ดังตฤณวิสัชนา Dungtrin's Answer

ฆราวาสควรปฏิบัติอย่างไรเพื่อจะได้บรรลุธรรม



ถาม - ธรรมะที่ฆราวาสหรือว่าคนมีครอบครัวพึงมีคืออะไรบ้าง
และจะมีหนทางปฏิบัติเพื่อเป็นอริยบุคคล เช่น พระโสดาบัน ได้อย่างไรครับ


พูดตามแบบอย่างในสมัยพุทธกาลก็แล้วกัน
ในสมัยพุทธกาลพระพุทธเจ้าท่าน ส่วนใหญ่นะครับ
ถ้าพูดเรื่องการเจริญสติ เรื่องของการทำมรรคผลนิพพานให้แจ้ง
เราจะเห็นหลักฐานในพระไตรปิฎก ขึ้นต้นมาจะมีการบอกว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย
จะไม่มีนะที่มาบอกฆราวาสว่า ดูกร ฆราวาส หรือว่า ดูกร ชื่อนั้น ชื่อนี้
แล้วก็เสร็จแล้วจะมาสอนเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน จะไม่เห็นนะ
เหมือนกับจะมีการแบ่งแยกกันชัดเจนนะครับ
ว่าธรรมะนี้สอนภิกษุ ธรรมะอีกแบบหนึ่งสอนฆราวาส


สอนฆราวาส ท่านจะสอนเรื่องการถือศีล ๕ เป็นหลัก
เรื่องการให้ทาน สรรเสริญเป็นอเนกเลยว่าผลของการให้ทานดีอย่างไร
ผลของการถือศีลทำให้ชีวิตอยู่เย็นเป็นสุข ไม่เดือดร้อนใจอยู่ในปัจจุบันอย่างไร
ให้ผลเป็นทิฏฐธรรมเวทนียกรรม คือไม่เดือดเนื้อร้อนใจในปัจจุบัน
แล้วในเรื่องของการภาวนาก็มี
คือท่านจาระไนพรรณนาอานิสงส์ของการถือศีล ๘ สมัยก่อนเรียกว่าเป็นศีลอุโบสถ

เหตุที่เรียกเช่นนั้นก็เพราะว่าท่านแนะนำ ว่าฆราวาสผู้มีความใฝ่ธรรม
ควรที่จะไปอยู่วัดทุกวันพระ คือวันพระจันทร์เต็มดวงกับจันทร์แรม
แล้วก็เหมือนกับสรรเสริญอานิสงส์ของผู้ที่สละเรือนไปอยู่วัด ๑ วัน ในวันพระ
ไว้ว่าก็จะสำเร็จสมประสงค์ทุกประการ ไม่ว่าจะปรารถนาสวรรค์หรือนิพพาน

อันนี้คือสิ่งที่เราจะเห็นภาพแบบคร่าวๆ ในสมัยพุทธกาล


มันหมายความว่าอะไร หมายความว่าไม่ใช่พระพุทธเจ้าจะกีดกัน
ว่าฆราวาสห้ามปฏิบัติธรรม ห้ามเจริญสติ ไม่มีทางได้มรรคผล
ตรงข้ามท่านได้ชี้ไว้ด้วยว่ามีบุคคลไหนที่เป็นฆราวาสบ้าง
ได้บรรลุโสดาบันแล้ว ได้บรรลุเป็นพระสกทาคามีแล้ว เป็นพระอนาคามีแล้ว
เป็นพระอรหันต์ไม่มี ถ้าพระอรหันต์นี่ก็ต้องบวชนะ
อันนี้ก็เป็นข้อสงสัยกันเยอะแยะว่าเป็นพระอรหันต์ต้องบวชหรือเปล่า
คือเป็นฆราวาสได้นะ ความเป็นอรหัตผลไม่ได้ฆ่าใคร
แต่ว่าถ้าอยู่ไป คนที่เป็นฆราวาสแล้วถ้าบรรลุอรหัตผล
อยู่ไปๆ เดี๋ยวชาวบ้านชาวเมืองได้ไปนรกกันหมดนะครับ
เพราะว่าก็จะปฏิบัติกับพระอรหันต์เยี่ยงคนธรรมดา
ด้วยการตบหัวตบไหล่หรือไม่ก็ทักทายกันแบบเพื่อนฝูง
หรือว่าคนเคยเป็นพ่อเป็นแม่มา อะไรแบบนี้
ต่อให้เป็นพ่อเป็นแม่มา ถ้ามาเล่นกับคนที่จิตบริสุทธิ์ระดับพระอรหันต์
ก็มีอันเป็นไปได้เหมือนกัน
เพราะฉะนั้นก็เลยเป็น พระอรหันต์ ในที่สุดแล้ว
ถึงแม้จะอยู่เป็นฆราวาสไปพักหนึ่งก็ต้องไปบวชอยู่ดี



คือการเป็นฆราวาสสามารถที่จะเจริญสติได้ถึงระดับอรหัตผลนะครับ
เหตุเพราะว่าอุปกรณ์ที่เราจะใช้เจริญสติ มันเหมือนกันกับที่พระภิกษุมีนั่นแหละ
พระภิกษุ ภิกษุณีมี ก็คือกายนี้ใจนี้
ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง หรือว่าสภาพความเคลื่อนไหว
ยืน เดิน นั่ง นอน หายใจเข้า หายใจออก
สิ่งเหล่านี้มันเป็นอุปกรณ์ที่จะใช้ในการทำลายอุปาทาน
ว่ามีตัวของเรา มีตนของเราอยู่
ฆราวาสโดยเฉพาะยุคเรา จะว่าไปมีทั้งข้อได้เปรียบและก็ข้อเสียเปรียบ
ข้อได้เปรียบ ในปัจจุบันก็คือว่า ถ้าสงสัยว่าอันไหนใช่หรือไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้า
สืบกันง่ายๆ เลยด้วยปลายนิ้ว ใช้กูเกิล (
Google) ใช้อากู๋ ประจำยุคไอทีของเราในการบอก
อย่างที่ผมแนะนำเป็นประจำ คือ ให้เข้าไปที่เว็บ www.84000.org
แล้วก็เสิร์ช (search) หาดูว่า คำนี้พระพุทธเจ้าตรัสไว้จริงหรือเปล่า
เรายังสามารถที่จะหาคำยืนยันได้เป็นลายลักษณ์อักษร เป็นกิจจะลักษณะ
แล้วก็คนยุคอื่นสมัยอื่น ทำไม่ได้แบบเรานะ อันนี้คือข้อได้เปรียบที่สำคัญมากๆ
เพราะถ้าใครมีความใส่ใจ แล้วก็ค่อยๆ อ่าน จริงๆ ไม่ต้องตีความอะไรมากนะ
คำที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้เกี่ยวกับแนวทางการเจริญสติ
ยังคงอยู่ชัดเจน แล้วก็ไม่สูญหายไปไหน ไม่ได้ถูกบิดเบือนไปด้วย
เพราะว่าสามารถอ่านเข้าใจ แล้วก็ปฏิบัติตามได้ทันที
แล้วก็เห็นผลอย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสบอกไว้
ว่าทำให้กิเลส คือ โลภะ โทสะ โมหะ เบาบางลงเรื่อยๆ
จนกระทั่งในที่สุดแล้วสามารถจะทำให้จิตชำแรกตัวอวิชชาไปเห็นนิพพานได้
เสมอกันกับภิกษุและภิกษุณี



เพียงแต่ว่าในความเป็นจริงในทางปฏิบัติ
ฆราวาสไม่ได้มีหน้าที่ทำมรรคผลนิพพานให้แจ้งเหมือนอย่างภิกษุ
ภิกษุ ภิกษุณี ในวันแรกเลยที่บวช ต้องมีการสวด ต้องมีการเปล่งวาจาปฏิญาณตน
ว่าที่บวชเข้ามาไม่ใช่เพื่อจุดประสงค์อื่นใด
แต่เพื่อที่จะทำมรรคผลนิพพานให้แจ้งสถานเดียว
เป็นการประกาศตนนะว่าเข้ามาบวชไม่ใช่เพื่อที่จะเอาลาภสักการะ
ไม่ใช่เพื่อที่จะมาเป็นเจ้าพ่อหวย
หรือว่าเป็นผู้ที่ทำกิจอะไรแบบที่บางทีเข้าใจคลาดเคลื่อนกันไป
ในสมัยพุทธกาลหรือแม้แต่ในสมัยนี้ก็ตามที่คนสวดกันในวันอุปสมบท
คนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจว่าที่สวดๆ กันไป เป็นการประกาศตน
ว่าบวชเข้ามาเพื่อทำมรรคผลนิพพานให้แจ้ง



ทีนี้ฆราวาสไม่ได้มีการมาปฏิญาณตนแบบนั้น
ไม่ได้มามีฟูลไทม์จ๊อบ (
full-time job) แบบภิกษุภิกษุณีนะครับ
ที่ทำนี่ทำด้วยความสมัครใจ ทำแบบพาร์ทไทม์ (part-time)
ทำแบบที่ไม่สามารถจะมากะเกณฑ์นะว่าห้ามนั่นห้ามนี่
สมมุติว่าเราบอกว่าเราจะเจริญสติ
ไม่มีใครมาว่าเราได้นะถ้าเราบอกว่าวันนี้ไม่เอา วันนี้ไม่พร้อม วันนี้หัวยุ่ง
วันนี้มีกิจการงานที่ต้องรับผิดชอบมาก ไม่สามารถมานั่งสมาธิเดินจงกรมได้
อันนี้จะไม่มีใครว่าเลยนะ
แต่ภิกษุถ้าเป็นสมัยพุทธกาลมาอ้างแบบนี้ โดนนะ
คือมีการเล่นงานจากครูบาอาจารย์ หรือว่ามีความผิดตามวินัยสงฆ์บางข้อนะ
อย่างเช่นบอกไปมัวแต่เล่นสนุก หรือไม่ก็ไปศึกษาเดรัจฉานวิชา
ไม่มาศึกษาพระธรรมวินัย ไม่มาศึกษาวิธีเจริญสติ พระพุทธเจ้าปรับอาบัติไว้ด้วย


ทีนี้เรื่องของเรื่อง ถ้าเรามองเห็นภาพรวมความแตกต่างอย่างชัดเจน
ว่าระหว่างพระกับฆราวาสมีความต่างกันอย่างไรแล้ว
เรามาสำรวจดูว่าเรามีอุปกรณ์ในการเจริญสติ แต่เราไม่มีเวลาที่เป็นฟูลไทม์
เราเป็นพวกนักเจริญสติแบบพาร์ทไทม์ แล้วอะไรบ้างที่เราทำได้
ตรงนี้แหละมันเป็นจุดที่เราสามารถจะมาตั้งโจทย์ให้กับตัวเองได้นะ
เวลาเราถามตัวเองว่าทุกวันนี้เราเจริญสติ สวดมนต์ นั่งสมาธิ เดินจงกรม
หรือจะอยู่ในระหว่างวันก็ตาม
เราเจริญสติไป เราเข้าใจไหมว่าที่เจริญสติไป
พอยท์ (
point) ของการเจริญสติของเราคืออะไร
ถ้าไม่เข้าใจพอยท์ มันจะปฏิบัติไปเรื่อยๆ แบบไม่มีเป้าหมาย
อย่างคนมักจะบั่นทอนกำลังใจกันเองนะ
บอกว่าไม่ต้องไปหวังหรอก คือเจริญสติไป สะสมบารมีไปบรรลุเอาชาติหน้า
ถ้าคิดแบบนี้ ถ้าเชื่อแบบนี้ ตัดสินใจเชื่อไว้แบบนี้แล้ว
โอกาสที่จะก้าวไปให้ถึงจุดมันค่อนข้างต่ำ
เพราะว่าคนจะทำอะไรก็ตาม ถ้าไม่มีกำลังใจที่จะทำให้เต็มที่
ใจมันไม่เป็นสมาธิหรอก ใจมันจะว่อกแว่ก
แล้วก็กลับไปกลับมาง่าย กลับกลอกง่าย ฟุ้งซ่านง่าย
แล้วทีนี้ถ้าสมมติพอบอกว่าให้ตั้งธงไว้ ว่าจะบรรลุมรรคผลนิพพานใช่ไหม
พอตั้งธงแบบนี้ปุ๊บ แล้วเกิดความอยาก อยากได้ อยากมี จะเอาเดี๋ยวนี้เลย
ไม่เอา ที่แบบ ๗ เดือน ๗ ปีอะไร จะเอาวันนี้เลย
ถ้าไม่ได้วันนี้ ขอท้อ นี่ก็ไม่ได้อีก อันนี้สุดโต่งอีกด้านหนึ่ง
คือพอเราไปเร่งรัดตัวเองว่าจะต้องให้ได้เมื่อนั่นเมื่อนี่
ถ้าต้องรออีกนานๆ ไม่เอา อันนี้ก็จบอีกเหมือนกัน


ทีนี้เราตั้งธงว่าปฏิบัติเจริญสติไปเพื่อที่จะบรรลุมรรคผลนิพพาน
ชัดเจนไปบางทีมันก็ไปกระตุ้นกิเลสตัณหาขึ้นมา
แล้วความอยากได้ อยากดี อยากมี อยากเป็น
แม้กระทั่งเป็นผู้บรรลุมรรคผลนิพพาน
ก็จะเป็นความอยากที่มาขวางทาง มาถ่วงรั้งไม่ให้สติของเราเจริญขึ้น
ทีนี้อยู่ตรงกลางเป็นอย่างไร อยู่ตรงกลางนี่นะ
มันจะมีความเข้าใจเป็นอันดับแรกเลยที่สำคัญมากๆ
คือการบรรลุมรรคผลไม่ใช่การได้อะไรเพิ่มเติมเข้ามา
แต่เป็นการทิ้งอะไรออกไป

ความเป็นโสดาบัน ทิ้งความเห็นผิดว่ากายนี้ใจนี้เป็นตัวเป็นตน
ถ้าเราสำรวจเข้ามาในนาทีนี้ แล้วบอกว่าฉันอยากได้บรรลุมรรคผล
เพื่อให้ตัวฉันได้ดิบได้ดี ได้พ้นนรก
นี่ตัวนี้มีตัวตนของผู้อยากได้ดีให้ตัวเองแล้ว เห็นไหม ไม่ตั้งธงก็ไม่ได้
แต่พอตั้งธงเสร็จ เกิดกิเลสตัณหาขึ้นมา นี่มันก็ผิดทางอีก



แต่ถ้ามีความเข้าใจว่าตัวเราตอนนี้ ที่มันอยากได้อยากดีให้ตัวเอง
มันกำลังผิดทางนิพพาน มันไม่ใช่ทางของการบรรลุมรรคผล
เพราะมันเป็นการพยายามเอามาเข้าตัว ไม่ใช่ทิ้งอะไรออกไปจากตัว
นี่เห็นไหม การมีวิสัยทัศน์ การเห็นอย่างชัดเจนว่าเป้าหมายของเราคืออะไร
มันจะมีผลให้จิตของเราเดินถูกด้วย
ถ้าหากว่าเดินถูกนะ แล้วเห็นตัวเองอยากได้อยากดีขึ้นมา
แล้วพิจารณาว่าความอยากได้อยากดีตรงนั้น
เป็นตัวเป็นตน เป็นก้อนอัตตา เป็นอะไรหนักๆ ขึ้นมา
เป็นอะไรทึบๆ มืดๆ ขึ้นมา เป็นความทุกข์ที่ก่อตัวขึ้นมา
แล้วเกิดสติ เห็นว่านี่แหละที่เราจะต้องดูก่อนเป็นอันดับแรก
เพราะว่ามันเด่นก่อน มันเป็นภาวะที่กำลังปรากฏขึ้นอยู่เดี๋ยวนี้

เป็นภาวะที่เป็นปัจจุบัน เป็นของจริง ไม่มีของจริงอะไรในกายใจที่จริงยิ่งไปกว่านี้
ใจของเรามันจะมีความสงบระงับลงมานาทีนั้นเลย
เห็นว่าตัวที่จะต้องทิ้งคือตัวนี้แหละ ตัวที่อยากได้ดีเพื่อตัวเอง



วิธีทิ้งไม่ใช่ขับไล่ไสส่ง ไม่ใช่ไปบังคับใจตัวเอง ให้บ้วนให้คายให้ถ่มออกมา
แต่เป็นเหมือนกับอาการของมือ เดิมที่มันกำอยู่แน่นเลยนะ
ทำอย่างไรให้มันแบให้มันคลายออก
ของที่มันยึดไว้ด้วยลักษณะกำ ถ้าหากว่าเราทำให้มือกลายเป็นแบได้
ของที่อยู่ในมือมันก็ตก ร่วงไป หายไป
อาการของใจก็แบบนั้น มันกำอยู่ว่าอยากได้มรรคผล มันกำอยู่ว่าอยากได้ดิบได้ดี
อยากได้ญาณ อยากได้ฌาน อยากเป็นอริยบุคคลผู้วิเศษ
ความอยากตรงนี้ มันเป็นอาการของใจที่กำไว้
วิธีที่ใจมันจะแบออกก็คือเห็นความไม่เที่ยงของมัน
ถ้าเห็นความไม่เที่ยงโดยทำความรู้สึกเข้าไปแบบตรงไปตรงมา
ว่าตอนนี้มันอึดอัดอยู่แค่ไหน มันมีความหนาแน่นอยู่แค่ไหน ความอยากได้
แล้วเห็นว่ากลุ่มความอยากได้ที่หนาแน่นตรงนี้ มันอยู่ที่ลมหายใจนี้ ประมาณนี้
นี่ กำอย่างนี้เลย เห็นตามจริงไป
แล้วเห็นตามจริงอีกเช่นกันนะในลมหายใจต่อมา
ว่ามันยังเท่าเดิมอยู่ไหมลักษณะที่มันกำแน่น
พอเรารู้สึกว่าอาการกำ เราไม่ต้องไปสั่งให้มันคลาย
เดี๋ยวมันเปลี่ยนไปได้เอง เดี๋ยวมันออกอาการคล้ายๆ อยากจะแบออกมาเอง
เพราะอะไร เพราะว่าไม่มีสิ่งไหนนะ ที่มันทนอยู่ในสภาวะบีบคั้นของตัวเองได้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการออกแรงกำ
การที่จิตออกแรงยึดอะไรสิ่งใดสิ่งหนึ่งไว้ มันจะปรากฏเร็วที่สุดเลย



ในลมหายใจนี้ มันยังมีความยึดเหนียวแน่นอยู่
อีกลมหายใจต่อมา มันเกิดความรู้สึกขึ้นมาว่าที่มันอึดอัดแบบเดิม มันผ่อนคลายลง
พอผ่อนคลายลงแม้แต่นิดเดียว แล้วใจเราเห็น
ใจเรามีสติรู้ว่ามันไม่เท่าเดิม นั่นแหละคือการเห็นความไม่เที่ยงแล้ว

และใจนะเมื่อเห็นความไม่เที่ยงของสิ่งใดบ่อยๆ
มันจะถอนออกมาจากอาการยึดไปเอง ถอนแบบที่เป็นการถอนแบบปกติ

ยิ่งเรามีความเห็นมากเท่าไหร่ว่าความอยากได้มรรคผลนิพพาน
มันเกิดขึ้นบ่อยนะ เดี๋ยวก็เกิด เดี๋ยวก็เกิดๆ มันเท่ากับยิ่งมีโอกาสที่จะฝึก
มีโอกาสที่จะรู้ว่าอาการยึดกับอาการคลายมันแตกต่างกันอย่างไรนะ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP