ดังตฤณวิสัชนา Dungtrin's Answer
คนที่โทสะแรงมากจะมีวิธีเอาชนะความโกรธได้อย่างไร
ถาม – ถ้าเราเป็นคนอารมณ์ร้อนมากๆ แล้วมีเรื่องที่มากระทบ
จนทำให้เกิดโทสะรุนแรงภายในใจแต่ไม่ได้แสดงออกมา
แบบนี้จะทำให้จิตใจของเราบิดเบี้ยวไหมคะ
เวลาที่เราโมโหนะ ก่อนที่เราจะโมโห มันมีสิ่งสิ่งหนึ่งที่เราสามารถเตรียมไว้เป็นทุนได้
นั่นคือสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นเมตตา
คำว่าเมตตา เข้าใจง่ายๆ เลย มันคือความสุขที่จะเอาชนะความโกรธของตัวเอง
ความสุขที่จะเอาชนะความโกรธของตัวเองจะเกิดขึ้นไม่ได้
ถ้าเราไม่เห็นค่าของการเอาชนะโทสะ
การเอาชนะโทสะ มันเปลี่ยนวิถีชีวิตของเราออกมาจากข้างในเลย
มันเปลี่ยนมุมมองของเรา มันเปลี่ยนโลกทั้งใบของเรา
มันเปลี่ยนชีวิตทั้งชีวิตของเราให้ยกระดับขึ้น
ถ้าเรามองเห็นคุณประโยชน์ของการเอาชนะโทสะ
แล้วเรามีความรู้สึกนะ อย่างตอนนี้ คุณลองกำหนดใจดู
ว่าชีวิตที่เหลือเราจะมีตัวใหม่ที่มาต่อสู้กับตัวเก่า
คืออย่าเพิ่งไปเอาเรื่องว่ารู้ตามจริง หรือว่าอย่าไปแทรกแซงสิ่งที่เกิดขึ้นอะไร
เราเอาตัวนี้ก่อน เอาตัวเก่าทิ้งไปแล้วเอาตัวใหม่มาแทนที่
ให้มีภาพในใจอยู่อย่างนี้ให้ชัดเจน
แล้วตัวใหม่ที่มันเข้ามา ถ้าเรานึกถึงนะ แค่นึกถึงเฉยๆ
ว่าต่อไปเราโมโหโกรธาอะไรขึ้นมา ไม่ใช่เฉพาะกับพ่อแม่
แต่กับทุกคนในโลกหรือว่ากับโลกทั้งใบ
เราจะมีตัวใหม่ขึ้นมาแทนที่ตัวเดิม
เป็นตัวที่มันมีแก่ใจที่จะเอาชนะความโกรธของตัวเอง
พอเรามีความรู้สึกว่าจะมีตัวใหม่มาแทนที่ตัวเดิม
แล้วเรารู้สึกดีเดี๋ยวนี้เลย นี่แหละคือตัวใหม่
ถ้าเรารู้สึกเป็นกันเอง รู้สึกกลมกลืน รู้สึกว่าเป็นพวกเดียวกันกับตัวเดิม
ที่มันจะอาละวาดฟาดงวงฟาดงาอย่างไรก็ได้
อยากจะโมโหโกรธาแล้วพูดคำหยาบคายอย่างไรก็ได้
มันก็จะไม่มีการเปลี่ยนแปลง มันจะไม่มีพอยท์ (point) ในใจ
มันจะไม่มีจุดสังเกต หรือว่าเป้าหมายที่จะให้เราวิ่งเข้าไปชน
แต่ถ้ามันมีเป้าหมายชัดว่าตัวต่อไปของเรามันจะเลิกโมโหโกรธา
ตรงนี้มันจะนึกออก มันจะนึกออกล่วงหน้า มันจะเตรียมไว้ในใจล่วงหน้า
เหมือนกับมีการติดตั้งโปรแกรมใหม่ไว้นะ
ว่าเมื่อเผชิญหน้ากับเรื่องที่ชวนโมโห ใจของเรามันจะต้องต่างไป
ทีนี้ตรงนี้แหละ ที่เป็นจุดตัดนะ
ที่หลายคนอาจจะไม่เข้าใจนะครับ ว่าทำอย่างไรที่จะมีต้นทุนคือความสุข
