ดับเพลิง Calm Down
เรื่องที่ทำได้ยาก
ศิวาพร
ในชีวิตของคนคนหนึ่ง จะมากจะน้อยต้องมีเรื่องบางเรื่องซึ่งเป็นสิ่งที่ทำได้ยากมาก แต่สำหรับบางคน เรื่องเดียวกันนั้นกลับสามารถทำได้อย่างง่ายๆ ไม่ลำบากลำบนสักนิด
มีเรื่องหนึ่ง ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องง่ายของคนอื่น แต่กับป้าตุ้ย …มันเป็นเรื่องยากอย่างยิ่ง
ป้าตุ้ยเป็นคนเจ้าโทสะ แกสามารถมีโทสะได้กับคน สัตว์ สิ่งของ ไม่เว้นแม้กระทั่งตัวเอง เวลาป้าโมโหแกจะฟาดงวงฟาดงาไปทั่ว โดยเฉพาะกับญาติพี่น้องที่อยู่ร่วมบ้าน จนเป็นที่ขยาดไปตามๆ กัน ขนาดที่ว่าเวลาแกหาอะไรไม่เจอแล้วไปถามหาข้าวของในบ้านกับใครก็ตาม ถึงจะเป็นญาติผู้ใหญ่ก็เถอะ ถ้ามาตอบแบบขอไปทีว่า “ลืม ไม่รู้อยู่ตรงไหน” ลงป้าแกเริ่มเสียงขุ่น (มันแปลว่า ป้าเตรียมโวยวาย) แล้วละก็ ญาติผู้ใหญ่คนนั้นของแกก็จะมีอันให้ความทรงจำแล่นฉิวนึกขึ้นมาได้โดยฉับพลัน
เวรกรรมเหลือเกิน คนที่กระตุ้นต่อมโทสะของป้าตุ้ยได้อย่างรวดเร็วที่สุด คือพ่อของแกเอง ไม่ใช่ว่าป้าจะไม่รักพ่อ แต่การที่ป้าอยู่กับปู่และย่าในต่างจังหวัด โดยไม่ได้อยู่กับพ่อตั้งแต่เล็กแต่น้อย เนื่องจากพ่อมีครอบครัวใหม่ จึงทำให้มีช่องว่างแห่งความห่างเหินกว้างขวางเหลือคณา ยิ่งห่างเหิน ป้าก็ยิ่งหลบเลี่ยงไม่ค่อยเข้าหน้าพ่อของตัวเองเท่าไร เพราะถ้าอยู่ใกล้กันแค่ไม่ถึงวัน ป้าแกจะมีอันต้องหงุดหงิดอารมณ์เสียอยู่บ่อยๆ ซึ่งป้ากลัวเผลอทำบาปกับพ่อแล้วตายไปตกนรก แต่ถึงแม้แกจะกลัวขนาดไหน แกก็ยังเผลอทำเสียงขุ่นใส่พ่อบ้าง ทำกิริยาเบื่อหน่ายให้พ่อเห็นบ้างจนได้
จึงนับว่าเป็นบุญของป้าตุ้ยอยู่ไม่ใช่น้อย (ที่ไม่ต้องพาตัวไปลงนรกบ่อยๆ) ทำให้ปีหนึ่งๆ แกจะเจอพ่อแค่ไม่กี่วัน ส่วนใหญ่จะเป็นช่วงเทศกาลปีใหม่และวันหยุดในเดือนเมษายน ซึ่งญาติๆ นัดกันมาทำบุญให้พ่อแม่ปู่ย่าตายายที่ล่วงลับไปแล้ว
ต้นเดือนเมษายนปีนี้ก็เช่นกัน ป้าแกเริ่มตั้งท่ากังวลไว้ก่อนล่วงหน้าที่พ่อแกจะมาหลายวัน และในวันที่พ่อแกมาถึง ป้าตุ้ยออกไปตลาดซื้ออาหารกลางวันมาเตรียมไว้ เผื่อว่าถ้าพ่อมาหิวๆ จะได้กินเลย และนี่คือบทสนทนาของพ่อลูกเมื่อเจอหน้ากันในวันแรก ณ เวลาหลังเที่ยงวันเล็กน้อย
ป้าตุ้ย : ยกมือไหว้สวัสดี แล้วถามว่า “พ่อกินข้าวมาหรือยัง”
พ่อ: ยังเลยลูก
ป้าตุ้ย: พ่อจะกินตอนนี้เลยมั้ย? หนูซื้อก๋วยเตี๋ยวมา ส้มตำ ลาบหมูก็มี
พ่อ: ก๋วยเตี๋ยวร้านไหนล่ะลูก ใช่ร้านที่พ่อกินประจำหรือเปล่า?
ป้าตุ้ย: ไม่ใช่หรอก เป็นร้านที่หนูชอบกินน่ะ (แต่ไม่ได้บอกพ่อว่า ร้านที่พ่อถามถึง วันนี้เขาไม่ขาย)
พ่อ: ไม่ต้องก็ได้ลูก
ป้าตุ้ย: (นำเสนอเมนูต่อไป) งั้นส้มตำกับลาบหมูมั้ยพ่อ?
พ่อ: ไม่ละลูก พ่อยังไม่หิว ปกติก็ไม่ค่อยกินข้าวกลางวันอยู่แล้ว
ป้าตุ้ย: (เริ่มหงุดหงิด แต่ยังไม่ละความพยายามที่จะให้พ่อกินอะไรสักหน่อย เพราะคิดเอาเองว่า พ่อน่าจะหิวนะ ก็มันเลยเที่ยงแล้วนี่) กล้วยน้ำว้า กล้วยเล็บมือนางก็มีนะพ่อ บนโต๊ะนี่ไง
พ่อ: (มองไปที่กล้วยสองหวีบนโต๊ะแวบนึง) ไม่ต้องหรอกลูก เมื่อกี้นั่งรถมากินน้ำเยอะ ยังไม่หิวเลย
ป้าตุ้ยเจอแบบนี้เข้าก็โมโหเดือด โน่นก็ไม่กิน นี่ก็ไม่กิน แต่ไม่รู้จะทำยังไง หันรีหันขวาง นึกขึ้นมาได้ว่า บ้านอาที่อยู่ห่างไปไม่ไกลมีญาติๆ แวะไปที่นั่น เลยคว้าโทรศัพท์ถามอาว่า ที่บ้านมีอะไรกินบ้าง ได้คำตอบว่ามีน้ำพริก ป้าแกเลยถามพ่อว่า จะไปบ้านอาหรือเปล่า ที่บ้านอามีน้ำพริก และมีญาติไปอยู่ที่บ้านอาคนหนึ่งแล้ว ถ้าไปเดี๋ยวอาจะมารับ พอพ่อแกตอบตกลงว่าไปเท่านั้นแหละ ป้าแกรู้สึกเหมือนยกภูเขาออกจากอกยังไงยังงั้น สรุปว่า วันแรกผ่านไปแบบทุลักทุเล โดยที่ป้ายังไม่ทันได้ทำบาปใดๆ กับพ่อ (แค่โมโหในใจเท่านั้นเอง) เพราะกว่าพ่อจะกลับเข้ามาที่บ้านอีกทีก็ค่ำๆ ได้เวลานอนแล้ว
วันที่สอง อันเป็นวันทำบุญ …ป้าตุ้ยตื่นนอนตอนเช้าแล้วเดินออกไปที่ลานบ้าน เห็นพ่อก้มๆเงยๆอยู่กับกองกระเป๋าเอกสารเก่าๆ ซึ่งป้าวางตากแดดตากฝนไว้เตรียมจะเอาไปทิ้ง พ่อเดินถือกระเป๋าเอกสารทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่รื้อมาได้ เอามาวางตรงเก้าอี้ ในขณะที่ป้าตุ้ยกำลังยืนหัวเสียอยู่กับกระถางกล้วยไม้หลายใบที่หล่นเกลื่อนพื้นอันเนื่องมาจากราวแขวนมันหักลงมาเมื่อตอนกลางคืน
พ่อ: กระเป๋านี่สวยดี พ่อชอบ เดี๋ยวพ่อจะเอากลับไปบ้านด้วยนะ
ป้าตุ้ย: (ชำเลืองดูพ่อนิดนึง แล้งเริ่มเก็บกระถางกล้วยไม้ขึ้นไปแขวนบนกิ่งต้นหูกระจง) มันเก่าแล้วนะพ่อ ขึ้นราด้วย อย่าเอาไปเลย
พ่อ: มันยังใช้ได้นี่ลูก เออ เดี๋ยวลูกเอาไปแช่ผงซักฟอกแล้วเอาแปรงขัดให้พ่อหน่อย
ป้าตุ้ย: (ตะโกนในใจ ขัดกระเป๋าเนี่ยนะ! แล้วสะบัดเสียงนิดๆ) พ่อจะเอาไปทำอะไร? มันขึ้นราแล้ว ไม่ดีหรอก
พ่อ: ไม่เป็นไรนี่ อย่าลืมขัดให้ด้วยล่ะ
ป้าตุ้ย: (พยายามกล้ำกลืนโทสะ บ่นอยู่ในใจ “โธ่ว๊อย มันขึ้นราแล้ว จะเอาไปใช้ได้ยังไง เกิดติดเชื้อป่วยขึ้นมาละจะทำยังไง”) ไม่ต้องหรอกพ่อ เดี๋ยวซื้อให้ใหม่ (สะบัดเสียงดุ)
พ่อ: เออน่ะ เอาไปขัดให้พ่อด้วยละกัน (แล้วชี้นิ้วสั่ง) อ้อ กระถางนั้น เอามาแขวนตรงนี้ซิลูก
ป้าตุ้ย: (กรี๊ดในใจ ...ดูซิ แทนที่จะช่วยเก็บกระถางกล้วยไม้ ยังยืนสั่งอยู่ได้)
หลังจากที่ป้าแกทำเสียงห้วนๆ สะบัดใส่พ่อแล้ว ก็อาบน้ำแต่งตัวพากันไปวัด กว่าจะกลับเข้าบ้านร่วมบ่ายโมงกว่า ป้าตุ้ยหมกมุ่นหาวิธีจัดการกับกระเป๋าเจ้าปัญหาอยู่ไม่นานก็นึกได้ โดยวางแผนส่งพ่อไปบ้านอา กะว่าค่ำๆค่อยไปรับกลับบ้าน จากนั้นก็รีบเคลื่อนย้ายกระเป๋าไปซ่อนไว้ให้พ้นสายตา เผื่อถ้าแกไม่เห็นก็จะได้ลืมๆมันไปซะ จะได้ไม่ต้องใช้กระเป๋าที่มีเชื้อราติดอยู่ (อันนี้เป็นข้ออ้างข้อที่สอง ส่วนข้ออ้างข้อแรกที่สำคัญมาก คือ ป้าขี้เกียจขัดกระเป๋านั่นแหละ)
วันที่สาม วันเดินทางกลับของพ่อ…ตอนเช้าป้าตุ้ยหอบตะกร้าผ้าไปซัก แต่เจอพ่อนั่งเล่นอยู่ที่ลานบ้าน พอแกเห็นป้า แกก็ชี้มือไปบนบ้าน
พ่อ: เออ มีเสื้อผ้าที่พ่อใส่อยู่ในห้องกับผ้าเช็ดตัวนะ เอาลงมาซักด้วย ซักแล้วเอาไว้ที่นี่แหละ
ป้าตุ้ย: (โทสะปรี๊ดขึ้นหัว เพราะความขี้เกียจเดินขึ้นบันไดไปชั้นสอง) ทำหน้าบึ้ง กระชากเสียงอย่างลืมตัว “เอ๊า แล้วทำไมพ่อไม่เอามาใส่ไว้ในตะกร้า ฮึ่ย.. ไม่เอาละ ของพ่อไว้ซักวันหลังละกัน”
พ่อ: (นิ่งเงียบนิดนึง) ซักวันหลังก็ได้ลูก
ป้าตุ้ยหันหลังเดินโครมๆ ออกมา แต่แค่ไม่กี่ก้าว ป้าก็รู้สึกผิดที่พูดกับพ่อไปแบบนั้น… แทนที่จะขอโทษ ป้ากลับเดินเลยไปเอาผ้าลงเครื่องด้วยใจที่ยังกระด้างเพราะโทสะ จากนั้นก็ไปช่วยพ่อกับอาขนของใส่รถเพื่อเตรียมเดินทางกลับ
ก่อนจะขึ้นรถ พ่อหยิบเงินออกจากกระเป๋าสตางค์ส่งให้ป้าตุ้ยที่กำลังตากผ้าอยู่ พูดเบาๆ ว่า
“วันเกิดลูกอาทิตย์หน้า อยากได้อะไรก็เอาไปซื้อนะ”
ป้ายืนอึ้ง มองหน้าพ่อ ความรู้สึกผิดพุ่งจู่โจมหัวใจ นี่ลูกเลวร้ายทำกิริยาไม่ดีสารพัด แค่ขัดกระเป๋าก็ไม่ทำให้ แต่พ่อก็ไม่ถือสาทั้งหยิบยื่นให้ลูกอีก..ป้าแกอยากจะปฏิเสธไม่รับเงิน แต่ก็เกรงว่าพ่อจะเสียน้ำใจ จึงยกมือไหว้ส่งเสียงขอบคุณค่อยๆ นึกถึงความร้ายกาจของตัวเองที่มักมีโทสะกับพ่อเสมอ ใจที่แข็งกระด้างอ่อนยวบลง อยากขอโทษแต่พูดไม่ออก ได้แต่เดินไปเปิดประตูบ้านและยกมือไหว้ลา
ความรู้สึกผิดเกาะกินใจป้าตุ้ยจนทุกข์ทรมานอยู่หลายวัน นึกอยากจะขอโทษพ่อในสิ่งที่ตัวเองทำไม่ดีไว้ แต่โอกาสที่จะพูดต่อหน้าพ่อก็หมดไปแล้ว มีทางเดียวคือโทรศัพท์ แต่จะให้โทรศัพท์ไปหาเพื่อขอโทษมันก็เป็นเรื่องที่ทำได้ยากเหลือเกินสำหรับป้า อย่างไรก็ตาม ป้าได้เริ่มวางแผนใช้เงินที่พ่อให้มาแล้ว
ป้าตุ้ยอยู่กับความทุกข์ในใจหลายวัน จนกระทั่งถึงวันเกิดของป้า ซึ่งแกรู้ดีว่า พ่อแกจะต้องโทรศัพท์มาอวยพรวันเกิดให้ ป้าแกไปวัดแต่เช้า ถวายภัตตาหารแล้วฟังธรรมจนเสร็จ แล้วแกก็รีบเอาเงินที่พ่อให้มาสมทบกับเงินของแกหย่อนลงตู้รับบริจาคบำรุงวัด และใส่ซองถวายพระ ถวายแม่ชี รวมทั้งสมทบสร้างโบสถ์ โดยแกเขียนที่หน้าซองทุกซองว่า “ตุ้ยกับคุณพ่อ”
พอป้าแกจัดการกับเงินทั้งหมดเรียบร้อยสมดังใจแล้ว แกก็ไปเข้าห้องน้ำ และพ่อของป้าก็ช่างเลือกเวลาโทรศัพท์อวยพรวันเกิดได้เหมาะเจาะพอดิบพอดีในตอนที่ป้าตุ้ยอยู่ในห้องน้ำนั่นแหละ
ป้าตุ้ย: สวัสดีค่ะ พ่อ
พ่อ: สุขสันต์วันเกิดนะลูก
ป้าตุ้ย : ค่ะ ขอบคุณค่ะ เอ้อ พ่อ เงินที่พ่อให้มา หนูเอาไปทำบุญนะ ถวายวัด ถวายพระ ถวายแม่ชี แล้วก็สร้างโบสถ์
จากนั้นป้าแกก็รวบรวมกำลังใจทำสิ่งที่แกคิดจะทำมาหลายวันแล้ว อันเป็นสิ่งที่ยากสำหรับแกเหลือเกิน
ป้าตุ้ย: พ่อ หนูขอขมาพ่อ ที่ได้ทำไม่ดีกับพ่อนะ
พ่อ: (นิ่งไปเล็กน้อย) ไม่เป็นไรลูก ที่ลูกทำทุกอย่างไม่มีอะไรที่ไม่ดีนะ ลูกทำดีทุกอย่างแล้ว (ทำเสียงสูดจมูกฟุดฟิด) ขอให้ลูกมีความสุข ความเจริญ คิดอะไรสมปรารถนานะลูก แล้วอย่าลืมทำบุญให้ปู่ย่าตายายด้วยล่ะ
ป้าตุ้ย:(น้ำตาคลอ) ค่ะพ่อ ขอบคุณค่ะ
ป้าตุ้ยเดินออกจากห้องน้ำด้วยจิตใจที่ปลอดโปร่งและมีความสุข ดูซิ เพราะทิฐิมานะของแกแท้ๆ เชียว จึงทำให้คำขอโทษที่พูดได้ง่ายๆ กลายเป็นสิ่งที่ทำได้ยากเย็นแสนเข็ญเหลือเกินสำหรับป้าตุ้ย
Next > |
---|