ดังตฤณวิสัชนา Dungtrin's Answer

เราสามารถฝึกเจริญสติด้วยตนเองโดยไม่มีครูบาอาจารย์ได้ไหม



ถาม – ถ้าผมจะฝึกเจริญสติด้วยตนเองโดยฟังและอ่านจากสื่อต่างๆ
แต่ไม่มีครูบาอาจารย์ที่สอนโดยตรงแบบพบหน้ากัน ไม่ทราบว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ครับ
เพราะเคยได้ยินมาว่าจะต้องมีอาจารย์คอยสอนและสอบอารมณ์
ถ้าทำเองได้ ช่วยแนะนำวิธีการและสิ่งที่ควรและไม่ควรปฏิบัติด้วยครับ

แล้วจะทราบได้อย่างไรว่ามาเราถูกทางและก้าวหน้าหรือไม่


การทำเองนี่มันเป็นไปไม่ได้หรอกนะที่เราจะไม่ได้มีการรับคำสอนมาจากใครไว้ก่อน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการเจริญสติเพื่อที่จะบรรลุมรรคบรรลุผลนะครับ
ก็จำเป็นที่จะต้องมีกัลยาณมิตร เช่นพระพุทธเจ้าเป็นครู
ถ้าเราคิดอยู่ในใจ ทำไว้ในใจว่าเรามีพระพุทธเจ้าเป็นครู อันนั้นใช้ได้
แต่ถ้าบอกว่าทำเอง แล้วอ่านจากทางโน้นทีทางนี้ทีนะ อันนี้ก็ไม่รู้ว่าใครเป็นครูกันแน่



เราทุกคนต้องมีครู ทีนี้ครูไม่จำเป็นต้องมาพูดสอนอยู่ต่อหน้าต่อตาเสมอไป
อย่างเช่นพระพุทธเจ้า ท่านก็ไม่อยู่แล้วนะครับ
พระอรหันต์สาวกครั้งสมัยพุทธกาลก็ไม่อยู่แล้ว
ต่างดับขันธปรินิพพานไปกันทั้งหมดทั้งสิ้นแล้วนะ
เหลือแต่ครูบาอาจารย์ร่วมสมัย
ซึ่งก็ค่อนข้างยากนะที่เราจะไปหาครูบาอาจารย์ท่านมาคอยชี้แนะ
คอยกระหนาบคอยสั่งสอนอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน
เช่นเดียวกับครั้งที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่
อย่างพระพุทธเจ้า ท่านตรัสเทศน์ให้คนร้อยคนฟังนะ
ท่านสามารถใช้ความสามารถเฉพาะพระองค์
ทำให้คนร้อยคนฟังแล้วเข้าใจไป หรือว่าเห็น หรือว่าได้ยินพระองค์ท่านตรัสแตกต่างกัน
เหมือนกับการที่ท่านสามารถปรากฏพระวรกายในที่ต่างๆ ได้
หลายแห่งในเวลาเดียวกันอะไรแบบนั้นนะ



ในยุคเรา ถ้าคิดนะว่าเราฟังซีดี เราอ่านธรรมะของหลวงปู่หลวงพ่อครูบาอาจารย์ท่านใด
แล้วก็นับท่านเป็นครูบาอาจารย์ด้วยใจเคารพจริงๆ นะ
ก็เหมือนกับมีท่านมาสอนนั่นแหละ ไม่ได้แตกต่างกันมากเท่าไหร่นะ
เพราะว่าถึงท่านมาสอน ท่านก็คงไม่ได้สอนอยู่ตลอดเวลานะ
คนที่จะไปร่ำเรียนกับครูบาอาจารย์ที่จะคอยดูให้เราอยู่ตลอดเวลา
ว่าเราไปถึงไหน ถูกหรือผิดนี่นะ
ก็จะเป็นพวกที่ต้องไปบวช แล้วก็อยู่กับท่านจริงๆ
หรือไม่ก็ต้องเข้าคอร์สเข้าอบรมนะ



ซึ่งถ้าหากว่า ในกรณีของครูบาอาจารย์ที่ท่านสอนถูกแน่ๆ
ท่านผ่านทุกขั้นทุกตอนมาแล้วแน่ๆ ท่านหมดกิเลสแล้วแน่ๆ นี่ก็ดีเหมือนกัน
ก็คือท่านสามารถเห็น เห็นเป็นมุมมองจากเบื้องบนนะ
ว่าการเดินทางของเรามาถึงไหนแล้ว
แต่ละจุดของแผนที่นี่ท่านจะรู้ ท่านจะทะลุมาหมดแล้ว
ก็สามารถที่จะมองออก อ่านได้ว่าจุดที่เรายืนอยู่หรือเดินทางมาถึงน่ะ
มันอยู่ตรงไหน จะต้องเลี้ยวซ้ายหรือเลี้ยวขวาต่อ
จะต้องเดินหน้าหรือว่าถอยหลังบ้างเพื่อที่จะไม่ให้ตกเหว
ท่านก็จะบอกเราได้เป็นเรื่องๆ



