ธรรมะจากพระสูตร Dhamma from Sutta
เมถุนสูตร ว่าด้วยเมถุนสังโยค
กลุ่มไตรปิฎกสิกขา
[๔๗] ครั้งนั้นแล ชานุสโสณีพราหมณ์ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ
ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว
จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
แม้ท่านพระโคดมก็ทรงปฏิญาณว่าเป็นพรหมจารีหรือ
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า พราหมณ์ บุคคลเมื่อจะกล่าวโดยชอบ
พึงกล่าวผู้ใดว่าประพฤติพรหมจรรย์ ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย บริสุทธิ์ บริบูรณ์
บุคคลนั้นเมื่อจะกล่าวโดยชอบ พึงกล่าวเรานั่นแล
เพราะเราประพฤติพรหมจรรย์ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย บริสุทธิ์ บริบูรณ์เต็มที่.
ชา. ข้าแต่ท่านพระโคดม ก็อะไรชื่อว่าขาด ทะลุ ด่าง พร้อย แห่งพรหมจรรย์.
ภ. พราหมณ์ ถูกแล้ว สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้
ปฏิญาณตนว่าเป็นพรหมจารีโดยชอบ ไม่ร่วมความเป็นคู่ ๆ กับมาตุคาม
แต่ยังยินดีการขัดสี ลูบไล้ ให้อาบน้ำ และการนวดเฟ้นของมาตุคาม
พอใจ ชอบใจ ถึงความปลื้มใจด้วยการบำเรอนั้น
แม้ข้อนี้ก็ชื่อว่าขาด ทะลุ ด่าง พร้อย แห่งพรหมจรรย์
พราหมณ์ ผู้นี้เรากล่าวว่า ประพฤติพรหมจรรย์ไม่บริสุทธิ์
ประกอบด้วยเมถุนสังโยค ไม่พ้นจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์
โทมนัส และอุปายาส เรากล่าวว่า ย่อมไม่หลุดพ้นไปจากกองทุกข์ได้.
พราหมณ์ อีกประการหนึ่ง สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้
ปฏิญาณตนว่าเป็นพรหมจารีโดยชอบ ไม่ร่วมความเป็นคู่ ๆ กับมาตุคาม
และไม่ยินดีการขัดสี ลูบไล้ ให้อาบน้ำ และการนวดเฟ้นของมาตุคาม
แต่ยังกระซิกกระซี้ เล่นหัว สัพยอกกับมาตุคาม
พอใจ ชอบใจ ถึงความปลื้มใจด้วยการเสสรวลนั้น
แม้ข้อนี้ก็ชื่อว่าขาด ทะลุ ด่าง พร้อย แห่งพรหมจรรย์
พราหมณ์ ผู้นี้เรากล่าวว่า ประพฤติพรหมจรรย์ไม่บริสุทธิ์
ประกอบด้วยเมถุนสังโยค ไม่พ้นจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์
โทมนัส และอุปายาส เรากล่าวว่า ย่อมไม่หลุดพ้นไปจากกองทุกข์ได้.
พราหมณ์ อีกประการหนึ่ง สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้
ปฏิญาณตนว่าเป็นพรหมจารีโดยชอบ ไม่ร่วมความเป็นคู่ ๆ กับมาตุคาม
และไม่กระซิกกระซี้ เล่นหัว สัพยอกกับมาตุคาม
แต่เพ่งดู จ้องดูจักษุแห่งมาตุคามด้วยจักษุของตน
พอใจ ชอบใจ ถึงความปลื้มใจด้วยการเล็งแลนั้น
แม้ข้อนี้ก็ชื่อว่าขาด ทะลุ ด่าง พร้อย แห่งพรหมจรรย์
พราหมณ์ ผู้นี้เรากล่าวว่า ประพฤติพรหมจรรย์ไม่บริสุทธิ์
ประกอบด้วยเมถุนสังโยค ไม่พ้นจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์
โทมนัส และอุปายาส เรากล่าวว่า ย่อมไม่หลุดพ้นไปจากกองทุกข์ได้.
พราหมณ์ อีกประการหนึ่ง สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้
ปฏิญาณตนว่าเป็นพรหมจารีโดยชอบ ไม่ร่วมความเป็นคู่ ๆ กับมาตุคาม
ไม่กระซิกกระซี้ เล่นหัว สัพยอกกับมาตุคาม
และไม่เพ่งดู จ้องดูจักษุแห่งมาตุคามด้วยจักษุของตน
แต่ได้ฟังเสียงมาตุคามหัวเราะอยู่ก็ดี พูดอยู่ก็ดี ขับร้องอยู่ก็ดี ร้องไห้อยู่ก็ดี
ข้างนอกฝาก็ดี ข้างนอกกำแพงก็ดี พอใจ ชอบใจ ถึงความปลื้มใจด้วยเสียงนั้น
แม้ข้อนี้ก็ชื่อว่าขาด ทะลุ ด่าง พร้อย แห่งพรหมจรรย์
พราหมณ์ ผู้นี้เรากล่าวว่า ประพฤติพรหมจรรย์ไม่บริสุทธิ์
ประกอบด้วยเมถุนสังโยค ไม่พ้นจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์
โทมนัส และอุปายาส เรากล่าวว่า ย่อมไม่หลุดพ้นไปจากกองทุกข์ได้.
พราหมณ์ อีกประการหนึ่ง สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้
ปฏิญาณตนว่าเป็นพรหมจารีโดยชอบ ไม่ร่วมความเป็นคู่ ๆ กับมาตุคาม
ไม่กระซิกกระซี้ เล่นหัว สัพยอกกับมาตุคาม
ไม่เพ่งดู จ้องดูจักษุแห่งมาตุคามด้วยจักษุของตน
และไม่ได้ฟังเสียงมาตุคามหัวเราะอยู่ก็ดี พูดอยู่ก็ดี ขับร้องอยู่ก็ดี
ร้องไห้อยู่ก็ดี ข้างนอกฝาก็ดี ข้างนอกกำแพงก็ดี
แต่ตามนึกถึงการหัวเราะ การพูด การเล่นหัวกับมาตุคามในกาลก่อน
พอใจ ชอบใจ ถึงความปลื้มใจด้วยอาการนั้น
แม้ข้อนี้ก็ชื่อว่าขาด ทะลุ ด่าง พร้อย แห่งพรหมจรรย์
พราหมณ์ ผู้นี้เรากล่าวว่า ประพฤติพรหมจรรย์ไม่บริสุทธิ์
ประกอบด้วยเมถุนสังโยค ไม่พ้นจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์
โทมนัส และอุปายาส เรากล่าวว่า ย่อมไม่หลุดพ้นไปจากกองทุกข์ได้.
พราหมณ์ อีกประการหนึ่ง สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้
ปฏิญาณตนว่าเป็นพรหมจารีโดยชอบ ไม่ร่วมความเป็นคู่ ๆ กับมาตุคาม
ไม่กระซิกกระซี้ เล่นหัว สัพยอกกับมาตุคาม
ไม่เพ่งดู จ้องดูจักษุแห่งมาตุคามด้วยจักษุของตน
ไม่ได้ฟังเสียงมาตุคามหัวเราะอยู่ก็ดี พูดอยู่ก็ดี ขับร้องอยู่ก็ดี
ร้องไห้อยู่ก็ดี ข้างนอกฝาก็ดี ข้างนอกกำแพงก็ดี
และไม่ได้ตามนึกถึงการหัวเราะ การพูด การเล่นหัวกับมาตุคามในกาลก่อน
แต่ได้เห็นคฤหบดีก็ดี บุตรแห่งคฤหบดีก็ดี
ผู้เอิบอิ่มพรั่งพร้อมด้วยกามคุณ ๕ บำเรอตนอยู่
พอใจ ชอบใจ ถึงความปลื้มใจด้วยการบำเรอนั้น
แม้ข้อนี้ก็ชื่อว่าขาด ทะลุ ด่าง พร้อย แห่งพรหมจรรย์
พราหมณ์ ผู้นี้เรากล่าวว่า ประพฤติพรหมจรรย์ไม่บริสุทธิ์
ประกอบด้วยเมถุนสังโยค ไม่พ้นจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์
โทมนัส และอุปายาส เรากล่าวว่า ย่อมไม่หลุดพ้นไปจากกองทุกข์ได้.
พราหมณ์ อีกประการหนึ่ง สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้
ปฏิญาณตนว่าเป็นพรหมจารีโดยชอบ ไม่ร่วมความเป็นคู่ ๆ กับมาตุคาม
ไม่กระซิกกระซี้ เล่นหัว สัพยอกกับมาตุคาม
ไม่เพ่งดู จ้องดูจักษุแห่งมาตุคามด้วยจักษุของตน
ไม่ได้ฟังเสียงมาตุคามหัวเราะอยู่ก็ดี พูดอยู่ก็ดี ขับร้องอยู่ก็ดี
ร้องไห้อยู่ก็ดี ข้างนอกฝาก็ดี ข้างนอกกำแพงก็ดี
ไม่ได้ตามนึกถึงการหัวเราะ การพูด การเล่นหัวกับมาตุคามในกาลก่อน
และไม่ได้เห็นคฤหบดีก็ดี บุตรแห่งคฤหบดีก็ดี
ผู้เอิบอิ่มพรั่งพร้อมด้วยกามคุณ ๕ บำเรอตนอยู่
แต่ประพฤติพรหมจรรย์ ตั้งปรารถนาเพื่อเป็นเทพเจ้าหรือเทพองค์ใดองค์หนึ่งว่า
เราจักได้เป็นเทพเจ้าหรือเทพองค์ใดองค์หนึ่ง ด้วยศีล พรต ตบะ หรือพรหมจรรย์นี้
พอใจ ชอบใจ ถึงความปลื้มใจ ด้วยความปรารถนานั้น
แม้ข้อนี้ก็ชื่อว่าขาด ทะลุ ด่าง พร้อย แห่งพรหมจรรย์
พราหมณ์ ผู้นี้เรากล่าวว่า ประพฤติพรหมจรรย์ไม่บริสุทธิ์
ประกอบด้วยเมถุนสังโยค ไม่พ้นจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์
โทมนัส และอุปายาส เรากล่าวว่า ย่อมไม่หลุดพ้นไปจากกองทุกข์ได้.
พราหมณ์ เราพิจารณาเห็นเมถุนสังโยค ๗ ประการนี้
อย่างใดอย่างหนึ่งที่ยังละไม่ได้ในตน เพียงใด
เราก็ยังไม่ปฏิญาณว่า เป็นผู้ตรัสรู้อนุตตรสัมโพธิญาณในโลก
พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก
ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ เพียงนั้น
แต่เมื่อใด เราพิจารณาไม่เห็นเมถุนสังโยค ๗ ประการนี้
อย่างใดอย่างหนึ่งที่ยังละไม่ได้ในตน
เมื่อนั้น เราย่อมปฏิญาณว่า เป็นผู้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาโพธิญาณในโลก
พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก
ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์
ก็ญาณทัสสนะเกิดขึ้นแก่เราว่า วิมุติของเราไม่กำเริบ
ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย บัดนี้ภพใหม่ไม่มีอีก.
เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว
ชานุสโสณีพราหมณ์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก
เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง
หรือตามประทีปในที่มืดด้วยหวังว่าผู้มีจักษุจักเห็นรูป ดังนี้ ฉันใด
พระโคดมผู้เจริญ ทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย ฉันนั้นเหมือนกัน
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า
พระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ
ขอท่านพระโคดมผู้เจริญ โปรดทรงจำข้าพระองค์ว่า
เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป.
เมถุนสูตร จบ
(เมถุนสูตร พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต
พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ ๓๗)
< Prev | Next > |
---|