จากใจ บ.ก.ใกล้ตัว Lite Talk
ฉบับที่ ๒๑๑ หัวใจของการปฏิบัติธรรมที่บ้าน
เข้าใจอย่างไร
ก็จะเชื่อแบบนั้น
ปฏิบัติธรรมเจริญสติแบบนั้น
สติ
คือการรู้ตามจริงว่า
กำลังมีอะไรให้รู้
ไม่ใช่มีอะไรให้อยากได้
ไม่ใช่แม้แต่จดจ่ออยากสงบ
แค่กำลังมีความฟุ้งซ่านให้รู้แล้วรู้
แค่สังเกตว่าความฟุ้งซ่านต่างไป
ในแต่ละลมหายใจ
เท่านี้ ก็เรียกได้ว่า ‘มีสติ’ แล้ว
การปฏิบัติธรรมเจริญสติ
คือการทำให้สติเจริญขึ้น
รู้ความจริงเกี่ยวกับกายใจ
ที่กำลังปรากฏให้รู้อยู่เดี๋ยวนี้
การปฏิบัติธรรมที่บ้าน
คือการทำสติให้เจริญขึ้นที่บ้าน
ไม่ใช่รอไปวัดแล้วค่อยพยายามเจริญสติ
หรือพอกลับบ้านแล้วขาดสติก็ช่างมัน
หัวใจในการปฏิบัติธรรมที่บ้าน
คือการทำการเข้าใจเฉพาะตัวว่า
มีอะไรในกายใจของคุณ
ที่แสดงความไม่เที่ยงให้ดูได้บ่อยๆ
เพราะเมื่อดูความไม่เที่ยงในตัวเองได้บ่อยๆ
สติแบบพุทธก็ค่อยๆเจริญ
และความทุกข์ความอึดอัดแบบที่คุณมี
ก็จะค่อยๆเสื่อมสลายหายไปในสามวันเจ็ดวัน
ความไม่เที่ยงที่ดูได้บ่อยๆของคนยุคเรา
ได้แก่ ความฟุ้งซ่าน และโทสะ
คนยุคเราฟุ้งซ่านจนทรมานใจ
และหงุดหงิดโกรธเกรี้ยวบ่อยเหมือนถูกไฟคลอก
เพื่อจะดูความฟุ้งซ่านและโทสะได้จริง
ต้องมีเครื่องทุ่นแรงเป็นทุน
ได้แก่ การรู้จักสังเกตลมหายใจแห่งความสุข
สังเกตว่า เมื่อเริ่มหายใจ
ด้วยการค่อยๆขยายหน้าท้อง
สายลมหายใจจะยาว ความรู้สึกจะสบาย
เมื่อคุ้นกับลมหายใจแห่งความสุขได้บ่อยๆ
อย่างน้อยสักชั่วโมงละครั้งสองครั้ง
พอถึงเวลาต้องใช้ เช่น คิดฟุ้งซ่านทรมานใจ
ก็หายใจอย่างเป็นสุขขึ้นมาทีหนึ่ง
เพื่อเปรียบเทียบดูว่า
ที่ลมหายใจนี้ฟุ้งหนักแค่ไหน
ลมหายใจต่อไปเบาลงหรือหนักขึ้นไปอีก
เพียงเท่านี้ ความฟุ้งซ่านทรมานใจ
ก็รบกวนคุณได้ไม่นาน
แต่จะกลายเป็นการมากระตุ้น
ให้เกิดสติปัญญาจริงๆ
เห็นของจริงว่า ความฟุ้งซ่านทรมานใจ
เขามาเพื่อแสดงความไม่เที่ยง
เพื่อให้คุณฝึกดูอนิจจังให้เป็น
หรือเมื่อโกรธจัด
แทนที่จะฟาดสายฟ้าออกมาจากปาก จากมือไม้
ก่อบาปก่อเวร มีเรื่องมีราวกับชาวบ้านแบบเคยๆ
แค่หายใจอย่างเป็นสุขทีหนึ่ง
เพื่อเปรียบเทียบดูว่า
ที่ลมหายใจนี้โกรธแรงแค่ไหน
ลมหายใจต่อไปเบาลงหรือแรงขึ้นอีก
เพียงเท่านี้ โทสะก็บันดาลบาปเวรเดิมๆขึ้นไม่ได้
แต่จะกลายเป็นมาเพื่อช่วยแสดงความไม่เที่ยง
เพื่อให้คุณฝึกดูอนิจจังให้เป็น
เมื่อเห็นว่าหัวใจของการปฏิบัติธรรมที่บ้านคืออะไร
คุณจะเห็นผลตั้งแต่วันแรกๆ
และติดใจพอที่จะเจริญสติในวันต่อๆไป
โดยไม่รอเวลาว่างให้พร้อมพอจะปลีกวิเวก
ไปปฏิบัติธรรมนอกบ้านที่ไหนอีก
และถ้าไปปฏิบัติธรรมที่วัดหรือในป่าในถ้ำ
ก็จะเป็นการไปเพื่อต่อยอดให้เจริญถึงที่สุด
ไม่ใช่เพื่อไปนับหนึ่งใหม่กันแล้วๆเล่าๆทุกครั้ง!
ดังตฤณ
มิถุนายน ๖๐
การได้เกิดเป็นมนุษย์นับเป็นลาภอันประเสริฐ
จึงควรใช้เวลาให้คุ้มค่าด้วยการทำความดีให้พร้อมมวล
ดังความตามพระธรรมเทศนา โดยหลวงปู่ขาว อนาลโย
เรื่อง"กรรมกับจิต"ในคอลัมน์"สารส่องใจ"ค่ะ (-/\-)
สร้างกรรมดีอย่างไรจึงจะเป็นที่รักของคนรอบข้าง
ทำให้มีแต่คนเมตตา อยากอุปถัมภ์ค้ำจุน
อีกทั้งมีความสุขในชีวิตรักและการครองคู่
หาคำตอบได้ในคอลัมน์"ดังตฤณวิสัชนา"
ตอน"ทำอย่างไรจึงจะเป็นคนที่มีบุญในเรื่องความรัก"
การได้ทำงานที่ตรงใจและมีความมั่นคง ย่อมนำมาซึ่งความสุข
แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะได้งานซึ่งตอบโจทย์ชีวิตอย่างครบถ้วน
จึงต้องเลือกทางที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ค่ะ
ดังเรื่องราวในคอลัมน์"โหรา (ไม่) คาใจ"
ตอน"เริ่มงานใหม่ใจชื่นบาน"(^__^)
< Prev | Next > |
---|