ดังตฤณวิสัชนา Dungtrin's Answer
หลังจากทำสมาธิแล้ว ทำไมยังมีความต้องการในกามอยู่
ถาม – หลังจากที่ผมทำสมาธิแล้ว พบว่าตนเองมีความต้องการในกามขึ้นมา
เกิดจากสาเหตุใดและควรแก้ไขอย่างไรครับ
คือพอพูดวิธีแก้แบบพระพุทธเจ้าแนะนำไปจริงๆ น่ะ ไม่มีใครอยากทำหรอก
แต่อันนี้ผมจะพูดเป็นคอนเซ็ปต์ (concept) นะ
ว่าการนั่งสมาธิไม่ใช่การที่เราไปกำจัดกามราคะนะครับ
การที่เรานั่งสมาธิอย่างถูกต้องเลยนะ จิตใสใจเบาเลย
มันเป็นการลดความต้องการทางกายลง
คืออันนี้เรายังไม่พูดถึงกามราคะนะ
เราพูดถึงความต้องการพึ่งพาทางกายเลยทีเดียวนะ
อย่างถ้าเราอยู่ในสมาธิ เราจะรู้สึกว่าความเบา ความนิ่ง ความใส
ตรงนั้นมันมีความน่าพิศวาส มีความน่าติดใจ
พูดง่ายๆ ว่าเราไปพิศวาสรสชาติทางจิตแทน ในกรณีที่เรานั่งสมาธิได้จริงๆ นะ
จากเดิมที่เรามีความรู้สึกอยู่ตลอดเวลาว่าอยากเห็นนั่น อยากฟังนี่
อยากเห็น ก็อยากเห็นรูปที่งามที่สุด หล่อที่สุด สวยที่สุด
อยากฟัง ก็อยากฟังเครื่องเสียงที่มันมหึมาที่สุดนะ อลังการที่สุด ฟังแล้วเพราะที่สุด
อยากกิน ก็อยากกินเนื้อ หรือว่าอยากกินอาหารจานโปรดนะ
ที่มีรสเปรี้ยวหวานมันเค็มที่มันเด็ดขาดที่สุด
อันนี้คือความอยากทางกาย
มันจะทำให้เกิดความรู้สึกว่าเราไม่อิ่ม เราไม่เบื่อในกามคุณ
กามคุณมีทั้ง ตา หู จมูก ลิ้น กาย นะครับ
แม้แต่คิดอะไรแล้วสนุก นั่นก็เป็นความติดใจที่มันเป็นกามได้เหมือนกันนะ
ถ้าเราตรึกนึกถึงสิ่งที่มันน่าติดใจทางผัสสะทั้ง ๕ อยู่
ล้วนแล้วแต่เป็นกามราคะทั้งสิ้น
ล้วนแล้วแต่เป็นกามคุณ ความติดในใจกามคุณ ๕ ทั้งสิ้นนะครับ
ทีนี้พอจิตได้เป็นอิสระจากผัสสะทั้ง ๕
มามีความรู้จักรสชาติของจิตที่เป็นอิสระ มีความวิเวก
มีความรู้สึกว่า เออ นี่เป็นความหวานชื่นอีกชนิดหนึ่ง
ตรงนั้นมันก็เลยถอนจากความต้องการทางกายไปชั่วคราว
แต่มันยังไม่ได้ถอนไปจากความติดใจในรสอันหวานชื่นทั้งหลายในกายใจนี้เลยแม้แต่นิดเดียว
คือมันแค่เปลี่ยนมุม เปลี่ยนแง่ของรสชาติความน่าติดใจ
จากเปรี้ยวหวานมันเค็มทางปากไปเป็นความรู้สึกวิเวก ไปเป็นรสแห่งความวิเวกทางจิต
หรือบางคนบางทีไม่ถึงรสแห่งความวิเวกทางจิตด้วยซ้ำ
แต่เป็นสมาธิในแบบที่โฟกัส (focus) ให้กล้ามเนื้อมันแข็งแรงขึ้น
ก็ไม่น่าแปลกใจว่าพอถอนออกจากสมาธิ
มันจะมีความรู้สึกเหมือนเนื้อตัวนี่มันพร้อม มันเหมือนกระทิงเปลี่ยว มันไปกระตุ้น
แล้วมันมีศาสตร์เลยนะ เกี่ยวกับศาสตร์ของโยคะ
เกี่ยวกับศาสตร์ของการทำสมาธิในแบบตะวันตก แบบใหม่ๆ ที่เขาคิดค้นกันขึ้นมา
เป็นสมาธิแบบที่จะกระตุ้นอารมณ์ทางเพศโดยเฉพาะ
มันมีเรื่องของต่อม มีเรื่องของอะไรหลายอย่างที่เขาให้ความรู้กันนะ
ว่ามันจะไปทำให้เกิดความคึกคักขึ้นมา
นี่คือพูดง่ายๆ ใช้สมาธิในการแก้โรคกามตายด้านในบางคนได้
พอเราทำความเข้าใจอย่างนี้
ว่าการทำสมาธิไม่ได้ประกันว่าเราจะหมดกามราคะ หรือว่ากามราคะจะเบาบางลง
ตรงข้ามเราไปปลุก ไปเร้าให้มันกระเตื้องขึ้นมายังได้เลยนะ
เราก็มาดูว่าถ้าเป็นแบบที่พระพุทธเจ้าท่านสอน ท่านสอนไว้อย่างไรเพื่อที่จะดับราคะ
ท่านสอนว่าพอเรามีความสามารถที่จะรู้สึกถึงลมหายใจได้
ท่านก็ให้ดูต่อว่าลมหายใจที่เข้าออกนี่ เข้าออกอยู่ในกายนี้
ยิ่งมีความรู้สึกถึงความเป็นกายนี้ได้ชัดขึ้นเท่าไหร่นะ
เห็นว่ามันอยู่ในอิริยาบถไหนตามจริง
เราก็จะสามารถใช้อิริยาบถนั้นมาคว้าน มาควานลงไปหาความจริงนะ
ว่าภาวะทางกายนี่มันน่าเสพสมจริงๆ
หรือว่ามันเต็มไปด้วยความแออัดยัดทะนานของสิ่งของสกปรก
คือถ้ามันมีนิมิตขึ้นมาตามจริงว่าทั้งกายนี้เต็มไปด้วยของสกปรกนะ
จิตจะไม่มีความยินดี จิตจะถอนออกมา จิตจะมีความไม่ปลื้มนะในรสแห่งกามคุณ
พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าผู้ที่เจริญอสุภกรรมฐาน
มีความสามารถที่จะเห็นกายนี้โดยความเป็นของสกปรกได้
จิตจะมีความวิเวก คือมันจะถอนออกมาจากอาการยึดกาย
แล้วก็มีความตั้งมั่นเป็นฌานได้ง่าย อันนี้คือจุดประสงค์ของอสุภกรรมฐาน
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นนะ พอเราเข้าใจเหตุเข้าใจปัจจัยแบบนี้
เราก็จะมองได้อีกว่าใครก็ตามจะมานั่งสมาธิให้เห็น เดินจงกรมให้เห็น
จะมีสมาธิอย่างไรก็ตาม
ถ้าไม่ได้พิจารณาเพื่อละความยึดติดในกายนี้นะ
มันก็ยังสามารถยินดีที่จะอยู่แบบฆราวาสได้ต่อไป
บางคนกลัวว่าถ้าขืนมาปฏิบัติธรรมภาวนาแล้วจะต้องเข้าป่าท่าเดียว
จริงๆ มันขึ้นอยู่กับว่าเรากำลังไปถึงไหนของจิต
จิตไปถึงไหนในเส้นทางธรรมนะครับ เพื่อความปล่อยวาง เพื่อความละ
อย่างฆราวาสเรา พูดกันง่ายๆ เลยนะเราตั้งเป้าเอาแค่โสดาฯกัน
เอาแค่ตัดความเห็นผิด ทิ้งออกไปให้ได้เด็ดขาดว่ากายใจนี้เป็นตัวเป็นตนนะ
การบรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน ยังไม่ต้องถึงขั้นปลีกวิเวกออกเข้าป่าเข้าเขา
ซึ่งมันก็เหมาะสมถ้าหากว่าเราจะอยู่ในโลกต่อแล้วก็ปฏิบัติธรรมไปด้วยนะ
คือไม่ได้คิดหวังขนาดที่จะไปตัดกามราคะให้สิ้น
เพราะไม่อย่างนั้นคนที่เขาอยู่กับเราก็จะลำบากนะ
มันก็จะเป็นความย้อนแย้งขัดแย้งกันนะ
บางคนบอกว่า โอ๊ย นี่ไม่อยากให้คู่ของตัวเองมาปฏิบัติธรรมเลย
ไม่มีอะไรกันเลย อะไรอย่างนี้นะ
อันนี้ก็เป็นเรื่องที่เราจะทราบด้วยตัวเองนะครับ
ว่าเรากำลังเจริญสติด้วยเงื่อนไขแบบไหน
ถ้ามีพันธะ ถ้ามีความผูกพันอยู่ เราก็ไม่ต้องปฏิบัติให้เหมือนกับพระนักก็ได้นะ
เอาแค่เป็นบางเวลา เป็นพาร์ทไทม์ (part-time) ยังไม่ต้องทำแบบฟูลไทม์ (full-time) นะครับ
แต่ถ้าเราไม่มีพันธะ เราโสด เราเดี่ยวอยู่ อันนั้นเต็มที่เลย
คือจัดหนักเลยนะ
ฆราวาสบางคนนะ ปฏิบัติถูกปฏิบัติตรงมา ใช้เวลาไม่นานนะ
เป็นหลักเดือน อาจได้มากกว่าพระที่บวชแล้วเป็นสิบๆ พรรษาเสียอีก
เพราะการที่อยู่ในภาวะไหน เพศไหนนะ เป็นเพศฆราวาสหรือเพศบรรพชิต
ไม่ได้ประกันเสมอไปว่าจะต้องประสบความสำเร็จในการภาวนานะครับ
มันขึ้นอยู่กับว่าเราภาวนาอย่างไร แล้วรู้ตัวว่าเราต้องการอะไรจริงๆ นะ
เพราะบางทีอย่างหลายคนนะครับบอกตั้งใจทำเต็มที่เลย แต่ก็ยังอ้อยอิ่งอาลัยนะ
ยังมีอาการที่อาลัยอาวรณ์กับความบันเทิงแบบโลกๆ อยู่
มันก็จะขัดแย้งกับตัวเองมากๆ เลยนะ
เพราะบางทีมันมีความต้องการขึ้นมา เอ๊ จะเอาดี ไม่เอาดี
เราต้องรู้ตัวนะว่า ณ ขณะหนึ่งๆ ช่วงหนึ่งๆ
เรากำลังต้องการอะไร โลกหรือว่าธรรมนะครับ
ถ้าเรารู้ตัวว่า เออ ขณะนี้เราต้องการแบบโลกๆ อยู่ ไม่ต้องไปฝืนอะไรมาก
แต่ถ้าเราต้องการธรรม ต้องการธรรมะ
ปฏิบัติในแบบพระพุทธเจ้าสอนให้เต็มที่
มันก็จะเหมือนกับเป็นพระในคราบฆราวาสได้นะครับ
< Prev | Next > |
---|