เล่าเรื่องเมืองพุทธ Lite Story
พระโปฐิละ
เคยได้ยินที่ว่า ความรู้ท่วมหัว เอาตัวไม่รอด ไหมคะ
สำนวนนี้หมายถึง คนที่ศึกษาจากตำรามามาก ๆ
แต่เอาเข้าจริง พอให้ลงมือทำก็ทำไม่ได้สักอย่าง
ในสมัยพุทธกาล มีพระภิกษุที่ศึกษาตำรามาก ๆ แต่ท่านยังไม่ลงมือปฏิบัติเสียที
พระพุทธองค์ท่าน จะเรียกภิกษุท่านนี้ว่า โปฐิละ
ซึ่งแปลว่า ใบลานเปล่า หรือคัมภีร์ที่ปราศจากตัวอักษร
ที่ไปที่มาเป็นอย่างไร
ขอน้อมอัญเชิญพระธรรมเทศนาของหลวงพ่อปราโมทย์
แสดงธรรมที่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ มาเล่าสู่กันฟังค่ะ
ในพระไตรปิฎกเนี่ยเคยพูดถึงพระองค์หนึ่งชื่อพระโปฐิละ
จริงๆ ท่านไม่ได้ชื่อโปฐิละ “โปฐิละ” แปลว่าใบลานเปล่า
ท่านคงมีชื่ออย่างอื่นๆ อย่างเช่นชื่อปราโมทย์ ชื่อไพศาล ชื่ออะไร อาจจะมีชื่อโก้ๆ อะไรอย่างนี้
แต่ว่าท่านเป็นพระนักปราชญ์ เรียนปริยัติมาก
ถ้าเป็นระดับพวกเรายุคนี้แล้วคงจบอภิธรรม จบมหาปัฏฐาน จบอะไรกันมาละ
แตกฉานปริยัติ เจนจบในพระไตรปิฎก แต่ท่านไม่ได้ปฏิบัติ
เวลาท่านไปเฝ้าฯ พระพุทธเจ้านะ พระพุทธเจ้าจะแกล้งท่าน จะเรียกท่านให้อาย
โปฐิละ โปฐิละ แปลว่าใบลานเปล่า
มีแต่คัมภีร์เปล่าๆ นะไม่มีตัวอักษร มีแต่หัวใจที่ไร้ธรรมะ
สำนวนถ้าให้ถูกต้องคือท่านจะด่าว่ามีแต่ใจที่ไร้ธรรมะ มีแต่ความจำธรรมะ
ทีนี้พระโปฐิละอายนะ โดนเรียกหลายๆ ที ท่านอาย
ท่านเลยลาพระพุทธเจ้าขอไปปฏิบัติกรรมฐานบ้าง
ท่านแตกฉานปริยัติมากนะ เรียนเจนจบพระไตรปิฎก
แล้วไม่ได้จบจากพระพุทธเจ้าองค์เดียวนะ จบจากพระพุทธเจ้าหลายพระองค์มาแล้ว
ชาติใดเกิดไปเจอพระพุทธเจ้านะ ก็จะไปเรียนอย่างนี้แหละ
แตกฉานมากเลย เป็นอาจารย์สอนตำรับตำราเชี่ยวชาญมากเลย แต่ภาวนาไม่เป็น
ทำไมภาวนาไม่เป็น เพราะว่าตำรามันเยอะเกินไป ไม่รู้จะเริ่มต้นที่ไหน
ตำราเยอะแยะใช่ไหม คัมภีร์ อย่างแค่สมถกรรมฐานมีตั้ง ๔๐ อย่างเนี่ย
จะเจริญสติปัฏฐาน มีอารมณ์ตั้งเยอะแยะ
กายก็มีตั้งเยอะ เวทนาก็มีเยอะ จิตก็มีเยอะ ธัมมานุปัสสนาก็มีอีกเยอะแยะเลย
ไม่รู้จะทำอะไร เยอะแยะไปหมด ไม่รู้จะเริ่มยังไง
พระโปฐิละนี่ก็ออกไปอยู่ ตระเวนไปนะ หาใครจะสอนกรรมฐานท่านได้
คล้ายๆ มีคัมภีร์อยู่หนึ่งตู้เนี่ย สิ่งที่ท่านต้องการตอนนี้คือกุญแจที่จะไขตู้คัมภีร์ให้ได้
อะไรเป็นคีย์ ที่จะไขเข้าไปสู่ธรรมะในใจได้
ท่านตระเวนไปถึงที่วัดแห่งหนึ่งเป็นวัดป่า ท่านเข้าไปหาอาจารย์ใหญ่เลยนะ
“ท่านอาจารย์ ผมขอมาเรียนกรรมฐาน”
อาจารย์มองหน้า เอ๊ะ บอก “โอ้ ผมไม่มีปัญญาสอนท่านหรอก ท่านแตกฉาน ความรู้ท่านเยอะกว่าผมอีก
ผมไม่รู้เลยนะ จิต เจตสิก รูป นิพพาน อะไร ไม่รู้ชื่อหรอกนะ ท่านรู้มากกว่าผม ผมสอนท่านไม่ได้หรอก”
ทีนี้ท่านก็ไม่มีทิฐิมานะนะ ท่านไปหาพระลำดับที่รองลงไป
ขอเรียนกรรมฐานนะ ไม่มีองค์ไหนสอนท่านสักองค์เลย
จนกระทั่งในที่สุดนะ ถึงเณรที่เล็กที่สุดในวัด อายุ ๗ ขวบเอง
ไปบอก “เณร ช่วยสอนกรรมฐานให้หลวงพ่อหน่อยเถอะ หลวงพ่ออยากเรียนกรรมฐาน”
เณรบอก “ท่านอาจารย์ ท่านอาจารย์น่ะ ดังมากนะ ถ้าผมสั่งอะไรแล้วอาจารย์เชื่อนะ ผมถึงจะยอม”
เนี่ยหนังจีนเอามาจากตรงนี้นะ ก่อนจะรับเป็นลูกศิษย์ใช่ไหม ต้องทดสอบก่อน
จงคุกเข่าอยู่นี่นะ อย่าลุกขึ้นมานะ พอดีอาจารย์ไปเที่ยวแล้วลืม กลับมา นี่ตายไปเลย
แต่เณรนี่ไม่ใช่นะ เณรพอบอก “ท่านอาจารย์ต้องเชื่อฟังผมนะ”
ท่านพระโปฐิละบอก “ผมจะเชื่อท่าน”
เณรสั่งเลย “ท่านอาจารย์ใส่จีวรแพรสวยงามราคาแพงเนี่ย สวยจังเลย
ท่านอาจารย์ลุยลงน้ำไปเลย อย่าถอดจีวรนะ เอาจีวรลุยลงไปด้วย”
ท่านใจเด็ดนะ ท่านเชื่อฟังคำสั่งเณร ท่านลุยน้ำจริงๆ เลย
พอชายผ้าแตะน้ำนะเณรบอก “ท่านอาจารย์หยุดก่อน ที่ริมฝั่งน้ำนี้มีจอมปลวกอยู่จอมปลวกหนึ่ง
มีรูอยู่หกรูนะ มีเหี้ยตัวหนึ่ง” ขอใช้คำภาษาดั้งเดิมนะ ไม่รู้จะใช้คำว่าอะไร ตัวเงินตัวทอง ฟังแล้วยาว เสียเวลา
“มีเหี้ยตัวหนึ่งอยู่ในจอมปลวกนี้ มีรูเข้าออกได้หกรู ถ้าท่านอาจารย์จะจับเหี้ยตัวนี้ให้ได้นะ
ท่านอาจารย์ปิดรูซะห้ารูนะ เหลือไว้รูเดียว เดี๋ยวท่านอาจารย์ก็จับได้”
เณรขยับจะพูดต่อ ท่านพระโปฐิละว่า “พอแล้วท่านอาจารย์ เข้าใจละ”
พวกเราเข้าใจไหม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หกรูนะ
ตากระทบใช่ไหม พอตากระทบรูปมันก็เข้ามาที่ใจใช่ไหม
หูกระทบเสียงมันก็เข้ามาที่ใจ
เณรสอนนี่ไม่ได้แปลว่าให้ปิดหู ปิดตา ปิดจมูก เหมือนที่พวกเราปิดตอนนี้
ไม่ได้ให้ปิดหู ปิดตา ปิดจมูก ปิดลิ้น ปิดกาย ไม่ใช่
แต่คำสอนของเณรก็คือเมื่อมีการกระทบอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แล้วนี่ ให้รู้ทันที่ใจ
หรือเกิดการกระทบอารมณ์ทางใจ ก็รู้ทันใจของตัวเองไป
เพราะฉะนั้นท่านได้กุญแจของการปฏิบัติแล้ว
ท่านรู้ลงมาที่ใจตัวเองได้แล้ว
พอท่านหัดมา มาตรงนี้นะ ต่อไปท่านไปฟังธรรมของพระพุทธเจ้านิดเดียวนะ
ท่านได้พระอรหันต์ แตกฉานมากด้วย เพราะเรียนมาเยอะ
เพราะฉะนั้นกุญแจสำคัญนะ ที่พวกเราจะไขเข้าไปสู่ธรรมะ
พวกเราเรียนธรรมะกันมากมายเหลือเกิน ถ้าเมื่อไหร่เราเรียนเข้ามาได้ถึงจิตถึงใจตัวเอง
รู้ทันถึงจิตถึงใจตัวเองเนี่ย เราใกล้เคียงกับธรรมะละ
เพราะอะไร เพราะธรรมะอยู่ที่ใจเรานะ
_/|\_ _/|\_ _/|\_
< Prev | Next > |
---|