ดังตฤณวิสัชนา Dungtrin's Answer

ทำอย่างไรจะอยู่ร่วมกับผู้ที่มีโทสะแรงได้อย่างสบายใจที่สุด



ถาม – ถ้าต้องอยู่ร่วมกับผู้มีพระคุณที่เป็นคนขี้โมโห มีอารมณ์ขึ้นลงง่าย
มักด่าว่าคนใกล้ตัวอย่างรุนแรงในเรื่องไม่เป็นเรื่อง
ทำอย่างไรจึงจะอยู่ร่วมกันได้อย่างสบายใจที่สุดคะ


ก็คือเราอย่าไปตั้งความคาดหวังหรือตั้งเป้าไว้ในแบบที่เป็นไปไม่ได้
คือการอยู่ร่วมกับใครสักคนหนึ่งนี่นะ
มันบอกได้อย่างหนึ่งว่าเรามีผลของกรรมที่จะต้องรับอย่างไร
ถ้าอยู่กับคนขี้หงุดหงิดง่ายแล้วก็ชอบมีวาจาเสียดแทง
ซึ่งว่าไปแล้วก็เกือบทุกคนในโลกนั่นแหละ
ผมว่าไม่มีใครนะที่ไม่เคยอยู่ร่วมกับคนประเภทนี้
อย่างน้อยสักช่วงชีวิตหนึ่ง มันต้องมีแหละ
แล้วมันไม่ใช่ความบังเอิญ สายสัมพันธ์ระหว่างญาติ ระหว่างคนที่มีบุญคุณกับเรา
หรือระหว่างคนใกล้ชิดสนิทที่จะมีอิทธิพลทางใจกับเรา
มันส่องสะท้อนว่าเราก็เคยทำกับใครบางคนหรือหลายๆ คนมาแบบนั้นเช่นกัน
ไม่อย่างนั้นไม่มีทางเจอหรอก ไม่อย่างนั้นไม่มีทาง อยู่ๆ นี่ถูกจับวางตัวมาไว้
อยู่ในที่ที่จะได้รับความร้อน ได้รับไอร้อนจากคนขี้หงุดหงิดนะ มันไม่มีความบังเอิญหรอก



แต่ในที่สุดแล้วทุกอย่างมันจะต้องต่างไป
ความไม่เที่ยง ความไม่อาจจะอยู่ยั้งค้ำฟ้าของคนเรา
ทำให้เราทำใจไว้ได้ว่าวันหนึ่งทุกอย่างจะต้องต่างไปแน่ๆ ไม่ช้าก็เร็วแหละ
การที่เราไปตั้งความคาดหวังกับตัวเองไว้ว่า
อยู่ใกล้กับคนขี้หงุดหงิดแล้ว เราจะไม่ได้รับความกระทบกระเทือน
ไม่ได้รับความกระทบกระทั่งทางใจ หรือเราจะไม่พลอยหงุดหงิดตาม
อันนี้ไม่ใช่วิสัย มันเป็นการตั้งเป้าผิดๆ ซึ่งเราจะไม่มีวันสมหวัง



แต่ถ้าตั้งเป้าไว้ว่าการอยู่กับคนขี้หงุดหงิดจะเป็นแบบฝึกหัด เป็นบทเรียน
หรือว่าเป็นหลักสังเกต เป็นจุดสังเกตว่าใจของเรานี่มันพลอยร้อนรน
หรือว่ากระทั่งเป็นฟืนเป็นไฟขึ้นมาได้บ่อยๆ
คือตั้งเป้าไว้ต่างกันนะ ไม่ได้ตั้งเป้าไว้ว่าเราจะไม่หงุดหงิดตามคนประเภทนี้
แต่ตั้งเป้าเอาไว้ว่าเราจะอาศัยเป็นเครื่องฝึกหัด

สังเกตดูว่าเวลาที่เรามีความขัดเคืองตามเขา ตามเสียง ตามสีหน้า
ตามอากัปกิริยาท่าทางที่มีความร้อน ที่เต็มไปด้วยความร้อนแล้ว
ใจของเรานี่มันลุกเป็นไฟตามเขา หรือว่ามีความขัดเคือง มีความระคายได้แค่ไหน
เมื่อสามารถสังเกตว่าใจของเรามีความร้อนได้แค่ไหน มีความระคายได้เพียงใด
เราก็จะเป็นผู้ค่อยๆ สังเกตไปด้วยว่า
อาการระคายหรือว่าอาการร้อนแบบนั้นนะ มันอยู่ได้นานแค่ไหน


ซึ่งถ้าหากว่าเราสังเกตอยู่เรื่อยๆ ทุกวัน
เราจะพบว่าสติที่เราสั่งสมในการใช้สังเกต ใช้ไปสังเกต
มันจะค่อยๆ แก่กล้าขึ้นมา
เอาอะไรมาวัดความแก่กล้า เอาตัวที่มันเห็นโทสะ
เห็นความหงุดหงิด เห็นความขัดเคืองที่เกิดขึ้นแต่ละครั้งนั่นแหละ
มันอยู่ได้ไม่นาน อยู่ได้ในเวลาสั้นลงเรื่อยๆ
หรือการที่เราสามารถสังเกตจิตสังเกตใจของเราในขณะเกิดความโมโหได้ออก
เวลาที่มีของกระทบกระทั่งพวกนี้เข้ามานะ
เรามองเข้าไปได้ว่าจิตของเราไปผูกไปยึด
หรือว่าเก็บมาคิดต่อ เก็บมาขัดเคืองมากน้อยเพียงไร
พูดง่ายๆ เห็นอาการผูกพันระหว่างใจกับเสียงหรือว่าสีหน้าของเขา



ถ้าหากว่าเราเริ่มรู้สึกว่าการอยู่ใกล้คนที่มีแต่โทสะ มีแต่ควันไฟ
มันทำให้เห็นทั้งความไม่เที่ยงและเห็นทั้งอาการผูกของจิตของใจนะ
ของใจเรานี่กับสิ่งร้อนๆ มันต่างไป มันเปลี่ยนไปได้เรื่อยๆ
ตามความสมัครใจ ตามความกระตือรือร้นที่จะสังเกต
เราจะนึกขอบคุณเขาขึ้นมาในวันหนึ่ง
ในวันหนึ่งที่เราเก่งพอที่จะเห็นความขัดเคืองของตัวเองสักแต่เป็นสภาวะ
สภาวะหมายความว่าอะไร หมายความว่ามีสีหน้าสีตาของเขา
หรือว่ามีสุ้มเสียงของเขามากระทบ
แล้วเกิดความขัดเคืองอยู่แล้วๆ เล่าๆ นั่นแหละ
แต่ความขัดเคืองนั้นแสดงทั้งความไม่เที่ยง
แสดงทั้งความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนออกมาชัดขึ้นทุกที
มันได้ความรู้ มันได้ปัญญา มันได้สติกับตัวเราเอง



นี่คือหลักการง่ายๆ เลยที่จะแปรเปลี่ยนของลบให้กลายเป็นของบวก
เปลี่ยนความรู้สึกแย่ๆ กับใครบางคนให้กลายเป็นความรู้สึกที่ดีกับเขา
แล้วใจที่เกิดความรู้สึกดีๆ กับเขาจริงๆ
มันจะเป็นใจที่มีเมตตาอย่างแท้จริงออกมานะ

ทุกครั้งที่เกิดความขัดเคือง เราจะยิ่งเกิดความรู้สึกว่า
เออ มีโอกาสฝึก แล้วโอกาสฝึกเรื่อยๆ นะ
มันเปลี่ยนเป็นความรู้สึกขอบคุณขึ้นมา


อันนี้คือใจความสรุป แต่ย้ำอีกครั้งหนึ่ง
ห้ามไม่ให้ตั้งเป้าไว้ว่าจะอยู่กับคนแบบนี้โดยไม่หงุดหงิด
แต่ให้ตั้งเป้าไว้ว่าเราจะหงุดหงิดโดยมีสติรู้
ว่าแต่ละครั้งความหงุดหงิดมีอะไรให้เราดูบ้าง ตามหลักของการเจริญสตินะ
แล้วในที่สุดเราจะเป็นผู้มีความเมตตาออกมาอย่างเหลือเชื่อทีเดียว
เป็นความมหัศจรรย์ของการเจริญสติ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP