ดังตฤณวิสัชนา Dungtrin's Answer
จะทราบได้อย่างไรว่าการปฏิบัติของเรามาถูกทาง
ถาม - จะทราบได้อย่างไรว่าการปฏิบัติของเรามาถูกทาง
และการปฏิบัติที่แท้จริงคือการเจริญสติ
เพื่อให้จิตตั้งมั่นมากขึ้นไปเรื่อยๆ ตลอดทั้งวันใช่ไหมคะ
ไม่ใช่นะครับ ความตั้งมั่นของจิตนี่
เราพูดกันแบบเนื้อๆ เลยนะ คือเพื่อที่จะไม่อ้อมค้อมนะ
ถ้าจะตั้งมั่นอยู่ได้ทั้งวันได้ จิตต้องเป็นฌาน
จิตต้องอยู่ในอีกฐานะหนึ่งนะ คือไม่ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องทางโลก
ไม่ได้ทำมาหากิน แล้วก็ไม่ได้ต้องมาคิดวุ่นวายอะไรกับการหากินหาอยู่
การเจริญสติแบบฆราวาส ใช้ชีวิตอยู่ในเมือง แล้วตั้งเป้าจะเอาความตั้งมั่นให้ได้ทั้งวัน
ผมว่าผิดทางอย่างเด็ดขาดเลย โดยเฉพาะสำหรับคนส่วนใหญ่นะ
คือคนสองคนจะทำได้ หนึ่งในพัน หนึ่งในหมื่นทำได้ อนุโมทนาด้วยนะ
แต่สำหรับคนส่วนใหญ่เท่าที่ผมเจอมานะ
แล้วก็ดูก็จากตัวเองด้วยนะครับ นี่บอกเลยนะ
การที่เราใช้ชีวิตแบบโลกๆ อยู่ แล้วจะไปมุ่งหมายนะเอาความตั้งมั่นของจิต
ผิดทางครับ มันเป็นการตั้งโจทย์ที่ผิด
ผมไม่เคยเห็นนะ เอาเป็นว่าผมไม่เคยเห็นในชีวิตผมนะ
คนที่อยู่แบบโลกๆ คือทำมาหากิน หาอยู่หากิน
แล้วก็จะต้องมีความครุ่นคิดไปเรื่องโน้นเรื่องนี้ เรื่องคน เรื่องอยู่เรื่องกินนะ
แล้วจะมีจิตตั้งมั่นเหมือนกับคนที่ถือศีลแปด
หรือว่าไปอยู่ที่วัด ปลีกวิเวก ไม่มีหน้าที่ภาระการงาน
ผมไม่เคยเห็นเลยนะครับ ถ้าหากใครเคยเห็น อันนี้อนุโมทนานะ
ไม่ใช่บอกว่าคำพูดของผมคือกฎเกณฑ์ตายตัว
แต่เอาเป็นว่าเท่าที่เห็นมา ไม่เคยมีนะ
ถ้าหากว่าเราจะวัดว่าการปฏิบัติของเราว่ามาถูกทาง ด้วยการเอาจิตที่ตั้งมั่นเป็นหลัก
หลวงตามหาบัวท่านยังเคยพูดเลย บอกว่าขนาดตอนช่วงท่านปฏิบัติ
ปฏิบัติอยู่ป่าอยู่เขานะ จิตมันยังเสื่อมได้เลย
นี่ขนาดพระป่าท่านปฏิบัติอย่างอุกฤษฏ์นะ แล้วก็แบบที่ว่าเอาชีวิตเข้าแลกละ
ยังไม่สามารถรักษาความตั้งมั่นของจิตไว้ได้ มันต้องมีขึ้น มันต้องมีลง
การที่เราจะมามุ่งหมายเอาจิตตั้งมั่นในขณะใช้ชีวิตฆราวาส
มันจะถูกหรือ ขอให้มองไว้อย่างนี้
เพื่อที่จะวัดว่าการปฏิบัติของเรามาถูกทาง
เรื่องของสมาธิ เรื่องของความตั้งมั่นของจิต
มันเป็นส่วนหนึ่งที่ว่าถ้าเกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ นะ
เกิดขึ้นเป็นวันๆ เกิดขึ้นเป็นช่วงๆ เกิดขึ้นเป็นอาทิตย์ๆ
อันนั้นดีมากเลย อันนั้นเป็นจุดที่บอกได้ว่า
เรากำลังมีจิตที่เรียกว่าเป็นจิตแบบน้ำขึ้น ถ้ารีบตักได้นี่แจ๋วเลยนะ
แต่การคาดหวังว่าจะไม่ให้มันถอยเลย อันนี้ก็ถือว่าเป็นความเข้าใจผิด
ทีนี้เพื่อที่จะให้ตัวเองสบายใจนะ
ก็ดูว่าแต่ละครั้งที่มันมีความยึดมั่นถือมั่น หรือเกิดกิเลสขึ้นมา
ใจมันพุ่งไปในทางเอา หรือว่าพุ่งไปในทางที่จะถอน พุ่งไปในทางที่จะถอย
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าหากว่าเราเคยมีความโกรธที่แรง เราเคยมีความน้อยใจที่มากนะ
เราเคยมีความไม่สบายใจ มีความขัดเคืองอยู่ตลอดเวลาอยู่เนืองๆ
แล้วเราปฏิบัติไปปฏิบัติมา ความขัดเคืองแบบเดิมมันเกิดขึ้น เกิดขึ้นแบบเดิมเป๊ะเลย
แต่ใจเราเอาไหมความโกรธนั้น
หรือว่าใจเรามีความชอบ คือมีฉันทะที่จะดูว่าความโกรธนี่สักแต่เป็นสภาวะ
เหมือนกับไฟที่ถูกจุดขึ้นด้วยการขัดสีของขอนไม้สองขอนนะ
เราสามารถเห็นได้ไหมว่าเมื่อเหตุมันดับไป คือการกระทบกระทั่งมันดับไปแล้ว
เราสามารถเห็นได้ไหมว่าไฟในใจของเรามันดับลง
แล้วไม่เอามาเผาตัวเองต่อ ไม่เอาไฟที่ควรจะดับไปแล้ว มาเผาตัวเองต่อ
ถ้าหากว่าอาการของใจของเรา ถอยออก ถอนออกจากกิเลสนะ
ไม่ว่าจะเป็นโลภะ โทสะ หรือโมหะ
นี่แหละนะบอกตัวเองเดี๋ยวนั้นเลยว่านี่คือเรียกว่ามาถูกทาง
ยิ่งมาถูกทางแบบนี้มากขึ้นเท่าไร เรายิ่งใกล้เป้าหมายขึ้นไปมากขึ้นเท่านั้น
แต่ถ้าหากว่าเราตั้งเป้าไว้ ตั้งโจทย์ไว้ว่าจะให้จิตนี่มีความตั้งมั่นให้จงได้
มีแต่จะเอาๆ จะเอาจิตตั้งมั่นให้ได้
จิตมันก็เท่ากับไปสร้างอะไรขึ้นมาอย่างหนึ่ง เพื่อที่จะให้ยึด
ยึดว่าเราจะต้องมีอย่างนั้น เราจะต้องมีอย่างนี้
ถึงจะดี ถึงจะได้ ถึงจะนับว่าก้าวหน้า ถึงจะนับว่าเจริญ
แบบนี้ไม่ถูกแน่นอน มันเป็นอาการยึดน่ะ ไม่ใช่อาการคลาย
มันเป็นโมหะอย่างหนึ่ง ทำไม่ได้แต่จะเอาให้ได้นะ
มันจะไปถูกทางได้อย่างไรนะ ขอให้มองอย่างนี้
< Prev | Next > |
---|