ที่จะไปตอบโต้กับเหตุการณ์ที่น่าโกรธน่าโมโหโกรธา
คุณดูใจของตัวเองตอนนี้ เราคุยกันเรื่องธรรมะอยู่ คุยกันเรื่องเอาชนะความโกรธ
แค่มองเข้ามานะ ในใจของเรา ตอนนี้ใจของเราปกติอยู่
ถ้าหากว่ามีเรื่องกระทบใจแล้วเกิดความโมโห เกิดความรู้สึกว่าไม่อยากที่จะอดทน
ถ้าเทียบกันนะกับใจตอนนี้ ใจที่มันยังเบาอยู่ ใจที่มันยังสบายอยู่
จะเห็นว่าใจแบบนั้น มันเป็นใจที่ผิดปกติ
พระพุทธเจ้าตรัสเปรียบไว้เหมือนกับอาการของคนป่วย
เหมือนกับใจของเรา ณ เวลาที่โกรธมีความเจ็บไข้ได้ป่วยอยู่
ซึ่งถ้าหากว่าเราปล่อยไว้ เราไม่รักษา มันก็จะเป็นอย่างนั้นไปเรื่อยๆ จนตาย
แต่ถ้าเราคิดจะรักษา เรามีแก่ใจ
ความมีแก่ใจตรงนี้ที่มันทำให้อยากรักษาความสุขในการไม่เป็นคนป่วยไว้
ตัวนี้นะพอเรามีความสุขได้ แล้วเราเห็นนะ
ว่าใจที่ไม่คล้อยตามกับไฟโกรธที่มันเข้ามาครอบจิตของเรา
มันจะทำให้เกิดความสุขความเบาที่แตกต่างไปจากใจในขณะโกรธ
ซึ่งตรงนี้นะ พระพุทธเจ้าให้อาศัยความเบา ความสบาย ความสว่าง
ที่เกิดขึ้นในจิต ณ ขณะที่เรายังไม่ป่วยนี้ไว้ แล้วแผ่ออกไปข้างหน้า
คำว่าแผ่ออกไป พูดง่ายๆ ว่าทำจิตให้มันแผ่ออกไปนั่นเอง
ถ้าหากว่าเราฟุ้งซ่านแบบคนปกติทั่วไป คิดเรื่องราวโน่นนี่นั่น
อันนี้จิตมันจะมีความเล็ก มันจะมีความคับแคบ
แต่ถ้าหากเราทำความรู้สึกเข้าไปที่ใจที่กำลังมีความสุขจากการไม่โกรธ
หรือว่าใจที่มีความสุขกับการอยากทิ้งโทสะไป
เราจะพบว่ามันมีอะไรว่างๆ ใสๆ เกิดขึ้นอยู่ที่ใจกลาง แล้วก็พร้อมที่จะแผ่ออกไป
ตอนที่เราอยู่กับความว่างความสุข ความเบา ความสบาย
ที่มันไร้ความโกรธ ไร้มลทิน ไร้ความร้อนตรงนั้นได้นานๆ
นั่นแหละคือการแผ่เมตตา
วิธีการแผ่เมตตาของพระพุทธเจ้าท่านให้ดูจากตรงนี้ จับจุดจากตรงนี้
ยิ่งเราเป็นคนที่มีความพร้อมจะโกรธหรือว่าเจ้าโทสะ เจ้าอารมณ์มากขึ้นเท่าไหร่
มันจะสังเกตความแตกต่างตรงนี้ได้ชัด
เราแค่คิดจะทิ้งตัวตนแบบเดิมหรือว่านิสัยแบบเดิมๆ
หรือว่าความพร้อมที่จะโกรธ พร้อมที่จะขัดเคืองแบบเดิมๆ นี่ใจเบาแล้ว
ใจที่เบาตรงนั้นเราสังเกตดูว่ามันอยู่ได้นานแค่ไหน
ถ้ามันอยู่ได้นาน นั่นแหละคือการแผ่เมตตา
แต่ถ้ามันอยู่ได้สั้นๆ ไม่เป็นไร เราสังเกตเข้ามาเรื่อยๆ
ยิ่งสังเกตได้บ่อยขึ้นเท่าไหร่ เราจะยิ่งเห็น เราจะยิ่งเข้าใจ
ยิ่งถ้าหากว่าคุณฝึกที่จะหายใจยาว อย่างที่ผมพูดตอนต้นรายการ
อย่างนี้มันจะยิ่งมีตัวที่เป็นเหมือนกับเครื่องพยุงสติ
หรือว่าเครื่องประคองความเบาความใสของใจให้มันตั้งอยู่ได้นาน
แล้วตรงนั้นแหละที่คุณจะเริ่มรู้สึกถึงความแตกต่าง
มันจะรู้สึกเหมือนตัวเองมีต้นทุนความเบาความสุข
ที่พร้อมจะไปเผชิญกับปัญหาตอนที่เกิดเรื่องมากระทบ แล้วเกิดความโกรธ
คุณจะไม่เห็นแค่สถานการณ์ภายนอกที่มันน่าขัดเคือง
แต่จะเห็นสถานการณ์ภายในนะว่าเรามีต้นทุนพอที่จะรับมือกับเรื่องน่าโกรธไหม
ถ้ามีต้นทุนพอที่จะรับมือกับความโกรธ
เราจะเห็นว่ามันมีพื้นที่ความเบา มันมีพื้นที่ความสบาย
มันมีความรู้สึกเหมือนกับใจพร้อมจะแผ่ผายออกไป ณ ขณะที่มันเจอเรื่องน่าโกรธนะ
แต่ถ้าเป็นแบบแต่ก่อน มันจะไม่มีพื้นที่เหลือเลย พื้นที่ทางความสุขมันจะหายไปหมด
มันจะเหมือนกับจิตของเรายับยู่ยี่ แล้วก็พร้อมที่จะเป็นฟืนเป็นไฟ
แต่เมื่อเรามีต้นทุนภายในเป็นเมตตา
ยิ่งแผ่เมตตาได้บ่อยขึ้นเท่าไหร่ ยิ่งแผ่เมตตาได้เก่งขึ้นเท่าไหร่
คุณจะพบว่ามีพื้นที่ภายในมันเกิดขึ้นแทนที่ความคับแคบแบบเดิมๆ
จากความพร้อมจะร้อนเป็นฟืนเป็นไฟ มันจะรู้สึกเลยนะว่าเกิดความเย็น
เกิดความพร้อมที่จะระงับดับความโกรธได้ง่ายๆ นะ
ผมตอบคำถามไหมครับ
ถาม - พอฟังว่าดิฉันเป็นคนแบบนี้ จะทำให้คุณดังตฤณไม่ชอบดิฉันหรือเปล่าคะ
ตรงข้ามเลยนะ ผมเห็นตัวเอง แล้วก็เห็นคนทั่วไป
แต่สิ่งที่ไม่เห็นก็คือคนทั่วไปเขาไม่กล้าถาม ไม่กล้าพูดแบบนี้นะ
คนที่กล้าพูดมันเป็นคนที่น่าเชื่อว่ามันจะเอาดีทางธรรมได้
คนที่กล้ายอมรับตัวเอง มันน่าเชื่อว่าวันหนึ่งมันจะมีสติรู้ตามจริง
ว่าเกิดอะไรขึ้นในตัวเอง แล้วก็เกิดอะไรขึ้นในเส้นทางที่เราจะพยายามยกระดับตัวเอง
เอาง่ายๆ นะ ถ้าเราถามคำถามนี้กับผมนะ
ผมบอกจริงๆ นะว่าถ้าเทียบกับคราวก่อนที่คุยกันตอนนี้มันดีขึ้น
คือใจมันสบายขึ้น ใจเหมือนกับมันกล้าพูดขึ้น กล้ายอมรับความจริงมากขึ้น
แล้วก็ไม่เห็นความยากลำบากหนักหนาที่จะมีสติมาบนเส้นทางนี้นะ
จากเดิมที่เราอาจคิดว่าไม่มีหวัง เราอาจคิดว่ามันเอาดีไม่ได้หรอก มันได้
แล้วใจที่มันสบายขึ้น มันจะบอกตัวเองว่า
ยิ่งเราอยู่บนเส้นทางนี้นานขึ้นเท่าไหร่ มันก็ยิ่งเกิดการพัฒนามากขึ้นเท่านั้น
ความต่อเนื่องคือความก้าวหน้า ถ้าหากว่าเรามาถูกทิศถูกทาง
และการถูกทิศถูกทางของวิถีการเจริญสติ
ก็คือการกล้ายอมรับสิ่งที่มันเกิดขึ้นกับตัวเอง
< Prev | Next > |
---|