ธรรมะจากพระสูตร Dhamma from Sutta

ติตถิยสูตร ว่าด้วยความแตกต่างแห่งอกุศลมูล ๓


กลุ่มไตรปิฎกสิกขา



[๕๐๘] ภิกษุทั้งหลาย ถ้าพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชก จะพึงถามอย่างนี้ว่า
อาวุโสทั้งหลาย ธรรม ๓ นี้ ธรรม ๓ อะไรบ้าง คือ ราคะ โทสะ โมหะ
อาวุโสทั้งหลาย ธรรม ๓ นี้แล ธรรม ๓ นี้ วิเศษ แปลก ต่างกันอย่างไร
ท่านทั้งหลายถูกถามอย่างนี้แล้ว จะพึงตอบว่ากระไร
แก่พวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้น.


ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมทั้งหลายของข้าพระพุทธเจ้า
มีพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นเค้ามูล มีพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้นำ
มีพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นที่อาศัย สาธุ
เนื้อความแห่งภาษิตนั้นจงแจ่มแจ้งแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าเถิด*
ภิกษุทั้งหลายฟังจากพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วจักทรงจำไว้.
(*เป็นสำนวน หมายความว่า ขอพระองค์ประทานคำตอบเองเถิด)


พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ถ้าเช่นนั้น เธอทั้งหลายจงฟัง ทำในใจให้ดี เราจักกล่าว
ภิกษุทั้งหลายรับพระพุทธพจน์แล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกจะพึงถามอย่างนี้ว่า
อาวุโสทั้งหลาย ธรรม ๓ นี้ ธรรม ๓ อะไรบ้าง คือ ราคะ โทสะ โมหะ
ธรรม ๓ นี้แล ธรรม ๓ นี้ วิเศษ แปลก ต่างกันอย่างไร
เธอทั้งหลายถูกถามอย่างนี้ พึงพยากรณ์แก่พวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกอย่างนี้ว่า
อาวุโสทั้งหลาย ราคะมีโทษน้อย แต่คลายช้า โทสะมีโทษมาก แต่คลายเร็ว
โมหะมีโทษมากด้วย คลายช้าด้วย.


ถ้าเขาถามต่อไปว่า ก็อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัย ที่ทำราคะที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น
หรือที่ทำราคะที่เกิดแล้วให้เป็นไปมากยิ่งขึ้น?
พึงตอบว่า สุภนิมิต (อารมณ์ที่สวยงาม).
เมื่อบุคคลทำในใจโดยไม่แยบคายซึ่งสุภนิมิต
ราคะที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้นด้วย ราคะที่เกิดแล้วย่อมเป็นไปมากยิ่งขึ้นด้วย
อาวุโสทั้งหลาย นี้แล เป็นเหตุเป็นปัจจัย ซึ่งทำราคะที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้นด้วย
ทำราคะที่เกิดแล้วให้เป็นไปมากยิ่งขึ้นด้วย


ถ้าถามว่า ก็อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัย ที่ทำโทสะที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น
หรือที่ทำโทสะที่เกิดแล้วให้เป็นไปมากยิ่งขึ้น?
พึงตอบว่า ปฏิฆนิมิต (อารมณ์ที่ไม่พอใจ).
เมื่อบุคคลทำในใจโดยไม่แยบคายซึ่งปฏิฆนิมิต
โทสะที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้นด้วย โทสะที่เกิดแล้วย่อมเป็นไปมากยิ่งขึ้นด้วย
อาวุโสทั้งหลาย นี้แล เป็นเหตุเป็นปัจจัย ซึ่งทำโทสะที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้นด้วย
ทำโทสะที่เกิดแล้วให้เป็นไปมากยิ่งขึ้นด้วย


ถ้าถามว่า อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัย ที่ทำโมหะที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น
หรือที่ทำโมหะที่เกิดแล้วให้เป็นไปมากยิ่งขึ้น?
พึงตอบว่า อโยนิโสมนสิการ (ความทำในใจโดยไม่แยบคาย ความใส่ใจอย่างไม่ฉลาด).
เมื่อบุคคลทำในใจโดยไม่แยบคาย โมหะที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้นด้วย
โมหะที่เกิดแล้วย่อมเป็นไปมากยิ่งขึ้นด้วย
อาวุโสทั้งหลาย นี้แล เป็นเหตุเป็นปัจจัย ซึ่งทำโมหะที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้นด้วย
ทำโมหะที่เกิดแล้วให้เป็นไปมากยิ่งขึ้นด้วย


ถ้าถามว่า ราคะที่ยังไม่เกิดย่อมไม่เกิดขึ้น และที่เกิดแล้วย่อมถูกละได้
เพราะอะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัย?
พึงตอบว่า เพราะอสุภนิมิต (อารมณ์ที่ไม่สวยไม่งาม).
เมื่อบุคคลทำในใจโดยแยบคายซึ่งอสุภนิมิต
ราคะที่ยังไม่เกิดย่อมไม่เกิดขึ้นด้วย ที่เกิดแล้วย่อมถูกละได้ด้วย
อาวุโสทั้งหลาย นี้แล เป็นเหตุเป็นปัจจัย ซึ่งทำราคะที่ยังไม่เกิดมิให้เกิดขึ้นด้วย
ราคะที่เกิดแล้วย่อมถูกละได้ด้วย


ถ้าถามว่า โทสะที่ยังไม่เกิดย่อมไม่เกิดขึ้น และที่เกิดแล้วย่อมถูกละได้
เพราะอะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัย?
พึงตอบว่า เพราะเมตตาเจโตวิมุตติ (ความหลุดพ้นแห่งใจด้วยเมตตา).
เมื่อบุคคลทำในใจโดยแยบคายซึ่งเมตตาเจโตวิมุตติ
โทสะที่ยังไม่เกิดย่อมไม่เกิดขึ้นด้วย โทสะที่เกิดแล้วย่อมถูกละได้ด้วย
อาวุโสทั้งหลาย นี้แล เป็นเหตุเป็นปัจจัย ซึ่งทำโทสะที่ยังไม่เกิดมิให้เกิดขึ้นด้วย
โทสะที่เกิดแล้วย่อมถูกละได้ด้วย


ถ้าถามว่า โมหะที่ยังไม่เกิดย่อมไม่เกิดขึ้น และที่เกิดแล้วย่อมถูกละได้
เพราะอะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัย?
พึงตอบว่า เพราะโยนิโสมนสิการ (ความทำในใจโดยแยบคาย).
เมื่อบุคคลทำในใจโดยแยบคาย โมหะที่ยังไม่เกิดย่อมไม่เกิดขึ้นด้วย
โมหะที่เกิดแล้วย่อมถูกละได้ด้วย
อาวุโสทั้งหลาย นี้แล เป็นเหตุเป็นปัจจัย ซึ่งทำโมหะที่ยังไม่เกิดมิให้เกิดขึ้นด้วย
โมหะที่เกิดแล้วย่อมถูกละได้ด้วย.


ติตถิยสูตร จบ



(ติตถิยสูตร พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต
พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ ๓๔)



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP