ดังตฤณวิสัชนา Dungtrin's Answer
หากต้องร่วมงานกับคนเจ้าอารมณ์ ควรวางใจอย่างไรจึงจะไม่เป็นทุกข์
ถาม – ดิฉันไม่เคยฝึกสมาธิมาก่อน แต่ว่าจะต้องรับมือกับคนเจ้าโทสะในที่ทำงาน
ควรคิดอย่างไรให้ไม่ต้องร้อนรนไปตามเขาคะ
มันไม่สามารถที่จะปรับได้ด้วยความคิดนะ
ถ้าจะต้องอยู่ท่ามกลางคนเจ้าอารมณ์จริงๆ
มีทางเดียวคือเราจะต้องเจริญเมตตา
จะต้องทำให้จิตของเราเป็นที่ตั้งของความเยือกเย็นให้ได้ก่อน
มันต้องค่อยๆ สั่งสมไป แล้วจากนั้นเวลาที่ไปเจอเขา มันต้องเปรียบเทียบให้ทัน
คือมันมีสองชั้นนะ สองลำดับขั้น
ขั้นแรกสร้างความเย็นในตัวเราให้ได้ก่อน
สร้างความเมตตาจริง ๆ ในตัวเราให้ได้ก่อน
จะด้วยการสวดมนต์ จะด้วยการแผ่เมตตา
จะด้วยการนั่งสมาธิหรืออะไรก็แล้วแต่
จนกระทั่งใจของเราเกิดความรู้สึกถึงความเย็น
เกิดความรู้สึกว่าเป็นที่ตั้งของความเย็น
พอไปเจอเขา เราต้องมีสติให้ทันด้วย
ว่าฝั่งของเขามีความกระวนกระวาย มันจะเห็นเลยนะ
คือยิ่งจิตของเราว่างขึ้นเท่าไหร่ มีความเยือกเย็นขึ้นเท่าไหร่
มันจะเห็นเป็นคอนทราสต์ (contrast) ตัวความแตกต่างอย่างชัดเจน
ว่าของเราเย็น ของเขาร้อน ของเราสงบๆ อยู่ นิ่ง ๆ อยู่ เนียน ๆ อยู่
ของเขากระวนกระวายเหมือนกับมีคลื่นอะไรปุ๊บปั๊บๆ ดิ้นพล่านอยู่ตลอด
บางทีถึงแม้ว่ายังไม่ได้ฝึกมา
ทุกคนคงเคยมีประสบการณ์ไปเข้าใกล้คนเจ้าโทสะเจ้าอารมณ์บางคน
มองไปมันเหมือนมีอะไรดิ้นๆ อยู่ข้างในตัวเขา
เหมือนกับมีสิ่งมีชีวิตที่ชั่วร้ายอะไรบางอย่างมันเต้นพล่านอยู่ข้างใน
เราเห็น มันไม่ได้เห็นด้วยตาเปล่าแบบเหมือนกับมีรูปทรง แต่รู้สึกว่าเราเห็นอยู่จริงๆ
เช่นกันถ้าหากว่าใจของเราเย็นแล้วและรู้สึกถึงความร้อนในเขา
ใจของเรานิ่งแล้วและรู้สึกถึงความดิ้นพล่านในเขา
มันจะได้ข้อแตกต่าง เห็นความแตกต่าง
แต่ถ้าจิตเราใกล้เคียงกับเขานะ คือพร้อมที่จะโมโหเหมือนเขา
หรือว่าพร้อมที่จะร้อนได้เท่ากับเขา หรือไล่เลี่ยกับเขา
ถาม - ดิฉันก็พยายามยั้งตัวเองไว้ เพราะถ้าไปเถียงกับเขามันจะเหมือนน้ำมันราดกองไฟ
แต่ก็รู้สึกว่าข้างในใจนี่ร้อนขึ้นมากๆ
อันนั้นเป็นเรื่องรายละเอียดที่ว่าถ้าเราไปโต้เถียงเขาหรือว่าไปอะไร
แต่ที่ผมพูดถึงนี่กำลังพูดถึงภาวะทางใจที่เราสามารถสัมผัสได้ตั้งแต่เริ่มต้น
อย่างลองดู สวดมนต์บ่อยๆ เลยนะ สวดอิติปิโส
