ธรรมะจากพระสูตร Dhamma from Sutta

ติกัณณสูตร ว่าด้วยวิชชา ๓ ของพราหมณ์และของพุทธ


กลุ่มไตรปิฎกสิกขา



[๔๙๘] ครั้งนั้น พราหมณ์ชื่อติกัณณะ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ
ครั้นเข้าเฝ้าแล้วได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้ว
นั่ง ณ ที่สมควรส่วนหนึ่ง พราหมณ์ติกัณณะนั่ง ณ ที่ควรส่วนหนึ่งแล้ว
กล่าวสรรเสริญพวกพราหมณ์ผู้ได้วิชชา ๓ เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
พราหมณ์ผู้ได้วิชชา ๓ เป็นแม้อย่างนั้นอย่างนี้.


พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า
พราหมณ์ พราหมณ์ทั้งหลายบัญญัติพราหมณ์ผู้ได้วิชชา ๓ ไว้อย่างไร.


พราหมณ์ติกัณณะกราบทูลตอบว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ
พราหมณ์ในโลกนี้ เป็นผู้ได้กำเนิดดีทั้ง ๒ ฝ่าย คือ ทั้งฝ่ายมารดาทั้งฝ่ายบิดา
มีครรภ์ที่ถือปฏิสนธิหมดจดดี ไม่ถูกคัดค้านติเตียนเพราะเรื่องกำเนิดถึง ๗ ชั่วปู่
เล่าเรียนจำมนต์ได้ เจนจบไตรเพทพร้อมทั้งนิฆัณฑุศาสตร์ และเกฏุภศาสตร์
กับอักษรประเภท เป็นห้าทั้งคัมภีร์อิติหาส รู้ตัวบท รู้คำแก้ (ในไตรเพทนั้น)
ปราดเปรื่องในโลกายตศาสตร์ และมหาบุรุษลักษณศาสตร์
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ พราหมณ์ทั้งหลายย่อมบัญญัติพราหมณ์ผู้ได้วิชชา ๓ อย่างนี้แล.


พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า พราหมณ์ พราหมณ์ทั้งหลายบัญญัติ
พราหมณ์ผู้ได้วิชชา ๓ อย่างหนึ่ง แต่ผู้ได้วิชชา ๓ ในวินัยของพระอริยะเป็นอีกอย่างหนึ่ง.


พราหมณ์ติกัณณะ. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ก็ผู้ได้วิชชา ๓ ในวินัยของพระอริยะเป็นอย่างไร
สาธุ ผู้ได้วิชชา ๓ ในวินัยของพระอริยะเป็นอย่างไร
ขอพระโคดมผู้เจริญทรงแสดงธรรมอย่างนั้นแก่ข้าพระพุทธเจ้าเถิด.


พระผู้มีพระภาคเจ้า. พราหมณ์ ถ้ากระนั้นท่านจงฟัง ทำในใจให้ดี เราตถาคตจักกล่าว.


พราหมณ์ติกัณณะรับพระพุทธพจน์แล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า
พราหมณ์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย
บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวกอยู่


เพราะวิตกวิจารสงบไป บรรลุทุติยฌาน อันเป็นความผ่องใสในภายใน
เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิอยู่


เพราะปีติคลายไป เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ มีสัมปชัญญะ เสวยสุขทางกาย
บรรลุตติยฌาน ที่พระอริยะทั้งหลายกล่าวว่า (ผู้ได้ตติยฌานนี้)
เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข


เพราะละสุขและเพราะละทุกข์เสียได้
เพราะโสมนัสและโทมนัสก่อน ๆ ดับไป บรรลุจตุตถฌาน
ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่


ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่มีมลทิน ปราศจากอุปกิเลส
อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งอยู่ไม่หวั่นไหวอย่างนี้แล้ว
น้อมจิตไปเพื่อปุพเพนิวาสานุสติญาณ (ญาณที่ทำให้ระลึกชาติได้)
เธอก็ระลึกชาติได้อย่างอเนก คือ ๑ ชาติ ๒ ชาติ ๓ ชาติ ๔ ชาติ ๕ ชาติ ถึง ๑๐ ชาติ
๒๐ ชาติ ๓๐ ชาติ ๔๐ ชาติ ๕๐ ชาติ กระทั่ง ๑๐๐ ชาติ ๑,๐๐๐ ชาติ ๑๐,๐๐๐ ชาติ
จนหลายสังวัฏฏกัป หลายวิวัฏฏกัป และหลายสังวัฏฏวิวัฏฏกัป ว่า
ในชาติโน้นเรามีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น
มีอาหารอย่างนั้น ได้รับสุขทุกข์อย่างนั้น มีกำหนดอายุเท่านั้น
จุติจากชาตินั้น เกิดในชาติโน้น
ในชาตินั้นเรามีชื่อมีโคตรมีผิวพรรณมีอาหารอย่างนั้น ๆ
ได้รับสุขทุกข์อย่างนั้น มีกำหนดอายุเท่านั้น
จุติจากชาตินั้นมาเกิดในชาตินี้ เธอระลึกชาติได้อย่างอเนกพร้อมทั้งอาการ
(คือรูปร่างท่าทางและความเป็นไปในที่ต่าง ๆ กัน มีผิวพรรณต่างกันเป็นต้น)
พร้อมทั้งอุทเทส (คือสิ่งสำหรับอ้างสำหรับเรียก ได้แก่ชื่อและโคตร) อย่างนี้
นี้วิชชาที่ ๑ อันภิกษุนั้นได้บรรลุ อวิชชาหายไป วิชชาเกิดขึ้น
ความมืดหายไป ความสว่างเกิดขึ้น (เป็นผล) เช่นเดียวกันกับของภิกษุผู้ไม่ประมาท
มีความเพียร มีตนอันส่งไปอยู่ (จิตเด็ดเดี่ยว) ฉะนั้น


ภิกษุนั้น ครั้นจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่มีมลทิน ปราศจากอุปกิเลส
อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งอยู่ไม่หวั่นไหวอย่างนี้แล้ว น้อมจิตไปเพื่อจุตูปปาตญาณ
(กำหนดรู้จุติและอุปบัติ) แห่งสัตว์ทั้งหลาย
เธอก็เห็นสัตว์ทั้งหลายกำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ดี ผิวพรรณงาม ผิวพรรณทราม
ได้ดี ตกยาก ด้วยจักษุทิพย์อันแจ่มใสเกินจักษุมนุษย์สามัญ
รู้ชัดว่าสัตว์ทั้งหลายเป็นไปตามกรรม
(รู้ชัด) ว่า สัตว์เหล่านี้ ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยเจ้า
มีความเห็นผิด กระทำกรรมไปตามความเห็นผิด
สัตว์เหล่านั้น เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เป็นผู้เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย หรือว่า สัตว์เหล่านี้ ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต
ไม่ติเตียนพระอริยะ มีความเห็นชอบ กระทำกรรมไปตามความเห็นชอบ
สัตว์เหล่านั้น เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เป็นผู้เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์
เธอเห็นสัตว์ทั้งหลายกำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ดี ผิวพรรณงาม ผิวพรรณทราม
ได้ดี ตกยาก ด้วยจักษุทิพย์อันแจ่มใสเกินจักษุมนุษย์สามัญ
รู้ชัดว่าสัตว์ทั้งหลายเป็นไปตามกรรม อย่างนี้ นี้วิชชาที่ ๒ อันภิกษุนั้นได้บรรลุ
อวิชชาหายไป วิชชาเกิดขึ้น ความมืดหายไป ความสว่างเกิดขึ้น (เป็นผล)
เช่นเดียวกันกับของภิกษุผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีตนอันส่งไปอยู่ ฉะนั้น


ภิกษุนั้น ครั้นจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่มีมลทิน ปราศจากอุปกิเลส
อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งอยู่ไม่หวั่นไหวอย่างนี้แล้ว น้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ
(ญาณที่เป็นเหตุทำอาสวะให้สิ้นไป) เธอรู้ชัดตามความจริงว่า
นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา
รู้ชัดตามความจริงว่า นี้อาสวะ นี้อาสวสมุทัย (เหตุเกิดอาสวะ)
นี้อาสวนิโรธ (ความดับอาสวะ) นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา (ทางไปถึงความดับอาสวะ)
เมื่อเธอรู้อย่างนี้เห็นอย่างนี้ จิตก็พ้นทั้งกามาสวะ ทั้งภวาสวะ ทั้งอวิชชาสวะ
ครั้นพ้นแล้วก็มีญาณ (รู้) ว่าพ้นแล้ว รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว
กิจที่ควรทำได้ทำแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ไม่มีอีก นี้วิชชาที่ ๓ อันภิกษุนั้นได้บรรลุ
อวิชชาหายไป วิชชาเกิดขึ้น ความมืดหายไป ความสว่างเกิดขึ้น (เป็นผล)
เช่นเดียวกันกับของภิกษุผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีตนอันส่งไปอยู่


จิตของพระโคดมองค์ใด ผู้มีศีลไม่ขึ้นลง
มีปัญญาเพ่งพินิจ เป็นจิตตั้งมั่น แน่วแน่ เป็นวสี
บัณฑิตทั้งหลายกล่าวพระโคดมนั้นผู้เป็นปราชญ์ ขจัดความมืดเสีย
ผู้ได้วิชชา ๓ ละมฤตยู ละบาปธรรมทั้งปวงเสียได้
ว่าเป็นผู้มีประโยชน์สำหรับเทพและมนุษย์ทั้งหลาย


บัณฑิตทั้งหลายย่อมนอบน้อมพระโคดมผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชา๓
ไม่ลุ่มหลงอยู่ เป็นพระพุทธะ มีพระสรีระเป็นครั้งสุดท้ายพระองค์นั้น


ผู้ใดรู้ (ระลึก) ชาติก่อนได้ เห็นสวรรค์และอบาย และถึงธรรมที่สิ้นชาติแล้ว
เป็นมุนี อยู่จบเพราะรู้ยิ่ง โดยวิชชา ๓ เหล่านี้ จึงเป็นพราหมณ์ผู้ได้วิชชา ๓
เราเรียกผู้เช่นนั้นว่า ผู้ได้วิชชา ๓
ไม่เรียกคนอื่นว่าผู้ได้วิชชา ๓ ตามคำที่คนอื่นพูดกัน


พราหมณ์ ผู้ได้วิชชา ๓ ในวินัยของพระอริยะเป็นอย่างนี้แล.


พราหมณ์ติกัณณะ. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ผู้ได้วิชชา ๓ ของพวกพราหมณ์ เป็นอย่างหนึ่ง
ส่วนผู้ได้วิชชา ๓ ในวินัยของพระอริยะ เป็นอีกอย่างหนึ่ง
แต่ผู้ได้วิชชา ๓ ของพวกพราหมณ์ ไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ แห่งผู้ได้วิชชา ๓ ในวินัยของพระอริยะ
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ฯลฯ
ขอพระโคคมผู้เจริญโปรดทรงจำข้าพระพุทธเจ้าไว้ว่า
เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป.


ติกัณณสูตร จบ



(ติกัณณสูตร พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต
พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ ๓๔)



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP