จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

ประชาธิปไตยและธรรมาธิปไตย


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it

 

106 destination

 

ในตอนที่แล้ว เราได้คุยเปรียบเทียบระหว่าง “ทุนนิยม” และ “ธรรมนิยม”
ในตอนนี้ เรามาคุยกันในเรื่อง “ประชาธิปไตย” และ “ธรรมาธิปไตย” กันบ้าง

โดยขอเรียนก่อนว่า เราเน้นคุยในเรื่องธรรมะ และไม่ได้จะคุยเรื่องการเมืองนะครับ

ในโลกยุคปัจจุบันนั้น ประเทศส่วนใหญ่ในโลกปกครองกันในระบอบประชาธิปไตย
คำว่า “ประชาธิปไตย” นั้น ตามพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายว่า
หมายถึง ระบอบการปกครองที่ถือมติปวงชนเป็นใหญ่ หรือการถือเสียงข้างมากเป็นใหญ่
ซึ่งหลาย ๆ ท่านมักจะยึดถือว่าประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ดีที่สุดและสำคัญที่สุด
ไม่ว่าจะมีปัญหาเรื่องอะไรก็ตาม ก็ใช้หลักประชาธิปไตยเข้าตัดสิน
หรือจะวิเคราะห์เรื่องใดก็ตาม ก็มองเพียงว่าอย่างนี้เป็นประชาธิปไตยหรือไม่เป็นประชาธิปไตย
สรุปคือยึดหลักประชาธิปไตยไปใช้ในทุก ๆ เรื่องกระทั่งหลาย ๆ เรื่องในชีวิตประจำวันของเรา

ในความเป็นจริงแล้ว ประชาธิปไตยเป็นเพียงระบอบการปกครองเท่านั้น
กรณีไม่ใช่ว่า เราควรจะต้องนำประชาธิปไตยมาใช้กับทุกเรื่องในชีวิตเรา
และส่วนใหญ่ในชีวิตจริง ๆ แล้ว เราก็ไม่ได้ใช้ประชาธิปไตยในการดำรงชีวิตด้วย
ยกตัวอย่างสมมุติว่า ในครอบครัวหนึ่งมีพ่อแม่ และลูกเล็ก ๆ ๓ คน รวมทั้งหมดเป็น ๕ คน
หากจะนำประชาธิปไตยมาใช้กันในครอบครัวแล้ว
ลูกเล็ก ๆ ๓ คนโหวตว่าพ่อแม่ไม่ต้องไปทำงาน และลูก ๆ ไม่ต้องไปโรงเรียน
แล้วก็ให้พ่อแม่พาลูก ๆ ไปเที่ยวทุกวัน พ่อแม่มีแค่ ๒ เสียงก็เป็นเสียงข้างน้อย
ซึ่งหากทำเช่นนั้นแล้ว ครอบครัวก็มีปัญหา โดยพ่อแม่ก็ไม่มีรายได้และลูก ๆ ก็ไม่ได้เรียน

สมมุติว่าในห้องเรียนของเด็กเล็กในโรงเรียนแห่งหนึ่งมีคุณครู ๑ คนและนักเรียน ๓๐ คน
หากจะนำประชาธิปไตยมาใช้กันในห้องเรียนนั้นแล้ว
นักเรียนโหวตว่าไม่ต้องมีการเรียนการสอบ และให้นักเรียนได้คะแนนเต็มทุกคน
คุณครูมีแค่เสียงเดียวก็เป็นเสียงข้างน้อย ซึ่งหากทำเช่นนั้น ก็ย่อมเสียหายแก่เด็ก ๆ เอง

สมมุติว่าในร้านค้าแห่งหนึ่งมีเจ้าของ ๑ คนและลูกจ้าง ๒๐ คน
หากจะนำประชาธิปไตยมาใช้กันในร้านค้าแล้ว
ลูกจ้างโหวตว่าให้ขึ้นเงินเดือนแก่พวกตนเยอะ ๆ แล้วก็ลดเวลาทำงานเหลือน้อยที่สุด
เจ้าของมีแค่เสียงเดียวก็เป็นเสียงข้างน้อย ซึ่งหากทำเช่นนั้น ร้านค้าก็เจ๊ง และอยู่ไม่ได้

ก็ย่อมจะเป็นที่เสียหายแก่ทั้งร้านค้า เจ้าของร้านค้า และตัวลูกจ้างเอง

โดยเช่นนี้แล้ว เราจะเห็นได้ว่า ประชาธิปไตยไม่ใช่สิ่งที่จะนำมาใช้ได้กับทุกเรื่องในชีวิตเรา
ในทางกลับกันแล้ว ในชีวิตแต่ละวันนั้น เราอาศัยอยู่กับหลาย ๆ สิ่งที่ไม่ได้ถือตามคนส่วนมาก
แต่สิ่งเหล่านั้นถือตามความถูกต้อง ความเหมาะสม หรือหลักเกณฑ์สำหรับสิ่งนั้น ๆ
โดยไม่ได้ถือเรื่องประชาธิปไตยเป็นสำคัญ

ยกตัวอย่างเช่น สมมุติว่ากลุ่มมอเตอร์ไซค์ซิ่ง จำนวน ๑๐๐ คันมาขับซิ่งแข่งกันบนทางหลวง
ต่อมามีตำรวจ ๘๐ คนมาจับกุมกลุ่มมอเตอร์ไซค์ซิ่งเหล่านั้น
ทีนี้ กลุ่มคนขับมอเตอร์ไซค์ซิ่งมีจำนวนมากกว่า ก็ขอโหวตว่าการขับรถซิ่งบนทางหลวงนั้นทำได้
และให้ตำรวจไม่จับกุมกลุ่มคนขับมอเตอร์ไซค์ซิ่งเหล่านั้น โดยอ้างว่าเป็นประชาธิปไตย
เพราะกลุ่มตนเองมีจำนวนเสียงมากกว่าตำรวจ ถามว่าตำรวจสมควรจะถือตามนั้นหรือไม่?
ตอบว่าตำรวจไม่สมควรจะถือตามกลุ่มคนขับมอเตอร์ไซค์ซิ่งดังกล่าว
เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องประชาธิปไตย แต่เป็นเรื่องที่ตำรวจต้องปฏิบัติตามกฎหมาย

สมมุติว่ามีร้านค้าขายของแห่งหนึ่งซึ่งมีคนขายคนเดียวอยู่ในร้าน
ต่อมามีลูกค้าจำนวน ๓ คนเข้ามาในร้าน ถามเจ้าของร้านว่าสินค้าลดราคาเท่าไร
เจ้าของร้านแจ้งว่าสินค้าในร้านไม่ได้อยู่ในช่วงลดราคา แต่ถ้าซื้อเยอะจะลดให้ ๑๐%
ลูกค้า ๓ คนก็ขอโหวตให้ร้านค้าลดราคาสินค้าลง ๙๐
%
โดยอ้างว่าพวกตนเองเป็นเสียงข้างมาก และอ้างว่าเป็นประชาธิปไตย
ถามว่าเจ้าของร้านค้าสมควรจะต้องถือตามกลุ่มลูกค้า ๓ คนนั้นหรือไม่
ตอบว่าเจ้าของร้านค้าไม่สมควรจะต้องถือตามกลุ่มลูกค้า ๓ คนนั้น

เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องประชาธิปไตย แต่เป็นเรื่องซื้อขายที่เจ้าของร้านจะไม่ลดราคาสินค้าให้ก็ได้

อีกตัวอย่างหนึ่ง สมมุติว่ารถเมล์คันหนึ่งเพิ่งวิ่งออกจากอู่รถเมล์ โดยยังไม่มีผู้โดยสารเลย
ต่อมารถเมล์ไปวิ่งจอดที่ป้ายแรก และมีกลุ่มเด็กวัยรุ่นขึ้นมาบนรถเมล์นั้น ๑๐ คน
เด็กวัยรุ่นทั้ง ๑๐ คนนั้น ก็โหวตให้รถเมล์นั้น วิ่งออกนอกเส้นทาง
โดยให้ไปยังสถานที่อีกแห่งหนึ่งที่กลุ่มเด็กวัยรุ่นทั้ง ๑๐ คนนั้นต้องการไป
แต่สถานที่แห่งนั้นไม่ได้อยู่ในเส้นทางวิ่งของสายรถเมล์ดังกล่าว
ถามว่าคนขับรถเมล์และกระเป๋ารถเมล์มีอยู่แค่ ๒ คนถือเป็นเสียงข้างน้อย
สมควรจะถือตามกลุ่มเด็กวัยรุ่นทั้ง ๑๐ คนนั้นหรือไม่
ตอบว่าคนขับรถเมล์และกระเป๋ารถเมล์ไม่สมควรจะถือตามกลุ่มเด็กวัยรุ่นทั้ง ๑๐ คนนั้น

เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องประชาธิปไตย แต่เป็นเรื่องที่รถเมล์สมควรจะต้องวิ่งตามเส้นทางเดินรถ

เราย่อมจะสามารถยกตัวอย่างในทำนองเดียวกันได้อีกหลากหลายนะครับ
โดยเราก็จะเห็นได้ว่าเสียงข้างมากไม่ได้เป็นสิ่งสำคัญที่สุดเสมอไป

และเสียงข้างมากก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นความคิดความเห็นที่ดีเสมอไป
แต่แม้จะกล่าวเช่นนี้ก็ตาม ผมก็ไม่ได้หมายความว่าเสียงข้างน้อยจะสำคัญกว่า
หรือว่าเสียงข้างน้อยจะเป็นความคิดความเห็นที่ดีเสมอไปนะครับ
ประเด็นของเรื่องนี้ก็คือ สิ่งที่สำคัญหรือสิ่งที่ดีนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่า
เป็นความคิดเห็นหรือความชอบใจพอใจของเสียงข้างมากหรือข้างน้อย
แต่สิ่งที่สำคัญหรือสิ่งที่ดีนั้นขึ้นอยู่กับเนื้อหาของสิ่ง ๆ นั้นเองว่า
อะไรสมควรจะเป็นสิ่งที่สำคัญ และอะไรสมควรจะเป็นสิ่งที่ดี
โดยไม่ได้ยึดถือว่าจะเป็นความเห็นหรือความชอบใจพอใจของเสียงข้างมากหรือเสียงข้างน้อย

ในระบอบที่เราไม่ได้ถือตามเสียงข้างมากหรือเสียงข้างน้อย
แต่เรายึดถือความถูกต้อง ยึดถือศีลธรรม ยึดถือความดีงามเป็นสำคัญนี้
เราเรียกว่าระบอบ “ธรรมาธิปไตย” ซึ่งตามพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายว่า
หมายถึง การถือธรรมเป็นใหญ่ หรือการถือความถูกต้องเป็นหลัก

ถามว่าระหว่างระบอบประชาธิปไตยซึ่งใช้เสียงข้างมาก และ ระบอบธรรมาธิปไตยนั้น
ระบอบไหนจะปลอดภัยมากกว่ากัน?
บางท่านอาจจะบอกว่าเราถือตามเสียงส่วนใหญ่ ก็น่าจะปลอดภัยกว่านะ
แต่ผมขอเรียนว่าไม่แน่หรอกนะครับ เสียงส่วนใหญ่อาจจะนำพาเราไปในทางไม่ดีก็ได้
ยกตัวอย่างเช่น ถามว่าคนส่วนใหญ่นั้นจะไปอบายภูมิหรือไปสุคติภูมิมากกว่ากัน?
หรือถามว่าคนส่วนใหญ่จะได้ไปเป็นเทวดาบนสวรรค์หรือไปนรกมากกว่ากัน?
หรือถามว่าคนส่วนใหญ่นั้นมีศีลธรรมหรือไม่มีศีลธรรมมากกว่ากัน?

สำหรับคำถามนี้ ในอามกธัญญเปยยาล จตุตถวรรคที่ ๑๐
(พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค) ได้เล่าว่า
มีอยู่คราวหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงช้อนฝุ่นไว้ในปลายพระนขา (เล็บ)
แล้วตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมา แล้วตรัสถามว่า

“ภิกษุทั้งหลาย ฝุ่นเล็กน้อยที่เราช้อนไว้ในปลายเล็บกับแผ่นดินใหญ่นี้ ไหนจะมากกว่ากัน?
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แผ่นดินใหญ่นี้แลมากกว่า
ฝุ่นเล็กน้อยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงช้อนไว้ที่ปลายพระนขามีประมาณน้อย
เมื่อเทียบกับแผ่นดินใหญ่ ฝุ่นเล็กน้อยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงช้อนไว้ที่ปลายพระนขา
ย่อมไม่ถึงซึ่งการนับ การเปรียบเทียบ หรือแม้ส่วนเสี้ยว”

จากนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงสอนว่า
ฉันนั้นเหมือนกัน สัตว์ที่ได้ตายจากภพภูมิมนุษย์ไปแล้ว
จะกลับมาเกิดในพวกมนุษย์ หรือจะไปเกิดในพวกเทวดานั้น มีน้อย
โดยที่แท้ สัตว์ที่ได้ตายจากภพภูมิมนุษย์ไปแล้วไปเกิดในนรก
เกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน เกิดเป็นเปรต มีมากกว่า

ฉันนั้นเหมือนกัน สัตว์ที่ได้ตายจากภพภูมิเทวดาไปแล้ว
จะมาเกิดในพวกมนุษย์ หรือจะกลับไปเกิดในพวกเทวดานั้น มีน้อย
โดยที่แท้ สัตว์ที่ได้ตายจากภพภูมิเทวดาไปแล้วไปเกิดในนรก
เกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน เกิดเป็นเปรต มีมากกว่า

ฉันนั้นเหมือนกัน สัตว์ที่ได้ตายจากนรกไปแล้ว
จะมาเกิดในพวกมนุษย์ หรือจะไปเกิดในพวกเทวดานั้น มีน้อย
โดยที่แท้ สัตว์ที่ได้ตายจากนรกไปแล้วกลับไปเกิดในนรก
เกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน เกิดเป็นเปรต มีมากกว่า

ฉันนั้นเหมือนกัน สัตว์ที่ได้ตายจากภพภูมิสัตว์ดิรัจฉานไปแล้ว
จะมาเกิดในพวกมนุษย์ หรือจะไปเกิดในพวกเทวดานั้น มีน้อย
โดยที่แท้ สัตว์ที่ได้ตายจากภพภูมิสัตว์ดิรัจฉานไปแล้วไปเกิดในนรก
เกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน เกิดเป็นเปรต มีมากกว่า

ฉันนั้นเหมือนกัน สัตว์ที่ได้ตายจากภพภูมิเปรตไปแล้ว
จะมาเกิดในพวกมนุษย์ หรือจะไปเกิดในพวกเทวดานั้น มีน้อย
โดยที่แท้ สัตว์ที่ได้ตายจากภพภูมิเปรตไปแล้วไปเกิดในนรก
เกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน เกิดเป็นเปรต มีมากกว่า
 http://www.84000.org/tipitaka/read/v.php?B=19&A=11105&pagebreak=1

ถามว่า ที่กล่าวว่ามนุษย์ที่ตายไปเกิดในนรก เกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน เกิดเป็นเปรต
มีมากกว่าที่จะกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ หรือไปเกิดเป็นเทวดานั้น มากกว่าแค่ไหน?
ตอบว่า มากกว่าเสมือนกับฝุ่นในดินในผืนปฐพีใหญ่นี้เทียบกับฝุ่นในปลายเล็บ

ในอามกธัญญเปยยาล จตุตถวรรคที่ ๑๐ ยังอธิบายด้วยว่า
สัตว์ผู้งดเว้นจากการโกงด้วยตราชั่ง การโกงด้วยของปลอม
และการโกงด้วยเครื่องตวงวัด มีน้อย
โดยที่แท้ สัตว์ผู้ไม่งดเว้นจากการโกงด้วยตราชั่ง การโกงด้วยของปลอม
และการโกงด้วยเครื่องตวงวัด มีมากกว่า
ฉันนั้นเหมือนกัน สัตว์ผู้งดเว้นจากการรับสินบน การล่อลวง และการทำของปลอม มีน้อย
โดยที่แท้ สัตว์ผู้ไม่งดเว้นจากการรับสินบน การล่อลวง และการทำของปลอม มีมากกว่า
ฉันนั้นเหมือนกัน สัตว์ผู้งดเว้นจากการตัด การฆ่า การจองจำ การตีชิง การปล้น และกรรโชก มีน้อย
โดยที่แท้ สัตว์ผู้ไม่งดเว้นจากการตัด การฆ่า การจองจำ การตีชิง การปล้น และกรรโชก มีมากกว่า
กล่าวโดยสรุปคือสัตว์ที่ทำผิดศีลนั้นมีมาก ส่วนสัตว์ที่รักษาศีลนั้นมีน้อย

ดังนี้ ที่บางท่านอาจจะมองว่า เสียงส่วนใหญ่หรือคนส่วนใหญ่เขาว่ากันอย่างนี้
เราก็เลือกตามเขาไป เพราะว่าเลือกตามเสียงส่วนใหญ่ ก็พึงทราบว่า
มนุษย์ส่วนใหญ่นั้นก็มุ่งไปอบายภูมินะครับ โดยไปเกิดในนรก
ไปเกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน หรือไปเกิดเป็นเปรต
การที่เดินตามหรือเลือกตามเสียงส่วนใหญ่หรือคนส่วนใหญ่
จึงไม่ได้แปลว่าจะเป็นสิ่งดี สิ่งที่ถูกต้อง หรือสิ่งที่เป็นกุศลเสมอไป

ถามว่าทำไมมนุษย์ส่วนใหญ่ตายแล้วจึงไปอบายภูมิล่ะ?
ในอามกธัญญเปยยาล จตุตถวรรคที่ ๑๐ ได้อธิบายว่า เพราะไม่เห็นอริยสัจ ๔
อริยสัจ ๔ คือ ทุกขอริยสัจ ทุกขสมุทยอริยสัจ ทุกขนิโรธอริยสัจ และทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ

ฉะนั้นแล้ว ประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย เราก็ยึดถือระบอบไปตามนั้น
แต่ในชีวิตจริงของเราแล้ว เสียงข้างมาก หรือความเห็นของคนส่วนใหญ่
อาจจะไม่ได้ถูกต้อง หรือเป็นสิ่งที่ดี หรือเป็นกุศลเสมอไป
ทางที่ปลอดภัยสำหรับเรา ๆ ทุกท่านก็คือให้ถือ “ธรรม” เป็นใหญ่ หรือเรียกว่า “ธรรมาธิปไตย”
ซึ่งการยึดถือธรรมเป็นใหญ่นี้ ก็เป็นแนวทางเดียวกับพระปฐมบรมราชโองการ
ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อเวลาที่พระองค์ท่านได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติว่า
“เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”
โดยหมายถึงว่า พระองค์จะทรงอาศัย “ธรรม” ในการปกครองแผ่นดิน

หรือถือ “ธรรม” เป็นใหญ่ในการปกครองแผ่นดิน ซึ่งก็คือธรรมาธิปไตยนั่นเอง

คนจำนวนมากในโลกอาจจะยึดถือเสียงข้างมาก หรือความเห็นของคนส่วนใหญ่
แล้วก็เลือกเดินตาม หรือเลือกยึดถือไปในเส้นทางนั้น นั่นก็เป็นทางเลือกหนึ่ง
อีกทางเลือกหนึ่งคือ เราไม่ได้ยึดถือเสียงข้างมาก และไม่ได้ยึดถือเสียงข้างน้อย
แต่เราเดินในเส้นทางธรรม และยึดถือธรรมเป็นใหญ่ ซึ่งย่อมเป็นทางเดินที่ปลอดภัยกว่า
เพราะเมื่อเรายึดถือธรรมเป็นใหญ่แล้ว เราย่อมจะไม่ทำอะไรที่ผิดไปจากธรรมนะครับ




แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP