ดังตฤณวิสัชนา Dungtrin's Answer

ถ้าต้องอยู่ร่วมกับผู้ที่มีความคิดเป็นลบอยู่เสมอ ควรปฏิบัติตัวอย่างไร



ถาม – ถ้าหากเราต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้ที่ชอบคิดลบและวิพากษ์วิจารณ์ผู้อื่นในทางไม่ดี
เราจะทำอย่างไรให้ไม่ต้องมีส่วนร่วมกับความคิดลบๆ แบบนั้นคะ


เรื่องของการใกล้กับบุคคลที่มีความคิดเป็นลบ
มีวิธีเดียวนะครับที่เราจะอยู่รอดปลอดภัย
คือทำให้เขามีกำลังน้อยกว่าเราที่คิดเป็นตรงกันข้ามเขา

คือถ้าเราอยู่ใต้เขา คือเป็นฝ่ายรับฟัง แล้วก็ต้องคล้อยตาม
หรือถ้าเงียบแล้วเขาก็รุกหนักเพื่อให้เราจิตตกตามเขา นี่อันนี้เรียกว่าอยู่ใต้เขา
แต่ถ้าหากว่าเราจะอยู่เหนือเขา
ไม่ใช่ด้วยการมาเกร็งกำลังภายในกัน สู้กันด้วยการใช้อำนาจการใช้วิธีข่ม
แต่ต้องใช้ความคิดฝ่ายดี ความคิดในทางดีนะของเรา
เข้าไปค่อยๆ เคลียร์ ค่อยๆ ชะล้าง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่อยู่ด้วยกันทุกวันนี่มันมีโอกาสนะ



ก่อนอื่นตั้งจิตของเราให้เหมือนน้ำดี น้ำใส คิดว่า เออ น้ำใสหน้าตาเป็นอย่างไร
น้ำใสคือจิตมันไม่มีความคิดขุ่นมัว ไม่มีลักษณะของบาปเจือปนอยู่นะ อันนี้น้ำใส
แล้วเขาคือน้ำเสีย จิตของเขาเวลาที่คิดพูดถึงอะไรไม่ดี
หรือมีคำหยาบคาย คำอะไรที่มันร้ายๆ เรามองตรงนั้นเป็นน้ำเสีย
ถ้ามองได้อย่างนี้ก่อน เราจะเห็นเลยนะว่าพอคุยกันพอต้องโต้ตอบกัน
น้ำเสียของเขามาทำให้น้ำใสของเราสกปรก หรือว่าน้ำใสของเรามีปริมาณมากกว่า
แล้วก็สามารถชะล้างน้ำสกปรกออกจากใจเขาได้ ออกจากตัวเขาได้



เริ่มต้นขึ้นมา พอเอาละนะตั้งท่าขึ้นมา มีคำหยาบๆ คายๆ มีคำติฉินนินทา
มีคำที่มันว่าร้ายใครต่อใครนะ แล้วเราที่เป็นฝ่ายรับฟัง
คิดเสียว่าเป็นฝ่ายถูกกระทำก็ได้ มันมีอาการอย่างไร มันเป็นไปได้สองสามแบบนะ
หนึ่งคือมีอาการคัน แล้วก็อยากจะร่วมวิพากษ์วิจารณ์หรือว่าด่าทอไปกับเขาด้วย
สองคือมีอาการที่เหมือนกับเบื่อๆ ไม่อยากฟัง ไม่อยากที่จะไปโต้ตอบ
ไม่อยากที่จะไปร่วมวงร่วมอารมณ์อะไรกับเขาด้วย
แล้วสามคือมีความอยากจะเปลี่ยนเรื่อง ถ้ามีความอยากจะเปลี่ยนเรื่อง
อันนี้มันเป็นจุดเริ่มต้นที่น้ำของเราจะอยู่เหนือกว่าน้ำของเขาได้



ทีนี้การเปลี่ยนเรื่อง มันต้องมีความแยบคายนิดหนึ่ง
คือไม่ใช่อยู่ๆ ไปเปลี่ยนแบบหักมุม ในแบบที่เขากำลังเป็นรถมาเร็วๆ วิ่งร้อยหกสิบ
เราจะไปเบรกให้เปลี่ยนซ้ายหรือขวาทันที รถมันก็คว่ำนะ มันไม่ได้
เขาไม่อยากเบรกหรอกถ้าเขาวิ่งมาร้อยหกสิบนะ
เราต้องมีอะไรที่ทำให้เขาค่อยๆ ชะลอลง
ความเร็วจากร้อยหกสิบ ลงมาเหลือร้อยห้าสิบ ร้อยยี่สิบ แปดสิบ
อย่างนั้นมันถึงจะเริ่มพร้อมจะหันหัวรถนะไปทางขวาทางซ้ายตามที่เราชักจูงไปได้



ง่ายๆ เลยคือขึ้นต้นมา คุยกับเขาในแบบที่เขาอยากจะคุย
แต่ว่าคุยในแบบที่แทรกแง่ดี มีมุมมองอะไรที่เป็นคติ

มีมุมมองอะไรที่ทำให้เกิดความรู้สึกชะงักจากสภาพอันเป็นอกุศลดำมืด
ตรงนี้ฟังแล้วเหมือนจะยาก แต่ถ้าหากว่าเราค่อยๆ คิดนะ เรื่องเฉพาะหน้า
ยกตัวอย่างเช่น เขากำลังอยากจะด่าใครสักคนหนึ่ง
นินทาว่าเจ้านายเขาเนี่ยมันชั่วอย่างนั้นชั่วอย่างนี้ มันใช้ลูกน้องแบบไม่เห็นอกเห็นใจเลย
ก็อาจจะบอกว่า เออ เราก็เคยสำนึกเหมือนกันนะ เราก็เคยสำนึกผิด
พูดถึงตัวเองนะอย่าไปพูดถึงเขานะ คือบอกว่าแต่ก่อนฉันก็เคยเป็นแบบนี้เหมือนกัน
เหมือนกับเห็นคนอื่นเป็นเบี้ยล่าง อยากรังแกคนอื่น อะไรอย่างนี้นะ
แล้วก็พูดถึงความรู้สึกผิดของเรา แล้วก็พูดถึงการกลับตัวกลับใจอะไรของเรา
ซึ่งมันเป็นไปในทางกุศล นี่เรียกว่าเป็นการเชื่อมโยง
เอาอกุศลเข้ามานะแล้วหักเหเบี่ยงเบนให้มันกลายเป็นกุศล
ตอนที่พูดถึงความสำนึกผิด ตอนที่พูดถึงความรู้สึกว่า เออ เราจะระวังไม่ไปเป็นอย่างนั้น
นี่เป็นกุศลแล้ว นี่เป็นสติแล้วนะ



จากนั้นก็ค่อยๆ หันเหทิศทาง แล้วก็เปลี่ยนไปพูดเรื่องอื่นแบบแยบยล
อย่างนี้ถ้าทำบ่อยๆ ได้ แล้วก็ประสบความสำเร็จในการที่จะหันหัวเรื่องได้นะ

มันจะกลายเป็นเราเอาน้ำดีของเราฝ่ายเราเข้าไปท่วมทับน้ำเสียของเขา
แล้วเราจะรู้สึกได้เลยว่าน้ำดีของเรายังอยู่ แล้วน้ำของเขาก็ใสสะอาดขึ้น

คือมันจะเห็นเลยนะ สภาพจิตใจหรือว่าความรู้สึกนึกคิดอะไรที่มันออกมา
หลังจากที่เราสามารถเปลี่ยนจิตของเขาให้เป็นกุศล
ทุกอย่างมันต่างไปตั้งแต่การสนทนาที่อยู่ระหว่างกัน เห็นหน้ากัน
มันเห็นเลยว่าหน้าเขาผ่องขึ้น
หรือว่าคำพูดวิธีคิด วิธีที่จะเหมือนกับเพ่งโทษคนอื่น
มันกลายเป็นอะไรที่มีความดีงามมากขึ้นนะครับ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP