จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

เก็บเล็กผสมน้อย



งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it

102_destination

ในตอนที่แล้ว เราได้คุยกันในเรื่องการทำงานคือการฝึกฝนสร้างบารมีธรรม
ซึ่งเป็นการสร้างมุมมองเกี่ยวกับการทำงาน
เพื่อจะช่วยแก้ไขปัญหาของบางท่านที่รู้สึกว่า
เราต้องทำงานมากมายจนหาเวลาปฏิบัติธรรมได้ยาก
ในคราวนี้ เราจะมาคุยในรายละเอียดเกี่ยวกับการแบ่งเวลาในแต่ละวัน
และพยายามเก็บเล็กผสมน้อยช่วงเวลาย่อย ๆ เพื่อมาใช้ภาวนา

ในการแบ่งเวลาในแต่ละวันนั้น เราอาจจะพิจารณาใน ๒ วิธีการง่าย ๆ
วิธีการแรกคือ เราแบ่งเป็นตารางเวลาไว้เลยว่าจะปฏิบัติธรรมในรูปแบบในเวลาใด
ยกตัวอย่างว่า เรากำหนดเวลาไว้เลยว่า ตอนเช้าปฏิบัติ ๑๐ นาทีหลังตื่นนอน
และตอนดึกปฏิบัติ ๑๐ นาทีก่อนเข้านอน รวมเป็นวันละ ๒๐ นาที
วิธีการที่สองก็คือ เราไม่ได้กำหนดเวลาไว้ตายตัวว่าจะทำเวลาไหน
แต่เรากำหนดจำนวนเวลาไว้ว่าจะปฏิบัติอย่างต่ำให้ได้เป็นเวลาวันละเท่านั้นเท่านี้
แล้วเราก็หาเวลาปฏิบัติเอาเอง โดยอาจจะปฏิบัติตอนเช้า สาย กลางวัน
บ่าย เย็น ค่ำ หรือดึกก็ได้ เพียงแต่ว่าในแต่ละวันนั้น
เราก็พยายามทำให้ครบตามเวลาที่เราได้ตั้งใจหรือกำหนดเอาไว้

ถามว่าเราแบ่งเวลาสำหรับปฏิบัติในรูปแบบ (เช่น นั่งสมาธิ ยืนสมาธิ
หรือเดินจงกรม เป็นต้น) วันละ ๒๐ นาทีนี้ จะถือว่าน้อยเกินไปไหม
ตอบว่า สำหรับท่านที่เพิ่งเริ่มปฏิบัติใหม่ ๆ นี้ถือว่าไม่น้อยนะครับ
โดยวันละ ๒๐ นาทีนี้ ถ้าเราลองคูณด้วย ๓๖๕ วัน
ก็จะเท่ากับ ๗,๓๐๐ นาที หรือประมาณ ๑๒๑.๖๗ ชั่วโมงใน ๑ ปี
ถ้าเราทำไปเรื่อย ๆ แล้ว และสามารถเพิ่มได้เป็นวันละ ๓๐ นาที
เช่น อาจจะเพิ่มตอนกลางวันมาอีก ๑๐ นาที
หรือไปเพิ่มช่วงเช้า และก่อนนอนอีกช่วงละ ๕ นาที
ก็จะเท่ากับเวลา ๑๐,๙๕๐ นาที หรือประมาณ ๑๘๒.๕ ชั่วโมงใน ๑ ปี
ซึ่งเมื่อคุ้นเคยและเห็นประโยชน์แล้ว ก็จะสามารถเพิ่มเวลาได้มากขึ้นเอง

หากเราสามารถแบ่งเวลาของเราในแต่ละวันได้อย่างเหมาะสมแล้ว
ก็จะมีส่วนช่วยให้เรามีเวลาปฏิบัติธรรมในรูปแบบได้ทุกวัน
แต่หากท่านไหนบอกว่าตนเองไม่สามารถแบ่งเวลาได้เลย แม้วันละ ๒๐ นาทีก็ไม่ได้
เช่นนี้แล้ว เราอาจจะต้องลองย้อนไปพิจารณาว่า
เราเองได้บริหารจัดการเวลาในแต่ละวันได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือเปล่า
โดยในที่นี้ ผมจะขอยกเนื้อหาบางส่วนจากบทความของคุณ Wendy Hearn
มาเล่าให้ฟังนะครับ ซึ่งเธอได้กล่าวถึง ๑๐ อันดับแรกของสิ่งที่ทำให้เราเสียเวลา
(The Top 10 Time Wasters) ดังต่อไปนี้

๑. การไม่รู้จักวางแผน ไม่จัดลำดับความสำคัญของงาน และไม่ให้ความสำคัญแก่งาน
ซึ่งหากเรามัวแต่ไปให้ความสำคัญกับงานที่ไม่สำคัญ หรือทำแต่งานที่ไม่สำคัญแล้ว
ก็ย่อมจะทำให้งานสำคัญของเราไม่เสร็จหรือเสร็จช้า
แล้วก็กลายเป็นว่าเราทำงานไม่ทัน และก็ไม่ค่อยจะมีเวลา

๒. การผัดวันประกันพรุ่ง (ไม่ได้สะกดว่า “ผลัดวันประกันพรุ่ง” นะครับ)
ซึ่งเมื่อเราผัดวันประกันพรุ่งเมื่อไร ก็ทำให้เราเสียพลังงานและความคิดเพิ่มขึ้น
โดยเราต้องมามัวคิดและวิตกกังวลกับเรื่องงานดังกล่าวไปเรื่อย ๆ และงานก็ไม่เสร็จ

๓. การโดนรบกวนทำให้ต้องหยุดชะงัก
ซึ่งอาจจะโดนรบกวนโดยโทรศัพท์ ข้อความที่ส่งมา หรือผู้คนที่แวะเข้ามาหาเรา เป็นต้น
การโดนรบกวนนั้นทำให้เราเสียสมาธิ ดึงความสนใจของเราออกจากงานที่เรากำลังทำอยู่
และทำให้เราต้องเสียเวลามากขึ้นในการที่จะกลับไปทำงานของเราต่อไป

๔. การไม่กระจายงานหรือมอบหมายงานตามที่เหมาะสม
ซึ่งบางคนคิดว่าตนเองจะต้องทำงานบางอย่างด้วยตนเองเท่านั้น
คนอื่นนั้นทำไม่ได้หรือทำได้ไม่ดี ก็เลยไม่กระจายงานหรือไม่มอบหมายงานให้แก่คนอื่น
จึงทำให้ตนเองต้องใช้เวลาในการทำงานดังกล่าว และไม่สามารถลดเวลาทำงานลงได้

๕. การประชุม หรือการสนทนา
ซึ่งในหลาย ๆ ครั้ง การประชุมก็เป็นสิ่งไม่จำเป็น หรือใช้เวลามากเกินสมควร
แทนที่เราจะได้นำเวลาไปใช้ทำงานให้เสร็จ กลับต้องมาใช้เวลาในการประชุมนั้น ๆ

๖. การแก้ไขปัญหาเร่งด่วน และแก้ไขงานที่บกพร่อง
หากเราไม่ได้วางแผนงานให้ดี ไม่ได้จัดลำดับความสำคัญของงานให้เหมาะสม
เราก็จะต้องทำงานสำคัญในเวลาอันจำกัด และด้วยความเร่งด่วนอยู่เสมอ
การทำเช่นนี้ย่อมจะทำให้มีข้อบกพร่องบางอย่างในงานซึ่งเราจะต้องมาแก้ไขงานดังกล่าว
หรืออาจจะต้องทำงานดังกล่าวซ้ำซ้อน หรือทำงานดังกล่าวใหม่ ทำให้เสียเวลามากขึ้น

๗. โทรศัพท์ อีเมล และอินเตอร์เน็ต
ซึ่งเรื่องโทรศัพท์นี้ก็ทำให้เสียเวลามาก หากมัวคุยกันแต่เรื่องไร้สาระหรือไม่มีประโยชน์
ฟอร์เวิร์ดอีเมลยาว ๆ ซึ่งมีเนื้อหาไร้สาระและไม่เป็นประโยชน์กับเราก็มีเยอะมาก
อินเตอร์เน็ตนี้ก็ทำให้เราเสียเวลาได้มากมาย เช่น FB เกม เว็บบอร์ด เว็บไซต์ข่าว เป็นต้น

๘. การไม่รู้จักปฏิเสธ
โดยใครมาขอให้เราทำอะไรหรือช่วยอะไร เราไม่ปฏิเสธ เรารับไว้หมด
ก็อาจจะทำให้เรารับงานมาเยอะเกินกำลังตนเอง แล้วก็ไม่มีเวลาที่จะไปทำสิ่งอื่น ๆ

๙. ไม่จัดวางระบบการทำงานให้มีประสิทธิภาพ หรือไม่จัดเก็บสิ่งของให้เป็นระบบ
ซึ่งการที่เราไม่จัดวางระบบการทำงานให้มีประสิทธิภาพ ก็ย่อมจะทำให้เราทำงานได้ช้า
และการที่เราไม่จัดเก็บสิ่งของให้เป็นระบบ ก็ย่อมจะทำให้เราใช้เวลามากในการหาสิ่งต่าง ๆ
หรืออาจจะทำให้เราต้องทำงานซ้ำ ๆ หรือจัดหาสิ่งเดิม ๆ ซ้ำ ๆ

๑๐. ไม่มีเวลาพักอย่างเพียงพอ และไม่มีเวลาส่วนตัว
โดยเราจำเป็นต้องมีเวลาพัก หรือมีเวลาส่วนตัวที่จะมาพิจารณาว่า

สิ่งที่เราได้ทำไปนั้นเป็นสิ่งที่เหมาะสมไหม มีประสิทธิภาพแค่ไหน เกิดประโยชน์แค่ไหน
เราอาจจะต้องใช้เวลามาพิจารณาและเปลี่ยนแปลงระบบการทำงานของตนเองบ้าง
เพื่อให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยอาจจะมีสิ่งที่เราควรปรับปรุงหลายอย่าง
เพื่อให้เราสามารถทำงานได้เร็วขึ้น ใช้เวลาน้อยลง ตัดงานที่ไม่จำเป็นออกไป เป็นต้น
นอกจากนี้ หากเราไม่ได้พักเท่าที่ควร สุขภาพเราก็จะแย่ลง และทำงานได้ช้าลง
หรือมีประสิทธิภาพแย่ลง และถึงที่สุดแล้ว เราก็จะป่วย
และโดยสภาพแล้ว ก็ต้องหยุดงาน ซึ่งก็ทำให้ยิ่งเสียเวลามากยิ่งกว่าเดิม

http://www.business-personal-coaching.com/top10timewasters.html

(หมายเหตุ ผมไม่ได้อธิบายตามบทความของคุณ Wendy Hearn ทั้งหมดนะครับ
โดยในบางส่วนนั้น ผมก็อธิบายของผมเอง หากต้องการทราบว่าคุณ Wendy Hearn
เธออธิบายไว้ทั้งหมดอย่างไรบ้าง ก็ควรอ่านบทความต้นฉบับนะครับ)

นอกเหนือจากการแบ่งเวลาในแต่ละวันเพื่อปฏิบัติในรูปแบบดังกล่าวข้างต้นแล้ว
เราสามารถเก็บเล็กผสมน้อยในช่วงเวลาต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันเพื่อมาใช้ภาวนาได้
โดยในชีวิตประจำวันของเราในแต่ละวันนั้น จะมีช่วงเวลาย่อย ๆ อยู่มากมาย
เพียงแต่ว่าเราต้องหมั่นพยายามเก็บนำช่วงเวลาย่อย ๆ เหล่านั้นมาใช้ให้ได้
ยกตัวอย่างเช่น ช่วงเวลาที่เราตื่นก่อนเวลา เราก็สามารถนำมาภาวนาได้
ตื่นนอนแล้ว ช่วงที่เข้าห้องน้ำ อาบน้ำ แปรงฟัน ขับถ่าย แต่งตัว ก็ภาวนาได้
ช่วงเวลาที่ทำอาหารเช้า รออาหารเช้า ทานอาหารเช้า ก็ภาวนาได้
ช่วงเวลาที่ออกเดินทางจากบ้านไปที่ทำงาน รอรถ อยู่บนรถ ก็ภาวนาได้
ไปถึงที่ทำงานแล้ว ระหว่างที่ยังไม่ได้เริ่มทำงาน ก็ภาวนาได้
ในช่วงเวลาทำงานนั้น หากงานที่ทำไม่ได้เกี่ยวกับงานที่ต้องใช้ความคิด
ก็สามารถภาวนาไปด้วยก็ได้ (เช่น เจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐานในระหว่างที่
ร่างกายขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวในระหว่างที่เรากำลังทำงาน เป็นต้น)
ช่วงเวลาที่พักเดินไปเข้าห้องน้ำ หรือลุกขึ้นขยับเขยื้อนเคลื่อนไหว ก็ภาวนาได้
ช่วงเวลาพักกลางวัน ระหว่างเวลาพัก เข้าคิวซื้ออาหาร ทานอาหาร ก็ภาวนาได้
ช่วงเวลาที่ไปส่งเอกสาร ไปติดต่องาน ขึ้นลงลิฟต์ เดินทางไปประชุม ก็ภาวนาได้
ช่วงเวลาที่ออกเดินทางจากที่ทำงานกลับบ้าน รอรถ อยู่บนรถ ก็ภาวนาได้
ช่วงเวลาที่ทำความสะอาดบ้าน กวาดบ้าน ถูบ้าน เช็ดถูสิ่งของ ซักผ้า ก็ภาวนาได้
ช่วงเวลาที่ทำอาหารเย็น รออาหารเย็น ทานอาหารเย็น ก็ภาวนาได้
ช่วงเวลาส่วนตัวในเวลาค่ำหรือดึกจนถึงเวลาที่ก่อนจะเข้านอน ก็ภาวนาได้
จะเห็นได้ว่าถ้าเราสามารถเก็บเวลาย่อย ๆ เหล่านี้มาใช้ในการภาวนาได้
แล้วเราจะมีเวลาที่ใช้ในการปฏิบัติธรรมเพิ่มขึ้นอีกมากมาย


ถามว่าดูเหมือนเวลาช่วงย่อย ๆ นี้จะมีเยอะมาก
แต่ทำไมเราไม่ค่อยจะเก็บสะสมเวลาย่อย ๆ เหล่านี้มาใช้ในการภาวนาได้เท่าที่ควร?
ตอบว่า เราขาดอิทธิบาท ๔ (ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา) ในการภาวนา

หากเราเจริญอิทธิบาท ๔ ในการภาวนาให้มากขึ้นแล้ว
เราก็จะสนใจตั้งใจเก็บสะสมช่วงเวลาย่อย ๆ เหล่านี้มาใช้ในการภาวนาได้มากขึ้น

ในทางกลับกัน หากเราไม่เจริญอิทธิบาท ๔ ในการภาวนาแล้ว
เมื่อเรามีช่วงเวลาย่อย ๆ เหล่านี้ เวลาของเราก็จะถูกนำไปใช้กับสิ่งอื่น ๆ
ยกตัวอย่างเช่น พอมีเวลาว่างนิดหน่อยเมื่อไร
บางท่านก็หยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาโทรไปคุยกับคนนั้นคนนี้
เล่นเกมต่าง ๆ ฟังเพลง ดูคลิป เช็คอีเมล ตอบอีเมล เข้าไปดู FB ของเพื่อน ๆ
เข้าไปโพสต์ใน FB เข้าไปดูหรือเข้าไปโพสต์ใน Google+ ด้วย ไลน์ไปคุยกับเพื่อน ๆ
เข้าไปอ่านหรือสนทนาในเว็บบอร์ด เข้าไปอ่านหรือโพสต์คอมเม้นท์ในเว็บไซต์ข่าว เป็นต้น
หรือหยิบแท็ปเล็ตขึ้นมาใช้ในกิจกรรมทำนองเดียวกัน

นอกจากการเจริญอิทธิบาท ๔ ในการภาวนาแล้ว
อีกประการหนึ่งที่สำคัญก็คือ เราต้องหากรรมฐานที่เหมาะสมกับตนเอง
ที่จะช่วยให้เราสามารถภาวนาในชีวิตประจำวัน และในช่วงเวลาย่อย ๆ เหล่านี้ได้
เช่น การดูกาย ดูเวทนา หรือดูจิต เป็นต้น
โดยเราไม่ไปเลือกกรรมฐานที่ยุ่งยาก หรือตั้งเงื่อนไขใด ๆ ที่ยุ่งยากแก่ตนเอง
เช่น เรากำหนดเงื่อนไขว่าจะต้องภาวนาในสถานที่ที่สงบเงียบ ไม่มีเสียงคนอื่นเลย
หรือจะต้องภาวนาในสถานที่มืดเท่านั้น หรือจะต้องภาวนาโดยการหลับตาเท่านั้น เป็นต้น

ถ้าหากเราสามารถที่จะแบ่งเวลาในแต่ละวันของเราได้อย่างเหมาะสมแล้ว
และเราสามารถเก็บเล็กผสมน้อยช่วงเวลาย่อย ๆ ในชีวิตประจำวันของเรา
เพื่อมาใช้ในการภาวนาได้แล้ว ก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยลดปัญหาที่เรารู้สึกว่า
เราต้องทำงานมากมายจนหาเวลาปฏิบัติธรรมไม่ได้นั้นลงได้ครับ
เพราะเราได้ปฏิบัติธรรมทุก ๆ วัน และสามารถเก็บช่วงเวลาย่อย ๆ มาภาวนาได้ด้วย




แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP