ธรรมะจากพระสูตร Dhamma from Sutta
ธัมมัญญสูตร ว่าด้วยผู้รู้จักธรรม
กลุ่มไตรปิฎกสิกขา
[๖๕] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๗ ประการ
เป็นผู้ควรของคำนับ ควรของต้อนรับ ควรแก่ทักษิณา
ควรทำอัญชลี เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งไปกว่า
ธรรม ๗ ประการเป็นไฉน คือ
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นธัมมัญญู รู้จักธรรม ๑
อัตถัญญู รู้จักอรรถ ๑ อัตตัญญู รู้จักตน ๑ มัตตัญยู รู้จักประมาณ ๑
กาลัญญู รู้จักกาล ๑ ปริสัญญู รู้จักบริษัท ๑
ปุคคลโรปรัญญู รู้จักเลือกคบคน ๑
ภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเป็นธัมมัญญูอย่างไร
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้ธรรม คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ
คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาตกะ อัพภูตธรรม เวทัลละ
หากภิกษุ ไม่พึงรู้จักธรรม คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ
คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาตกะ อัพภูตธรรม เวทัลละ
ก็ไม่พึงเรียกว่าเป็น ธัมมัญญู
แต่เพราะภิกษุรู้ธรรม คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ
คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาตกะ อัพภูตธรรม เวทัลละ
ฉะนั้นจึงเรียกว่าเป็นธัมมัญญู ภิกษุเป็นธัมมัญญู ด้วยประการฉะนี้.
ก็ภิกษุเป็นอัตถัญญูอย่างไร
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้จักเนื้อความแห่งภาษิตนั้น ๆ ว่า
นี้เป็นเนื้อความแห่งภาษิตนี้ นี้เป็นความหมายแห่งภาษิตนี้
หากภิกษุไม่พึงรู้เนื้อความแห่งภาษิตนั้น ๆ ว่า
นี้เป็นเนื้อความแห่งภาษิตนี้ นี้เป็นความหมายแห่งภาษิตนี้
ก็ไม่พึงเรียกว่าเป็นอัตถัญญู
แต่เพราะภิกษุรู้เนื้อความแห่งภาษิตนั้น ๆ ว่า
นี้เป็นเนื้อความแห่งภาษิตนี้ นี้เป็นความหมายแห่งภาษิตนี้
ฉะนั้น จึงเรียกว่าเป็นอัตถัญญู
ภิกษุเป็นธัมมัญญู อัตถัญญู ด้วยประการฉะนี้.
ก็ภิกษุเป็นอัตตัญญูอย่างไร
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้จักตนว่า เราเป็นผู้มีประมาณเท่านี้
ด้วยศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา ปฏิภาณ
ถ้าภิกษุไม่พึงรู้จักตนว่า เราเป็นผู้มีประมาณเท่านี้
ด้วยศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา ปฏิภาณ
ก็ไม่พึงเรียกว่าเป็นอัตตัญญู
แต่เพราะภิกษุรู้จักตนว่า เราเป็นผู้มีประมาณเท่านี้
ด้วยศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา ปฏิภาณ
ฉะนั้น จึงเรียกว่าเป็นอัตตัญญู
ภิกษุเป็นธัมมัญญู อัตถัญญู อัตตัญญู ด้วยประการฉะนี้.
ก็ภิกษุเป็นมัตตัญญูอย่างไร
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้จักประมาณในการรับจีวร บิณฑบาต
เสนาสนะ และคิลานปัจจยยเภสัชบริขาร
หากภิกษุไม่พึงรู้จักประมาณในการรับจีวร บิณฑบาต
เสนาสนะ และคิลานปัจจยยเภสัชบริขาร ก็ไม่พึงเรียกว่าเป็นมัตตัญญู
แต่เพราะภิกษุรู้จักประมาณในการรับจีวร บิณฑบาต
เสนาสะ และคิลานปัจจยยเภสัชบริขาร ฉะนั้น จึงเรียกว่าเป็นมัตตัญญู
ภิกษุเป็นธัมมัญญู อัตถัญญู อัตตัญญู มัตตัญญู ด้วยประการฉะนี้.
ก็ภิกษุเป็นกาลัญญูอย่างไร
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้จักกาลว่า นี้เป็นกาลแห่งการเล่าเรียน
นี้เป็นกาลแห่งการสอบถาม นี้เป็นกาลประกอบความเพียร นี้เป็นกาลหลีกเร้น
หากภิกษุไม่พึงรู้จักกาลว่า นี้เป็นกาลแห่งการเล่าเรียน นี้เป็นกาลแห่งการสอบถาม
นี้เป็นกาลประกอบความเพียร นี้เป็นกาลหลีกเร้น ก็ไม่พึงเรียกว่าเป็นกาลัญญู
แต่เพราะภิกษุรู้จักกาลว่า นี้เป็นกาลแห่งการเล่าเรียน นี้เป็นกาลแห่งการสอบถาม
นี้เป็นกาลประกอบความเพียร นี้เป็นกาลหลีกเร้น ฉะนั้น จึงเรียกว่าเป็นกาลัญญู
ภิกษุเป็นธัมมัญญู อัตถัญญู อัตตัญญู มัตตัญญู กาลัญญู ด้วยประการฉะนี้.
ก็ภิกษุเป็นปริสัญญูอย่างไร
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้จักบริษัทว่า นี้บริษัทกษัตริย์ นี้บริษัทคฤหบดี นี้บริษัทสมณะ
ในบริษัทนั้น ๆ เราพึงเข้าไปหาอย่างนี้ พึงยืนอย่างนี้
พึงทำอย่างนี้ พึงนั่งอย่างนี้ พึงกล่าวอย่างนี้ พึงนิ่งอย่างนี้
หากภิกษุไม่รู้จักบริษัทว่า นี้บริษัทกษัตริย์ นี้บริษัทคฤหบดี นี้บริษัทสมณะ
ในบริษัทนั้น ๆ เราพึงเข้าไปหาอย่างนี้ พึงยืนอย่างนี้ พึงทำอย่างนี้
พึงนั่งอย่างนี้ พึงกล่าวอย่างนี้ พึงนิ่งอย่างนี้ ก็ไม่พึงเรียกว่าเป็นปริสัญญู
แต่เพราะภิกษุรู้จักบริษัทว่า นี้บริษัทกษัตริย์ นี้บริษัทคฤหบดี นี้บริษัทสมณะ
ในบริษัทนั้น ๆ เราพึงเข้าไปหาอย่างนี้ พึงยืนอย่างนี้ พึงทำอย่างนี้
พึงนั่งอย่างนี้ พึงกล่าวอย่างนี้ พึงนิ่งอย่างนี้ ฉะนั้น จึงเรียกว่าเป็นปริสัญญู
ภิกษุเป็นธัมมัญญู อัตถัญญู อัตตัญญู มัตตัญญู กาลัญญู ปริสัญญู ด้วยประการฉะนี้.
ก็ภิกษุเป็นปุคคลปโรปรัญญูอย่างไร
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้รู้จักบุคคล ๒ จำพวก
บุคคล ๒ จำพวก คือ พวกหนึ่งต้องการเห็นพระอริยะ
พวกหนึ่งไม่ต้องการเห็นพระอริยะ
บุคคลที่ไม่ต้องการเห็นพระอริยะ พึงถูกติเตียนด้วยเหตุนั้น ๆ
บุคคลที่ต้องการเห็นพระอริยะ พึงได้รับความสรรเสริญด้วยเหตุนั้น ๆ
บุคคลที่ต้องการเห็นพระอริยะก็มี ๒ จำพวก คือ
พวกหนึ่งต้องการจะฟังสัทธรรม พวกหนึ่งไม่ต้องการฟังสัทธรรม
บุคคลที่ไม่ต้องการฟังสัทธรรม พึงถูกติเตียนด้วยเหตุนั้น ๆ
บุคคลที่ต้องการฟังสัทธรรม พึงได้รับความสรรเสริญด้วยเหตุนั้น ๆ
บุคคลที่ต้องการฟังสัทธรรมก็มี ๒ จำพวก คือ
พวกหนึ่งตั้งใจฟังธรรม พวกหนึ่งไม่ตั้งใจฟังธรรม
บุคคลที่ไม่ตั้งใจฟังธรรม พึงถูกติเตียนด้วยเหตุนั้น ๆ
บุคคลที่ตั้งใจฟังธรรม พึงได้รับความสรรเสริญด้วยเหตุนั้น ๆ
บุคคลที่ตั้งใจฟังธรรมก็มี ๒ จำพวก คือ
พวกหนึ่งฟังแล้วทรงจำธรรมไว้ พวกหนึ่งฟังแล้วไม่ทรงจำธรรมไว้
บุคคลที่ฟังแล้วไม่ทรงจำธรรมไว้ พึงถูกติเตียนด้วยเหตุนั้น ๆ
บุคคลที่ฟังแล้วทรงจำธรรมไว้พึงได้รับความสรรเสริญด้วยเหตุนั้น ๆ
บุคคลที่ฟังแล้วทรงจำธรรมไว้ก็มี ๒ จำพวก คือ
พวกหนึ่งพิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้
พวกหนึ่งไม่พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้
บุคคลที่ไม่พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ พึงถูกติเตียนด้วยเหตุนั้น ๆ
บุคคลที่พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ พึงได้รับความสรรเสริญด้วยเหตุนั้น ๆ
บุคคลที่พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ก็มี ๒ จำพวก คือ
พวกหนึ่งรู้อรรถรู้ธรรมแล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม
พวกหนึ่งหารู้อรรถรู้ธรรมแล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมไม่
บุคคลที่หารู้อรรถรู้ธรรมแล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมไม่ พึงถูกติเตียนด้วยเหตุนั้น ๆ
บุคคลที่รู้อรรถรู้ธรรมแล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม พึงได้รับความสรรเสริญด้วยเหตุนั้น ๆ
บุคคลที่รู้อรรถรู้ธรรมแล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ก็มี ๒ จำพวก คือ
พวกหนึ่งปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตน ไม่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ผู้อื่น
พวกหนึ่งปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตนและเพื่อประโยชน์ผู้อื่น
บุคคลที่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตน ไม่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ผู้อื่น พึงถูกติเตียนด้วยเหตุนั้น ๆ
บุคคลที่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตนและเพื่อประโยชน์ผู้อื่น พึงได้รับความสรรเสริญด้วยเหตุนั้น ๆ
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้รู้จักบุคคล ๒ จำพวกอย่างนี้แล
ภิกษุเป็นปุคคลปโรปรัญญูด้วยประการฉะนี้
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๗ ประการนี้แล
เป็นผู้ควรของคำนับ ควรของต้อนรับ ควรแก่ทักษิณา
ควรทำอัญชลี เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งไปกว่า.
ธัมมัญญสูตร จบ
(ธัมมัญญสูตร พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต
พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ ๓๗)
< Prev | Next > |
---|