จากใจ บ.ก.ใกล้ตัว Lite Talk
ฉบับที่ ๒๑๒ การปฏิบัติธรรมในที่ทำงาน
อันดับแรก
ให้ทำไว้ในใจว่า
ต้องทำงานเต็มที่
จนกว่าจะเกิดสติ
แล้วค่อยเอาสติที่เกิดดีแล้วนั้น
มาเจริญต่อเป็นการปฏิบัติธรรม
ตามแต่จังหวะอำนวย
ไม่ใช่พยายามปฏิบัติธรรมอยู่ตลอดเวลา
เพราะนอกจากจะเป็นไปไม่ได้
ยังทำให้ไขว้เขว โฟกัสเป๋ไปจากงานอีกด้วย
อันดับต่อมา
ให้เข้าใจแม่นๆว่า
การปฏิบัติธรรมเจริญสติ
คือการมีสติรู้ความจริงเกี่ยวกับกายใจ
ที่กำลังปรากฏอยู่เดี๋ยวนี้
ไม่ใช่ไปรู้กายใจดีๆที่ยังไม่ปรากฏ
หรือพยายามก๊อปปี้กายใจดีๆที่เกิดแล้ว ให้เกิดอีก
รู้อย่างยอมรับ รู้อย่างทันๆกันกับสภาพที่เกิดขึ้น
เช่น ตอนนี้กำลังฟุ้งซ่านจัด คิดไม่ดี อยากด่าคน
แต่กลับไปจินตนาการถึงความสงบ
หรือนึกถึงความสงบในสมาธิที่เกิดขึ้นเมื่อคืนวาน
เพราะแบบนั้น นอกจากจะไม่เกิดสติรู้ความจริง
ยังเกิดอารมณ์เพี้ยนๆ
อยากได้ในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้มากขึ้นทุกทีอีกด้วย
อันดับสุดท้าย
ให้ระลึกไว้เสมอว่า
เราปฏิบัติธรรมเจริญสติรู้กายใจ
เพื่อให้แจ่มแจ้งว่า ไม่มีเราที่สามารถกะเกณฑ์กายใจได้
ไม่มีเราที่เอาอย่างใจให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ได้
ถ้างานยุ่ง ใจก็ยุ่ง
ถ้างานเรียบ ใจก็เรียบ
ถ้ากายใจถูกรบกวน มันก็ปั่นป่วนแน่ๆ
ถ้าสิ่งรบกวนหายไป มันก็ลดความปั่นป่วนลงได้เอง
ถ้าวิธีคิดไร้ระบบ ความฟุ้งซ่านสับสนก็มาเยือน
ถ้าวิธีคิดมีเป้าเป็นระเบียบ โฟกัสชัดเจนก็ตามมา
ถ้าทุ่มความคิด วกวน หมกมุ่น เดี๋ยวก็เครียด เกร็งตัว
ถ้าคิดนิดเดียว แต่เข้าจุด เดี๋ยวก็ผ่อนคลาย หายเกร็ง
ถ้าเจ้านายด่า ยังไงก็ต้องงุ่นง่าน รู้สึกแย่
ถ้าเพื่อร่วมงานชม ยังไงก็ต้องอกใหญ่ ใจพอง ฯลฯ
ผลของการเฝ้ารู้กายใจตามจริง
ในที่สุดจะเกิดความรู้สึกขึ้นมาง่ายๆว่า
กายใจที่กำลังถูกรู้อยู่ในแต่ละขณะ
มันไม่เที่ยง มันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามเหตุตามผล
เหมือนตัวอะไรตัวหนึ่ง ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ใคร
ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่เราเขา
มีสภาพภาวะอย่างหนึ่งอยู่จริง
แต่ไม่ใช่จะมีอย่างนั้นตลอดไป
เหตุเปลี่ยน ผลก็เปลี่ยน เหตุหมดกำลัง ผลก็หายไป
ด้วยความคาดหวังอ่อนๆ
เหมือนถามตัวเองง่ายๆว่า
"ตอนนี้มีอะไรที่ไม่เที่ยงให้ดูบ้าง?"
ดูไปเรื่อยๆ จะมีจังหวะหนึ่ง
ในระหว่างแห่งความวุ่นวายในที่ทำงาน
ที่คุณเกิดความรู้สึกถึง
ลมหายใจแห่งความสงบจากอาการอยาก
ลมหายใจแห่งความระงับจากสภาพดิ้นรน
ลมหายใจแห่งความเบาที่ได้เลิกยึดนั่นยึดนี่
ตลอดจนลมหายใจแห่งความรู้ว่า
แม้นี่ที่ทำงาน
กายมีอยู่ ก็แค่สักแต่เป็นท่าใดท่าหนึ่งให้รู้
ใจมีอยู่ ก็แค่สักแต่เป็นสภาพป่วนมาก
ป่วนน้อย หรือไม่ป่วนเลยให้รู้ ให้ยอมรับสภาพ
ลมหายใจแห่งความรู้ว่าไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตนนั่นแหละ
ฐานที่ตั้งดีๆของการปฏิบัติธรรมในที่ทำงาน!
ดังตฤณ
กรกฎาคม ๖๐
พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงพระธรรมเทศนา
อันเป็นไปเพื่อประโยชน์และความสุขตลอดกาลนาน
แก่คฤหบดีชื่อนกุลปิตาซึ่งเป็นผู้อยู่ในวัยชรา
รายละเอียดติดตามได้ในคอลัมน์ "ธรรมะจากพระสูตร"
ตอน "นกุลปิตุสูตร ว่าด้วยนกุลปิตาคฤหบดี"
ผู้ที่สร้างกุศลอย่างสม่ำเสมอ ย่อมได้รับผลบุญจากกรรมที่ทำไว้
แม้ยามที่ชีวิตพบความยากลำบาก
ก็อาจได้รับการช่วยเหลือให้ความทุกข์นั้นบรรเทาลง
ดังความตามพระธรรมเทศนา
โดย พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน)
เรื่อง"อำนาจทานพารอดตาย" คอลัมน์ "สารส่องใจ" (-/\-)
ทำบุญอย่างไรจึงจะมีความสุขและความอิ่มใจทุกครั้ง
และรักษาความศรัทธาในการทำความดีไว้ได้นานๆ
หาคำตอบได้ในคอลัมน์ "ดังตฤณวิสัชนา"
ตอน "ทำอย่างไรจึงจะเกิดปีติในการทำบุญ"
< Prev | Next > |
---|