อิติปิ โส ภควา อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ สวดวันละสักสามจบเจ็ดจบ
แต่ละจบ ดูว่าบอกตัวเองว่ารอบนี้เรามีความฟุ้งซ่านแค่นี้
อีกรอบหนึ่งเรามีความฟุ้งซ่านน้อยลงหรือว่ามากขึ้น
เปรียบเทียบไปเป็นรอบๆ มันจะได้เปรียบเทียบกับตัวเองก่อน
ฝึกเปรียบเทียบกับตัวเองก่อนว่าจิตมีความดิ้นพล่านมากน้อยแค่ไหน
พอสามารถสังเกตได้ออก มันก็จะไปใช้ไปประยุกต์ตอนอยู่ต่อหน้าเขาได้เช่นกัน
คือเมื่ออยู่กับเขา เราจะรู้สึกทันทีเลยว่าของเราเย็นกว่า
ทั้งๆ ที่บางทีมันอาจจะไม่ได้เย็นแบบสงบนิ่งทีเดียวนะ
แต่อย่างน้อยเรารู้สึกถึงความต่าง ฝั่งเรามันมีความรู้สึกอยู่อย่างนี้
ฝั่งเขามันมีความรู้สึกอยู่อีกอย่างหนึ่งเป็นขั้วตรงข้าม
ทีนี้พอมันเริ่มร้อน เริ่มเครื่องร้อน เขาก็จะมีอาการเร่งๆ ขึ้นมา
เราก็จะรู้สึกได้ว่ามันร้อนมากขึ้น เราก็สำรวจใจตัวเอง
ถ้าหากว่าร้อนตามเขา ความเย็นมันจะเสียไป
เห็นเป็นภาพทางใจนะ ของเขามันเร่งๆ ของเรามันเร่งตามหรือเปล่า
ถ้าหากว่าเราตั้งใจไว้ตั้งแต่แรกว่าจะดู
เปรียบเทียบว่าของเราเย็นกว่าเขาแค่ไหน มันจะมีแก่ใจนะ
คือมีแก่ใจที่จะรู้สึกเข้ามาว่าของเราสงบได้มากกว่าเขาไหม เราดิ้นตามเขาไหม
แล้วมันจะเกิดความชอบใจ เมื่อเกิดความรู้สึกว่าเรายังเย็นอยู่
ไม่ได้ดิ้นตามเขา เข้าใจเป็นช็อตๆ (shot) นะ
ส่วนเรื่องที่ว่าจะพูดจาคัดง้างอะไร หรือว่าให้เหตุผลอะไรอย่างไร
อันนั้นเป็นรายละเอียดปลีกย่อยที่พ้นไปจากเรื่องของใจแล้ว
คือการให้เหตุผลมันเป็นไปตามสถานการณ์ที่เหมาะที่ควรที่เรารู้อยู่
แต่เรื่องทางใจ ตรงนี้ที่ไม่มีใครชี้ให้ดูเท่าไหร่
แล้วเราอาจจะเหมือนกับบางทีมันไม่รู้จะรู้ตรงไหน ถึงจะเรียกว่าการเจริญสติ
แต่ตัวนี้เมื่อเราเปรียบเทียบอยู่ว่าของเราเย็น ของเขาร้อน
ของเรากำลังนิ่งอยู่ ของเขากำลังดิ้นพล่าน แล้วเห็นว่าของเราไม่ได้ดิ้นตามเขา
เรียกว่าสติมันเจริญขึ้นแล้ว เพราะมันรู้ถึงภาวะที่กำลังปรากฏอยู่ในปัจจุบัน
คือไม่ได้จินตนาการเอา ไม่ได้คิดเอาว่าควรจะให้จิตเป็นอย่างไร
แต่ยอมรับตามจริงว่าถ้าจิตของเราดิ้นตามเขา เครื่องร้อนตามเขา
เรายอมรับ แล้วพอมันเริ่มแผ่วลงมา หรือว่ารู้สึกดีนะที่มันไม่ต้องเร่งตามเขา
ตรงนี้เรียกว่าของจริง ไม่ใช่ใช้จินตนาการ
< Prev | Next > |
---|