จากใจ บ.ก.ใกล้ตัว Lite Talk

ฉบับที่ ๒๐๙ ความเสมอภาคที่แท้จริง



209 talk



ถ้าเข้าใจความจริงหนึ่งได้
คุณจะไม่เกิดคำถามนี้อีก
ความจริงนั้น คือ
ตัวตนของคนคนหนึ่ง
 
แม้เท่าเทียมทางกฎหมาย
ยังไงก็ไม่วันเท่าเทียมทางความรู้สึก


เสื้อ ผ้า หน้า ผม
และความเป็นตัวตนของคนคนหนึ่ง
กระตุ้นความสนใจใครต่อใครได้ต่างกัน
ก่อให้เกิดอคติได้ต่างกันในทันทีที่เห็น


อคติ คือ ‘ความกระสันที่จะคาดเดา’
ประมาณเห็นแล้วด่วนสรุปทันทีว่า
คนนั้นน่าจะดี คนนี้น่าจะชั่ว


แค่ปรากฏตัวเดินมา
คนคนหนึ่ง
ถูกตัดสินโดยอีกคนหนึ่งไปแล้วว่า
เป็นบวกหรือเป็นลบต่อใจ


แค่ภาพนิ่งแรก จากมุมกล้องเดียว
หรือคลิปเดียวที่แสดงหน้าตา ท่าทาง สุ้มเสียง
เมื่อ ‘ตกเป็นข่าว’ ออกสู่สายตาสาธารณชน
คนคนหนึ่ง
ถูกสังคมตัดสินไปแล้วว่า
น่าติดตาม หรือน่าเมินหนี
ใช่ข่าว หรือไม่ใช่ข่าว ที่น่าให้พูดถึง
ควรให้คะแนนสงสาร หรือควรกระทืบให้จมดิน
ควรให้กำลังใจ หรือควรชวนญาติมาสาปแช่ง


ตกลงต้องยอมรับแล้วใช่ไหมว่า
ความไม่เสมอภาค
เริ่มต้นจากหน้าตาและตัวตน
ของคนคนหนึ่ง?


หน้าตาและตัวตนมาจากไหนล่ะ?


อันนี้แล้วแต่จะเชื่อ
แล้วแต่จะอยากฟังใคร ระหว่างนักเดา
นักบังเอิญวิทยา นักวิทยาศาสตร์
คนในศาสนาแห่งผู้สร้างสูงสุด
หรือคนในศาสนาแห่งกรรมวิบาก


ถ้าเลือกที่จะเชื่อว่า
หน้าตาตัวตน คือวิบาก
หรือผลแห่งกรรมเก่า
ที่สะสมมาในชีวิตก่อนๆ
ก็เรียกว่า เป็น ‘ชาวพุทธ’


ชาวพุทธมองว่า
ความเท่าเทียมไม่มีจริง
ตั้งแต่แต่ละคนสมัครใจ
ทำกรรมไม่เท่ากันแล้ว


ชาวพุทธตั้งความเชื่อไว้ว่า...


ถ้าเคยด่าเขาไว้อย่างไร้เหตุผล
ในที่สุดเมื่อกรรมเผล็ดผล
ก็ต้องถูกด่าอย่างไม่สมเหตุสมผล


ถ้าเคยรุมกระทืบ ด่าสาดตามๆกัน
ไม่สนใจรับฟังหลักฐานข้อเท็จจริง
ในที่สุดเมื่อกรรมเผล็ดผล
ก็ต้องมีหน้าตาตัวตน มีรูป มีคลิป
ที่กระตุ้นสังคมให้อยากรุมประชาทัณฑ์


ถ้าเคยเมตตาคนมีเรื่อง
ในที่สุดเมื่อกรรมเผล็ดผล
พอถึงตาตนเกิดเรื่อง
ก็จะได้รับความเมตตาและการเอาใจช่วย


กรรมแบบหนึ่งๆ
เมื่อทำเป็นประจำ
จะก่อให้เกิดกระแสในตัว
กระตุ้นคนอื่นให้รู้สึกนึกคิดกับเราตามนั้น
ด่าคนไว้มาก ก็เกิดกระแสน่าด่ามาก
เมตตาคนไว้มาก ก็เกิดกระแสน่ารักน่าเอ็นดูมาก


ความเสมอภาคที่แท้จริง มีอยู่แค่ตรงนี้
ทำไว้อย่างไรมาก ก็ต้องได้รับผลตามนั้นมาก
ทำไว้อย่างไรน้อย ก็ต้องได้รับผลตามนั้นน้อย
แค่ทบทวนชีวิตที่ผ่านมา
แต่ละคนก็น่าจะทราบกฎข้อนี้ได้


ถ้ายิ่งเจริญสติรู้กายใจลึกซึ้ง
เห็นด้วยจิตว่า กายใจเป็นเพียงนิมิตกรรม
กายใจนี้ ตัวตนนี้ ชะตากรรมนี้
เป็นผลที่ไหลมาแต่เหตุ ไม่ใช่ความบังเอิญ
ไม่ใช่ถูกสร้างขึ้นตามอำเภอใจใคร
คุณจะก้าวข้ามความเชื่อ
เข้าเขตความรู้แจ้งเห็นจริง
เรื่องจริงของความต่าง เป็นสิ่งที่เห็นๆอยู่
มีเหตุบันดาลความต่างอยู่ชัดๆ
ปล่อยให้ผู้คนถกเถียงกันไปตามใจชอบว่า
ทำไมชะตากรรมชอบมีสองมาตรฐานนัก?!


ดังตฤณ
พฤษภาคม ๖๐




review


พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงธรรมแก่พระภิกษุทั้งหลาย
ถึงเรื่องของการเจริญสมาธิจนมีจิตตั้งมั่น
รายละเอียดต่างๆ จะเป็นอย่างไรนั้น
ติดตามได้จากคอลัมน์"ธรรมะจากพระสูตร"
ตอน "สมาธิสูตร ว่าด้วยสมาธิเป็นเหตุเกิดปัญญา"


คนที่มีโทสะรุนแรงและมักกระทบกระทั่งกับผู้อื่น
จะเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ใจเย็นลงได้หรือไม่
หาคำตอบได้ในคอลัมน์ "ดังตฤณวิสัชนา"
ตอน "จะแก้นิสัยใจร้อนของตัวเองได้อย่างไร"


ความผิดพลาดในอดีตนั้นใช้เป็นบทเรียนสอนใจให้ไม่ทำผิดซ้ำ
และเป็นแรงบันดาลใจให้ทำความดียิ่งกว่าเดิมได้
ดังเรื่องราวในคอลัมน์"โหรา (ไม่) คาใจ"
ตอน"เรียนรู้จากเรื่องร้าย"



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP