สารส่องใจ Enlightenment

โลกกับธรรม



พระธรรมเทศนา โดย พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ (หลวงปู่เทสก์ เทสรํสี)
วัดหินหมากเป้ง อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย


เมื่อพระพุทธองค์ได้สำเร็จพระโพธิญาณเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว
จึงทรงพิจารณามองเห็นสัตว์โลกที่เดือดร้อนวุ่นวาย
ด้วยไม่มีศีลธรรมเป็นเครื่องครอบครองหัวใจ จึงเป็นเหตุให้เกิดการอิจฉาริษยา
ฆ่าฟันกันตายเป็นหมู่ๆ เหล่าๆ เป็นเครื่องเดือดร้อนอยู่ตลอดกาล
และด้วยอาศัยพระเมตตากรุณาอันใหญ่หลวงของพระพุทธองค์
ที่ทรงมีต่อมนุษย์สัตว์โลกทั้งหลาย
จึงทรงเทศนาสั่งสอนสัตว์นิกรทั้งหลายให้เข้าถึงธรรมะ
ให้มีศีลธรรมประจำตนของแต่ละคนๆ เพื่อให้อยู่เย็นเป็นสุขตลอดกาล
ดั่งที่พระองค์ทรงเทศนาธรรมโลกบาล คือธรรมอันเป็นเครื่องคุ้มครองสัตว์โลก
มี ๒ อย่าง คือหิริและโอตตัปปะ


แต่มนุษย์ชาวโลกทั้งหลายกลับเห็นว่าพระพุทธเจ้าเกิดมาทีหลังโลก
ท่านต้องคุ้มครองเราซิ ไม่ให้มีอันตรายและเดือดร้อนวุ่นวายถึงจะถูก
ความเป็นจริงแล้วพระพุทธเจ้าไม่สอนให้มนุษย์เป็นทาสกรรมกรซึ่งกันและกัน
แต่พระองค์ทรงสอนให้มนุษย์มีอิสระคุ้มครองตัวเองแต่ละคน จึงจะอยู่เย็นเป็นสุข
ถ้าพระองค์สอนให้เป็นทาสกรรมกรซึ่งกันและกัน
เหมือนกับตำรวจและทหารต้องอยู่เวรเข้ายามรักษาเหตุการณ์อยู่ทุกเมื่อแล้ว
โลกนี้ก็ดูจะเดือดร้อนอยู่ไม่เป็นสุขตลอดกาล
แต่พระองค์ทรงสอนหัวใจคนทุกคนให้รักษาตนเอง
โดยมีหิริ – โอตตัปปะ คือความละอายและเกรงกลัวต่อบาป
ถ้าทุกๆ คนมีธรรมสองอย่างนี้อยู่ในหัวใจแล้ว
ก็จะไม่มีเวรมีภัยและการเบียดเบียนซึ่งกันและกัน
มนุษย์คือโลกเล็กๆ นี้ก็จะอยู่เป็นสุขตลอดกาล
แล้วโลกอันกว้างใหญ่ไพศาลก็จะพลอยอยู่เย็นเป็นสุขไปด้วย


เป็นวิสัยธรรมดาของโลกที่จะต้องมีความเห็นเข้าข้างตัวเอง
คือเห็นว่าพระพุทธเจ้าจะต้องคุ้มครองรักษาโลกเหมือนกับตำรวจรักษาเหตุการณ์ฉะนั้น
เหตุนั้นเมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้พระธรรมแล้ว
จึงทรงสอนมนุษย์ชาวโลกให้มีศีลธรรมเกิดขึ้นในใจของตนแต่ละคน
มนุษย์จึงจะอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันได้ในโลกนี้ทั้งหมด
โลกอันกว้างใหญ่ไพศาลนี้เกิดขึ้นมาก่อน แล้วธรรมจึงค่อยเกิดขึ้นภายหลัง
ดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า โลกธรรมแปด
โลกเกิดขึ้นที่ใด ธรรมต้องเกิดขึ้นที่นั้น ถ้าโลกไม่เกิดธรรมก็ไม่มี
ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงโลกธรรมแปดนั้น
หมายถึงโลกธรรม ๔ คู่ มีอาการ ๘ อย่างคือ
มีลาภ – เสื่อมลาภ ๑
มียศ – เสื่อมยศ ๑
มีสรรเสริญ – นินทา ๑
มีสุข – ทุกข์ ๑


เมื่อโลกเกิดขึ้นแล้วพระองค์จึงทรงสอนธรรมทับลงไปเหนือโลก
ตัวอย่างเช่น ความได้ในสิ่งสารพัดทั้งปวงเรียกว่าลาภเกิดขึ้น
มนุษย์ได้ลาภก็เกิดความพอใจยินดี แล้วก็ไม่อยากให้ลาภเสื่อมเสียไป
และเมื่อลาภเสื่อมเสียไปก็เกิดความเดือดร้อนตีโพยตีพาย
วุ่นวายกระสับกระส่ายไม่เป็นอันจะกินจะนอน นั้นเรียกว่าโลกโดยแท้
พระองค์จึงทรงสอนธรรมทับลงเหนือโลกแท้
คือแสดงความได้ลาภ – เสื่อมลาภ ให้เห็นตามเป็นจริงว่า
เป็นธรรมดาของโลก แต่ไหนแต่ไรมาโลกนี้ต้องเป็นอยู่อย่างนั้น
เราจะถือว่าของกูๆ ไม่ได้ ถ้ายึดถือว่าของกูๆ อยู่ร่ำไป
เมื่อลาภเสื่อมไปมันจึงเป็นทุกข์เดือดร้อนกลุ้มใจ
นั่นแสดงให้เห็นชัดเลยว่าสิ่งนั้นไม่ใช่ของตน มันจึงเสื่อมไปหายไป
ถ้ามันเป็นของเราแล้วไซร้มันจะหายไปที่ไหนได้

ท่านจึงว่ามันเป็นอนัตตาไม่ใช่ของตนของตัว มันจึงต้องเป็นไปตามอัตภาพของมัน
พระองค์ทรงสอนอย่างนี้ ให้เห็นตามเป็นจริงอย่างนี้ เห็นตามอัตภาพอันแท้จริงของมัน
จึงเรียกว่าพระพุทธองค์ทรงสอนธรรมทับลงเหนือโลก ให้เห็นโลกเป็นธรรมนั่นเอง


ความได้ยศ – เสื่อมยศ ก็เช่นเดียวกัน
ได้ยศคือความยกย่องว่าเป็นใหญ่เป็นโต มีหน้ามีเกียรติ มีอำนาจหน้าที่ มีชื่อเสียง
จิตก็พองตัวขึ้นไปตามคำว่า "ยศ" นั้น หลงยึดว่าเป็นของตัวจริงๆ จังๆ
ธรรมดาความยกย่องของคนทั้งหลายแต่ละจิตละใจก็ไม่เหมือนกัน
เขาเห็นดีเห็นงามในความมียศศักดิ์ของตนด้วยประการต่างๆ
เขาก็ยกยอชมเชยด้วยความจริงใจ
แต่เมื่อเขาเห็นกิริยาวาจาอันน่ารังเกียจของตนที่แสดงออกมาด้วยอำนาจของยศศักดิ์
เขาก็จำเป็นต้องเสแสร้งแกล้งปฏิบัติไปด้วยความเกรงกลัว
ตนกลับไปยึดถือยศศักดิ์นั้นว่าเป็นของจริงของจัง
เมื่อมันเสื่อมหายไป ความเกรงใจจากคนอื่นก็หมดไปด้วย
ตนเองก็กลับโทมนัสน้อยใจ ไม่เป็นอันหลับอันนอน อันอยู่อันกิน
แท้จริงแล้วความได้ยศ-เสื่อมยศนี้
เป็นของมีอยู่ในโลกแต่ไหนแต่ไรมาเช่นนี้ ตั้งแต่เรายังไม่เกิดมา
พระพุทธองค์จึงทรงสอนธรรมทับลงเหนือโลก
ให้เห็นว่า ได้ยศ – เสื่อมยศนี้เป็นของมีอยู่ในโลก มิใช่ของใครทั้งหมด
ถ้าผู้ใดไปยึดถือเอาของเหล่านั้นย่อมเป็นทุกข์ไม่มีที่สิ้นสุด
ให้เห็นว่ามันเป็นอนัตตาไม่ใช่ของใครทั้งหมด
มันหากเป็นจริงอยู่อย่างนั้นแต่ไหนแต่ไรมา


สรรเสริญ – นินทา ความสรรเสริญและนินทาก็เช่นเดียวกัน
ในตัวคนคนเดียวกันนั่นแหละ
เมื่อเขาเห็นกิริยาอาการต่างๆ ที่น่าชมน่าชอบ เขาก็ยกยอสรรเสริญชมเชย
แต่เมื่อเขาเห็นกิริยาวาจาที่น่ารังเกียจ เขาก็ติเตียนคนผู้เดียวกันนั่นแหละ
มีทั้งสรรเสริญและนินทา มันจะมีความแน่นอนที่ไหน
อันคำสรรเสริญและนินทาเป็นของไม่มีขอบเขตจำกัด
แต่คนในโลกนี้โดยมากเมื่อได้รับสรรเสริญจากมนุษย์ชาวโลกทั้งหลายที่เขายกให้
ก็เข้าใจว่าเป็นของตนของตัวจริงๆ จังๆ
อันสรรเสริญไม่มีตัวตนหรอก มีแต่ลมๆ แล้งๆ หาแก่นสารไม่ได้
แต่เรากลับไปหลงว่าเป็นตัวเป็นตนจริงๆ ไปหลงหอบเอาลมๆ แล้งๆ มาใส่ตนเข้า
ก็เลยพองตัวอิ่มตัวไปตามความยึดถือนั้น ไปถือเอาเงาเป็นตัวเป็นจริงเป็นจัง
แต่เงาเป็นของไม่มีตัว เมื่อเงาหายไปก็เดือดร้อนเป็นทุกข์
โทมนัสน้อยใจไปตามอาการต่างๆ ตามวิสัยของโลก
แท้จริงสรรเสริญ – นินทา มันหากเป็นอยู่อย่างนั้นแต่ไหนแต่ไรมา ก่อนที่เราจะเกิดมาเสียอีก


พระพุทธองค์ทรงเห็นว่ามนุษย์โง่เขลา
หลงไปยึดถือเอาสิ่งไม่แน่นอนมาเป็นของแน่นอน จึงเดือดร้อนกันอย่างนี้
แล้วพระองค์ก็ทรงบัญญัติธรรมทับลงเหนือโลกอันไม่มีแก่นสารนี้
ให้เห็นชัดลงไปว่ามันไม่ใช่ของตัวของตน แต่เป็นลมๆ แล้งๆ
สรรเสริญเป็นภัยอันร้ายกาจแก่มนุษย์ชาวโลกอย่างนี้
แล้วก็ทรงสอนมนุษย์ชาวโลกให้เห็นตามเป็นจริงว่า
สิ่งนั้นๆ เป็นอนัตตา จะสูญหายไปเมื่อไหร่ก็ได้
มนุษย์ผู้มีปัญญาพิจารณาเห็นตามเป็นจริงดั่งที่พระองค์ทรงสอนแล้ว
ก็คลายความทุกข์เบาบางลงไปบ้าง
แต่มิได้หมายความว่า โลกธรรมนั้นจะสูญหายไปจากโลกนี้เสียเมื่อไร
เป็นแต่ผู้พิจารณาเห็นตามเป็นจริงดั่งที่ว่ามาแล้ว
ทุกข์ทั้งหลายก็จะเบาบางลงเป็นครั้งคราว
เพราะโลกนี้ก็ยังคงเป็นโลกอยู่ตามเดิม ธรรมก็ยังคงเป็นธรรมอยู่ตามเดิม
แต่ธรรมสามารถแก้ไขโลกได้เป็นบางครั้งบางคราว
เพราะโลกนี้ยังหนาแน่นด้วย กิเลสทั้ง ๘ ประการอยู่เป็นนิจ
ความเดือดร้อนเป็นโลก ความเห็นแจ้งเป็นธรรม
ทั้งสองอย่างเป็นเครื่องปรับปรุงเป็นคู่กันไปอยู่อย่างนี้
เมื่อกิเลสหนาแน่นก็เป็นโลก เมื่อกิเลสเบาบางก็เป็นธรรม


มีสุข – ทุกข์ ทุกข์เป็นของอันโลกไม่ชอบ
แต่ก็เป็นธรรมดาด้วยโลกที่เกิดมาในทุกข์ อันนี้ก็เป็นทุกข์เดือดร้อนอยู่นั่นเอง
ความสุขย่อมเป็นที่ปรารถนาของโลกโดยทั่วไป
ฉะนั้นเมื่อความทุกข์เกิดขึ้นจึงเดือดร้อน เมื่อความสุขหายไปจึงไม่เป็นที่ปรารถนา
แต่แท้ที่จริงความทุกข์และความสุขที่เกิดขึ้นแล้วหายไปนั้น
มันหากเป็นอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา
เราเกิดมาทีหลังโลก เราจึงมาตื่นทุกข์ตื่นสุขว่าเป็นของตนของตัว
ยึดมั่นสำคัญว่าเป็นจริงเป็นจัง
เมื่อทุกข์เกิดขึ้น สุขหายไป จึงเดือดร้อนกระวนกระวาย หาที่พึ่งอะไรก็ไม่ได้
พระพุทธเจ้าทรงเทศนาว่าโลกอันนี้มีแต่ทุกข์ไม่มีสุขเลย


ฉะนั้นทุกข์จึงเป็นเหตุให้พระองค์พิจารณา จนเห็นตามสภาพความเป็นจริง
แล้วทรงเบื่อหน่ายคลายจากทุกข์นั้น จึงทรงเห็นพระอริยสัจธรรม
แล้วพระองค์ก็ทรงบัญญัติธรรมลงเหนือทุกข์ – สุข
ให้เห็นว่า โลกอันนี้มันหากเป็นอยู่อย่างนั้น อย่าถือว่าเป็นของเรา
ถือเอาก็ไม่ได้อะไร ไม่ถือก็ไม่ได้อะไร ปล่อยวางเสียให้เป็นของโลกอยู่ตามเดิม

ทรงรู้แจ้งแทงตลอดว่าอันนั้นเป็นธรรม โลกกับธรรมจึงอยู่คู่เคียงกันดังนี้


sathu2 sathu2 sathu2

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

คัดจาก สิ้นโลก เหลือธรรม (ฉบับสมบูรณ์) ใน เทสรังสีอนุสรณาลัย
อนุสรณ์เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพพระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์

ณ เมรุพิเศษ วัดหินหมากเป้ง อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย




แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP