ดังตฤณวิสัชนา Dungtrin's Answer

ทำอย่างไรให้มีสติในขณะนอนหลับ



ถาม – จะฝึกให้มีสติในขณะนอนหลับได้อย่างไร
และทำอย่างไรตอนตื่นนอนขึ้นมาถึงจะรู้สึกสดชื่นและไม่เหนื่อยคะ



ที่ตอนตื่นไม่เหนื่อยก็เพราะว่ามันมีความพอ ที่มีอาการพอที่ใจเป็นหลักนะ
ถ้าหากว่าใจ ถ้าหากว่าจิตนี่นะ มีความอิ่มเต็ม มีความสดชื่น
มีความพร้อมที่จะเปิดกว้าง ที่จะมีความแจ่มใสนะ ร่างกายก็จะถูกกระตุ้น
สารต่างๆ นานาที่มันเป็นสารดีๆ มันจะหลั่งออกมา
สารที่เสียๆ อะไรมันก็จะถูกขจัดออกไป
นี่คือลักษณะที่เราตื่นขึ้นมาแล้วไม่เหนื่อยนะ
การที่จะตื่นขึ้นมาไม่เหนื่อยได้
ใจมันต้องหลับอย่างดี ใจมันต้องหลับอย่างมีความสุข
ถามว่าใจจะหลับอย่างดี ใจจะหลับอย่างมีความสุขได้อย่างไร
พระพุทธเจ้าให้หลักการไว้สองข้อ
หนึ่งคือมีสติขณะหลับ

สองคือมีเมตตา ใจมีเมตตาเป็นปกติ



คำว่าใจมีเมตตา คนส่วนใหญ่เข้าใจผิดกันมากเลย
นึกว่าไปแผ่เมตตา สองนาที ห้านาที แล้วก็แล้วกัน
จบแล้ว หมดหน้าที่แล้ว ไม่ต้องทำอะไรต่อ ถือว่ามีเมตตาแล้ว
อันนั้นไม่ใช่เลย ความมีเมตตาที่แท้จริง
คือความสามารถที่จะให้ทาน
ในทานที่ควรให้แก่คนที่ควรให้ ในเวลาที่เหมาะสม
คือพูดง่ายๆ ว่าพร้อมจะหยิบยื่นความช่วยเหลือให้คนอื่น
มีความเอื้ออารี เอื้อเฟื้อ

คือไม่มีความตระหนี่ถี่เหนียวนะ เห็นใครเดือดร้อนก็ช่วยได้ก็ช่วย
ถ้ามีเศษเงินเหลือนะก็มีความอยากจะให้เป็นทาน
ให้แก่คนที่เขาไม่มี ให้แก่คนที่เขาอดอยาก



หรือมีเรื่องอะไรกับใคร หรือเขามาทำให้เราเกิดความเดือดร้อนรำคาญใจ
เราก็มีความสามารถที่จะให้อภัยเขาได้
ไม่อยากไปผูกใจเจ็บ ไม่อยากจะไปเอาเรื่องเอาราว ให้มันมากมายนะ
ยกเว้นแต่ว่ามันเหลือวิสัยจริงๆ ถ้าขืนปล่อยไปจะเกิดความเดือดร้อนในชีวิต
ไม่ว่าจะเป็นชีวิตของเราเองหรือว่าชีวิตของคนรอบตัวรอบข้าง
ถ้าหากว่าเราให้อภัยได้ ก็จะให้อภัย
แต่ถ้าอภัยไม่ได้จริงๆ คือก็จะเอาเรื่องโดยที่ไม่ได้ประกอบด้วยโทสะ
แบบนี้เรียกว่าเป็นคนที่มีเมตตาจริงนะครับ

ถ้าหากว่าให้แต่ทานแต่ว่าอภัยไม่เป็น
ไม่รู้ว่าเรื่องไหนควรอภัย เรื่องไหนไม่ควรอภัย
แบบนี้ก็เรียกว่ายังให้ทานไม่เป็นอยู่


นอกจากนั้นก็จะต้องมีความสามารถที่จะห้ามใจตัวเอง
ไม่ให้เบียดเบียนเพื่อนร่วมโลก ด้วยการที่เราสามารถงดเว้นจากบาปทั้งปวง
การถือศีลห้า ก็คือการให้ทานแบบชนิดที่พระพุทธเจ้าเรียกว่าเป็นมหาทาน
คือไม่ต้องเบียดเบียนใครเขาด้วยชีวิต ไม่ต้องเบียดเบียนใครเขาด้วยความโลภ
การไปเห็นใครเขามีของดี แล้วอยากจะเอามาเป็นของของเราบ้าง อะไรแบบนี้
ถ้าหากว่าถือศีลห้าได้ เรียกว่าทำให้จิตนี่เริ่มมีเมตตา
รินออกมาโดยไม่ต้องไปฝืน ไม่ต้องไปแผ่
พยายามแผ่เมตตา ทั้งๆ ที่ไม่มีความสุขจะแผ่



การที่เราสามารถให้ทานได้ มันมีความชุ่มชื่น
การที่เราสามารถรักษาศีลได้ มันมีความสะอาด
ความชุ่มชื่นที่สะอาดนั่นแหละนะ มีความพร้อมที่จะเป็นสุขแล้ว
และคนที่พร้อมจะเป็นสุขก็มีความพร้อมที่จะแผ่เมตตา
นี่เรียกว่าการมีเมตตาอย่างแท้จริงในชีวิตประจำวันนะครับ

แล้วถ้าหากว่าเรามีความสามารถที่จะตั้งมั่นเป็นสมาธิได้
มาแผ่เมตตาหลังสวดมนต์ อิติปิ โส ภควา อรหํ สมฺมา ได้
นี่ยิ่งมีความสุขเข้าไปใหญ่นะ



ลักษณะของคนที่มีความสุขอันเกิดจากการมีเมตตาจิตจริงๆ
จะทำให้เป็นผู้สามารถหลับสบาย
หลับแล้วไม่มีความรู้สึกว่าตัวเองจะถูกเบียดเบียนด้วยเหตุใดๆ
คือคนที่ไม่เบียดเบียนคนอื่นก็จะไม่ถูกโลกเบียดเบียน
เห็นได้จากอาการทางใจเลย เหมือนกับรู้สึกตัวอยู่ตลอดเวลา
ว่าไม่ต้องเดือดเนื้อร้อนใจ ไม่ต้องถูกเบียดเบียนด้วยการปรุงแต่งของจิตของตน
ไม่ต้องถูกเบียดเบียนด้วยวิญญาณร้ายจากภายนอก
ไม่ต้องถูกเบียดเบียนจากการที่เราเคยทำบาปไว้
แล้วบาปนี่ย้อนมาเล่นงานเราด้วยประการใดๆ
มันมีความรู้สึกสบายใจ
ความสบายใจที่ประกอบกับการมีสติในขณะหลับ
ตัวนี้แหละที่จะทำให้ใจเป็นสุขในขณะหลับ
แล้วตื่นขึ้นมาอย่างมีเรี่ยวมีแรง



การมีสติขณะหลับ เอาง่ายๆ เลยนะ
คือถ้าฟุ้งซ่านอยู่ รู้ตัวว่าฟุ้งซ่าน
ถ้าเกิดมีความกังวลไปในอนาคตข้างหน้า รู้ตัวว่ามีความกังวลไปในอนาคต
อาการใดๆ เกิดขึ้นในขณะจิตก่อนหลับ
จะเป็นส่วนเสีย จะเป็นส่วนที่มันแย่อย่างไรก็แล้วแต่นะ
เราสามารถรับรู้ได้ตามจริง ยอมรับตามจริงว่ามันมีอาการนั้นๆ อยู่
แล้วเราก็หาที่พึ่งที่ยึดเหนี่ยวที่ดีให้กับจิตใจ อย่างเช่นลมหายใจ
หายใจเข้า รู้ว่าหายใจเข้า หายใจออกรู้ว่าหายใจออก

ถ้ายังฟุ้งซ่านอยู่ ก็รู้ว่าหายใจเข้าทั้งฟุ้งซ่าน
ฟุ้งซ่านอยู่อีกก็รู้ว่า เออ หายใจออกก็ยังฟุ้งซ่านอยู่



จากนั้นเราจะเกิดความรับรู้ที่แตกต่างไป
คือเห็นว่าในแต่ละครั้งที่หายใจเข้า แต่ละครั้งที่หายใจออก
ความฟุ้งซ่านไม่เท่ากัน

คือไม่ใช่ไปเพ่งๆ เพ่งๆ เอานะว่านี่หายใจเข้าอยู่ นี่หายใจออกอยู่ เพื่อให้เกิดสมาธิ
แบบนั้นมันมักจะเกิดความฝืน มันมักจะเกิดความรู้สึกว่าอึดอัด
มันมักจะทำให้เกิดความรู้สึกว่า เออ เราทำไม่ได้
แต่ถ้าหากเราฝึกยอมรับตามจริง ตามแนวทางของพระพุทธเจ้า
รู้ตัวว่าฟุ้งซ่านอยู่ หายใจเข้าฟุ้งซ่าน หายใจออกฟุ้งซ่าน
มันจะค่อยๆ เห็นขึ้นมาตามจริงว่าแต่ละครั้งที่ฟุ้งซ่านนี่นะ
แต่ละระลอกลมหายใจที่ฟุ้งซ่าน มันไม่เท่ากัน

ระลอกลมหายใจแรกฟุ้งซ่านมาก
แต่พอรู้ๆ ไปเล่นๆ นะ ระลอกลมหายใจที่สอง
หายใจเข้าฟุ้งซ่านไม่เท่าเดิมแล้ว เบาบางลง
แล้วพอเดี๋ยวๆ สติมันเริ่มเบลอไป
มีความรู้สึกเหมือนกับไม่รู้เหนือรู้ใต้ขึ้นมา ประสาคนใกล้จะหลับ
ก็จะเห็นขึ้นมาอีกว่า เออ มันกลับมาฟุ้งซ่านเยอะอีกแล้ว



เห็นไปอย่างนี้นะว่าฟุ้งซ่านแต่ละครั้งนี่ไม่เท่ากัน
ไม่ใช่ไปยินดีกับตอนที่ไม่ฟุ้งซ่าน
ไม่ใช่ไปยินร้ายกับตอนที่มันฟุ้งซ่านจัดขึ้นมา
แต่ยินดีที่จะรู้ว่าบางระลอกลมหายใจ เราฟุ้งซ่านจัด
บางระลอกลมหายใจเราฟุ้งซ่านแค่เบาบาง
ยินดีที่ได้รู้นะว่าความฟุ้งซ่านไม่เที่ยงในแต่ระลอกลมหายใจ
นี่ตรงนี้เรียกว่ามีสติก่อนหลับแล้ว

ตรงนี้เรียกว่าก้าวลงสู่ความหลับด้วยอาการของคนที่ไม่หลงแล้ว
ถ้าหากมีโอกาสที่จะฝึกอย่างนี้สักสิบวัน
ภายในอาทิตย์เดียวผมรับประกันว่าเราจะเริ่มเห็นผล
เห็นชัดๆ ตอนตื่นนอนขึ้นมา มันมีสตินำขึ้นมาก่อน
ลมหายใจจะปรากฏชัด สืบเนื่องจากตอนก่อนนอน
มันจะเกิดความรู้สึกว่าจิตใจของเรามีความวิเวก
จิตใจของเรานะมีความไม่แล่นไปข้างหน้า แล้วก็ไม่ย้อนกลับไปข้างหลัง
แต่มีความสุขอยู่กับปัจจุบัน ที่มีการหายใจเข้าบ้าง หายใจออกบ้าง


ความสุขที่เกิดจากสติอันเป็นปัจจุบันนั้น
ประกอบกับฐานของเมตตาที่มีอยู่กับจิตตลอดเวลานะ
จะทำให้เราไม่เป็นผู้ที่เหนื่อยอ่อนในการตื่นนอน

ไม่เป็นผู้ที่ท้อแท้ ไม่เป็นผู้ที่ไม่อยากตื่น
ไม่รู้จะตื่นขึ้นมาทำไม เพื่อเจอความเหน็ดเหนื่อย เพื่อเจอความน่าหน่ายแหนงของชีวิต
แต่จะกลายเป็นผู้ตื่นมาด้วยความรู้สึกสดชื่น กระตือรือร้นที่จะอยู่กับชีวิตที่มีความสุข
เป็นสุขจริงๆ ไม่ใช่สักแต่พูดว่าพยายามให้เป็นสุข
มีความเมตตาจริงๆ ไม่ใช่สักแต่ว่ามาท่อง สพฺเพ สตฺตา อเวรา โหนฺตุ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP