จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

ปฏิบัติธรรมที่ใจไม่ใช่ที่สมอง


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it

104

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ ผมได้มีโอกาสนทนากับพระภิกษุชาวต่างชาตินะครับ
ท่านเป็นชาวต่างประเทศแต่ได้เดินทางมาพำนักในประเทศไทยเพื่อศึกษาธรรมะ
โดยท่านเดินทางมาศึกษาธรรมะในประเทศไทยกับครูบาอาจารย์หลายท่าน
ผมได้มีโอกาสถวายของให้ท่าน และพาท่านไปทำกิจธุระบางอย่าง
ซึ่งระหว่างทางที่เดินทางไปกลับในการทำธุระของท่านนั้น
เราก็ได้สนทนาแลกเปลี่ยนความเห็นกับบนรถระหว่างเดินทาง

ท่านถามว่าเวลาปฏิบัติธรรมนั้น บางคนเกิด “โกรธ” มาก บางคนเกิด “ฟุ้งซ่าน” มาก
บางคนเกิด “เสียใจ” มาก บางคนเกิดสภาวะอื่น ๆ แต่กรณีของท่านนั้นเกิด “สงสัย” มาก
ท่านถามว่า จะมีวิธีการจัดการความ “สงสัย” ได้อย่างไร
ท่านทราบว่าครูบาอาจารย์สอนให้ “มีสติ” รู้ทันความสงสัยไปอย่างซื่อ ๆ
แต่ท่านก็ยังไม่หมดความ “สงสัย” เหล่านั้น โดย “สงสัย” ก็ยังเกิดขึ้นอยู่เรื่อย ๆ

ผมกราบเรียนท่านว่า กิเลสทั้งหลายที่เกิดขึ้นนั้นแม้จะแบ่งชื่อเรียกย่อย ๆ ได้มากมาย
แต่กล่าวในภาพใหญ่แล้วก็มีเพียง ๓ ตัวคือ โมหะ โทสะ และราคะ
ไม่ว่ากิเลสอะไรจะเกิดในใจก็ตาม ก็ล้วนแล้วแต่เป็นหนึ่งใน ๓ ตัวนี้
ทีนี้ เราปฏิบัติธรรมที่ใจ ไม่ใช่ที่สมอง
หาก “สงสัย” เกิดขึ้น และเรามุ่งหาคำตอบเพื่อขจัดความสงสัย
เมื่อเราได้คำตอบนั้นแล้ว ก็เท่ากับว่าเราให้ความรู้แก่สมอง แต่เราไม่ได้ให้ความรู้แก่ใจ

แต่ถามว่ากิเลสคือ โมหะ โทสะ และราคะ นั้นเกิดขึ้นที่ใจหรือที่สมอง?
ถามว่าบรรดารัก เกลียด ชอบ ไม่ชอบ พอใจ ไม่พอใจ ดีใจ เสียใจ
หงุดหงิด รำคาญ เป็นต้น เหล่านี้เกิดที่ใจหรือที่สมอง?
ก็ตอบว่าเกิดที่ “ใจ” นะครับ ไม่ได้เกิดที่ “สมอง”

ในเมื่อกิเลสเกิดขึ้นที่ใจ เราจึงปฏิบัติธรรมไปก็เพื่อขัดเกลาจิตใจ และให้ความรู้แก่ใจเรา
เพื่อที่เราจะลดละกิเลสที่ “ใจ” หรือเพื่อที่ “ใจ” เราจะเกิดสัมมาทิฏฐิ หรือความเข้าใจที่ถูกต้อง
เราไม่ได้ปฏิบัติธรรมหรือภาวนาไปเพื่อให้มีความฉลาดที่สมอง
ถ้าเพียงแค่มีความรู้ทางธรรมที่สมองมาก ๆ แล้วลดละกิเลสได้ หรือทำให้บรรลุธรรมได้
เรา ๆ ท่าน ๆ ที่อ่านหนังสือธรรมะมากมายแล้วเข้าใจ ก็พึงบรรลุธรรมไปหมดแล้ว
แต่ถามว่าทำไมเราอ่านหนังสือธรรมะมากมาย ฟังธรรมเทศนามากมาย
มีความรู้ความเข้าใจธรรมะมากมาย แต่ก็ไม่ได้บรรลุธรรมอะไร
ขอตอบว่า เพราะสิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งที่เรียนรู้และเป็นความเข้าใจโดย “สมอง”
แต่ไม่ได้เรียนรู้และเข้าใจโดย “ใจ”
เราอ่านหนังสือธรรมะมากมาย เราก็เข้าใจนะครับว่า
“สิ่งใดเกิด สิ่งนั้นดับ” “กายและใจ รูปและนามนั้นตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์
มันไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ มันเป็นอนัตตา”
เราก็เข้าใจอย่างนี้ แต่ถามว่าบรรลุธรรมไหม ตอบว่าไม่บรรลุ
เพราะเราเข้าใจโดยสมอง แต่ใจเราไม่ได้เข้าใจตามนั้น
ใจเรายังยึดถือว่ามันเที่ยงบ้างไม่เที่ยงบ้าง มันเป็นสุขบ้างทุกข์บ้าง มันเป็นอัตตา
โดยที่ใจเรายังยึดถือและเข้าใจเช่นนี้ ใจเราไม่เข้าใจและไม่ยอมรับธรรมะ ก็ไม่บรรลุธรรม
ดังนั้นแล้ว เราปฏิบัติธรรมเพื่อให้ใจเราได้เรียนรู้ เพื่อให้ใจเราได้เห็นความจริง
และเมื่อใจเห็นและยอมรับความจริงแล้ว ใจเราก็จะมีสัมมาทิฏฐิ และปล่อยวางมิจฉาทิฏฐิได้

ทีนี้ หากเราสงสัย และหาคำตอบเพื่อขจัดความสงสัยแก่สมอง
สมองได้ความรู้ แต่ใจเราไม่ได้เรียนรู้อะไร
แต่หากเราไม่ได้มุ่งหาคำตอบ โดยเราอดทนภาวนาต่อไป
เรารู้ “ความสงสัย” นั้นไปอย่างซื่อ ๆ แล้ว
เราก็จะเห็นความเป็นไตรลักษณ์ในความสงสัยนั้น

ว่า “สงสัย” นั้นก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ (ทนอยู่ไม่ได้) และเป็นอนัตตา
เหมือนกับสภาวะอื่น ๆ เช่น ดีใจ เสียใจ โกรธ ฟุ้งซ่าน เป็นต้น
ใจเราก็จะได้เรียนรู้ในสภาวธรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเหล่านั้นตามที่เป็นจริง
เมื่อใจเราเห็นและยอมรับว่าสภาวธรรมทั้งหลายอยู่ภายใต้ไตรลักษณ์
ก็จะเห็นว่าเป็นการไร้สาระที่ใจจะไปมัวให้ค่าหรือยึดถือสภาวธรรมเหล่านั้น
และก็จะปล่อยวางสภาวธรรมเหล่านั้นได้

ขอย้ำว่าเราไม่ได้ปฏิบัติธรรมเพื่อให้ “สงสัย” ดับไป
และไม่ได้ปฏิบัติเพื่อให้ “สงสัย” ไม่เกิดนะครับ
“สงสัย” นั้นมันเกิดขึ้น และมันก็ดับไป โดยตัวมันเองอยู่แล้ว
เราไม่อยากให้มันดับ “สงสัย” ก็จะดับ เราไม่อยากให้ “สงสัย” เกิด “สงสัย” ก็จะเกิด
แม้เราไม่ปฏิบัติธรรมเลย “สงสัย” ก็เกิดและดับ โดยตัวมันเองอยู่ดี

แต่เราปฏิบัติธรรมเพื่อให้ใจได้เห็นความจริงของสภาวธรรมต่าง ๆ
และเห็นความจริงว่าสงสัยก็เป็นสภาวธรรมหนึ่งเหมือนกับสภาวธรรมอื่น ๆ
ที่เกิดขึ้น และดับไป อยู่ภายใต้ไตรลักษณ์ เช่นเดียวกับรูปและนามทั้งหลาย
ฉะนั้น เราไม่ต้องไปจัดการอะไรกับ “สงสัย” นะครับ เราเพียงแค่รู้มันไปเฉย ๆ

ถามต่อไปว่าทำไมบางคนจึงเกิด “สงสัย” มาก ทำไมจึงไม่โกรธมาก
โลภมาก ดีใจมาก เสียใจมาก เป็นต้น
ตอบว่า เพราะใจของคนเหล่านั้นให้ความสำคัญกับ “สงสัย”
กิเลสเป็นสิ่งที่ใจเราปรุงขึ้นมาเอง
คนอื่น ๆ อาจจะสร้างปัจจัยแวดล้อมภายนอกอย่างไรให้เราก็ได้
แต่ใจเราปรุงกิเลสขึ้นมาเอง คนอื่น ๆ มาปรุงกิเลสในใจเราไม่ได้
ดังนั้นแล้ว กิเลสจึงรู้ใจเราเป็นอย่างดีว่า ใจเราให้ความสำคัญกับอะไรหรือสิ่งไหน
เราไม่มีทางไปหลอกกิเลสได้ว่า เราไม่สนใจตัวนี้นะ เราไม่เห็นตัวนั้นสำคัญนะ
เราไปหลอกกิเลสไม่ได้หรอกครับ เพราะใจเราปรุงกิเลสขึ้นมาเอง
ใจเราให้ความสำคัญกับอะไร กิเลสก็รู้และจะส่งเจ้าตัวนั้นแหละมาหลอกให้เราขาดสติ
หากเราไม่ให้ความสำคัญกับตัวโกรธ และเราไม่ขาดสติเพราะตัวโกรธ
แต่เราให้ความสำคัญกับ “สงสัย” แล้ว กิเลสก็ส่งตัว “สงสัย” นี้แหละมาหลอกใจ
หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ใจเราให้ความสำคัญกับ “สงสัย” มันจึงปรุงตัว “สงสัย” ขึ้นมา

แต่เราภาวนา และใจได้เรียนรู้ว่า “สงสัย” นี้ไม่มีสาระ เพราะอยู่ภายใต้ไตรลักษณ์
เหมือนกับสภาวธรรมอื่น ๆ ทั่ว ๆ ไปแล้ว ใจเราก็จะลดการให้ความสำคัญกับมัน
และ “สงสัย” ก็จะครอบงำใจเราไม่ได้อีกต่อไป เพราะเรามีสติรู้ทันแล้ว
จากนั้น กิเลสก็จะหาสภาวะอื่น ๆ ที่ใจเราให้ความสำคัญมาหลอกเราต่อไปครับ
กิเลสก็ทำหน้าที่ของเขานะครับ เราก็ไม่ต้องไปตำหนิเขาหรอก เพราะใจเราก็ปรุงขึ้นมาเอง

ฉะนั้นเมื่อไรก็ตามที่เราเกิด “สงสัย” ขึ้นมา ก็ให้มีสติรู้ทันนะครับ
รู้เห็นไปอย่างซื่อ ๆ ว่าสงสัยเป็นเพียงสภาวธรรมที่เกิดขึ้น และก็ดับไป
โดยสงสัยเป็นเพียงคุณครูที่มาสอนให้ใจเราได้เรียนรู้ความเป็นไตรลักษณ์ของสภาวธรรม
นั่นก็จะเป็นการภาวนา และเป็นการฝึกฝนใจให้ได้มีสัมมาทิฏฐิครับ

ในเรื่องการศึกษาและปฏิบัติธรรมทั้งหลายนั้น
เราพึงศึกษาและปฏิบัติธรรมเพื่อให้ความรู้ทั้งหลายนั้นเข้ามาถึงใจ ไม่ใช่แค่สมอง
อย่างเช่น เราศึกษาและปฏิบัติ “เมตตา” นั้น พึงให้เมตตาเข้ามาถึงใจครับ ไม่ใช่อยู่แค่สมอง
เราอ่านและจำพระสูตรเรื่องเมตตาได้มากมาย แต่พอเราแก่ลง สมองเลอะเลือน เราก็ลืมครับ
แต่ถ้าเราฝึกฝนใจให้มีเมตตาแล้ว ไม่ได้ฝึกสร้างโทสะ ใจก็มีเมตตาไปยันแก่ใกล้ตาย
เมื่อเราแก่ เราอาจจะบวกลบเลขช้าลง คิดช้าลง จำได้น้อยลง แต่นั่นเป็นเรื่องสมองครับ
ใจไม่ได้เมตตาช้าลง โกรธช้าลง ดีใจช้าลง เสียใจช้าลง เพราะสิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นที่ใจ
ถ้าอ่านและจำพระสูตรเรื่องเมตตาได้มากมาย แต่ไม่ปฏิบัติให้เมตตานั้นมาที่ใจ
ก็เท่ากับว่าไม่ได้รับผลของการปฏิบัตินั้น ๆ
เสมือนกับเราเรียนเรื่องว่ายน้ำในห้องเรียน แต่ไม่เคยว่ายน้ำเลย ก็ย่อมว่ายน้ำไม่เป็น
การปฏิบัติธรรมก็เช่นเดียวกันครับว่า
เราพึงปฏิบัติธรรมที่ใจและให้ธรรมะเข้าถึงใจ ไม่ใช่ที่สมอง




แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP