ธรรมะจากพระสูตร Dhamma from Sutta

ทุติยนิทานสูตร ว่าด้วยเหตุให้เกิดกรรม


กลุ่มไตรปิฎกสิกขา



[๕๕๒] ภิกษุทั้งหลาย เหตุ ๓ นี้ เพื่อความเกิดขึ้นแห่งกรรมทั้งหลาย เหตุ ๓ เป็นไฉน
คือ ความพอใจเกิดเพราะปรารภธรรมทั้งหลายอันเป็นฐานแห่งฉันทราคะที่เป็นอดีต ๑
ความพอใจเกิดเพราะปรารภธรรมทั้งหลายอันเป็นฐานแห่งฉันทราคะที่เป็นอนาคต ๑
ความพอใจเกิดเพราะปรารภธรรมทั้งหลายอันเป็นฐานแห่งฉันทราคะที่เป็นปัจจุบัน ๑


ความพอใจเกิดเพราะปรารภธรรมทั้งหลายอันเป็นฐานแห่งฉันทราคะที่เป็นอดีตอย่างไร
คือ บุคคลตรึกตรองเนือง ๆ ปรารภธรรมทั้งหลายอันเป็นฐานแห่งฉันทราคะที่ล่วงไปแล้ว ด้วยใจ
เมื่อตรึกตรองเนือง ๆ ปรารภธรรมทั้งหลายอันเป็นฐานแห่งฉันทราคะที่ล่วงไปแล้ว ด้วยใจ
ความพอใจก็เกิดขึ้น ผู้เกิดความพอใจแล้วก็ชื่อว่าถูกธรรมเหล่านั้นผูกไว้แล้ว
เรากล่าวความกำหนัดแห่งใจนั้น ว่าเป็นสังโยชน์ (เครื่องผูก)
ความพอใจเกิดเพราะปรารภธรรมทั้งหลายอันเป็นฐานแห่งฉันทราคะที่เป็นอดีต อย่างนี้แล


ความพอใจเกิดเพราะปรารภธรรมทั้งหลายอันเป็นฐานแห่งฉันทราคะที่เป็นอนาคตอย่างไร
คือบุคคลตรึกตรองเนือง ๆ ปรารภธรรมทั้งหลายอันเป็นฐานแห่งฉันทราคะที่ยังมาไม่ถึง ด้วยใจ
เมื่อตรึกตรองเนือง ๆ ปรารภธรรมทั้งหลายอันเป็นฐานแห่งฉันทราคะที่ยังมาไม่ถึง ด้วยใจ
ความพอใจก็เกิดขึ้น ผู้เกิดความพอใจแล้วก็ชื่อว่าถูกธรรมเหล่านั้นผูกไว้แล้ว
เรากล่าวความกำหนัดแห่งใจนั้น ว่าเป็นสังโยชน์
ความพอใจเกิด เพราะปรารภธรรมทั้งหลายอันเป็นฐานแห่งฉันทราคะที่เป็นอนาคต อย่างนี้แล


ความพอใจเกิดเพราะปรารภธรรมทั้งหลายอันเป็นฐานแห่งฉันทราคะที่เป็นปัจจุบันอย่างไร
คือบุคคลตรึกตรองเนือง ๆ ปรารภธรรมทั้งหลายอันเป็นฐานแห่งฉันทราคะที่เกิดขึ้นจำเพาะหน้า ด้วยใจ
เมื่อตรึกตรองเนือง ๆ ปรารภธรรมทั้งหลายอันเป็นฐานแห่งฉันทราคะที่เป็นปัจจุบัน ด้วยใจ
ความพอใจก็เกิดขึ้น ผู้เกิดความพอใจแล้วก็ชื่อว่าถูกธรรมเหล่านั้นผูกไว้แล้ว
เรากล่าวความกำหนัดแห่งใจนั้น ว่าเป็นสังโยชน์
ความพอใจเกิดเพราะปรารภธรรมทั้งหลายอันเป็นฐานแห่งฉันทราคะที่เป็นปัจจุบัน อย่างนี้แล


ภิกษุทั้งหลาย เหตุ ๓ นี้ เพื่อความเกิดขึ้นแห่งกรรมทั้งหลายแล


ภิกษุทั้งหลาย เหตุ ๓ นี้ เพื่อความเกิดขึ้นแห่งกรรมทั้งหลาย เหตุ ๓ เป็นไฉน
คือความพอใจไม่เกิดเพราะปรารภธรรมทั้งหลายอันเป็นฐานแห่งฉันทราคะที่เป็นอดีต ๑
ความพอใจไม่เกิดเพราะปรารภธรรมทั้งหลายอันเป็นฐานแห่งฉันทราคะที่เป็นอนาคต ๑
ความพอใจไม่เกิดเพราะปรารภธรรมทั้งหลายอันเป็นฐานแห่งฉันทราคะที่เป็นปัจจุบัน ๑


ความพอใจไม่เกิดเพราะปรารภธรรมทั้งหลายอันเป็นฐานแห่งฉันทราคะที่เป็นอดีตอย่างไร
คือบุคคลรู้ชัดซึ่งวิบากอันยืดยาวของธรรมทั้งหลายอันเป็นฐานแห่งฉันทราคะที่ล่วงแล้ว
ครั้นรู้ชัดซึ่งวิบากอันยืดยาวแล้ว กลับธรรมนั้นเสีย ครั้นกลับได้แล้ว คลายออกจากใจ
ก็เห็นแจ้งแทงตลอดด้วยปัญญา ความพอใจไม่เกิดเพราะปรารภธรรมทั้งหลาย
อันเป็นฐานแห่งฉันทราคะที่เป็นอดีตอย่างนี้แล


ความพอใจไม่เกิดเพราะปรารภธรรมทั้งหลายอันเป็นฐานแห่งฉันทราคะที่เป็นอนาคตอย่างไร
คือบุคคลรู้ชัดซึ่งวิบากอันยืดยาวของธรรมทั้งหลายอันเป็นฐานแห่งฉันทราคะที่ยังมาไม่ถึง
ครั้นรู้ชัดซึ่งวิบากอันยืดยาวแล้ว กลับธรรมนั้นเสีย ครั้นกลับได้แล้ว คลายออกจากใจ
ก็เห็นแจ้งแทงตลอดด้วยปัญญา ความพอใจไม่เกิดเพราะปรารภธรรมทั้งหลาย
อันเป็นฐานแห่งฉันทราคะที่เป็นอนาคตอย่างนี้แล


ความพอใจไม่เกิดเพราะปรารภธรรมทั้งหลายอันเป็นฐานแห่งฉันทราคะที่เป็นปัจจุบันอย่างไร
คือบุคคลรู้ชัดซึ่งวิบากอันยืดยาวของธรรมทั้งหลายอันเป็นฐานแห่งฉันทราคะที่เกิดขึ้นจำเพาะหน้า
ครั้นรู้ชัดซึ่งวิบากอันยืดยาวแล้ว กลับธรรมนั้นเสีย ครั้นกลับได้แล้ว คลายออกจากใจ
ก็เห็นแจ้งแทงตลอดด้วยปัญญา ความพอใจไม่เกิดเพราะปรารภธรรมทั้งหลาย
อันเป็นฐานแห่งฉันทราคะที่เป็นอนาคตอย่างนี้แล


ภิกษุทั้งหลาย เหตุ ๓ นี้ เพื่อความเกิดขึ้นแห่งกรรมทั้งหลาย ฉะนี้แล.


ทุติยนิทานสูตร จบ



(ทุติยนิทานสูตร พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต
พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ ๓๔)



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP