ดังตฤณวิสัชนา Dungtrin's Answer

ฝึกเจริญสติแต่ไม่เคยมีปีติเกิดขึ้นเลย ถือว่ามาถูกทางหรือไม่



ถาม – ช่วงนี้ผมหัดเจริญสติครับ โดยเน้นหมวดของลมหายใจกับอิริยาบถ
และวัดความก้าวหน้าจากหลักโพชฌงค์
แต่ผมสังเกตว่าองค์แห่งโพชฌงค์ที่ปรากฏมีแค่สติ แล้วก็ธัมมวิจยะกับวิริยะ
แต่ไม่พบว่ามีปีติเกิดขึ้นเลยไม่แน่ใจว่ามาถูกทางหรือเปล่า

หรือว่าเป็นการทึกทักเอาเองของผม รบกวนแนะนำด้วยครับ


ตัวสติสัมโพชฌงค์นี่จะต้องเป็นสติอัตโนมัตินะ
คือเป็นสติที่มีความคงเส้นคงวา

คือเวลาที่ท่านอธิบายเกี่ยวกับความหมายของสติสัมโพชฌงค์
ท่านพูดถึงสติที่มีความคงเส้นคงวานะครับ
ใจความสรุปในพระอภิธรรม จริงๆ มีเยอะเลยนะ
โดยความหมาย คำจำกัดความของสติสัมโพชฌงค์
แต่โดยใจความหลักก็คือว่า ตัวสติที่แท้ในสัมโพชฌงค์นี่นะ
มันจะต้องมีความคงเส้นคงวา และความคงเส้นคงวา
ถ้าจะมาใช้ภาษาร่วมสมัยก็คือมีสติเป็นอัตโนมัติ
เกิดอะไรขึ้นสามารถรู้ได้ โดยไม่ต้องไปบังคับ โดยไม่ต้องไปตั้งใจ



ถ้าหากว่าตัวสติมีความเป็นอัตโนมัติแล้วนะ
แล้วประกอบกับที่ว่าใจของเรานี่ไม่ได้ไปโฟกัสเรื่องแบบโลกๆ เรื่องกิเลสๆ
ในที่สุดมันก็จะเกิดความรู้สึกว่าเห็นอะไรมันมองเป็นความไม่เที่ยง
หรือไม่ก็มองเป็นอนัตตาไปหมด หรือไม่ก็มองโดยความเป็นการทิ้งกิเลส
อย่างเช่นนะ ถ้าเห็นของสวยของงาม
มันก็เห็นเป็นอสุภะไป พิจารณาโดยความเป็นอสุภะไป
นี่เขาเรียกว่าเป็นธัมมวิจยะ



ถ้าหากว่าธัมมวิจยะเกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ ในที่สุดแล้วตัววิริยะมันจะเกิดขึ้นมา
ตัววิริยะหน้าตาเป็นอย่างไร คือมีความกระตือรือร้น
คือเกิดความรู้สึกว่ามันมีใจจดจ่ออยู่ อยากทำไปเรื่อยๆ นะ
ไม่อยากเอาใจไปวอกแวกไปทางอื่นทางไหน จะเกิดความรู้สึกอย่างนี้
แล้วตัวความวิริยะที่ถูกต้องนะ ที่มันมาเอง ที่มันหลั่งไหลมาเอง มีกำลังเอง
ตรงนั้นจะทำเกิดความสงบระงับ เกิดความรู้สึกว่ากายใจนี่นะ
ไม่กวัดแกว่ง ไม่กระสับกระส่ายไปในทางกิเลส
ถ้ามันจะเคลื่อนไหวก็เคลื่อนไหวน้อยที่สุด
เพื่อที่จะทำงานให้ลุล่วง เพื่อที่จะทำกิจให้สำเร็จ
แต่ไม่ใช่กระสับกระส่ายกระวนกระวายด้วยอำนาจกิเลสสั่งนะ
ไม่ได้มีความรู้สึกฟุ้งซ่าน
ไม่ได้มีความรู้สึกว่าอยากดิ้นรนทุรนทุรายไปทำโน่นทำนี่ในแบบที่ไม่จำเป็น
รู้สึกว่าไม่จำเป็นก็ไม่อยากทำ ประมาณอย่างนั้น



ตัวปีติไม่ใช่ว่าจะต้องเย็นซาบซ่านอะไรขึ้นมามากมายเสมอไป
แต่ขอให้สังเกตตรงนั้น
ว่ากายสงบระงับ ใจสงบระงับ มันมีความรู้สึกนิ่งๆ
มันมีความรู้สึกว่าเย็น มันมีความรู้สึกว่าอิ่มใจ แค่นี้พอแล้ว

นี่ตัวนี้ต่างหาก ถ้าหากว่าเราไปสังเกตมันมากเกินไป
หรือไปตั้งคำถามมากเกินไปว่าทำอย่างไรจึงจะรู้สึกปีติ
ตัวนี้นี่มันไปรบกวนปีติเรียบร้อยแล้ว
คือมีความกระสับกระส่ายทางใจเรียบร้อยแล้ว มีความดิ้นรนขึ้นมาเรียบร้อยแล้ว
อย่างนี้ อันนี้นี่แหละ ตัวจดจ้องรอปีติเกิดนี่แหละ ที่ทำให้ปีติถูกบล็อก
สังเกตก็แล้วกันว่าถ้าหากว่าเราไม่ไปจดจ่อ ไม่ไปตั้งแง่สังเกตมากเกินไปนะ
ตัวปีติมันจะมาเอง คือมันมากับความสงบระงับทางใจนั่นแหละ



พระพุทธเจ้าให้สังเกตนะว่าปีติที่มันไม่เกิดเพราะอะไร
ถ้าหากว่าเราพบว่านะ ตัวไปจดจ้อง ไปอยากได้ปีติ อยากให้ปีติเกิด
นั่นแหละ คือต้นเหตุของการไม่เกิดปีติ
นี่ตรงนี้พอเรารู้แล้วเราก็ระงับต้นเหตุนั้นเสีย
ระงับอาการจดจ้อง ระงับอาการพะวงว่าปีติเมื่อไหร่จะเกิดไป
ปีติมันก็เกิดขึ้นเองนะ ถ้าหากว่าเรามีตัวสติดีอยู่แล้ว มีตัวธัมมวิจยะดีอยู่แล้ว
แล้วก็มีความพยายามที่ต่อเนื่องอยู่แล้ว ไม่ต้องห่วงเลยนะ ปีติมันจะมาเอง
แต่ที่มันไม่มาก็เพราะว่าเราอยากให้มันมานั่นแหละ
ตัวอยากนั่นแหละตัวระงับ ไม่ใช่ตัวผลักดันนะครับ



ที่จะวัดว่าเราถูกหรือไม่ถูก ทึกทักเอาเองหรือเปล่า
ขอให้สังเกตอย่างนี้นะ ว่าใจของเราผูกอยู่กับอะไรโดยมาก
ถ้าหากว่าจะเป็นช่วงไหนของวันก็แล้วแต่นะ
เราพบว่าตัวเองมีใจที่เอาใจใส่เข้ามา
ในภาวะทางกาย ในภาวะทางใจ อยู่แค่ขอบเขตนี้
นี่แหละตัวนี้แหละ ไม่ต้องสงสัยเลย
ไม่ต้องคิดเลยว่าอุปาทานไปเองหรือเปล่า มันของแน่เลยนะ
เพราะจิตนี่ขึ้นอยู่กับทิศทางที่เลือกว่า
เราจะให้ความสนใจ ให้ความใส่ใจกับอะไรโดยมากนะ
ลักษณะของโฟกัสของจิตมันก็จะเกิดขึ้นมาเองเป็นเงาตามตัว



อย่างถ้าหากว่าเรากำลังสนใจเรื่องงานเรื่องการนะ
ก็จะรู้สึกว่าพอเอนตัวนอนลงก็คิดถึงงาน พอจะผุดลุกผุดนั่งก็คิดถึงงาน
จะอาบน้ำจะแปรงฟันอะไรก็คิดถึงงาน
นี่อย่างนี้เรียกว่ามีความตั้งมั่นอยู่กับการงานนะ มีใจรักงาน
วิริยะที่เกิดนี่มันจะพุ่งไปที่เรื่องของการงาน
มันก็จะมีความกระสับกระส่ายแบบโลกๆ
อยากให้เกิดขึ้น อยากให้เป็นไปตามเป้าหมาย
อยากให้ได้อย่างนั้น อยากให้ได้อย่างนี้ ไม่อยากเจอคู่แข่งอะไรต่างๆ
ถ้าหากว่ามีความกระสับกระส่ายแบบโลกๆ
อย่างนั้นนะ บางทีมีความรู้สึกดีเหมือนกัน เป็นความสนุก
เป็นความรู้สึกเพลิดเพลิน เป็นความรู้สึกยินดี มันจะมีอาการโลดโผน
แล้วก็ลักษณะของปีติที่เกิดขึ้นแบบโลกๆ
มันจะไม่เนียน มันจะวูบไปวาบมา



แต่ถ้าหากว่าใจของเราจดจ่ออยู่กับสภาวะทางกาย สภาวะทางใจ
ตามที่มันเกิดขึ้นตามจริงนะ
ไม่ไปพยายามปรุงแต่งอะไรเกินไปกว่าที่มันปรากฏให้เห็น ปรากฏให้ดูอยู่จริงๆ แล้ว
ในที่สุดความรู้สึกสงบระงับมันเกิดขึ้น
จากการเห็นว่า เออ มันไม่เที่ยงจริงๆ

ไม่รู้จะไปเอาอะไรจากมัน ไม่รู้จะไปยึดมั่นถือมั่นกับมันทำไม

ลักษณะของปีติที่เกิดขึ้นมันจะมีความต่อเนื่อง มันจะมีความยืนยาว
เพราะว่าใจของเรา พอตั้งต้นขึ้นมานะ มันไม่อยากเอาอะไรเสียแล้ว
ไม่อยากเอาสิ่งของภายนอกที่มันกระตุ้นกิเลส
ไม่อยากเอาแม้แต่มรรคผลนิพพาน
อยากดูแค่นี้แหละว่า เออ มันไม่เที่ยง มันไม่ใช่ของเรา
ตัวความสงบระงับอีกแบบหนึ่งมันก็จะปรากฏ
แล้วลักษณะของปีติ ลักษณะของสุขที่มันปรากฏ
มันจะเป็นความนิ่ง ความเนียน ความนาน
ไม่ได้กระโดด ไม่ได้โลดโผน ไม่ได้สับไปสับมา
เหมือนกับตอนที่รู้สึกสนุกแบบโลกๆ นะครับ
อันนี้ก็ขอให้สังเกตจากตรงนี้ก็แล้วกัน ลักษณะของปีตินะ


แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP