ดังตฤณวิสัชนา Dungtrin's Answer
ทำอย่างไรใจจึงจะไม่ไปยึดตามความอยาก
ถาม – ทำอย่างไรใจจึงจะไม่ไปยึดตามความอยากที่ผุดขึ้นมาในใจตลอดเวลาคะ
เพื่อที่จะไม่ให้ใจยึดไปตามความอยากนะ
าต้องตั้งโจทย์ให้ถูก ตั้งมุมมองให้ถูกก่อนนะครับ
ก่อนอื่นเราต้องมองว่า ความอยากเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแบบห้ามไม่ได้
เวลาที่มีสิ่งเร้าใจ สิ่งมากระตุ้นกิเลส มันต้องเกิดความอยากขึ้นแน่ๆ ห้ามไม่ได้นะ
นี่คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้เองเลยนะ
ท่านตรัสว่าเมื่อมีผัสสะเกิดขึ้น ตัณหาย่อมตามมาเป็นธรรมดา
ทีนี้พอตัณหาเกิดขึ้นแล้ว เราก็มีหน้าที่สำรอกตัณหาออก
นี่คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้นะ
เอาล่ะในทางปฏิบัติ พูดให้เป็นภาษาชาวบ้าน ให้ฟังง่ายๆหมายความว่าอย่างไร
ความอยากเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแบบห้ามไม่ได้ เมื่อเกิดกระทบ
กระทบในที่นี้ อาจจะหมายถึงความคิดก็ได้นะ ไม่จำเป็นต้องมาทางหู ทางตาเสมอไป
บางทีความคิดมันเข้ามากระทบแล้วเกิดความอยากขึ้นมา
โดยที่เราบางทีนะ นอนเล่นเพลินๆ อยู่ดีๆ เกิดนึกขึ้นมา
เออ อยากได้นั่นอยากได้นี่ แล้วก็เกิดอาการทุรนทุรายขึ้นมา
เกิดอาการยึดมั่นถือมั่นรุนแรงขึ้นมาว่าจะต้องเอาให้ได้
อย่างนี้มีบ่อยนะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งยุคนี้สมัยนี้
ตอนเห็นแวบแรกไม่ค่อยรู้สึกอะไรเท่าไหร่
แต่พอมานั่งนึกนอนนึกตอนอยู่ว่างๆ มันเกิดอยากได้ขึ้นมาอย่างแรง
โดยเฉพาะผู้หญิง พวกกระเป๋า พวกรองเท้า พวกเสื้อผ้าอะไรทั้งหลาย
หรือบางทีก็ขออภัยนะ อันนี้ได้ยินคุยๆ กันเล่นๆ มานะ
เหล่าบรรดาผู้หญิงบอกเห็นแฟนเพื่อนแล้วรู้สึกอยากได้จังอะไรแบบนี้
ตรงความอยาก มันเกิดขึ้น มันเกิดความทุรนทุรายขึ้นแล้ว
เราต้องมองว่า มันไปกำจัด ไปห้ามไม่ได้
แต่เราต้องพิจารณาว่าความยึดมั่นถือมั่นว่าจะต้องเอาให้ได้
เป็นสิ่งที่เราสามารถฝึกให้มันคลายได้
นึกออกไหม คือพอเกิดความอยากขึ้นมาระลอกแรก มันเหมือนคลื่นที่เข้ามากระทบฝั่ง
เราห้ามคลื่นไม่ได้ แต่ว่าเราสามารถนะ ไม่ปล่อยให้ผลกระทบของคลื่น
มันต่อเนื่องเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ได้ เอาอะไรมากั้นเสีย
วิธีกั้นง่ายๆ เลยนะก็คือพิจารณาให้เห็นโทษของความยึด
ตอนที่มันมีความยึดนี่นะ ถ้าเราไม่สังเกต
เราก็จะมีความรู้สึกว่า เออ อยากได้ อยากได้ๆ
เห็นมันเป็นของดี เห็นความอยากเป็นของดี
แต่พอเราตั้งเป้าสังเกตว่าอาการยึด อาการที่มันทำให้ใจทุรนทุราย
มันมีลักษณะที่เป็นทุกข์ มันมีลักษณะที่ไม่สบาย มันมีลักษณะที่ปั่นป่วน
มันมีลักษณะที่เราสามารถสังเกตได้ว่า อาการของใจ มันไม่มีความสงบเอาเสียเลย
แต่เดิมนะ พอเราเกิดความอยากขึ้นมา ใจเราจะส่งออกไปหาสิ่งที่เป็นเป้าหมาย
จะเป็นสมบัติหรือจะเป็นผู้คน หรือจะเป็นอะไรก็แล้วแต่ ที่มันมายั่วให้เราอยาก
ใจเราจะมีจินตภาพเกี่ยวกับสิ่งที่เป็นวัตถุอันพึงประสงค์อยู่ตลอดเวลา
นี่เรียกว่าใจส่งออก
แต่ถ้าหากว่าเราเอาส่งเข้าใน เอามาดู เอามารู้
รู้ว่าขณะนี้ใจของเรากำลังมีลักษณะอาการอย่างไร
มีลักษณะปั่นป่วน มีลักษณะทึบแน่น มีลักษณะไม่เป็นสุข
พอสังเกตอย่างนี้ ครั้งแรกๆ จะรู้สึกว่า เออ ไม่รู้จะสังเกตไปทำไม
แต่ครั้งต่อๆ มา มันจะเริ่มฉลาดขึ้น
จิตนะมันจะฉลาดขึ้น เมื่อมีจุดสังเกตของความทุกข์
เมื่อมีจุดสังเกตของความทุกข์ สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นธรรมดาก็คือว่า
ใจนี่นะมันเห็นจุดสังเกตทุกข์บ่อยขึ้นเท่าไร มันจะยิ่งคลาย มันจะยิ่งเห็นโทษ
มันจะยิ่งเกิดความรู้สึกว่ายึดไปทำไม ยึดแล้วมันมีความทุกข์
แต่ตัวอยาก ตัวทะยานอยากนี่นะ ตอนแรกมันเกิดขึ้นแค่ไหนก็ตาม
ตัวความอยากเองไม่ใช่จะต้องมีลักษณะอาการพุ่งทะยานเท่าเดิมเสมอไป
แต่อาการยึด มันเหมือนมีความมัดใจน่ะ นึกออกไหม
ตัวความอยากนี่นะ มันทำให้ใจมันพุ่งออกไปข้างนอก
แต่ตัวอาการยึด มันจะมีความรู้สึกอึดอัด
เหมือนใจนี่โดนมัดอยู่ด้วยอะไรสักอย่างที่มองไม่เห็นมีตัวตน
แต่เราสามารถรู้สึกได้ แล้วสามารถสังเกตได้
เมื่อสังเกตบ่อยเข้าก็จะเกิดอาการฉุกใจ อาการที่จิตมันเริ่มฉลาดนะ
หลังจากพบจุดสังเกตบ่อยๆ มันจะค่อยๆ คลายออกไปเอง
โดยที่เราไม่ต้องไปบังคับหรือไปสั่งมันว่า จงคลาย อย่าไปเอามันเลย
การสั่งดื้อๆ นี่ไม่ทำให้จิตฉลาดขึ้นนะ
เพราะอาการยึดมั่นมันยังเท่าเดิม มันยังไม่มีอะไรไปคลายเลย
คำสั่งนี่นะ จำไว้เลยนะ คำสั่งดื้อๆ นี่ไม่ไปคลายอาการยึดมั่นได้หรอก
เพราะว่ามันยังมีความรู้สึกว่าเป็นของดี เป็นของน่าชอบ เป็นของน่าเอาอยู่
ต่อเมื่อมันมองเข้ามาที่อาการของตัวเอง อาการของใจซึ่งเป็นตัวของมันเอง
แล้วพบว่ามีแต่ความทุกข์ มีแต่ความอึดอัด มีแต่ความทุรนทุราย
ในที่สุด คราวนี้นะ ตอนที่มันฉลาด มันไม่ต้องสั่งตัวเอง มันไม่ต้องบังคับ
มันคลายออกเองด้วยความฉลาดที่ค่อยๆ พอกพูน ค่อยๆ ทวีขึ้นตามจำนวนครั้งที่เห็น
อันนี้ก็คือหลักการง่ายๆ แต่ว่าได้ผลจริงๆ แล้วก็เอาไปใช้ได้จริงๆ ตลอดชีวิต
ไม่ใช่อุบายที่เราจะต้องจำเป็นคำพูด แต่จำเป็นลักษณะอาการของใจ
< Prev | Next > |
---|