ธรรมะจากพระสูตร Dhamma from Sutta

ปริสาสูตร ว่าด้วยบริษัท ๓ จำพวก


กลุ่มไตรปิฎกสิกขา



[๕๓๕] ภิกษุทั้งหลาย บริษัท ๓ นี้ บริษัท ๓ เป็นไฉน
คือ บริษัทที่มีบุคคลเป็นผู้เลิศ บริษัทที่เป็นวรรค บริษัทที่สามัคคีกัน


บริษัทที่มีบุคคลเป็นผู้เลิศ เป็นอย่างไร
ในบริษัทใด ภิกษุผู้เถระทั้งหลาย ไม่เป็นผู้มักมาก ไม่ย่อหย่อน (ในการบำเพ็ญสิกขา)
เลิกธุระในทางต่ำทราม มุ่งไปในทางปวิเวก ปรารภความเพียร
เพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ
เพื่อทำให้แจ้งซึ่งธรรมที่ยังมิได้ทำให้แจ้ง
ประชุมชนผู้เกิดมาภายหลัง ถึงทิฏฐานุคติของภิกษุผู้เถระเหล่านั้น
ก็พากันเป็นผู้ไม่มักมาก ไม่ย่อหย่อน (ในการบำเพ็ญสิกขา)
เลิกธุระในทางต่ำทราม มุ่งไปในทางปวิเวก ปรารภความเพียร
เพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ
เพื่อทำให้แจ้งซึ่งธรรมที่ยังมิได้ทำให้แจ้ง


ภิกษุทั้งหลาย บริษัทนี้เรียกว่า บริษัทที่มีบุคคลเป็นผู้เลิศ


บริษัทที่เป็นวรรค เป็นอย่างไร
ในบริษัทใด ภิกษุทั้งหลายเกิดความบาดหมาง การทะเลาะ ถึงการวิวาท
ทิ่มแทงกันและกันด้วยหอกคือปากอยู่


ภิกษุทั้งหลาย บริษัทนี้เรียกว่า บริษัทที่เป็นวรรค


บริษัทที่สามัคคีกัน เป็นอย่างไร
ในบริษัทใด ภิกษุทั้งหลายพร้อมเพรียงกัน ชื่นชมต่อกัน ไม่วิวาทกัน
เป็นประหนึ่งว่านมประสมกับน้ำ มองดูกันและกันด้วยปิยจักษุอยู่


ภิกษุทั้งหลาย บริษัทนี้เรียกว่า บริษัทที่สามัคคีกัน


ภิกษุทั้งหลาย ในสมัยใด ภิกษุทั้งหลายพร้อมเพรียงกัน ชื่นชมต่อกัน ไม่วิวาทกัน
เป็นประหนึ่งว่านมประสมกับน้ำ มองดูกันและกันด้วยปิยจักษุอยู่
ในสมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายย่อมได้บุญมาก
ในสมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายชื่อว่าอยู่อย่างประเสริฐ คืออยู่ด้วยมุทิตา
อันเป็นเครื่องพ้นแห่งใจ ปีติย่อมเกิดแก่ผู้ปราโมทย์ กายของผู้มีใจมีปีติย่อมระงับ
ผู้มีกายระงับย่อมเสวยสุข จิตของผู้มีสุขย่อมตั้งมั่น


ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนเมื่อฝนเม็ดหนาตกบนภูเขา
น้ำนั้นไหลไปตามที่ต่ำ ยังซอกเขา ระแหงและห้วยให้เต็ม
ซอกเขา ระแหงและห้วยเต็มแล้ว ย่อมยังหนองให้เต็ม
หนองเต็มแล้ว ย่อมยังบึงให้เต็ม บึงเต็มแล้ว ย่อมยังแม่น้ำน้อยให้เต็ม
แม่น้ำน้อยเต็มแล้ว ย่อมยังแม่น้ำใหญ่ให้เต็ม
แม่น้ำใหญ่เต็มแล้ว ย่อมยังทะเลให้เต็ม ฉันใดก็ดี
ในสมัยใด ภิกษุทั้งหลายพร้อมเพรียงกัน ชื่นชมต่อกัน ไม่วิวาทกัน
เป็นประหนึ่งว่านมประสมกับน้ำ มองดูกันและกันด้วยปิยจักษุอยู่
ในสมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายย่อมได้บุญมาก
ในสมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายชื่อว่าอยู่อย่างประเสริฐ คืออยู่ด้วยมุทิตา
อันเป็นเครื่องพ้นแห่งใจ ปีติย่อมเกิดแก่ผู้ปราโมทย์ กายของผู้มีใจมีปีติย่อมระงับ
ผู้มีกายระงับย่อมเสวยสุข จิตของผู้มีสุขย่อมตั้งมั่น ฉันนั้นเหมือนกัน


ภิกษุทั้งหลาย บริษัท ๓ นี้แล


ปริสาสูตร จบ



(ปริสาสูตร พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต
พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ ๓๔)



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP