สึกว่า เอ้ย! ไปสังเกตความกระตือรือร้นคงไม่ไหวหรอก
เพราะไม่ค่อยกระตือรือร้น จะเฉื่อยชาเสียมากกว่า
ก็เอาความเฉื่อยชานั้นก็ได้มาสังเกตดู
ปีนี้เฉื่อยชามากหรือเฉื่อยชาน้อยกว่าปีก่อน แล้วค่อยๆ ย่อยลงมา
ถ้ามันมีความเคยชินจริงๆ ที่จะคิด ที่จะคำนึงถึงความเฉื่อยชาของตัวเอง
มันจะย่อยลงมาเป็นสเกลเล็ก ในระดับของอาทิตย์ ในระดับของวัน แล้วในที่สุดในระดับของชั่วโมง
มันจะเห็นว่าทำงานอะไรแล้วเกิดความเฉื่อยชามาก ทำงานอะไรแล้วเกิดความเฉื่อยชาน้อย
แล้วก็ด้วยการจับสังเกตอยู่อย่างนั้นเอง มันก็จะรู้สึกถึงความไม่เที่ยงของความเฉื่อยชา
เห็นว่ามันแล้วแต่การปรุงแต่งของงานในแต่ละลักษณะ
ที่เราชอบใจหรือไม่ชอบใจ ที่มันมีอุปสรรคมากหรือมีอุปสรรคน้อย
ที่มันมีรางวัลล่อใจอยู่ หรือไม่มีรางวัลล่อใจอยู่เลย
ปัจจัยต่างๆ มันจะปรุงแต่งให้เกิดความรู้สึกเฉื่อยๆ
หรือว่าเกิดความรู้สึกว่า เออ มันค่อยมีไฟขึ้นมาหน่อย
ถ้าเห็นความรู้สึกที่มันเกิดขึ้นในหน้าที่การงานของเราได้ อย่างนี้แหละ
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการหลงไปติด ติดแบบชนิดถอนไม่ออก
หรือว่าความรู้สึกเกี่ยวกับหน้าตา ว่าหน้าฉันจะต้องใหญ่กว่าคนอื่น
ทั้งหลายทั้งปวง มันจะค่อยๆ ลดลงเอง
นั่นเพราะว่าโฟกัสของจิต แทนที่มันจะมุ่งไปข้างนอกอย่างเดียว
มันสามารถย้อนกลับเข้ามา มีความเคยชินที่จะรู้ ที่จะดูข้างในด้วย
นี่แหละ ตรงนี้คีย์ (key) สำคัญอยู่ตรงนี้
ถ้าหากว่าเอาแต่พุ่งออกไปข้างนอกอย่างเดียว อย่างไรมันก็ต้องหลงติดแน่
จะรู้ธรรมะ จะท่องสูตรอะไรมาได้แค่ไหนก็ตาม อย่างไรๆ มันก็ไปทางโลกท่าเดียวนั่นแหละ
แต่ถ้าหากว่ามีความเคยชินที่จะสร้างจุดสังเกตเข้ามาที่ความรู้สึกภายใน
อันนี้อย่างไรๆ นะ ไม่ว่าจะรู้ธรรมะน้อยหรือมากแค่ไหน
ในที่สุดเราจะเห็นนะครับว่าจิตค่อยๆ ถอนออกมาจากอาการยึดมั่นถือมั่น
แต่ขณะเดียวกันก็ไม่เสียงานด้วย
< Prev | Next > |
---|