ธรรมะจากพระสูตร Dhamma from Sutta

ชัปปสูตร ว่าด้วยผู้รับที่ทำให้ทานมีผลมาก


กลุ่มไตรปิฎกสิกขา



[๔๙๗] ครั้งนั้น ปริพาชกวัจฉโคตร เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ
ครั้นเข้าเฝ้าแล้ว ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้ว
ได้นั่ง ณ ที่สมควรส่วนหนึ่ง ปริพาชกวัจฉโคตรนั่ง ณ ที่ควรส่วนหนึ่งแล้ว
ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ
ข้าพเจ้าได้ยินเขาว่า พระสมณโคดมตรัสอย่างนี้ว่า
ทานควรให้แก่เราเท่านั้น ไม่ควรให้แก่คนอื่น ๆ
ควรให้แก่สาวกของเราเท่านั้น ไม่ควรให้แก่สาวกของคนอื่น ๆ
ทานที่ให้แก่เราเท่านั้นมีผลมาก ที่ให้แก่คนอื่น ๆ ไม่มีผลมาก
ที่ให้แก่สาวกของเราเท่านั้นมีผลมาก ที่ให้แก่สาวกของคนอื่น ๆ ไม่มีผลมาก
ดังนี้ ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ชนเหล่าใดกล่าวว่า พระสมณโคดมตรัสว่า
ทานควรให้แก่เราเท่านั้น ไม่ควรให้แก่คนอื่น ๆ
ควรให้แก่สาวกของเราเท่านั้น ไม่ควรให้แก่สาวกของคนอื่น ๆ
ทานที่ให้แก่เราเท่านั้นมีผลมาก ที่ให้แก่คนอื่น ๆ ไม่มีผลมาก
ทานที่ให้แก่สาวกของเราเท่านั้นมีผลมาก ที่ให้แก่สาวกของคนอื่น ๆ ไม่มีผลมาก
ดังนี้ ชนเหล่านั้นกล่าวคำที่พระโคดมผู้เจริญได้ตรัสไว้จริงละหรือ
เขาไม่ใส่ความพระโคดมผู้เจริญด้วยเรื่องอันไม่จริงละหรือ
เขากล่าวตามธรรมแห่งพระธรรมละหรือ
การถือตามถ้อยคำที่ชอบแก่เหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง จะไม่ตกอยู่ในฐานที่น่าตำหนิละหรือ
ความจริงพวกข้าพเจ้าไม่ประสงค์จะใส่ความพระโคดมผู้เจริญเลย.


พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า
วัจฉะ ชนเหล่าใดกล่าวว่า พระสมณโคดมตรัสอย่างนี้ว่า
ทานควรให้แก่เราเท่านั้น ไม่ควรให้แก่คนอื่น ๆ
ควรให้แก่สาวกของเราเท่านั้น ไม่ควรให้แก่สาวกของคนอื่น ๆ
ทานที่ให้แก่เราเท่านั้นมีผลมาก ที่ให้แก่คนอื่น ๆ ไม่มีผลมาก
ทานที่ให้แก่สาวกของเราเท่านั้นมีผลมาก ที่ให้แก่สาวกของคนอื่น ๆ ไม่มีผลมาก
ดังนี้ ชนเหล่านั้นมิได้กล่าวตามคำที่เรากล่าว
อนึ่ง ชนเหล่านั้นใส่ความเราด้วยเรื่องอันไม่มีไม่เป็นจริง
วัจฉะ ผู้ใดห้ามคนอื่นที่กำลังให้ทาน ผู้นั้นชื่อว่าทำอันตรายแก่คน ๓ คน
ทำร้ายแก่คน ๓ คน ๓ คนอย่างไร
คือ ทำอันตรายต่อบุญของทายก ทำอันตรายต่อลาภของปฏิคาหก
อนึ่ง ตัวของผู้นั้นชื่อว่าถูกก่น (ขุดรากคือความดี)
และถูกขจัด (ตายไปจากความดี) เสียก่อนแล้ว
วัจฉะ ผู้ใดห้ามคนอื่นที่กำลังให้ทาน ผู้นั้นชื่อว่าทำอันตรายแก่คน ๓ คน
ทำร้ายแก่คน ๓ คนเหล่านี้


วัจฉะ เราตถาคตกล่าวอย่างนี้ต่างหาก
ว่า แม้สัตว์ทั้งหลายที่อยู่ในหลุมน้ำโสโครกหรือร่องน้ำครำ
ผู้ใดเทน้ำล้างหม้อก็ดี น้ำล้างชามก็ดี ลงไปในหลุมน้ำโสโครกหรือร่องน้ำครำนั้น
ด้วยเจตนาให้สัตว์ในหลุมน้ำโสโครกหรือร่องน้ำครำนั้นได้เลี้ยงชีพ
อย่างนี้เราตถาคตยังกล่าวการได้บุญอันมีกิริยาที่ทำอย่างนั้นเป็นมูล
จะกล่าวอะไร (ถึงการให้ทาน) ในผู้ที่เป็นมนุษย์เล่า


วัจฉะ อีกอย่างหนึ่ง เราตถาคตกล่าวว่า ทานที่ให้แก่ผู้มีศีลมีผลมาก
หาได้กล่าวว่าทานที่ให้ในผู้ทุศีลมีผลมากไม่
และผู้มีศีลนั้นเป็นผู้ละองค์ ๕ ประกอบด้วยองค์ ๕
ละองค์ ๕ อะไรบ้าง คือ ละกามฉันทะ ละพยาบาท ละถีนมิทธะ
ละอุทธัจจกุกกุจจะ ละวิจิกิจฉา
ผู้มีศีลนั้นเป็นผู้ละองค์ ๕ นี้
ผู้มีศีลประกอบด้วยองค์ ๕ อะไรบ้าง
คือ ประกอบด้วยสีลขันธ์ (กองศีล) อันเป็นอเสขะ
สมาธิขันธ์ (กองสมาธิ) อันเป็นอเสขะ
ปัญญาขันธ์ (กองปัญญา) อันเป็นอเสขะ
วิมุตติขันธ์ (กองวิมุตติ) อันเป็นอเสขะ
วิมุตติญาณทัสสนขันธ์ (กองวิมุตติญาณทัสนะ) อันเป็นอเสขะ
ผู้มีศีลนั้นเป็นผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้


เราตถาคตกล่าวว่า ทานที่ให้ในผู้มีศีล
ผู้ละองค์ ๕ ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้ มีผลมาก.


ในโคตัวเมียทั้งหลาย เช่น แม่โคสีดำ สีขาว สีแดง สีเขียว สีด่าง สีปกติ
หรือสีนกพิราบก็ตาม โคตัวผู้ ซึ่งฝึกแล้ว เป็นโคใช้งาน มีกำลัง ว่องไวดี
ย่อมเกิดในแม่โคเหล่านั้นได้ทุกเหล่า คนทั้งหลายใช้มันในการงานหนักเท่านั้น
หาได้พิถีพิถันสีของมันไม่


เช่นเดียวกันนั่นแล ในหมู่มนุษย์ ในชนชาติใดชาติหนึ่ง
จะเป็นชาติกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร จัณฑาล หรือปุกกุสะ
บุคคลผู้ซึ่งฝึกตนแล้ว มีข้อปฏิบัติอันดี ตั้งอยู่ในธรรม ถึงพร้อมด้วยศีล
พูดคำสัจ มีใจประกอบด้วยหิริ ละชาติและมรณะแล้ว
จบพรหมจรรย์ ปลงภาระแล้ว ปลีกตัวออกจากโลก เสร็จกิจแล้ว
ไม่มีอาสวะ ถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง ดับกิเลสได้เพราะไม่ยึดมั่นถือมั่น
ย่อมเกิดมีในชาติเหล่านั้นได้ทุกชาติ
ทักษิณาทานที่ให้ในบุคคลนั้นอันเป็นเนื้อนาที่ปราศจากโทษ ย่อมมีผลไพบูลย์


ส่วนคนเขลาทรามปัญญา มิได้สดับ ไม่รู้จัก (บุญเขต)
ให้ทานไปภายนอก (เขต) ไม่เข้าใกล้สัตบุรุษทั้งหลายเลย


ฝ่ายคนเหล่าใดเข้าใกล้สัตบุรุษผู้มีปัญญา อันโลกรู้กันทั่วว่าเป็นปราชญ์
และศรัทธาของเขามีรากฐานมั่นคงในองค์พระสุคต
คนเหล่านั้นย่อมไปเทวโลก หรือเกิดในสกุล ณ โลกนี้ ก็จะเป็นบัณฑิต
บรรลุพระนิพพานโดยลำดับ.


ชัปปสูตร จบ



(ชัปปสูตร พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต
พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ ๓๔)



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP