จากใจ บ.ก.ใกล้ตัว Lite Talk
ฉบับที่ ๒๐๑ เบสิกของการเจริญสติเห็นจิต
จะฝึกอะไร
ล้วนต้องมีขั้นหนึ่งสองสาม
มีแม่บทขั้นพื้นฐานง่ายๆ
เพื่อต่อยอดไปสู่อะไรที่ยากขึ้นเรื่อยๆ
การเจริญสติก็เช่นกัน
แม่บทมาตรฐานของพระพุทธเจ้าที่รู้ๆกัน
คือการฝึกดูลมหายใจเข้าออกให้เป็น
ดูสุขดูทุกข์จากการหายใจเข้าออกแต่ละครั้งให้ได้
เพราะถ้าดูได้ รู้เป็น รู้ตรง รู้ทัน ณ จุดเกิดเหตุ
ก็จะเกิดสติ ค่อยๆสะสมกำลังรู้เห็นเข้ามาข้างใน
ไม่ส่งออกไปพล่านข้างนอกได้ดีขึ้นทุกที
อีกหนึ่งแม่บทมาตรฐานของการเจริญสติ
คือรู้ให้ทันว่า จิตมีความโกรธเป็นอย่างไร
แตกต่างจากจิตไม่มีความโกรธอย่างไร
หน้าตาของจิตที่โกรธกับไม่โกรธนั่นเอง
ที่ถ้ารู้ได้ ก็เริ่มเห็นความเป็นไปของจิตได้
รู้จักเหตุผลกลไกของการปรุงแต่งทางใจ
ได้มากขึ้นเรื่อยๆ วันต่อวัน
และเพื่อจะเห็นว่า
หน้าตาของจิตที่มีความโกรธเป็นอย่างไร
ก่อนอื่นต้องไม่ให้มันเลอะเลือนไปด้วยวจีกรรม
กล่าวคือ ถ้าโกรธแล้วโพล่งด่าเลย
หรือโกรธแล้วพลุ่งพล่าน งุ่นง่าน
มีข้ออ้างต่างๆนานา ประเภท เรื่องนี้ยอมไม่ได้
เรื่องนี้เจริญสติไม่ไหว ยังไงต้องเล่นงานมันก่อน
ยิ่งอ้าง โทสะยิ่งเจริญ ไม่ใช่สติเจริญ
กี่ปีก็รู้ไปไม่ถึงอารมณ์ดิบ
มองไม่เห็นความเคลื่อนไหวที่ผันผวนของจิต
ไม่เท่าทันเลยว่าการปรุงแต่งทางจิตเกิดดับตอนไหน
ต่อเมื่อมีเบสิกดี
ฝึกที่จะระงับปาก ขณะพลุ่งพล่านอยากด่า อยากสวน
รู้จักรอให้เย็น แล้วค่อยแปรอารมณ์เย็นๆเป็นคำพูด
คุณจะมีช่วงเวลาหนึ่ง ระว่างร้อนกับเย็น
เอาไว้เห็นความปั่นป่วนอย่างหนักทางกาย
เอาไว้เห็นความวอดวายทางจิต
เอาไว้เห็นความไหม้เกรียมทางอารมณ์
กับทั้งรู้จักความต่าง
ระหว่างใจด่วนด่า กับใจรู้จังหวะพูด
ระหว่างด่าด้วยไฟ กับพูดด้วยน้ำ
ระหว่างด่าเพื่อสะใจหายแค้น กับพูดเพื่อหวังผลดี
หากเบสิกดี ยั้งใจเป็น ระงับปากทัน
รอจนหายโกรธแล้วค่อยพูด
พอไปบวกกับความเข้าใจคอนเซ็ปต์
ในการเจริญสติของพระพุทธเจ้า
ที่ท่านให้ดูความต่างทางกายใจ
ก็จะรู้สึกเป็นเรื่องง่าย
เห็นต่อยอดการปรุงแต่งทางกายใจได้ละเอียดขึ้นเรื่อยๆ
แต่หากขาดเบสิก
ไม่รู้จักยับยั้งชั่งใจในการโพล่งตามอารมณ์เลย
ก็จะรู้สึกว่า ฟังหลักเจริญสติอย่างไรก็ไม่เข้าใจ
ไม่รู้ว่าการเจริญสติให้เห็นกายใจเป็นรูปนาม
เขาทำกันอย่างไร
ท่านเอามรรคเอาผลมาทำประโยชน์อะไรกัน!
ดังตฤณ
กุมภาพันธ์ ๖๐
พระพุทธองค์ได้ตรัสอธิบายโทษของราคะ โทสะและโมหะ
ตลอดจนข้อปฏิบัติเพื่อละกิเลสต่างๆ
ติดตามได้ในคอลัมน์"ธรรมะจากพระสูตร"
ตอน "ฉันนสูตร ว่าด้วยโทษแห่งอกุศลมูล"
การจะเลิกนิสัยคิดมากและวิตกกังวลง่ายนั้น
จะมีแนวทางในการปฏิบัติอย่างไร
หาคำตอบได้จากคอลัมน์"ดังตฤณวิสัชนา"
ตอน "อยากเลิกเป็นคนคิดมาก ควรทำอย่างไร"
นวนิยายเรื่อง "เถ้าน้ำค้าง" โดย "คุณชลนิล" นักเขียนฝีมือเยี่ยม
ได้ดำเนินมาถึงตอนที่ ๑๖ แล้วนะคะ
ยังคงเข้มข้นด้วยเนื้อหา พร้อมด้วยแง่คิดจรรโลงใจ
ติดตามได้ในคอลัมน์ "วรรณกรรมนำใจ" ค่ะ (^__^)
< Prev | Next > |
---|