ธรรมะจากพระสูตร Dhamma from Sutta
ทุติยสัญญาสูตร ว่าด้วยสัญญาที่เจริญแล้วมีผลมาก
กลุ่มไตรปิฎกสิกขา
[๔๖] ภิกษุทั้งหลาย สัญญา ๗ ประการนี้ อันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว
ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด
๗ ประการเป็นไฉน คือ อสุภสัญญา ๑ มรณสัญญา ๑
อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑ สัพพโลเกอนภิรตสัญญา ๑ อนิจจสัญญา ๑
อนิจเจทุกขสัญญา ๑ ทุกเขอนัตตสัญญา ๑
ภิกษุทั้งหลาย ก็ข้อที่กล่าวดังนี้ว่า อสุภสัญญา อันภิกษุเจริญแล้ว
กระทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก
หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด เรากล่าวแล้วเพราะอาศัยอะไร
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุมีใจอันอบรมแล้วด้วยอสุภสัญญาอยู่โดยมาก.
จิตย่อมหวนกลับ งอกลับ ถอยออกจากการร่วมเมถุนธรรม
ไม่ยื่นไปรับการร่วมเมถุนธรรม อุเบกขาหรือความเป็นของปฏิกูลย่อมตั้งอยู่
เหมือนขนไก่หรือเส้นเอ็นที่เขาใส่ลงในไฟ ย่อมหด งอเข้าหากัน ไม่คลี่ออก ฉันใด
ฉันนั้นนั่นแหละ เมื่อภิกษุมีใจอบรมแล้วด้วยอสุภสัญญาอยู่โดยมาก
จิตย่อมหวนกลับ งอกลับ ถอยออกจากการร่วมเมถุนธรรม
ไม่ยื่นไปรับการร่วมเมถุนธรรม อุเบกขาหรือความเป็นของปฏิกูลย่อมตั้งอยู่
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเมื่อภิกษุมีใจอันไม่อบรมแล้วด้วยอสุภสัญญาอยู่โดยมาก
จิตย่อมไหลไปในการร่วมเมถุนธรรม หรือความเป็นของไม่ปฏิกูลย่อมตั้งอยู่ไซร้
ภิกษุพึงทราบข้อนั้นดังนี้ว่า อสุภสัญญาอันเราไม่เจริญแล้ว
ความแตกต่างทั้งเบื้องต้นและเบื้องปลายของเราก็ไม่มี ผลแห่งภาวนาของเราไม่ถึงที่
เพราะฉะนั้น ภิกษุนั้นจึงต้องเป็นผู้รู้ทั่วถึงในอสุภสัญญานั้น
ภิกษุทั้งหลาย ก็ถ้าเมื่อภิกษุมีใจอบรมแล้วด้วยอสุภสัญญาอยู่โดยมาก
จิตย่อมหวนกลับ งอกลับ ถอยออกจากการร่วมเมถุนธรรม
ไม่ยื่นไปรับการร่วมเมถุนธรรม อุเบกขาหรือความเป็นของปฏิกูลย่อมตั้งอยู่ไซร้
ภิกษุพึงทราบข้อนั้นดังนี้ว่า อสุภสัญญาอันเราเจริญแล้ว
ความแตกต่างทั้งเบื้องต้นและเบื้องปลายของเรามีอยู่ ผลแห่งภาวนาของเราถึงที่แล้ว
เพราะฉะนั้น ภิกษุนั้นย่อมเป็นผู้รู้ทั่วถึงในอสุภสัญญานั้น
ข้อที่กล่าวดังนี้ว่า ภิกษุทั้งหลาย อสุภสัญญา อันภิกษุเจริญแล้ว
กระทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก
หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด เรากล่าวแล้วเพราะอาศัยข้อนี้.
ก็ข้อที่กล่าวดังนี้ว่า ภิกษุทั้งหลาย มรณสัญญา อันภิกษุเจริญแล้ว
กระทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก
หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด เรากล่าวแล้วเพราะอาศัยอะไร
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุมีใจอบรมแล้วด้วยมรณสัญญาอยู่โดยมาก
จิตย่อมหวนกลับ งอกลับ ถอยออกจากการรักชีวิต ไม่ยื่นไปรับความรักชีวิต
อุเบกขาหรือความเป็นของปฏิกูลย่อมตั้งอยู่
เหมือนขนไก่หรือเส้นเอ็นที่เขาใส่ลงในไฟ ย่อมหด งอเข้าหากัน ไม่คลี่ออก ฉันใด
ฉันนั้นนั่นแหละ เมื่อภิกษุมีใจอบรมแล้วด้วยมรณสัญญาอยู่โดยมาก
จิตย่อมหวนกลับ งอกลับ ถอยออกจากการรักชีวิต ไม่ยื่นไปรับความรักชีวิต
อุเบกขาหรือความเป็นของปฏิกูลย่อมตั้งอยู่
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเมื่อภิกษุมีใจอันไม่อบรมแล้วด้วยมรณสัญญาอยู่โดยมาก
จิตย่อมไหลไปในความรักชีวิต หรือความเป็นของไม่ปฏิกูลย่อมตั้งอยู่ไซร้
ภิกษุพึงทราบข้อนั้นดังนี้ว่า มรณสัญญาอันเราไม่เจริญแล้ว
ความแตกต่างทั้งเบื้องต้นและเบื้องปลายของเราก็ไม่มี ผลแห่งภาวนาของเรายังไม่ถึงที่
เพราะฉะนั้น ภิกษุนั้นจึงต้องเป็นผู้รู้ทั่วถึงในมรณสัญญานั้น
ภิกษุทั้งหลาย ก็ถ้าเมื่อภิกษุมีใจอันอบรมแล้วด้วยมรณสัญญาอยู่โดยมาก
จิตย่อมหวนกลับ งอกลับ ถอยออกจากการรักชีวิต ไม่ยื่นไปรับความรักชีวิต
อุเบกขาหรือความเป็นของปฏิกูลย่อมตั้งอยู่ไซร้
ภิกษุพึงทราบข้อนั้นดังนี้ว่า มรณสัญญาอันเราเจริญแล้ว
ความแตกต่างทั้งเบื้องต้นและเบื้องปลายของเรามีอยู่ ผลแห่งภาวนาของเราถึงที่แล้ว
เพราะฉะนั้น ภิกษุนั้นย่อมเป็นผู้รู้ทั่วถึงในมรณสัญญานั้น
ข้อที่กล่าวดังนี้ว่า มรณสัญญา อันภิกษุเจริญแล้ว
กระทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก
หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด เรากล่าวแล้วเพราะอาศัยข้อนี้.
ก็ข้อที่กล่าวดังนี้ว่า ภิกษุทั้งหลาย อาหาเรปฏิกูลสัญญา อันภิกษุเจริญแล้ว
กระทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก
หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด เรากล่าวแล้วเพราะอาศัยอะไร
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุมีใจอันอบรมแล้วด้วยอาหาเรปฏิกูลสัญญาอยู่โดยมาก
จิตย่อมหวนกลับ งอกลับ ถอยออกจากตัณหาในรส ไม่ยื่นไปรับตัณหาในรส
อุเบกขาหรือความเป็นของปฏิกูลย่อมตั้งอยู่
เหมือนขนไก่หรือเส้นเอ็นที่เขาใส่ลงในไฟ ย่อมหดงอเข้าหากันไม่คลี่ออก ฉันใด
ฉันนั้นนั่นแหละ เมื่อภิกษุมีใจอันอบรมแล้วด้วยอาหาเรปฏิกูลสัญญาอยู่โดยมาก
จิตย่อมหวนกลับ งอกลับ ถอยออกจากตัณหาในรส ไม่ยื่นไปรับตัณหาในรส
อุเบกขาหรือความเป็นของปฏิกูลย่อมตั้งอยู่
ภิกษุทั้งหลายถ้าเมื่อภิกษุมีใจอันไม่อบรมแล้วด้วยอาหาเรปฏิกูลสัญญาอยู่โดยมาก
จิตย่อมไหลไปในตัณหาในรส หรือความเป็นของไม่ปฏิกูลย่อมตั้งอยู่ไซร้
ภิกษุพึงทราบข้อนั้นดังนี้ว่า อาหาเรปฏิกูลสัญญาอันเราไม่ได้เจริญแล้ว
ความแตกต่างทั้งเบื้องต้นและเบื้องปลายของเราไม่มี ผลแห่งภาวนาของเรายังไม่ถึงที่
เพราะฉะนั้น ภิกษุนั้นจึงต้องเป็นผู้รู้ทั่วถึงในอาหาเรปฏิกูลสัญญานั้น
ภิกษุทั้งหลาย ก็ถ้าเมื่อภิกษุมีใจอันอบรมแล้วอาหาเรปฏิกูลสัญญาอยู่โดยมาก
จิตย่อมหวนกลับ งอกลับ ถอยออกจากตัณหาในรส ไม่ยื่นไปรับตัณหาในรส
อุเบกขาหรือความเป็นของปฏิกูลย่อมตั้งอยู่ไซร้
ภิกษุพึงทราบข้อนั้นดังนี้ว่า อาหาเรปฏิกูลสัญญาอันเราเจริญแล้ว
ความแตกต่างทั้งเบื้องต้นและเบื้องปลายของเรามีอยู่ ผลแห่งภาวนาของเราถึงที่แล้ว
เพราะฉะนั้น ภิกษุนั้นย่อมเป็นผู้รู้ทั่วถึงในอาหาเรปฏิกูลสัญญานั้น
ข้อที่กล่าวดังนี้ว่า ภิกษุทั้งหลาย อาหาเรปฏิกูลสัญญา อันภิกษุเจริญแล้ว
กระทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก
หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด เรากล่าวแล้วเพราะอาศัยข้อนี้.
ก็ข้อที่กล่าวดังนี้ว่า ภิกษุทั้งหลาย สัพพโลเกอนภิรตสัญญาอันภิกษุเจริญแล้ว
กระทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก
หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด เรากล่าวแล้วเพราะอาศัยอะไร
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุมีใจอันอบรมแล้วด้วยสัพพโลเกอนภิรตสัญญาอยู่โดยมาก
จิตย่อมหวนกลับ งอกลับ ถอยออกจากความวิจิตรแห่งโลก
ไม่ยื่นไปรับความวิจิตรแห่งโลก อุเบกขาหรือความเป็นของปฏิกูลย่อมตั้งอยู่
เหมือนขนไก่หรือเส้นเอ็นที่เขาใส่ลงในไฟ ย่อมหด งอเข้าหากัน ไม่คลี่ออก ฉันใด
ฉันนั้นนั่นแหละ เมื่อภิกษุมีใจอบรมแล้วด้วยสัพพโลเกอนภิรตสัญญาอยู่โดยมาก
จิตย่อมหวนกลับ งอกลับ ถอยกลับจากความวิจิตรแห่งโลก
ไม่ยื่นไปรับความวิจิตรแห่งโลก อุเบกขาหรือความเป็นของปฏิกูลย่อมตั้งอยู่
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเมื่อภิกษุมีใจอันไม่อบรมแล้วด้วยสัพพโลเกอนภิรตสัญญาอยู่โดยมาก
จิตย่อมไหลไปในความวิจิตรแห่งโลก หรือความเป็นของไม่ปฏิกูลย่อมตั้งอยู่ไซร้
ภิกษุพึงทราบข้อนั้นดังนี้ว่า สัพพโลเกอนภิรตสัญญาอันเราไม่เจริญแล้ว
ความแตกต่างทั้งเบื้องต้นและเบื้องปลายของเราไม่มี ผลแห่งภาวนาของเรายังไม่ถึงที่
เพราะฉะนั้น ภิกษุนั้นจึงต้องเป็นผู้รู้ทั่วถึงในสัพพโลเกอนภิรตสัญญานั้น
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเมื่อภิกษุมีใจอบรมแล้วด้วยสัพพโลเกอนภิรตสัญญาอยู่โดยมาก
จิตย่อมหวนกลับ งอกลับ ถอยออกจากความวิจิตรแห่งโลก
ไม่ยื่นไปรับความวิจิตรแห่งโลก อุเบกขาหรือความเป็นของปฏิกูลย่อมตั้งอยู่ไซร้
ภิกษุพึงทราบข้อนั้นดังนี้ว่า สัพพโลเกอนภิรตสัญญาอันเราเจริญแล้ว
ความแตกต่างทั้งเบื้องต้นและเบื้องปลายของเรามีอยู่ ผลแห่งภาวนาของเราถึงที่แล้ว
เพราะฉะนั้น ภิกษุนั้นจึงเป็นผู้รู้ทั่วถึงในสัพพโลเกอนภิรตสัญญานั้น
ข้อที่กล่าวดังนี้ว่า ภิกษุทั้งหลาย สัพพโลเกอนภิรตสัญญา อันภิกษุเจริญแล้ว
กระทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก
หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด เรากล่าวแล้วเพราะอาศัยข้อนี้.
ก็ข้อที่กล่าวดังนี้ว่า ภิกษุทั้งหลาย อนิจจสัญญา อันภิกษุเจริญแล้ว
กระทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก
หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด เรากล่าวแล้วเพราะอาศัยอะไร
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุมีใจอันอบรมแล้วด้วยอนิจจสัญญาอยู่โดยมาก
จิตย่อมหวนกลับ งอกลับ ถอยกลับ ไม่ยื่นไปรับในลาภสักการะและความสรรเสริญ
อุเบกขาหรือความเป็นของปฏิกูลย่อมตั้งอยู่
เหมือนขนไก่ หรือเส้นเอ็นที่เขาใส่ลงในไฟย่อมหด งอเข้าหากัน ไม่คลี่ออก ฉันใด
ฉันนั้นนั่นแหละ เมื่อภิกษุมีใจอบรมแล้วด้วยอนิจจสัญญาอยู่โดยมาก
จิตย่อมหวนกลับ งอกลับ ถอยกลับ ไม่ยื่นไปรับในลาภสักการะและความสรรเสริญ
อุเบกขาหรือความเป็นของปฏิกูลย่อมตั้งอยู่
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเมื่อภิกษุมีใจอันไม่อบรมแล้วด้วยอนิจจสัญญาอยู่โดยมาก
จิตย่อมไหลไปในลาภสักการะและความสรรเสริญ หรือความเป็นของไม่ปฏิกูลย่อมตั้งอยู่ไซร้
ภิกษุพึงทราบข้อนั้นดังนี้ว่า อนิจจสัญญาอันเราไม่เจริญแล้ว
ความแตกต่างทั้งเบื้องต้นและเบื้องปลายของเราไม่มี ผลแห่งภาวนาของเรายังไม่ถึงที่
เพราะฉะนั้น ภิกษุนั้นจึงต้องเป็นผู้รู้ทั่วถึงในอนิจจสัญญานั้น
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเมื่อภิกษุมีใจอบรมแล้วด้วยอนิจจสัญญาอยู่โดยมาก
จิตย่อมหวนกลับ งอกลับ ถอยกลับไม่ยื่นไปรับลาภสักการะและความสรรเสริญ
อุเบกขาหรือความเป็นของปฏิกูลย่อมตั้งอยู่ไซร้
ภิกษุพึงทราบข้อนั้นดังนี้ว่า อนิจจสัญญาอันเราเจริญแล้ว
ความแตกต่างถึงเบื้องต้นและเบื้องปลายของเรามีอยู่ ผลแห่งภาวนาของเราถึงที่แล้ว
เพราะฉะนั้น ภิกษุนั้นย่อมเป็นผู้รู้ทั่วถึงในอนิจจสัญญานั้น
ข้อที่กล่าวดังนี้ว่า ภิกษุทั้งหลาย อนิจจสัญญา อันภิกษุเจริญแล้ว
กระทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก
หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด เรากล่าวแล้วเพราะอาศัยข้อนี้.
ก็ข้อที่กล่าวดังนี้ว่า ภิกษุทั้งหลาย อนิจเจทุกขสัญญาอันภิกษุเจริญแล้ว
กระทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก
หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด เรากล่าวแล้วเพราะอาศัยอะไร
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุมีใจอบรมแล้วด้วยอนิจเจทุกขสัญญาอยู่โดยมาก
ภยสัญญา (ความสำคัญว่าเป็นภัย) อย่างแรงกล้าย่อมปรากฏ
ในความเฉื่อยชา ในความเกียจคร้าน ในความท้อถอย ในความประมาท
ในการไม่ประกอบความเพียร ในการไม่พิจารณา
เหมือนภยสัญญาปรากฏในเพชฌฆาตที่เงื้อดาบขึ้น ฉะนั้น
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเมื่อภิกษุมีใจอันไม่อบรมแล้วด้วยอนิจเจทุกขสัญญาอยู่โดยมาก
ภยสัญญาอย่างแรงกล้าย่อมไม่ปรากฏในความเฉื่อยชา ในความเกียจคร้าน
ในความท้อถอย ในความประมาท ในการไม่ประกอบความเพียร ในการไม่พิจารณาไซร้
ภิกษุพึงทราบข้อนั้นดังนี้ว่า อนิจเจทุกขสัญญาอันเราไม่เจริญแล้ว
ความแตกต่างทั้งเบื้องต้นและเบื้องปลายของเราไม่มี ผลแห่งภาวนาของเรายังไม่ถึงที่
เพราะฉะนั้น ภิกษุนั้นจึงต้องเป็นผู้รู้ทั่วถึงในอนิจเจทุกขสัญญานั้น
ภิกษุทั้งหลาย ก็ถ้าเมื่อภิกษุมีใจอบรมแล้วด้วยอนิจเจทุกขสัญญาอยู่โดยมาก
ภยสัญญาอย่างแรงกล้าย่อมปรากฏในความเฉื่อยชา ในความเกียจคร้าน
ในความท้อถอย ในความประมาท ในการไม่ประกอบความเพียร ในการไม่พิจารณา
เหมือนภยสัญญาปรากฏในเพชฌฆาตที่เงื้อดาบขึ้นฉะนั้นไซร้
ภิกษุพึงทราบข้อนั้นดังนี้ว่า อนิจเจทุกขสัญญาอันเราเจริญแล้ว
ความแตกต่างถึงเบื้องต้นและเบื้องปลายของเรามีอยู่ ผลแห่งภาวนาของเราถึงที่แล้ว
เพราะฉะนั้น ภิกษุนั้นย่อมเป็นผู้รู้ทั่วถึงในอนิจเจทุกขสัญญานั้น
ข้อที่กล่าวดังนี้ว่า ภิกษุทั้งหลาย อนิจเจทุกขสัญญา อันภิกษุเจริญแล้ว
กระทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก
หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด เรากล่าวแล้วเพราะอาศัยข้อนี้.
ก็ข้อที่กล่าวดังนี้ว่า ภิกษุทั้งหลาย ทุกเขอนัตตสัญญา อันภิกษุเจริญแล้ว
กระทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก
หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด เรากล่าวแล้วเพราะอาศัยอะไร
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุมีใจอบรมแล้วด้วยทุกเขอนัตตสัญญาอยู่โดยมาก
ย่อมมีใจปราศจากทิฏฐิว่าเรา ตัณหาว่าของเรา
และความถือตัวทั้งในร่างกายที่มีใจครองนี้และสรรพนิมิตในภายนอกได้
ก้าวล่วงกิเลส ๓ ประการ สงบระงับ หลุดพ้นได้เป็นอย่างดี
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเมื่อภิกษุมีใจอันไม่อบรมแล้วด้วยทุกเขอนัตตสัญญาอยู่โดยมาก
ใจย่อมไม่ปราศจากทิฏฐิว่าเรา ตัณหาว่าของเรา
และความถือตัวทั้งในร่างกายที่มีใจครองนี้และสรรพนิมิตในภายนอก
ไม่ก้าวล่วงกิเลส ๓ ประการ ไม่สงบระงับ ยังไม่หลุดพ้นด้วยดีไซร้
ภิกษุพึงทราบข้อนั้นดังนี้ว่า ทุกเขอนัตตสัญญาอันเราไม่เจริญแล้ว
ความแตกต่างทั้งเบื้องต้นและเบื้องปลายของเราก็ไม่มี ผลแห่งภาวนาของเรายังไม่ถึงที่
เพราะฉะนั้น ภิกษุนั้นจึงต้องเป็นผู้รู้ทั่วถึงในทุกเขอนัตตสัญญานั้น
ภิกษุทั้งหลาย ก็ถ้าว่าเมื่อภิกษุมีใจอบรมแล้วด้วยทุกเขอนัตตสัญญาอยู่โดยมาก
ย่อมมีใจปราศจากทิฏฐิว่าเรา ตัณหาว่าของเรา
และความถือตัวทั้งในร่างกายที่มีใจครองนี้และสรรพนิมิตในภายนอกได้
ก้าวล่วงกิเลส ๓ ประการ สงบระงับ หลุดพ้นได้เป็นอย่างดีไซร้
ภิกษุพึงทราบข้อนั้นดังนี้ว่า ทุกเขอนัตตสัญญาอันภิกษุเจริญแล้ว
กระทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก
หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด เรากล่าวแล้วเพราะอาศัยข้อนี้.
ภิกษุทั้งหลาย สัญญา ๗ ประการนี้แล อันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว
ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด.
ทุติยสัญญาสูตร จบ
หมายเหตุ ๑. “อสุภสัญญา” แปลว่า กำหนดหมายความไม่งามแห่งร่างกาย
๒. “มรณสัญญา” แปลว่า กำหนดหมายความตายที่จะต้องมาถึงเป็นธรรมดา
๓. “อาหาเรปฏิกูลสัญญา” แปลว่า กำหนดหมายความเป็นปฏิกูล (ไม่งาม น่าเกลียด) ในอาหาร
๔. “สัพพโลเก อนภิรตสัญญา” แปลว่า กำหนดหมายความไม่น่าเพลิดเพลินในโลกทั้งปวง
๕. “อนิจจสัญญา” แปลว่า กำหนดหมายความไม่เที่ยงแห่งสังขาร
๖. “อนิจเจทุกขสัญญา” แปลว่า กำหนดหมายความเป็นทุกข์ในความไม่เที่ยงแห่งสังขาร
๗. “ทุกเขอนัตตสัญญา” แปลว่า กำหนดหมายความเป็นอนัตตาในความเป็นทุกข์
(ทุติยสัญญาสูตร พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต
พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ ๓๗)
< Prev | Next > |
---|