แต่ว่าครูบาอาจารย์ประเภทนั้นนะ คือนอกจากหายากแล้ว
ถึงแม้ว่าเราจะไปอยู่ใกล้ท่านก็ไม่ใช่ท่านจะยอมสอนอยู่ตลอดเวลาง่ายๆ นะ
ท่านก็กลัวเราจะเป็นเด็กไม่ยอมโต ก็อาจจะให้คำแนะนำไม่แตกต่างจากที่เราเคยได้ยิน
หรือว่าได้อ่านคำสอนของพวกท่านจากทางหนังสือหรือว่าจากทางซีดีนั่นแหละ
ไม่ได้แตกต่างกันเลย ให้คำแนะนำไปแล้วไปปฏิบัติเอา



พูดง่ายๆ สรุปก็คือว่าโอกาสที่เราจะได้รับการสอบอารมณ์ที่ถูกต้องจากผู้รู้แท้จริง
ไม่ใช่หาได้ง่ายๆ จะบอกว่าอย่าไปหาดีกว่านะ ก็พูดอย่างนี้ก็ได้เหมือนกัน
เพราะว่าถ้าไปตั้งความหวังหรือว่าจะไปหาอะไรแบบนั้น
ลองคิดดู มีคนอยู่ เอาไม่มากทั้งประเทศเลยนะ เอาแค่หมื่นคนอย่างนี้
แล้วมีครูบาอาจารย์ที่ทำได้อย่างนั้นจริงๆ อยู่แค่สักสิบคนนะ
ก็แปลว่าต้องแบกรับภาระกันเป็นพันต่อคนนะ



ส่วนเรื่องการสอบอารมณ์ในลักษณะที่ถามมาแล้วตอบไปปากเปล่า
ก็ถ้าเป็นไปในแนวทางที่เราถูกกับอัธยาศัยก็โอเคนะ
แต่ระมัดระวังนิดหนึ่งแล้วกัน
เพราะบางทีการที่จะไปให้ใครบอกนะครับ
ว่าเราทำมาถูกหรือผิดแค่ไหนอย่างไรนี่นะ
ถ้าหากว่าสื่อสารกันไม่ตรงจริงๆ หมายความว่าเราเล่าอย่างหนึ่ง
แล้วท่านตอบมาอย่างหนึ่ง ด้วยความเข้าใจด้วยมุมมองอีกแบบหนึ่งนะ
มันก็กลายเป็นคำแนะนำที่ผิดพลาดไปได้เหมือนกัน
แล้วก็ทำให้เรานอกจากไม่ก้าวหน้าแล้ว อาจจะมีอาการที่ผิดปกติบางอย่างได้ด้วย



เพราะฉะนั้นคือโดยสรุปแล้วก็คือว่า
ถ้าอยากจะทำสมาธิหรือว่าเดินจงกรมอยู่ที่บ้านนี่นะ
ไม่ได้ออกไปไหน ไม่ได้จะสละความสุขในฆราวาสวิสัยออกไปบวช
เพื่อพบครูบาอาจารย์ในป่าในเขาจริงๆ
ก็ใช้วิธีอ่าน ใช้วิธีฟังเอานั่นแหละนะ
แล้วก็หลักการวิธีที่จะเป็นเครื่องประกันว่าเราจะอยู่ในทางที่ถูกต้อง
ไม่หลงพลาดไปหาอะไรก็ไม่ทราบนี่นะ
ก็ควรจะศึกษาพุทธพจน์ให้ดีๆ ว่าท่านตรัสไว้อย่างไร
เพราะพระพุทธเจ้าเป็นครูบาอาจารย์ของครูบาอาจารย์ทุกคนที่เรามีอยู่
พระองค์เดียวเลย ในโลกเลยนะ ก็เป็นต้นแหล่งต้นกำเนิดของครูบาอาจารย์
ไม่รู้กี่ล้าน กี่สิบล้านคนหรือกี่สิบล้านท่านนะครับ



ฉะนั้นถ้าเราได้ศึกษาจากราก
เราได้ทราบว่าบรมครูหรือว่าครูใหญ่ที่แท้จริง ท่านสอนอะไรไว้บ้าง
ก็จะได้เป็นความอุ่นใจว่าเรามีภูมิต้านทานกับคำสอนผิดๆ
หรือว่าพอเราไปพบกับข้อขัดแย้งใดๆ ขึ้นมา
อย่างน้อยเราบอกตัวเองถูกว่าจะใช้หลักเกณฑ์อะไรในการตรวจสอบ
ในการที่จะพิจารณาว่านั่นเป็นคำสอนที่สืบทอดตกทอดมานะ
จากรุ่นสู่รุ่นนะครับ จากครั้งพุทธกาลสู่ยุคไอทีของเรานี้



ถ้าไม่มีหลัก ไม่มีเกณฑ์ ไม่มีต้นเค้า ไม่มีต้นแหล่ง
ที่จะเชื่อได้ว่าพระพุทธเจ้าเป็นคนพูด
เราก็จะเหมือนกับฟังคนโน้นที ฟังคนนี้ที
ไม่ทราบว่าเป็นความเห็นส่วนตัวของเขาของท่าน
หรือว่าเป็นการคิดเอาเอง หรือว่าเป็นการตีความของใคร
ในเรื่องความเชื่อ ในเรื่องศรัทธา ในเรื่องของข้อสรุป
หรือการตีความทางศาสนา
เป็นสิ่งซับซ้อน เป็นสิ่งที่ตกทอดมาจากรุ่นสู่รุ่นนะ
แต่ละรุ่นก็มีความซื่อสัตย์ต่อพุทธพจน์
หรือว่ามีความจงรักภักดีต่อพระพุทธเจ้าไม่เท่ากันนะครับ



อันนี้ก็สรุป ลองหาสิ่งที่เราเชื่อได้ว่าเป็นพระไตรปิฎกมาศึกษาดู
ขอแนะนำว่าให้ไปดูจากพระไตรปิฎก ฉบับสำหรับประชาชน
ของอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ

หาเอาในอินเตอร์เน็ตนี่แหละ มีให้อ่านฟรีๆ เลย
แล้วก็หลักการโดยรวม ถ้าเราเข้าใจแล้วอย่างถ่องแท้แล้ว
เวลาไปอ่านหรือฟังนะครับ หลักวิธีปฏิบัติของครูบาอาจารย์ท่านใด
อย่างน้อยที่สุดเรามีทุนอยู่ในใจนะว่าตรงนี้ใช่หรือไม่ใช่แค่ไหน
คือไม่มีใครสามารถที่จะบอกได้ถูกร้อยเปอร์เซ็นต์หรอก



ผมก็เรียกว่าได้เห็นได้ฟังได้ยินอะไรมาเยอะ
แต่ละคนก็จะคิดว่าตัวเองถูกร้อยเปอร์เซ็นต์
แต่ความเป็นจริงก็คือแต่ละคนรับเอาความเชื่อ
หรือรับเอาความรู้อะไรที่แตกต่างกันที่คลาดเคลื่อนกันมาทีละนิดทีละหน่อย
แม้แต่ผมเองก็ต้องปรับความรู้ ต้องสำรวจสอดส่องอยู่เรื่อยๆ นะครับ
บางครั้งช่วงแรกที่อ่านมาฟังมาในช่วงสนใจพุทธศาสนาใหม่ๆ
แล้วก็ปักใจเชื่อว่านี่พระพุทธเจ้าตรัสไว้แน่ๆ
ตอนหลังมาก็ อ้อ อันนี้ไม่ใช่ อันนั้นก็ไม่เชิง
อันนี้ก็เป็นแค่การตีความสรุปของใครบางคนนะ หรือว่าอันโน้นยิ่งแล้วใหญ่เลย
เป็นการที่เอาคำพูดของตัวเองไปใส่พระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้า
โดยไม่มีมูล ไม่มีความจริงอะไรทั้งสิ้นเลย


นี่ก็เป็นเรื่องที่ต้องยอมรับกันตามจริงนะครับ
ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องน่าเหนื่อยใจพอสมควร
ที่เราจะต้องมาอยู่ในยุคที่ไม่มีพระพุทธเจ้าคอยชี้ว่าอะไรถูกอะไรผิด
แต่นั่นแหละก็เป็นสิ่งที่แลกกัน
คือยุคไอทีของเรา เราสามารถที่จะค้นคว้าจะศึกษา
ไม่ว่าจะเป็นคำสอนดั้งเดิมของพระพุทธเจ้า
หรือคำสอนที่ตกทอดมาสู่ครูบาอาจารย์ที่รู้แจ้งเห็นจริง
ได้ง่ายดายเหลือเกินครับ อยู่กับบ้านนี่ใช้ปลายนิ้วกระดิกไม่กี่ที
เราได้หลักธรรมคำสอน ได้หลักวิธีปฏิบัติมากมายก่ายกอง
ซึ่งอันนั้นบางทีนะ ก็พูดตรงๆ ว่าอาจจะต้องอาศัยแบ๊กกราวด์ของเรา



ซึ่งแบ๊กกราวด์ในที่นี้ หมายถึงของเดิมในอดีตว่าผูกมากับใครแนวทางไหน
และก็ของปัจจุบันว่าเรามีความพร้อมพอที่จะศึกษา มีกำลังใจที่จะกระตือรือร้นแค่ไหนด้วย
แต่ไม่แนะนำเลยที่ว่าเราแส่ส่ายไปเรื่อยๆ นะ เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ไม่หยุดนะ
ว่าเป็นของครูบาอาจารย์ท่านใด เรารับหมด อันนี้ก็ไม่เหมาะเหมือนกัน
เพราะว่าในที่สุดเราจะพบว่ากี่ปีๆ ผ่านไป เราไม่ถึงไหนสักทีนะครับ
มันย้อนกลับไปนับหนึ่งใหม่อยู่นั่นแหละ นับหนึ่งกับคนโน้นคนนี้





แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP