ดังตฤณวิสัชนา Dungtrin's Answer
ทำอย่างไรจึงจะเจริญสติในชีวิตประจำวันได้ดี
ถาม – ดิฉันเริ่มฝึกปฏิบัติธรรม พยายามสังเกตจิตของตัวเองในชีวิตประจำวัน
พบว่าเวลาที่คุยกับเพื่อนแล้วมีอารมณ์ร่วมไปกับบทสนทนาจนจิตส่งออกนอก
พอรู้ตัวดิฉันก็ดึงจิตกลับมาแต่ก็รู้สึกไม่เป็นธรรมชาติ
จะมีวิธีการใดช่วยให้สามารถมีสติรู้สึกตัวพร้อมกับใช้ชีวิตทางโลกไปด้วยได้คะ
ตรงนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยมาก คำถามที่มันเป็นข้อสงสัยสำหรับผู้เริ่มต้นนะครับ
ว่าทำไมพอมาเจริญสติ พอมาปฏิบัติธรรมแล้ว
เรารู้สึกมันกระตุกๆ ชอบกลนะ วิถีชีวิตแบบที่มันเคยดำเนินมา
นั่นเป็นเพราะบางที เราอาจจะฟังคำแนะนำว่าให้เข้ามาดูสังเกตจิตของตัวเอง
หรือว่าให้มาสังเกตดูว่าอารมณ์ไปถึงไหนแล้ว
หรือว่าใจของเรากำลังเป็นกุศลหรือไม่เป็นอกุศลอะไรต่างๆ
ตรงที่เราเข้ามาดูดื้อๆ เลย เข้ามาดูกันแบบลุยแบบลูกทุ่งเลย
มันทำให้สภาพความต่อเนื่องของชีวิตประจำวันสะดุดเป็นธรรมดา
เพราะว่าเมื่อเราสังเกตเข้ามาที่ใจ มันเป็นการเข้าโหมด (mode) ต่างไปจากที่เราคิดพูด
หรือว่าเรากำลังสนทนามีความรู้ใจความจากฝ่ายคู่สนทนาอะไรอย่างนี้นะ
ตอนที่เรารู้ข้อความสนทนา มันคือการที่เราใส่ใจเข้าไปในเรื่องที่กำลังอยู่ในหัวข้อ
แล้วก็เรากำลังตั้งใจฟังว่าเขาจะพูดอะไรมา
อาการของจิตมันจะเข้าโหมดรับรู้ข้อความ
ทีนี้พอเรามาสังเกต ตอนนี้จิตเราเป็นอย่างไร
มันจะดึง มันจะมีการกระชากจากสภาพรับรู้ข้อความตรงหน้า
หรือการทำความเข้าใจ โหมดทำความเข้าใจข้อความ
กลายมาเป็นว่ามาสำรวจดูว่าใจฉันกำลังเป็นอย่างไรอยู่
เนี่ยมันคนละเรื่องกัน มันคนละโหมดกัน มันคนละขั้นตอนกัน
ทีนี้เพื่อที่จะให้การปฏิบัติการเจริญสติมันสมูท (smooth)
แล้วก็กลมกลืนกันไปกับภาวะที่เป็นชีวิตประจำวัน
ลองดูที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ในสติปัฏฐาน
ท่านตรัสมาเป็นขั้นๆ ฝึกดูลมหายใจให้เป็นก่อน
แล้วฝึกเห็นว่าแต่ละลมหายใจมันพาอะไรเข้ามา เป็นสุขหรือเป็นทุกข์
จากนั้นค่อยมาสังเกตว่าที่หายใจอยู่
มันหายใจอยู่ในอิริยาบถไหน ร่างกายอยู่ในท่าทางแบบใด
แล้วเสร็จแล้วค่อยไปสังเกตว่าด้วยอาการทางกายในอิริยาบถนั้นๆ
มันขยับเคลื่อนไหวแยกย่อยอย่างไร
มันพูดจาตอนเริ่มจะพูดนี่ท่าทางมันต่างไปอย่างไร
แล้วตอนที่หยุดนิ่งฟังท่าทางอาการของกายต่างไปอย่างไร
ความเคลื่อนไหวทางจิตภายในเป็นอย่างไร
ตรงนี้พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้เป็นขั้นเป็นตอน
พูดง่ายๆ ถ้าเรามีเบสิก (basic) ถ้าเรามีความเคยชิน
มีความชำนาญที่จะรู้สิ่งที่ควรรู้ขั้นพื้นฐานก่อนทางกายทางใจ
มันจะค่อยๆ เขยิบขึ้นไปรู้ละเอียดขึ้นเรื่อยๆ เอง
ธงของเราคือการมีสติอยู่กับชีวิตประจำวัน อันนั้นดี อันนั้นถูกต้อง
แต่ทำอย่างไรมีขั้นตอนอย่างไร อันนี้เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ถ้าหากว่าเราสังเกตเอาดื้อๆ เลย
ไปเปลี่ยนโหมดจากโหมดคิดพูดเป็นโหมดสังเกตจิต
แน่นอนมันต้องสะดุด แล้วเดี๋ยวเราก็ต้องเกิดความรู้สึก
พอยิ่งทำนานไป มันเหมือนจะไม่ได้อะไรสักอย่าง
เหมือนจับปลาสองมือ ทางโลกมันก็ไม่เต็มที ทางธรรมก็ไปไม่สุด
ไม่มีอะไรได้ดีเต็มที่สักอย่าง
ทีนี้ถ้าเรามาฝึก อย่างเวลาว่างๆ ไม่ต้องนั่งหลับตาก็ได้
เอาแค่นั่งอยู่กับโต๊ะทำงาน
แล้วสังเกตว่าเรากำลังนั่งอยู่อย่างนี้สบายหรือไม่สบาย
ฝ่าเท้าฝ่ามือมันผ่อนคลายไหม หรือว่าเกร็งเครียดอยู่ไหม
แล้วหายใจตามที่ธรรมชาติทางกายมันให้หายใจ
สังเกตอยู่ว่าลมหายใจแบบนี้มันมีความผ่อนคลาย
มันมีความรู้สึกว่างๆ สบายๆ หรือมีความฟุ้งยุ่ง
ด้วยเบสิกความรู้ตรงนี้ที่จะสังเกตว่า ณ ลมหายใจนี้
เรากำลังมีภาวะปั่นป่วนอย่างไร หรือว่ามีความสงบอย่างไร
ภาวะทางกายนิ่งอย่างไร หรือว่าเกร็งอย่างไร
ตรงนี้มันจะไปต่อยอดเองโดยที่เราไม่ต้องไปพยายามฝืนนะครับ
เวลาเราพูดคุย เราจะไม่ลืมลมหายใจ
ลมหายใจจะเหมือนอยู่เป็นแบ็คกราวน์ (background)
มันมาเรื่อยๆ เป็นห้วงๆ คืออาจจะไม่จำเป็นต้องตลอดเวลานะ
แต่มันมาเป็นห้วงๆ มันมาทีละนิดทีละหน่อย แล้วก็ค่อยๆ เกิดความเคยชิน
ค่อยๆ เกิดความชำนาญที่จะเห็น เห็นว่าลมหายใจเป็นแบ็คกราวน์
ระหว่างที่เราใช้ชีวิตประจำวัน เราคุยอยู่กับใคร
ลมหายใจเหมือนจะปรากฏเป็นแบ็คกราวน์ให้เอง
จนกระทั่งเรามาจับจุดได้ว่าเวลาที่เราพูด เวลาที่เราคุยกับใคร
แต่ละการพูด แต่ละหัวข้อการสนทนา มันพาให้จิตของเรามีความแตกต่างไป
บางหัวข้อสนทนามันพาใจของเราไปฟุ้งซ่านง่ายมาก
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาพูดเรื่องคนอื่นแล้วสนุกปาก มันมันนะ
มันอยากหัวเราะคิกคัก มันอยากไปเดาว่าเรื่องของเขามันเป็นอย่างไร
เขาคิดอย่างไรเขาถึงได้ทำแบบนั้น มันจะง่ายมากเลยที่จิตจะผันผวน
แล้วก็มีความรู้สึกเหมือนกับว่าลืมหมดแล้ว
ว่ากายเป็นอย่างไรใจเป็นอย่างไร
แต่ถ้าหากว่าพูดเรื่องธรรมะ
พูดเรื่องอะไรที่มันเข้ามาเกี่ยวกับเรื่องจิตเรื่องใจเรื่องความไม่เที่ยง
ใจที่ตั้งใจเสพธรรมะอยู่ มันเหมือนพร้อมที่จะกลับเข้ามา
รู้สึกถึงฐานที่ตั้งคือลมหายใจ หรือว่ารู้สึกถึงฐานที่ตั้ง
คือสภาพอิริยาบถที่มันกำลังปรากฏอยู่ ณ ขณะนี้
พอสังเกตความต่างของหัวข้อสนทนา
ที่มีความสัมพันธ์กับภาวะทางใจที่เตลิดง่ายหรือว่าเข้ามามีสติอยู่ได้สบายๆ
เราจะเริ่มจับจุดออกว่าเวลาใช้ชีวิตประจำวันมันจะมีหัวข้อ
ไม่ว่าจะอยู่กับชีวิตประจำวันแบบไหน
เข้าห้องน้ำ แปรงฟัน กินข้าว มันมีหัวข้อ มันมีหัวข้อทางธรรม
ถ้าอาหารอร่อยมาก จิตใจเราแบบว่าพร้อมจะเหมือนยักษ์ขมูขี
ที่เมามันกับรสชาติของอาหาร หน้ามืดลืมหมด
สภาพทางกายสภาพทางใจจะเที่ยงไม่เที่ยงอะไรนี่นึกไม่ออก
มันหน้ามืดเมามันอยู่กับรสอาหาร
แต่ถ้าเป็นรสอาหารจืดชืด แล้วเกิดความรู้สึกทุกข์ทางใจขึ้นมาเล็กๆ
อย่างนี้นี่มันพอมีสติ มันพอมีแก่ใจตั้งสติเข้ามาว่า
ตอนนี้ใจมันกำลังรู้สึกเหมือนกับไม่พอใจกับรสชาติอาหารอยู่
แล้วก็กลับมาอยู่กับ เออ นี่ ความไม่พอใจแบบนี้อยู่ได้แป๊บหนึ่ง
เดี๋ยวมันค่อยๆ หายไปตอนที่เปลี่ยนรสชาติเป็นคำอาหารคำอื่นอย่างนี้
เห็นไหมหัวข้อในชีวิตประจำวันมันก็เหมือนหัวข้อสนทนา
มันมาปรุงแต่งใจของเราให้อ่อนไหวง่าย หรือว่ามีความกลับมาตั้งมั่นเป็นสมาธิได้
แต่ถ้าหากเราไม่ฝึกที่จะสังเกตความสัมพันธ์ระหว่างลมหายใจกับจิตไว้ก่อนล่วงหน้า
มันจะเหมือนไม่มีทุน มันจะเหมือนกับว่าถ้าตั้งใจดูเข้ามาที่จิตแล้ว
ต้องยกเลิก ต้องแคนเซิล (cancel) หัวข้อชีวิตประจำวันอย่างอื่นหมด
กลับมาดูจิตอย่างเดียว ซึ่งมันไม่ได้อะไรเลย มันสะดุด
เสร็จแล้วกลับมาดูใจแล้วก็ เอ๊ะ! เห็นใจหรือยัง
เห็นแป๊บหนึ่ง เห็นแล้วได้อะไร ก็รู้สึกว่ามีสติแล้ว เข้ามาดูจิต เข้ามาดูใจ
แต่จริงๆ มันไม่ได้อะไรเลยนะ คือคุณจะรู้ว่าไม่ได้อะไรเลยหลังจากที่เวลาผ่านไปสิบปี
แล้วมันก็ยังย่ำอยู่กับที่ยังอยู่ตรงนี้ที่เดิม
แต่ถ้าหากว่าเราสังเกตลมหายใจ
เรารู้ความสัมพันธ์ระหว่างลมกับสภาวะทางใจ
สภาวะทางกายสภาวะทางใจมันเป็นไปด้วยกัน
ไม่ต้องถึงสิบปี เอาแค่สิบวัน คุณจะเห็นความต่างเลยนะ
มันจะมีอัตโนมัติของการรู้สึกถึงลมหายใจเข้าออกมากขึ้นเรื่อยๆ
แล้วก็เห็นความสัมพันธ์เห็นความต่าง ระหว่างหัวข้อในชีวิตประจำวัน
กับความสัมพันธ์ทางจิตที่มันมีลมหายใจเป็นศูนย์กลางของสติอยู่นะครับ
< Prev | Next > |
---|