กระปุกออมสิน Money Literacy

ความเชื่อผิดๆ ที่คนส่วนใหญ่ไม่คิดวางแผนการเงิน


 

Mr.Messenger
สนใจติดตามข่าวสารการลงทุนได้ที่ http://twitter.com/MrMessenger

ในปัจจุบัน เงิน ดูจะเป็นเรื่องสำคัญ สำหรับพวกเราทุกคน ความสุข ความสะดวกสบาย เกือบทุกอย่างที่นึกขึ้นได้ เหมือนจะแลกมาได้ก็ด้วยเงิน (จริงไม่จริง เอาไว้ค่อยมาถกกันทีหลังครับ)

น่าแปลกนะครับ ที่เรารู้ว่า เงิน คือ สิ่งจำเป็น แต่น้อยคนเหลือเกิน ที่เริ่มวางแผนการเงิน

วิธีง่ายๆที่คนส่วนใหญ่ทำและคิดได้ก็คือ หาเงินให้ได้มากๆ จนบางครั้ง มันกลับกลายเป็นทำลายสุขภาพ และทำลายความสุขในระหว่างทางที่เราใช้ชีวิต หายใจไปแบบเครื่องจักรผลิตเงินเดือน โดยมีเงินเป็นเป้าหมายสุดท้าย ใครเป็นแบบนี้ ลองหยุดวิ่งซักพัก แล้วมาย้อนตรวจสอบตัวเองกันหน่อยดีกว่า

จากการได้พูดคุยกับนักลงทุน และเพื่อนรอบข้างทั้งที่อายุไล่เลี่ยกัน และโตกว่าผมหลายปี ผมเห็นถึงจุดร่วมที่คล้ายกันที่เขาเหล่านั้น คิดว่าเรื่องการวางแผนการเงินให้กับตัวเอง เป็นเรื่องห่างไกล และเกินความจำเป็น ไปดูกันครับ ว่ามีเรื่องอะไรบ้าง


ข้อ ๑. เชื่อว่า การวางแผนการเงิน เป็นเรื่องของคนรวยเพียงอย่างเดียว เชื่อว่าปัจจุบัน ตัวเองไม่ได้มีรายได้เพียงพอ หรือมากพอที่จะต้องมาวางแผนอะไร แต่เมื่อเวลาผ่านไป แม้แต่ความตั้งใจในระยะสั้น เช่น ต้องการมีเงินมาดาวน์บ้านซักหลัง อีก ๓ ปีข้างหน้า ก็ยังไม่สามารถหามาได้ เพราะมีเหตุให้ใช้จ่ายระหว่างทางอยู่เรื่อยไปโดยไม่ได้สร้างวินัยทางการเงินให้กับตัวเอง

ข้อ ๒. เชื่อว่า การวางแผนการเงิน เป็นส่วนเกิน เพราะตัวเองมีเงินเยอะแล้ว ถึงแม้จะตรงกันข้ามกับคนกลุ่มแรก แต่ก็จัดอยู่ในหนทางแห่งความประมาทเช่นกัน เพราะไม่มีใครมาการันตีว่า อนาคตจะเกิดเหตุที่ไม่คาดฝันหรือไม่ เราก็เห็นตัวอย่างมานักต่อนักที่เศรษฐีกลายเป็นยาจกได้ภายในเวลาไม่กี่ปี เพราะการใช้เงินที่สุรุ่ยสุร่ายเกินตัวนั้นเอง

ข้อ ๓. เชื่อว่า ชีวิตในวัยเกษียณ คงไม่ได้ต้องการใช้เงินมากนัก แต่ ลืมนึกไปว่า ผู้สูงอายุ ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ที่หมดไป เป็นเรื่องของสุขภาพทั้งนั้น ถึงแม้จะลดความต้องการด้านวัตถุลงไปได้มากแล้วก็ตาม อีกอย่างก็คือ คนเรามักใช้ชีวิตตามความเคยชิน หากตอนมีรายได้ ก็ใช้อย่างไม่มีวินัย ใช้ตามใจตัวเองไปเรื่อยๆ อย่าว่าแต่เกษียณแล้วใช้เงินน้อยลงเลยครับ เกรงว่า ตอนถึงวันเกษียณ เงินเก็บอาจจะไม่มีเลยก็เป็นไปได้

ข้อ ๔. เชื่อว่า การวางแผนการเงิน เอาไว้ค่อยทำตอนใกล้เกษียณดีกว่า ถึงแม้ว่า ทำช้า จะดีกว่า ไม่ทำ แต่ เริ่มทำเร็ว ก็ดีกว่าทำช้าหรือเปล่า? อย่าโดนกิเลสหลอก แล้วประมาทเชียว เผลอเพลินแป๊บเดียว อาจลำบากทั้งชีวิตเลยนะครับ

ข้อ ๕. เชื่อว่า สุดท้าย ลูกหลานก็ต้องมาดูแลเรา ในประเด็นนี้ ใครที่มีลูกหลานดี ก็อาจคิดบวกไว้ได้ แต่ผมอยากให้แง่คิดอีกมุม คือ ไม่มีใครช่วยเราได้ดีไปกว่าการที่เราช่วยตัวเอง แล้วคุณจะแน่ใจได้อย่างไรว่า ลูกหลานของเรา ที่เราไม่เคยปลูกฝังเรื่องการวางแผนการเงิน เขาจะไม่มีภาระทางด้านการเงินเป็นของตัวเองจนไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้


สรุปโดยรวม ผมมองว่า ที่คนส่วนใหญ่ไม่คิดวางแผนการเงิน ก็เพราะคำว่า ประมาทนั้นเอง และคำๆนี้ล่ะครับ ทำมนุษย์ในโลกน้ำตาตกมาแล้วนักต่อนัก ดังพุทธศาสนสุภาษิตที่ว่า คนทอดทิ้งกิจที่ควรทำ ไปทำกิจที่ไม่ควรทำ เมื่อเขาถือตัวมัวประมาท อาสวะย่อมเจริญ แต่เมื่อใดที่รู้ว่าตัวเองประมาท และพร้อมจะเดินบนเส้นทางสายใหม่ ก็ไม่มีอะไรที่ชื่อว่าสายเกินไป ดังพุทธศาสนสุภาษิตที่ว่า เมื่อก่อนประมาท ภายหลังไม่ประมาท เขาชื่อว่ายังโลกนี้ให้สว่าง เหมือนพระจันทร์พ้นจากเมฆหมอกฉะนั้น


 



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP